วิจารณ์ภาพยนตร์
ชื่อเรื่อง ปริศนามาริลิน มอนโร: เทปลับ (The Mystery of Marilyn Monroe: The Unheard Tapes)
ปีที่ออกฉาย 2022
ประเภทภาพยนตร์ สารคดี / ชีวประวัติ / สืบสวนสอบสวน / อาชญากรรม
ช่องทางในการจัดฉาย Netflix
ผู้กำกับภาพยนตร์ เอ็มมา คูเปอร์
ข้อมูลเบื้องต้น
สารคดีสร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับคดีมรณะกรรมบันลือโลกที่ยังคงเป็นปริศนาของ มาริลิน มอนโร
ดาราสาวระดับตำนานที่ไม่ได้โด่งดังเพียงแค่ในฮอลลีวูด (Hollywood) หรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ทว่ากลับมีชื่อเสียงกระฉ่อนและเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก โดยมีเทปลับซึ่งบันทึกบทสัมภาษณ์จริง
ของคนวงในจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนหรือเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
เป็นเสมือนกับสื่อกลางที่ช่วยไขคดีปริศนานี้ให้เป็นที่กระจ่างและประจักษ์ต่อสายตาของคนทั้งโลก
การเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
นับตั้งแต่แจ้งเกิดจนได้กลายมาเป็นนักแสดงสาวดาวรุ่งแห่งยุคที่เปล่งประกายด้วยตัวเอง
โดยไม่ต้องพึ่งพาแสงของใครหน้าไหน การงานในวงการบันเทิงของมาริลินจึงก้าวกระโดด
ความสวยที่เตะตาและหุ่นเนื้อนมไข่ไม่ได้ทำให้มาริลินกลายเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ (Sex symbol)
อย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในหมู่สังคมชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพล นักการเมือง นักกีฬา นักธุรกิจมหาเศรษฐี และเพราะวงการมายาและโลกธุรกิจมีสองสิ่งที่สำคัญ
เหมือนกันคือเรื่องเส้นสาย มาริลินจึงได้พบกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่จะทำให้เธอโด่งดังมากกว่าที่เป็น การได้คบค้าสมาคมถึงขั้นได้สานสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวหรือแม้แต่การตัดสินใจที่จะลงหลักปักฐาน
ด้วยการแต่งงานกันทำให้มาริลินมีความสุขคล้ายกับได้ความรักเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายในอดีต
ทว่าสุดท้ายกลับพบว่าเรื่องพิศวาสที่เกิดขึ้นมาล้วนแล้วแต่มีเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นการตักตวง
ผลประโยชน์จากบุคคลที่มีอำนาจและหลอกใช้มาริลินซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้หญิงที่มีวัยเด็กอันเลวร้าย
เพราะถูกบุพการีบังเกิดเกล้าทอดทิ้งจึงผ่านชีวิตสมรสที่ไม่สมหวังหลายต่อหลายครั้งจนกลายเป็น
แม่ม่ายทรงเครื่องตั้งแต่อายุยังน้อย รอยช้ำที่กลายเป็นแผลเป็นทำให้มาริลินต้องเข้ารับการบำบัด
กับจิตแพทย์ ก่อนที่จะจบชีวิตรักและชีวิตการงานพร้อมกับปริศนามรณกรรมที่ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งโลก
การวิเคราะห์เนื้อหาผ่านทฤษฎี
ใครหลายคนชอบให้นิยามความรักว่าเป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจที่คอยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตและจิตใจ
มีแรงที่จะสู้และขับเคลื่อน แน่นอนว่าชีวิตของมาริลิน มอนโรก็เป็นไปตามคำนิยามนั้นเช่นกัน
ความรักทำให้ชื่อเสียงการงานของเธอเติบโต ทำให้อดีตเด็กที่เคยเข้าออกบ้านเด็กกำพร้าและ
บ้านอุปถัมภ์หลายครั้งหลายหนได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากและกลายเป็นคนดังภายในชั่วข้ามคืน
ทำให้คนที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากบิดามารดาแท้ ๆ เกือบมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ด้วยการมีลูก
และครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดพลิกผัน แถมอดีตที่เคยเป็นฝันร้ายยังตาม
หลอกหลอนไม่เลิกราราวกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ละครชีวิตที่เคยโชติช่วงและปิดฉากลง
เมื่อถึงตอนอวสานในวัยเพียง 36 ปีจึงสอดคล้องกับทฤษฎีแรงขับ (Drive theory)
ซึ่งมีผลต่อบุคลิกภาพที่แสดงออกของบุคคลโดย ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย
ผู้เป็นที่รู้จักในนามของบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ที่มีบทบาทต่อชีวิตทั้งชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งได้ ดังนี้
1) แรงขับและสัญชาตญาณ (Drive and instincts)
แรงขับคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงขับทางเพศซึ่งเป็นแรงขับธรรมดา
ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณแห่งการมีชีวิตที่นำไปสู่ความพึงพอใจ การบรรลุเป้าหมาย
และการหลีกเลี่ยงความผิดหวังในชีวิต การมีความสัมพันธ์กับคนดังในแวดวงต่าง ๆ ที่กลายเป็น
