เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รากเหง้าชนเผ่าพื้นเมืองThe stranger who came from the hill
รู้จัก 8 ชนเผ่าในไทย เรื่องราวและวิถีชีวิตจากคนห่างไกล
  • ปัจจุบันในประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้คนจาก 70 ชาติพันธุ์ ในนั้นมีชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 38 กลุ่ม ชนพื้นเมืองเหล่านี้ มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ส่วนใหญ่พวกเขามักอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางตอนบนของประเทศไทย ไล่ลงมาจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และอาศัยอยู่ปะปลายทางตอนใต้ของประเทศไทยเรียกกันว่าชาวมอแกน หรือชาวเล



    หลายๆครั้งที่เราได้ยินหรือได้พบเรื่องราวพวกเขาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือในบทเพลงเพื่อชีวิตที่แต่งขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตของพวกเขา บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นคนป่า บ้างก็ว่าพวกเขาบุกรุกพื้นที่ป่า แต่เราจะสามารถเชื่อในภาพจำที่ข่าวหรือบทเพลงนำเสนอออกมาผ่านมุมมองของผู้แต่งและผู้เขียนเพียงด้านเดียวได้มากน้อยเพียงใดกัน? เราจะพาไปเปิดอีกมุมมอง ถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และความเชื่อ 8 ชนเผ่า 8 วัฒนธรรม โดยแยกตามตระกูลภาษากลุ่มภาษาในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบแปซิฟิก เพื่อที่เราจะเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม ปรับมุมมอง และเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจจากที่เคยได้ยินมา

    1.ตระกูลจีน-ทิเบต

    ชนเผ่ากะเหรี่ยง


    ชนเผ่ากะเหรี่ยงผู้อยู่ตรงกลางตกลงแล้วพวกเขาเป็นคนไทยหรือไม่ ?

    ชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่มีจำนวนอาศัยอยู่ในประเทศไทยเยอะที่สุด ความเป็นมาของชาวกะเหรี่ยงสามารถย้อนไปได้ถึง 2,000 กว่าปี กะเหรี่ยงมีประวัติศาสตร์เคยร่วมรบกับสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายหลังยังมีการอพยพจากพม่ามาที่ไทย เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงสืบเชื้อสายมาจากเผ่ามองโกล โยกย้ายถิ่นฐานลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ทิเบต มณฑลยูนาน ประเทศจีน ลงมาที่ประเทศพม่าอาศัยกันอยู่มากในบริเวณ รัฐกะเหรี่ยง หรือ คายิน ของประเทศพม่า ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนระหว่างพม่ากับไทย ติดกับจังหวัดแม่ฮองสอน ตาก และ กาญจนบุรี เราจะเห็นได้ว่ากะเหรี่ยงจะอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮองสอนกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากพวกเขาอาศัยอยู่ตรงกลางระหว่างพม่ากับไทย ย้ายไปย้ายมาตั้งแต่สมัยสงครามไทยพม่า

    ทำไมกะเหรี่ยงบางคนใส่หวงบางคนก็ไม่ใส่หวง ? 
    ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ "กะเหรี่ยงสะกอ" หรือ "กะเหรี่ยงปาเกอะฌอ" และ "กะเหรี่ยงโป" นอกจากนี้ยังมีอีก 2 กลุ่มเล็กคือ "กะเหรี่ยงคะยา" หรือ "บะเว" "กะเหรี่ยงตองสู" หรือ "พะโอ" แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมชาวกะเหรี่ยงบางคนใส่ห่วงที่คอ แต่บางคนก็ไม่ได้ใส่ห่วง จริงๆแล้วชาวกะเหรี่ยงที่ใส่ห่วงที่คอหลายๆชั้นหรือที่คนไทยเรียกกันว่ากะเหรี่ยงคอยาวนั่น คือ "ชาวกะยัน" หรือ "คะยัน" พวกเขาเรียกตัวเองว่า "แลเคอ" กะยันเป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่แต่ก่อนอาศัยอยู่ที่รัฐกะยาในประเทศพม่าแต่อพยพมาทางจังหวัดแม่ฮองสอนเนื่องจากความขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะยันถือว่าเป็นกลุ่มย่อยของชนเผ่ากะเหรี่ยงแดงซึ่งก็เป็นหนึ่งในกลุ่มของกะเหรี่ยงคะยา

