เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Better DaySopon Supamangmee
Thailand 4.0 (อ้าวเฮ้ย...กูไปอยู่ไหนมา?)
  • เมื่ออาทิตย์ก่อนได้รับนิตยสารหัวหนึ่งพาดตัวหนังสือใหญ่คาดหน้าแรกว่า “Thailand 4.0” ไม่รู้ว่าปฏิกิริยาตอบสนองของคนอื่นเป็นยังไง แต่สำหรับผมความคิดแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวคือ “เชี้ยแล้วไง 1.0-3.0 เกิดขึ้นเมื่อไหร่กันวะเนี้ย?”

    ก่อนอื่นขอแยกประเด็นให้เป็นที่เข้าใจตรงนี้ว่า ‘ประเทศไทย 4.0’ นั้นไม่ใช่ ‘Industry 4.0’ ที่มีต้นแบบตามประเทศเยอรมัน ซึ่งของเขานั้นเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 1 เริ่มต้นจากการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งนำไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมรถไฟ ต่อจากนั้นยุค 2 ก็เริ่มเป็นไฟฟ้าและโทรเลข ยุคที่ 3 คือดิจิตอล และตอนนี้คือยุคที่ 4 คือยุค Internet of Things (ก็คือการที่เครื่องจักรสื่อสารกับเครื่องจักร) แต่สำหรับไทยแลนด์นั้นไม่เหมือนกัน เราเริ่มต้นจากยุคที่ 1 คือสังคมเกษตร ต่อมายุคที่ 2 เป็นอุตสาหกรรมเบา และ 3 คืออุตสาหกรรมหนัก และตอนนี้เรากำลัง ‘พยายาม’ ขับเคลื่อนตัวเองเข้าสู่ยุคที่ 4 ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาบุคคลเพื่อให้ประเทศเราหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง​ ซึ่งแปลง่ายๆว่าเศรษฐกิจประเทศเราไม่ได้พัฒนาไปไหนมานานมากแล้วกว่า 50 ปี (สมัยก่อนเราเติบโตปีละ 7- 8% แต่หลังๆมาแค่ 2-3% ก็หืดขึ้นคอแล้ว) ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงขึ้นเรื่อยๆ คนรวยก็รวยต่อไป คนจนก็จนกันต่อไป และสุดท้ายปัญหาความไม่สมดุลของคนและธรรมชาติ ยิ่งเราพยายามสร้างเม็ดเงินจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมากเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมต่างๆยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ทรัพยากรร่อยหรอจนน่ากลัวว่าอีกไม่นานคงโดนถลุงจนหมด

    คนที่ให้สัมภาษณ์คือดอกเตอร์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ อธิบายถึงเหตุผลหลักๆที่ประเทศเรายังติดหล่มเศรษฐกิจตรงนี้มานานแสนนาน 1.รัฐบาลที่ไม่มั่นคง ไม่มีความต่อเนื่องในการทำงาน ล้มลุกคลุกคลาน 2.บ้านเรามีความหลากหลายมากจนเกินไป เหมือนการพยายามจับปลาหลายตัวด้วยสองมือ เรามีทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการท่องเที่ยว แต่กลับไม่โฟกัสไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนประเทศที่มีน้อยๆอย่างสิงคโปร์ ประเทศไม่มีอะไรนอกจากทรัพยากรมนุษย์ เขาก็มุ่งไปทางนั้น เอาดีทีละอย่าง แต่เรากลับทำให้ความหลากกลายเป็นข้อจำกัดเพราะนโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลที่กระง่อนกระแง่น

    มาถึงตรงนี้เริ่มพอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าที่จริงแล้ว 1.0-3.0 ของไทยแลนด์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว เราอยู่ในช่วงเวลาเหล่านั้นอย่างไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ส่วนช่วง 4.0 ที่ทางรัฐบาลประกาศว่าเป้าหมายคือการพัฒนาบุคคลนั้นเราจะไปถึงหรือไม่ ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นวิมานต์ในอากาศปราสาทลอยฟ้าที่จับต้องไม่ได้ ยังเป็นนามธรรมที่ไร้รูปธรรม แล้วอะไรหล่ะที่เขาหมายถึงการโฟกัสไปที่การพัฒนาบุคคล

    1.การพัฒนาบุคคลด้านเกษตกรรม ให้ชาวนาเป็น ‘สมาร์ทฟาร์เมอร์’ ใช้เทคโนโลยีที่ดี มีการบริหารจัดการที่ดี จนกระทั่งรวยขึ้นได้ ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำธุรกิจจากภาคการเกษตรมากขึ้น

    2.กลุ่ม SME ให้การขอสินเชื่อง่ายขึ้น ให้ความรู้ทางเทคโนโลยี ให้พวกเขามี Innovation Driven Enterprise ออกหาตลาดใหม่ๆ สร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง ฯลฯ

    3.กลุ่ม Service ให้มีความหลากหลาย สร้างนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้กลายเป็น High Value Service

    4.กลุ่มแรงงาน ให้คิดพัฒนาตนเองให้เป็น High Skilled Labor เพราะอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนแรงงานคนกันแล้ว

    ครับ...อย่างที่บอก วิมานต์ในอากาศปราสาทลอยฟ้าที่จับต้องไม่ได้

    ผมอ่านมาถึงตรงนี้เริ่มรู้สึกคลื่นเหียนเวียนไส้ เจอคำศัพท์สวยหรูเข้าไปจนจุกลิ้นปี่และอึดอัด ขอให้มองภาพความจริงที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ คำถามที่ผมมีคือ “4.0 มันเป็นไปได้ไหมสำหรับประเทศไทย? คนไทยสามารถไปถึงจุดนั้นได้จริงๆเหรอ?”