ข่าวอื้อฉาวของมาริลินโดยเฉพาะการที่ถูกดักฟังเสียงระหว่างร่วมรักกับพี่น้องเคนเนดีโดยนักสืบเอกชนจึงเป็นการตอกย้ำว่ามาริลินใช้แรงขับทางเพศในทุกครั้งที่อยากมีความรักเพื่อตอบสนองความต้องการโดยหารู้ไม่ว่าคู่นอนของเธออาจมีเจตนาอื่นแอบแฝงมากกว่านั้น
2) ความวิตกกังวล (Anxiety)
ความวิตกกังวลเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่โดนบีบคั้น ความทรงจำ ความปรารถนา ประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิตและถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างหรือภายในตัวเอง
จนทำให้เกิดความรู้สึกถึงหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามาในไม่ช้า การที่มาริลินได้มีโอกาส
เข้าไปมีส่วนพัวพันกับคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำระดับประเทศอย่าง จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็นที่มีการใช้อาวุธทางความคิดและ
อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อฟาดฟันกับประเทศที่เป็นปฏิปักษ์จึงอาจทำให้เธอล่วงรู้ถึงความลับภายใน
ที่ไม่ควรแพร่งพรายชนิดที่ถ้าหากรั่วไหลอาจถูกปิดปาก ทั้งยังได้ตกเป็นเป้าสายตา
ของสื่อมวลชนในฐานะของบุคคลสาธารณะและถูกจับตามองโดยหน่วยงานความมั่นคง
ระดับสูงอยู่ตลอดเวลา มาริลินจึงเกิดความหวาดระแวงและพยายามหลีกหนีความจริง
ด้วยการใช้ยาเพื่อบำบัดความรู้สึกที่เกิดขึ้น
3) ระดับของจิตสำนึก (Levels of consciousness)
จิตสำนึกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ จิตสำนึก จิตก่อนสำนึก จิตใต้สำนึก
โดยทั้งสามส่วนนี้มีการแสดงออกที่อยู่ในระดับต่างกันและมีสิ่งกระตุ้นที่ไม่เหมือนกัน
จิตสำนึกเกิดได้ในทุกช่วงจังหวะของชีวิต ในขณะที่จิตก่อนสำนึกเกิดขึ้นได้เพราะเหตุการณ์
ที่คอยกระตุ้นให้นึกถึงความทรงจำและความรู้สึกในอดีต ส่วนจิตใต้สำนึกเป็นสิ่งที่ถูกกดทับ
ในขณะที่มีสติโดยไม่สามารถแสดงออกมาได้ โดยที่จิตสำนึกทั้ง 3 ระดับล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น
กับชีวิตของมาริลินไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันหรือในชีวิตลับที่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซ้ำร้ายยังถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์บอบช้ำที่ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจนทำให้ความทรงจำ
ในวัยเด็กที่อยากลืมหวนกลับมา และเพราะเธอยืนอยู่ท่ามกลางแสงจากสปอร์ตไลท์
ที่ได้สาดส่องจากเบื้องบน บางครั้งเธอจึงจำเป็นต้องเสแสร้งว่าตัวเองมีความสุข
โดยไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่กำลังทุกข์ระทมออกมาให้ทุกคนรู้ได้ในทันที
ความคิดเห็นส่วนตัว
จุดดี
- ดนตรีประกอบช่วยเร้าอารมณ์ให้เกิดความระทึกผสมกับความเพ้อฝันในบางช่วงบางตอน
เหมือนกับดูดให้ผู้ชมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและอยู่ร่วมเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในยุค 50
- การตัดต่อที่กระชับฉับไว ทั้งยังเน้นย้ำด้วยการใส่ภาพหรือเสียงซ้ำ ๆ
เพื่อกระตุกความสงสัยใคร่รู้และดึงดูดความสนใจของผู้ชม
- การจัดวางจังหวะเวลา (Timing) ของฉากที่ทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ
เหมือนกับดูภาพยนตร์สารคดีในเชิงวิชาการเรื่องอื่น ๆ แต่เป็นการรับชมภาพยนตร์
ที่มีความบันเทิงแอบแฝงอยู่ด้วยตามสูตรสำเร็จ โดยจัดวางให้คนดูเหมือนได้
ทำหน้าที่นักสืบร่วมด้วยเช่นกัน
จุดด้อย
- การใส่ภาพของนักแสดงแทนพร้อมกับเสียงสัมภาษณ์จริงทำให้เกิดความไม่สมจริงขึ้นมา
จนบางทีรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพยนตร์ล้อเลียน (Mockumentary) ทั้งยังลดทอนความลุ้นระทึก
ลึกลับ ปริศนาตามชื่อเรื่องและแก่นเรื่องของภาพยนตร์สารคดี ในช่วงที่ใส่ภาพของนักแสดงแทน
ควรใส่เป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์จริง หรืออย่างน้อยควรเป็นภาพ
ที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องโดยตรง
- วิธีการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงที่อาจโน้มน้าวและเอนเอียงอย่างเห็นได้ชัดจนมีอคติ
และสร้างมุมมองของเพศหญิงต่อเพศชายที่เปลี่ยนไป
บรรณานุกรม
ลอฟฟีเซียล ไทยแลนด์. (2565). สำรวจการจากไปอย่างเป็นปริศนาของนักแสดงสาวระดับตำนาน Marilyn Monroe. (ออนไลน์)
เดอะ โมเมนตัม. (2560). มาริลีน มอนโร: ผลิตภัณฑ์งานศิลป์และชีวิตที่ยับเยิน. (ออนไลน์)
ต้องรัก จิตบรรเทา. (2560). บุคลิกภาพตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์. วารสารสังคมศาสตร์วิชาการ,
10(2), 275-285.
พรชา จุลินทร (สบาย)
3 พฤษภาคม 2565
23.03 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in