    เชื่อในวิญญาณผูกพันกับธรรมชาติคือความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง

    แต่เดิมนั้นชาวกะเหรี่ยงจะนับถือวิญญาณ ผูกพันกับธรรมชาติ ภายหลังมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเชื่อเดิมกับให้เห็นอยู่บ้าง อย่างเช่นความเชื่อเรื่องขวัญชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าคนเรามีขวัญอยู่ถึง 37 ขวัญ เชื่อว่าเมื่อตายไปขวัญจะหายไปเมื่อป่วยอาจจะเป็นเพราะขวัญหนีไปเที่ยว หรือถูกผีร้ายกักขังไว้จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญให้กลับมานั้นเองนอกจากนี้ยังเห็นได้จากพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ ในกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ก็มีการฉลองประเพณีวันอิสเตอร์ด้วยเช่นกัน

    วิถีชีวิตที่ผูกพันไปกับธรรมชาติ

    วิถีชีวิตของพวกเขาจะทำอาชีพเกี่ยวกับกสิกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก มีวิถีชีวิตผูกพันไปกับป่าเขา ชาวกะเหรี่ยงมีภาษาเป็นของตัวเองซึ่งดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่าผสมกับตัวอักษรโรมัน ในบางหมู่บ้านจะมีหัวหน้าหรือผู้อาวุโสซึ่งเป็นเพศชายเรียกว่า ฮี-โข่ ฮี-โข่ จะเป็นทั้งผู้นำทางพิธีกรรมและผู้นำทางทัศนคตินอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ทำหน้าที่กล่าวตักเตือนสำหรับคนที่ประพฤไม่ดี

    ข้อห้ามของชาวกะเหรี่ยง

    ข้อห้ามระหว่างคนกับธรรมชาติ - ในส่วนนี้จะเป็นข้อห้ามไม่ให้เข้าไปละเมิด รุกล้ำป่าหรือสัตว์ป่าและรู้จักคุณค่าของธรรมชาติ

    ข้อห้ามเกี่ยวกับชุมชน - เป็นข้อห้ามเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขและเพื่อให้สังคมปฎิบัติต่อธรรมชาติไปในทิศทางเดียวกันเช่น ห้ามไม่ให้เก็บหน่อไม้เกินกอละสามหน่อ ห้ามเก็บชะอมกินในฤดูฝนข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง

    เครื่องแต่งกาย…ความโดดเด่นของหนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยง

    การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ที่จะเห็นได้ชัดเจนคือหญิงสาวที่ยังไม่มีครอบครัวจะสวมชุดทรงกระสอบสีขาวทอด้วยลวดลายเล็กน้อย ส่วนผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงินและใช้ผ้านุ่งสีแดง ผ้าตกแต่งด้วยลูกเดือยหรือปักด้าย ส่วนผู้ชายนั้นจะสวมเสื้อยาวแบบจีน ตกแต่งด้วยแถบสี นิยมใส่เครื่องประดับที่ทำมาจากลูกปัด หรือลูกเดือย


    ชนเผ่าลาหู่ หรือมูเซอ


    ความเป็นมาของชาวลาหู่

    ชาว "ลาหู่" หรือ "มูเซอ" เดิมอาศัยอยู่ในประเทศจีน และอพยพลงมาจากการรุกรานของจีน ลงมาที่แคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า และทางตอนเหนือของประเทศไทย "มูเซอ" มาจากภาษาพม่าแปลว่า "นายพราน" เนื่องจากพวกเขามีความเชียวชาญในการล่าสัตว์ ชาวมูเซอสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อยได้แก่ "มูเซอดำ" "มูเซอแดง" "มูเซอกุย" และ "มูเซอเฌเล" ปัจจุบันมูเซอหรือลาหู่อาศัยทางตอนบนของประเทศไทย เช่น แม่ฮองสอน เชียงใหม่ ลำปาง ซึ่งเป็นช่วงที่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ส่วนใหญ่ชาวลาหู่จะอาศัยปะปนอยู่กับชนเผ่าอื่นหรือคนไทย

    ภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธ์คือความเชื่อของชาวลาหู่

    ชาวลาหู่มีความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายในบ้านของชาวลาหู่จะมีหิ้งพระภูมิอยู่ในห้องนอนเนื่องจากชาวลาหู่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีเรือน มี "หอแหย่" หรือ วัด เป็นสถานที่ประกอบพิธีของชาวลาหู่ มี "พิธีแซ่ก่อ" หรือ ทรายก่อ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อจัดการบาปที่ทำลงไปอย่างไม่ได้ตั้งใจในตอนที่ทำไร่ทำนาพวกเขาเชื่อว่าเมื่อทำพิธีนี้แล้วจะทำให้บาปดังกล่าวนั้นหายไปและทำให้ผลผลิตดีขึ้น ในหมู่บ้านของชาวลาหู่จะมีศาลา โดยที่ทุกคนในหมู่บ้านร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สถิตของเจ้าที่เจ้าทางใน ปัจจุบันบ้างก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เนื่องจากการเข้ามาของกลุ่มหมอสอนศาสนาชาวอังกฤษ

    วิถีชีวิตของชาวลาหู่

    อาชีพหลักชาวลาหู่คือการทำกสิกรรม และ มีวิถีชีวิตที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ มีความผูกพันกับธรรมชาติเหมือนกับชนเผ่าอื่นๆ แต่เดิมภาษาลาหู่มีเพียงแค่ภาษาพูด ภายหลังหมอสอนศาสนาได้เข้ามาสร้างภาษาลาหู่ให้มีตัวตนมากยิ่งขึ้นโดยระบบโครงสร้างจะคล้ายๆกับภาษาพม่า นอกจากนี้ชาวลาหู่ยังใช้ภาษาไทใหญ่ ลาว จีน ยูนาน หรือ พม่าได้อีกด้วย การเป็นอยู่ของชาวลาหู่คือ จะปลูกบ้านอยู่บนดอยโดยสูงระดับ 4,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเลเพราะมีความเชื่อว่าผู้ที่อยู่สูงกว่าจะมีความเหนือกว่าผู้ที่อยู่ต่ำในหมู่บ้านจะต้องประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้าน-"คะแซ" นักบวชหรือพระ-"โตโบ" และ ช่างตีเหล็ก-"จาหลี" พิธีการละเล่นลูกข่างก็เป็นอีกพิธีกรรมที่มีชื่อเสียงของชาวลาหู่โดยการละเล่นของชาวลาหู่จักขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีในกลุ่มนอกจากนี้ยังมีการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน คือ "น่อ" หรือ แคนชาวลาหู่มีความชำนาญในเรื่องของแคนแบบลาหู่

    เครื่องแต่งกายอันโดดเด่นของชาวลาหู่

    ผู้หญิงใส่เสื้อแขนยาวคอกลมเป็นผ้าสีดำและตกแต่งด้วยผ้าหลากหลายสีสัน ส่วนผู้ชายใส่เสื้อคอกลมแขนยาวสีดำและกางเกงสีดำตกแต่งด้วยผ้าหลากหลายสีสันเล็กน้อย ส่วนในกลุ่มมูเซอแดงนุ่งซิ่นสีดำที่ตกแต่งด้วยลวดลายและสวมเสื้อแขนยาวคอกลมพื้นน้ำเงิน ตกแต่งด้วยลายสีแดงผู้ชายใส่เสื้อคอกลมแขนยาวสีดำ และกางเกงเป้าต่ำสีดำตกแต่งด้วยลวดลาย