    บอกตามตรงเท่าที่สองตาผมเห็นเลยละกันนะครับว่าประเทศไทยนั้นดูจากเปลือกนอกโครตทันสมัย แต่ข้างในนั้นกลวงโบ๋จนเรียกได้ว่าล้าหลังไปไกลสุดกู่ พยายามวิ่งตามเทรนด์ล้ำหน้าทุกอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วหยิบยื่นให้อย่างไม่อิดออดสงสัย ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ใช้ความรู้แบบปักชำทำตามกันเพราะเห็นว่าคนอื่นทำแล้วดีทำแล้วรวยตลอดจนกลายเป็น ‘สันดาน’ (ขอโทษด้วยที่ผมหาคำอื่นที่อธิบายได้ดีกว่านี้ไม่ได้)

    เอาง่ายๆดูข่าวทศกัณฐ์ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีประเทศไหนบ้างที่ออกมาด่ากันฉอดๆด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว พร้อมแบ่งแยกตัวเองเป็นสองฝักสองฝ่ายเปิดศึกน้ำลายเพราะแนวคิดที่ตัวเองยึดติด แต่กลับไม่มีการพูดจาถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อหาทางออกจากจุดวิวาท ความรู้สึกมันเหมือนกำลังดูพวกนักเลงหัวไม้ที่พร้อมง้างหมัดชกกันในงานวัดเพราะความแตกต่างทางเครื่องแต่งกาย และสุดท้ายเกิดอะไรขึ้น ข่าวเงียบหายไปประเทศไทยเข้าสู่ภาวะปรองดองสมานฉันท์ปลอมๆและพร้อมกลับมาแตกแยกกันอีกครั้งเมื่อปัญหาใหม่เกิดขึ้น

    หรืออย่างเรื่องของนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง 'โจชัว หว่อง" ที่บินผ่านประเทศไทย เห็นข่าวแล้วอดหัวเราะไม่ได้อีกนั้นแหละเพราะนี้ถ้าไม่ใช่ไทยแลนด์ทำแทนไม่ได้จริงๆ ปากบอกว่าอยากให้เด็กไทยรุ่นใหม่เติบโตแบบมีอิสรภาพทางความคิด อยากให้มีประชาธิปไตยเกิดขึ้นในชาติ อยากให้บ้านเมืองก้าวหน้า อยากให้เด็กมีความคิดแบบ Innovative Driven พัฒนาตัวเองเป็น High Skilled Labor สร้างสรรค์งานบริการที่ High Value Service และมองหาโอกาสในภาคธุรกิจเกษตกรรมพร้อมปรับตัวเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ ฮึ...แค่ให้เด็กคิดกันเองยังไม่กล้าให้เกิดขึ้นเลย

    เอาจริงๆอย่าเพิ่งพูดถึง 4.0 เลย เพราะมันฟังเหมือนพวกอวดเบ่งทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีอะไร เหมือนกบที่พยายามพองตัวให้เท่ากับวัวแล้วท้องแตกตาย มันน่าอายมากกว่าน่าภูมิใจ

    Malcolm X (นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน) ได้พูดเอาไว้ว่า

    “You can't separate peace from freedom because no one can be at peace unless he has his freedom.”

    “คุณแยกสันติภาพกับอิสรภาพออกจากกันไม่ได้หรอก เพราะไม่มีใครมีสันติภาพถ้าเขาไม่มีอิสรภาพ”


    เราพร่ำพูดกันอยู่ตลอดว่าอยากให้ประเทศก้าวหน้า อยากให้เศรษฐกิจไทยเจริญรุ่งเรืองเทียบเคียงกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเพื่อนบ้านสิงคโปร์มาเลเชียบ้าง แต่เรายังควานหาคำว่าอิสรภาพทั้งในเรื่องความคิด การเติบโต การเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เลย

    ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์พูดถูกว่าเรามีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการทำงานของรัฐบาล แล้วสาเหตุของความคลอนแคลนไม่มั่นคงคืออะไรถ้าไม่ใช่ความปรองดองแบบฉาบฉวยที่เราพยายามทำกันอยู่ตลอดมา

    ปัญหากวาดไว้ใต้พรมก็ยังเป็นปัญหา ไม่ได้หายไป แถมยังสะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

    ถ้า Thailand 4.0 กล้าปล่อยให้เด็กมีอิสระและทำในสิ่งที่พวกเขาอยากทำโดยไม่ตีกรอบจำกัดความคิด ไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ในความสามารถของพวกเขา ความหลากหลายของประเทศเราอาจไม่ใช่จุดด้อยอีกต่อไป

    ผมปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งไว้หลังบ้าน คอยรดน้ำดูแลอยู่เป็นประจำ ไม่มีการตัดแต่งกิ่งปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ผมว่ามันดูสวยกว่าต้นอื่นๆที่ถูกเล็มตัดให้เป็นรูปทรงกลมทรงเหลี่ยมตามสวนสวยๆซะอีก
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in