หากโลกนี้ไม่มีความสามารถในการเอาตัวรอด เราก็จะไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้จนถึงศตวรรษที่ 20 และหากว่าเราไม่มีความสามารถในการหาความสุขในชีวิตได้ เราก็จะไม่สามารถมีรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะอันสดใสได้เลย ความสามารถนั้นเป็นเหมือนสิ่งที่จะคอยผลักดันเรา ไม่ให้เราหยุดอยู่กับที่ การอยู่เฉย ๆ นั้นเป็นสิ่งที่จะคอยดึงรั้งเราไม่ให้ไปไหน การตั้งคำถามที่ดีคือ เรามีความสามารถอะไรบ้าง แล้วอะไรล่ะที่เราสามารถที่จะทำมันได้จริง ๆ โดยที่ความสามารถนี้จะเป็นตัวช่วยให้เรามีชีวิตรอดในยุคนี้ได้อย่างแท้จริง.
ความสามารถในการช่วยเหลือคนอื่น
ความเชื่อที่ว่า การช่วยเหลือคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ใครทุกคนสามารถทำได้ เราอาจจะมีสิ่งที่เราอยากช่วยเหลือ แต่เราก็อาจจะยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อการช่วยเหลือนั้น ๆ บางคนอาจจะไม่มีเงินไปช่วยเหลือ ก็ใช้แรงกายช่วยเหลือแทนก็ได้เหมือนกัน หรือว่าบางคนอาจจะมีเงินมากมาย ก็สามารถที่จะใช้เงินที่มากมายนี้ช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่เขากำลังเดือดร้อนกันอยู่ก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในบริบทใด สิ่งที่สำคัญคือการหยิบยื่นโอกาสให้กับคนในสังคมเสมอ เหมือนกับการที่เราเห็นโอกาสในการทำความดี แล้วสิ่งนี้จัดอยู่หมวดหมู่ความสามารถที่หาได้ยากยิ่ง ก็เนื่องด้วยโลกนี้ไม่ได้ขาดคนมีความสามารถในหน้าที่การงาน แต่โลกนี้ขาดความสามารถในการเป็นคนดีนั่นเอง.
บางครั้งที่เราอาจจะหยิบยื่นโอกาสให้คนอื่น แต่คนเหล่านั้นกลับด่าว่าเรา เสีย ๆ หาย ๆ สิ่งที่เราจะต้องรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น ไม่ใช่การหยุดที่จะทำความดี แต่กลับกลายเป็นทำความดีให้ยิ่งขึ้นไป มองให้ออกว่า ทำไมคนเหล่านั้นถึงยังว่ากล่าวเราอยู่อีก มันก็คงมีสองทางคือ เราแย่จริง ๆ ที่เราไปช่วยเขา กับเราดีอยู่แล้ว แต่เขาเหล่านั้นดูถูกโอกาสที่เราให้ไปว่าเล็กน้อยนัก รวมถึงยังมองเราอีกว่ามีเยอะขนาดนี้ ให้แค่นี้เองเหรอ โลกเรามีแค่สองแบบคือ ทำดีได้ดี กับทำชั่วได้ชั่ว ไม่มีทางที่เราทำดีจะได้ชั่วไปอย่างเด็ดขาด แต่ก็จะมีสำหรับคนที่ไม่เข้าใจความดี มัวแต่ไปมองว่าเราพูดดีครั้งหนึ่งแล้ว จะให้คนอื่นพูดดีกับเราตลอดไป.
ความสามารถในการบริหารความทุกข์
การที่เราไม่สามารถบริหารความทุกข์ได้นั้น ก็เปรียบเสมือนการที่เราไม่มีโรงงานบำบัดความทุกข์ เมื่อไรก็ตามที่เรามีความทุกข์ เราจะไม่สามารถจัดการความทุกข์ที่เข้ามาได้เลย แต่เราก็มักจะมองไปว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่ควรหนีไป ผลักไปไม่ใช่เหรอ ทำไมเราต้องมาคิดให้มันปวดสมองด้วยล่ะ แต่ก็อย่าลืมไปเชียวนะว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่มีความทรงจำที่ยาว แถมเราสามารถเข้าใจปัญหาได้อย่างดีเยี่ยมด้วย นำสิ่งที่เรามีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก่อน หลังจากนั้นเราค่อยทิ้งความทรงจำเรื่องทุกข์ ๆ ไปก็ไม่เป็นไร การคิดวิเคราะห์หาทางออกของความทุกข์ จึงเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แล้วนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมทุกคนเจอทุกข์ แต่ไม่รู้ทุกข์.
ปัญหาของคนเราไม่ใช่การเจอทุกข์ แต่เป็นการไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ มัวแต่ไปแก้ไขผิดจุด
ก็พอเราเจอความทุกข์เราจะไปหาความสุขมาแทนที่เลย ทั้ง ๆ ที่ความสุขก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งเช่นกัน เหมือนกับเวลาหมดสุขแล้วมันก็เป็นทุกข์ไปโดยปริยาย เราก็จึงต้องไปหาสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่ว่าอะไรที่อยู่บนโลกนี้ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ตัวเราก็ยังไม่สามารถห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ และไม่ให้ตายได้เลย เราจะไปห้ามทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นกับเราได้อย่างไรกัน แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันที่เราตระหนักรู้แล้วว่า เราควรทำสิ่งใดมากที่สุด สิ่งที่อย่าเพิกเฉยเด็ดขาดคือ การนำทุกข์มาพิจารณาให้แยบคาย.
ความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกจากกัน
พูดถึงการแยกแยะนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากอยู่เหมือนกัน การแยกแยกเหมือนกับการใช้โยนิโสมนสิการนั่นแล คือพิจารณาสิ่งใด สิ่งหนึ่งโดยแยบคาย แตกย่อยเป็นสายใยเล็ก ๆ และอะไรบ้างล่ะ ที่มันสามารถเชื่อมต่อกันได้ เหมือนกับว่าสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมีขึ้น หรือสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นจึงหมดไป เป็นต้น การที่เราจะมองสิ่งต่าง ๆ ในโลกอย่างลึกซึ้งนั้น ต้องประกอบเข้ากับการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกจากกัน หากไม่ทำแบบนี้ ชีวิตเราก็จะขาดคุณสมบัติของการมีเหตุมีผล มองอะไรไม่ละเอียดพอ แถมพอใครมาปรึกษาปัญหาชีวิตเราก็จะสับสนอลหม่าน หาทางออกให้เขาไม่เจอ กลายเป็นว่าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ แต่ก่อนหน้านั้นเราก็จำเป็นจะต้องฝึกในการแยกแยะปัญหาออกมาก่อน ต่อมาก็ฝึกในการแยกแยะทางแก้ของปัญหา.
มองดูกันให้ดี ๆ เราจะพบว่า
ปัญหาทุกอย่างล้วนมีทางออกเสมอ นั่นจะเกิดจากการที่เรามองปัญหาอย่างละเอียด เพราะทุกปัญหานั้นเกิดขึ้นมาก็เพราะเหตุ หมดเหตุปัญหาก็ยอมหมดไป สังเกตได้ชัดเจนเลยว่า หลายคนไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้จริง ๆ เพราะไม่สามารถสืบสาวไปถึงต้นตอได้นั่นเอง พอเราไม่สามารถกำจัดต้นตอได้รากมันก็ยังคงอยู่ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่มีรากแก้วอันใหญ่โต การจะตัดต้นไม้ไม่ให้มันเติบโตได้อีก ก็จำเป็นจะต้องถอนรากถอนโคน ดั่งที่โบราณได้มีคำพูดไว้ว่า “ถ้าจะให้ปัญหาทั้งหมดจบสิ้นไป ก็จำเป็นต้องถอนรากถอนโคนทั้งระบบนั่นแหละ” แล้วปัญหาในชีวิตก็ใช้แบบเดียวกันนี่แหละ.
ความสามารถในการมีความสุขในระยะยาว
เนื่องจากมีคนสับสนเรื่องความสุขมากมายนัก และมักมองว่าความสุขก็คือความสุข ความทุกข์ก็คือความทุกข์ ไม่มีอะไรนอกจากนั้น แต่หากเราพิจารณาอย่างแยบคายแล้ว เราจะพบว่า ความสุขนั้นมีระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราจะไปบอกว่า ความสุขไม่มีทางเป็นระยะยาวได้หรอก คนที่มักพูดแบบนี้ให้สังเกตว่าชีวิตเขาก็จะไม่พบเจอความสุขที่ทำให้จิตใจนั้นอิ่มเอิบไปได้ เพราะสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ
ความศรัทธาในความสุขระยะยาว ถ้าพูดทางจิตวิทยาคือ การอดเปรี้ยวไว้กินหวานนั่นแหละ แต่ถ้าพูดในทางธรรมคือ การมีความสุขที่เนื่องด้วยฌานเป็นอารมณ์ และสืบเนื่องไปถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ่งนี้จะมาเป็นตัวชี้วัดว่า ปัญญาในการมองชีวิตเป็นไปเช่นไรบ้าง.
หากว่าเรายังมองความสุขเป็นเรื่องของการได้มี ได้เป็น และได้ครอบครอง ความสุขเราก็จะเป็นไปด้วยความสุขระยะสั้นเสียมากกว่า คือมีแล้วก็อยากมีอีก เป็นแล้วก็อยากเป็นตลอดไป ครอบครองแล้วก็อยากให้มันไม่สูญสิ้นไป พอสิ่งใดมา สิ่งนั้นก็จากไปนั่นคือสัจธรรม ไม่สามารถจะผิดแผกไปจากสัจธรรมได้ ก็จึงเรียกว่าความจริง เพราะความจริงเป็นสิ่งที่เราควรยอมรับมัน ต่อมาความสุขที่สูงกว่ากาม คือมีสมาธิเป็นอารมณ์ แม้จะมีความสงบแต่ก็ตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง การมีปัญญาจะทำให้ความสุขยิ่งประณีตยิ่งขึ้น ตามลำดับของภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละคน การทำบุญจึงเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็อย่าติดในบุญมากนัก ให้มองว่าสักแต่ว่าทำบุญก็พอ.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in