    ชนเผ่าลีซู หรือ ลีซอ


    ความเป็นมาของชาวลีซู

    ชาว"ลีซู" หรือ "ลีซอ" แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ มณฑลยูนาน ประเทศจีน และตอนเหนือของประเทศพม่า และอพยพลงมาเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ บางส่วนก็อพยพไปเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณทลยูนาน ประเทศจีน บ้างก็เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย และไทยในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮองสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่ และสุโขทัย

    ความเชื่อและพิธีกรรม

    ลีซูส่วนใหญ่นับถือผีหรือเคารพวิญญาณบรรพบุรุษหรือที่เรียกกันว่า วิญญาณนิยม ควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพุทธหรือคริสต์ มีหมอผีหรือที่เรียกว่า "หนี่ผะ" จะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้านในหมู่บ้านของชาวลีซูก็ยังมีศาลาประจำหมู่บ้านเรียกว่า "อาปาโหม่ฮี" ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และไม่อนุญาติให้ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนเข้าใกล้

    "พิธีกรรม“ฉะลั๊ว” ทำขึ้นเมื่อมีคนในตระกูลฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง เพื่อปลดปล่อยวิญญาณร้ายออกไปโดยให้ผู้ร่วมพิธีกรรมลอดใต้อุโมงใบไม้ที่มีลำธารไหลผ่านเชื่อว่าวิญญาณร้ายจะไหลไปตามลำธาร"

    การเป็นอยู่ของชาวลีซู

    ชาวลีซูมีข้อห้ามและข้อควรปฎิบัติเพื่อใช้ในการจัดระเบียบคนในชุมชน และยังมีบางข้อห้ามที่ให้ความเคารพและให้อิสระกับผู้ชายมากกว่าเนื่องจากชาวลีซูให้ความสำคัญกับการสืบตระกูลทางฝ่ายชาย ภาษาลีซูที่ใช้กันในชนเผ่า ปัจจุบันชาวลีซูทำอาชีพทางเกษตรกรรม และหัตถกรรม พวกเขามักจะเลือกตั้งบ้านเรือน ที่มีระดับความสูงกว่าน้ำทะเล 800 เมตร มีประเพณีที่น่าสนใจอย่างฉลองปีใหม่ การไหว้ผีไร่ ผีนา การเต้นรำร้องรำทำเพลงก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งจัดขึ้นเพื่อความบันเทิงหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ภายหลังชาวลีซูบางคนก็ตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันมากขึ้น

    เอกลักษณ์ที่โดดเด่นผ่านเครื่องแต่งกายของชาวลีซู

    เครื่องแต่งกายของชาวลีซูถือว่ามีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างมาก ผู้ชายจะใส่เสื้อสีดำประดับด้วยเครื่องเงินเล็กน้อย และสวมกางเกงที่มีสีสัน ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อแขนยาวสีสันสดใสช่วงอกประดับด้วยเครื่องเงินและสวมกางเกงแค่สีดำเท่านั้นนอกจากนี้จะสวมหมวกที่ตกแต่งด้วยลูกปัด เครื่องเงินและไหมหลากสีและมีข้อห้ามก็คือผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรสลับกางเกงกัน

    ชนเผ่าอาข่า


    แต่เดิม….ชาวอาข่า

    แต่เดิมอาข่าอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน พวกเขาเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานมาที่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้วปัจจุบันอาข่าในประเทศไทยอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือ ตระกูลภาษาที่ใช้คือภาษาจีน-ทิเบต ชื่อที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองในประเทศไทย พม่าและเวียดนามจะเรียกว่า "อ่าข่า" สำหรับในประเทศจีน จะเรียกว่า "ฮานี","ซานี","ยานี"

    ความเชื่อในวิญญาณและธรรมชาติของอาข่า

    ชาวอาข่ามีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณสิ่งเร้นลับ เชื่อว่าผีสางเป็นสิ่งที่ทำให้มีการ เกิด เจ็บ และตาย มีเทพที่เกี่ยวข้องธรรมชาติ อย่าง เทพแห่งดิน เทพแห่งน้ำ เทพแห่งพืชพันธุ์นั่นจึงทำให้พวกเขามีสำนึก มีความผูกพันต่อธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษ โดยจะมีการไล่ชื่อหรือลำดับชื่อบรรพบุรุษเพื่อถ่ายทอดต่อรุ่นลูกรุ่นหลาน ชาวอาข่าจะมีบัญญัติที่เคารพและนับถือเป็นเหมือนกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับการอยู่ร่วมกันนั่นก็คือ“บัญญัติอาข่า”

    วิถีชีวิตของอาข่า

    วิถีชีวิตของชาวอาข่าพวกเขามักจะอยู่บนที่สูงและอยู่ห่างจากหนองน้ำแม่น้ำ หรือที่ราบลุ่มเนื่องจากมีความเชื่อว่าจะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงอยู่บนดอยหรือเทือกเขาสูงส่วนใหญ่แล้วชาวอาข่าจะทำอาชีพกสิกรรม เพาะปลูก ข้าว ผัก รวมไปถึงชาและกาแฟอาราบิก้าที่มาแทนฝิ่นในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาบริโภคและใช้ในพิธีกรรมบูชา ประตูหมู่บ้านของชาวอาข่าจะเรียกว่าประตูผีมีลักษณะเป็นไม้ดามกันไว้เป็นประตูและมีตุ๊กตาเพศหญิงและชาย อยู่บริเวณรอบข้างชาวอาข่าถือว่าประตูหมู่บ้านนี้เป็นสิ่งศักสิทธิ์ ช่วยป้องกันภัยอันตรายและป้องกันจากสิ่งที่มารุกรานได้ นอกจากนี้การร้องรำทำเพลงก็เป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตของชาวอาข่าซึ่งจะเห็นได้จากประเพณีต่างๆที่มักจะมีการร้องรำทำเพลงกันเสมอประเพณีที่โดดเด่นของชาวอาข่าก็คือเทศกาลโล่ชิงช้า

    เครื่องแต่งกายราคาเป็นแสนๆของชาวอาข่า

    เครื่องแต่งกายของชาวอาข่าถือว่าเป็นศิลปะที่มีค่าและมีราคาอย่างมาก บางชุดสามารถตีราคาได้เป็นแสนๆ อาข่ามีเครื่องแต่งกายที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์โดนเด่น พวกเขาจะใส่หมวกและเครื่องเงินสลับกับลูกปัดสีสันสดใสไว้บนศีรษะ ซึ่งหมวกจะถือเป็นของขวัญที่ได้รับมาตั้งแต่แรกเกิด เพื่อแสดงถึงการขอบคุณที่เกิดมาบนโลกนี้ ชาวอาข่าจะปลูกฝ้ายมาย้อมและทอเองเนื่องจากผู้หญิงชาวอาข่าจะถูกสอนให้ปั่นด้าย ปักผ้ากันตั้งแต่เด็กๆส่วนลวดลายหลากหลายสีสันบนผ้านั้นมาจากการปัก โดยลวดลายต่างๆก็จะมาจากจินตนาการจากธรรมชาติอย่างลายดอกแสงอาทิตย์ ลายก้อนหินนอกจากนี้ยังมีลายแถกแฉกหรือลายลาฉ่องที่พบได้กับผ้าของอาข่าแทบจะทุกพื้นจากจินตนาการกับธรรมชาตินำมาสู่ลวดลายบนผื้นผ้านี้ทำให้เราได้เห็นได้ว่าชาวอาข่ามีความผูกพันธุ์ต่อธรรมชาติมาอย่างยาวนาน


    2.ตระกูลออสโตรเอเชียติก

    ชนเผ่ามลาบรี(ผีตองเหลือง)


    หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า “ผีตองเหลือง” แต่ไม่เคยเข้าใจ ว่าจริงๆแล้วคืออะไร เป็นผีหรือเป็นคนก็ไม่แน่ใจ ตอนนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “ผีตองเหลือง” หรือชาวมลาบรี แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าคำว่า ผีตองเหลือนั้นชาวมลาบรีไม่พอใจที่เราไปเรียกเขาแบบนั้นสักเท่าไหร่ก็ต้องขอโทษไว้ก่อนเราเพียงแต่อยากทบทวนให้เข้าใจว่าสิ่งที่เคยได้ยินกันมามันคืออะไรและคำนี้มาจากไหนเราจะได้มารู้กัน

    ความเป็นมาของมลาบรี

    ชาวมลาบรีหรือชาวมละสืบเชื้อสายมาจากชาติพันธุ์มองโกลอยด์เป็นกลุ่มชนเร่ร่อน มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศลาวและไทย ในปัจจุบันชาวมละที่อยู่ในประเทศไทยอาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน

    ความเชื่อของมลาบรี

    เชื่อในภูติผี วิญญาณ และธรรมชาติมีผู้เฒ่าผู้แก่คอยดูแลเรื่องพิธีรักษา หรือรักษาด้วยสมุนไพรพวกเขาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมก่อนการล่าสัตว์ในสมัยก่อนชาวมละเชื่อว่าหากอาศัยอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ผีร้ายจะส่งเสือมาทำร้ายจึงทำให้พวกเขาย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง

    วิถีชีวิตของมลาบรี

    ชาวมละถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญในเรื่องของการดำรงชีวิตในป่า เลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ หาของป่า แต่ในสมัยปัจจุบันชาวมละหันมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ หรือรับจ้างทั่วไป ลักษณะที่พักพิงของชาวมละในสมัยก่อนจะทำเพิงด้วยใบตอง โดยการนำใบตองมาปูที่พื้นและนำมามุงเป็นหลังคาโดยมีไม้ไผ่ดามไว้เมื่อผ่านการใช้งานก็ทำให้ใบตองเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองประกอบกับในสมัยก่อนนิสัยของชาวมละคือจะมีความว่องไว ทำให้ถูกผู้คนเรียกว่า ผีตองเหลือง นั้นเองผีตองเหลืองกลายมาเป็นที่รู้จักจากภาพยนต์เรื่องตะวันยิ้มแฉ่ง ในปี 2528 ในปัจจุบันพวกเขามีถิ่นอาศัยที่เป็นหลักเป็นแหล่งแน่นอนได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    3.ตระกูลขร้า-ไท

    ไทลื้อ


    ความเป็นมาของไทลื้อ

    ไทลื้อ หรือ ลื้อ เป็นกลุ่มคนไท มีเขตถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ประเทศจีน ภายหลังอพยพลงมาตอนใต้จึงพบเห็นได้ในประเทศพม่า เวียดนาม ลาว และไทย ในช่วงแรกย้ายลงมาที่ทางตอนเหนือของเมืองน่าน ในช่วงอาณาจักรล้านนา และมีการอพยพลงมาจากถิ่นเดิมเรื่อยๆมาอยู่ที่เมืองเชียงคำ จังหวัดเชียงราย

    ความเชื่อตามศาสนาพุทธแบบล้านนาของไทลื้อ

    ชาวลื้อในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธตามแบบล้านนา และมีบางพวกที่นับถือศาสนาคริสต์ จากการเข้ามาของหมอศาสนา อย่างไรก็ตามก็ยังมีการประกอบพิธีเลี้ยงผีบ้านผีเมือง และให้ความสำคัญกับผีบ้านผีเมืองถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    วิถีไทลื้อ

    ชาวไทลื้อมีนิสัยรักความสงบ ใจเย็น อ่อนน้อม ถ่อมตน เคารพบรรพบุรุษ ในสมัยก่อนไทลื้อทำอาชีพทางเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ทำไร่ ทำนา ค้าขายข้าว ขายใบยาสูบ ปัจจุบันชาวไทลื้อหันมาประกอบอาชีพค้าขายและอื่นๆมากขึ้น ภายหลังไทลื้อถูกปรับเปลี่ยนให้มาเป็นไทยมาขึ้นตามนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถูกวาทกรรมคอมมิวนิสและยาเสพย์ติดตีตราเหมือนกับหลายๆชนเผ่า ทำให้ความเป็นไทลื้อค่อยๆเลือนลางลงแต่ในปัจจุบันความเป็นไทลื้อถูกรื้อฟื้นขึ้นมาและมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือผ้าทอชาวไทลื้อ

    การแต่งกายแบบไทลื้อ

    ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำทำจากผ้าฝ้ายริมผ้าประดับด้วยแถบสีเรียกว่าเสื้อปั๊ต นุ่งซิ่นสีดำมีริ่วหรือลวดลายตรงกลาง ประดับลำตัวด้วยเครื่องประดับจากเงินและโพกหัวด้วยผ้าสีอ่อน ส่วนผู้ชายใส่เสื้อสีเข้มหรือสีดำทำจากผ้าฝ้ายและกางเกงสีดำ โพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือสีอ่อน ในสมัยก่อนผู้ชายจะนิยมสักตามตัว

    4. ตระกูลออสโตรนีเซีย

    ชนเผ่ามอแกน


    จุดเริ่มต้นการออกเดินทางของชาวมอแกน

    ชาว"มอแกน" หรือที่เรียกกันว่าชาวเล ชาวเกาะ มอแกนเล มอแกนเกาะ ถูกบัญญัติว่าเป็น "ชาวไทยใหม่" หรือที่รู้จักกันในนาม "ยิปซีทะเล" สืบเชื้อสายมาจากโปร์โตมาเล อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งหรือหมู่เกาะในประเทศฟิลิปินส์มาเลเซีย อินโดนีเซีย และในหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ของประเทศไทย

    ความเชื่อของมอแกน

    ชาวมอแกนนับถือภูตผี วิญญาณและธรรมชาติ มี “หล่อโบ่ง”เสาวิญญาณบรรพบุรุษเป็นสัญลักษณ์ 
    มี “ออลางปูตี”เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ พิธีกรรมที่สำคัญคือ ฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ในเดือน 5 ทางจันทรคติ ชาวมอแกนเลือกที่ตั้งของบ้านเพื่อไม่ให้คนในบ้านเจ็บป่วยและอยู่บ้านอย่างมีความสุขโดยจะไม่นิยมหันหน้าบ้านไปทางใต้ และบันไดบ้านต้องเป็นเลขคี่เท่านั้น ในสมัยก่อนเมื่อเจ็บไข้จะมีหมอพื้นบ้านเข้าทรงเพื่อเจรจาคุยกับวิญญาณให้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป แต่ในปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่เข้าถึงทำให้พวกเขาหันไปพึ่งยารักษาแทน

    วิถีมอแกน

    ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่หากินกับทะเลคือจับหอย ปู ปลา ไว้บริโภคและขายเพื่อแลกกับเสบียงเพื่อตุนไว้ในช่วงมรสุม ปัจจุบันชาวมอแกนหันมาใช้เรือไม้กระดานแทนเรือไม้ระกาในการออกจับปลา ในช่วงมรสุมชาวมอแกนจะเปลี่ยนมาขุดหัวมัน เก็บผลไม้ป่าและพืชผักต่างๆแทน

    การแต่งกาย

    การแต่งกายของชาวมอแกนจะเน้นความสะดวกสบายและเหมาะกับสภาพอากาศมากกว่า

    5. ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน

    ชนเผ่าม้ง


    ความเป็นม้ง

    ชาวม้งแต่เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศจีนอพยพลงมาทางตอนใต้ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เข้าสู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่า เวียดนามลาว และไทย ปัจจุบันชาวม้งในไทยกระจายอยู่ตามจังหวัดทางภาคเหนือ ชาวม้งจะไม่ชอบให้เรียกว่า "แม้ว" เนื่องจากพวกเขาถือว่าเป็นคำที่ดูถูก และเหยียดหยาม

    ความเชื่อของชาวม้ง

    ชาวม้งนับถือภูติผี สิ่งศํกดิ์สิทธิ์โดยแบ่งออกเป็น 2 พวกได้แก่ ผีบ้านถือว่าสิ่งที่คอยปกป้องและคุ้มครองชาวม้ง ส่วนผีป่าถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในเรื่องเคราะห์กรรม นอกจากนี้ยังรักษาโรคด้วยพิธีทางไสยศาสตร์ ตามความเชื่อว่าหากผิดผีจะทำให้เจ็บป่วยมีนัยยะคือเป็นการยึดเนี่ยวจิตใจด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภายหลังการแพทย์สมัยใหม่พวกเขาจึงพึ่งยารักษามากขึ้นมีพิธีกรรมการเรียกขวัญคล้ายกับชนเผ่าอื่นๆ ในปัจจุบันชาวม้งหันมานับถือศาสนาพุทธและคริสต์กันมากขึ้น

    วิถีของชาวม้ง

    ชาวม้งนิยมอยู่บนภูเขาสูง ตามธรรมชาติ ใช้ภาษาม้งในการสื่อสาร มีข้อห้ามข้อควรปฎิบัติที่ใช้กันในชุมชนซึ่งเป็นระบบโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ หญิงชาวม้งส่วนใหญ่จะต้องทนอยู่กับสามีไปจนตายแม้ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะแตกร้าวก็ตาม แต่เดิมชาวม้งทำอาชีพกสิกรรม ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝิ่น ทำให้ในสมัยก่อนการเลือกที่อยู่ของพวกเขาจึงเลือกที่ที่สามารถปลูกฝิ่นได้ดีภายหลังมีการใช้บัญญัติกฎหมายทำให้ฝิ่นกลายเป็นยาเสพติด โทษประเภทที่ 2 ซึ่งทำให้พวกเขาเปลี่ยนมาปลูกชา กาแฟ หรือพืชอื่นๆแทน

    เอกลักษณ์ที่โดดเด่นบนเครื่องแต่งกาย

    เครื่องแต่งกายของชาวม้งถือว่ามีความสวยงามและมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก ผู้ชายสวมเสื้อสีดำ ทำด้วยผ้ากำมะยี ตกแต่งด้วยลวดลาย ใส่กางเกงขาก๊วยสีดำคาดด้วยผ้าสีสัน และเหน็บผ้าปักลวดลายสวยงาม สวมหมวกสีดำ ตกแต่งด้วยพุ่มสีแดง ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อสีดำปักด้วยลวดลายต่างๆกับกระโปรงสั้นจีบรอบ เหน็บตรงกลางด้วยผ้าปักลายสีสันสวยงามสวมหมวกที่ตกแต่งด้วยเครื่องเงินและผ้าปัก นอกจากนี้พวกเขาจะใส่เครื่องประดับที่ทำจากเงิน



    เมื่อเรียนรู้เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย บ้างก็ผ่านความเจ็บปวดจากความขัดแย้งมามากมาย บ้างก็ออกเดินทางเพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว แต่ก่อนเราถูกภาพจำว่าคนที่เกิดในป่าคือคนที่ล้าสมัยไม่มีกฎระเบียบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงเพราะพวกเขามีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเราไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนไม่ดี คนป่า หรือคนไร้ซึ่งกฎระเบียบ พวกเขามีกฎระเบียบในกลุ่มของเขา เพียงแต่กฎนั้นไม่เหมือนกับเราหรือไม่เหมือนคนในเมือง เราได้เรียนรู้ว่าพวกเขามีวิถีชีวิตที่คงที่ และเมื่อเวลาผ่านไปภาพจำทำให้พวกเขากลายเป็นความแตกต่าง เพียงเพราะแตกต่าง เพียงเพราะเกิดในป่า หรือมาจากต่างถิ่น จึงทำให้พวกเขาไม่ควรมีสิทธิ์อย่างมนุษยชนคนหนึ่งเลยหรือไม่ ? อยากให้ทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ เก็บคำถามนี้ไปพิจารณา แล้วมาพบกันใหม่ในบล็อกหน้า ซึ่งเราจะบอกเล่าเรื่องราวปัญหาต่างๆที่พวกเขาต้องเจอ เมื่อต้องเกิดเป็นคนที่แตกต่าง





    ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.sawadee.co.th/thailand/hilltribes/index.html

    https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups

    http://www.openbase.in.th/categories/1/5/7352

    https://news.thaipbs.or.th/content/277509

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in