Little Women
The Little Mermaid (Den Lille Havfrue)
The Little Prince (Le Petit Prince)
ความละม้ายคล้ายคลึงกันของสามวรรณกรรมอมตะตลอดกาลระดับโลกที่มีคำว่า Little
หรือในภาษาไทยซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า เล็ก น้อย กระจิ๋วหลิว นิดหน่อย หยุมหยิม ฯลฯ
อยู่ในชื่อเรื่องกลายเป็นจุดสังเกตสำคัญอันโดดเด่นที่ทำให้การวิเคราะห์ครั้งนี้ได้อุบัติขึ้นมา
Little Women หรือ สี่ดรุณี คือนวนิยายสัญชาติอเมริกันที่มีฉากหลังเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ
จากปลายปากกาของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ซึ่งถูกตีพิมพ์เป็น 2 ตอนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1836
ก่อนที่จะถูกดัดแปลงซ้ำให้ได้กลายเป็นละครเวที ภาพยนตร์และการ์ตูนในอีกหลายต่อหลายครั้ง
แก่นแท้ของสี่ดรุณีคือการปกป้องสิทธิของสตรีของตัวละครหญิงที่กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้และต่อกร
กับมายาคติและการถูกกดทับของเพศแม่เพื่ออิสระทางความคิดและการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
Den Lille Havfrue หรือ เงือกน้อย คือเทพนิยายแฟนตาซีสัญชาติเดนมาร์กที่ถูกประพันธ์ด้วยฝีมือ
ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เมื่อปี ค.ศ. 1837 ก่อนจะถูกพัฒนาเป็นแอนิเมชัน The Little Mermaid
หรือ เงือกน้อยผจญภัย ภายใต้การดูแลและการปลุกปั้นของ วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส เมื่อปี ค.ศ. 1989
เส้นเรื่องที่แปลกประหลาดและกล้าที่จะฉีกจากขนบด้วยการสร้างกำแพงแห่งความแตกต่างเพื่อกีดกัน
และใช้ประเด็นความรักต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเพื่อจูงใจให้ผู้ชมต้องคอยเอาใจช่วย
ส่งผลให้นิทานปรัมปราเรื่องนี้มีเพลงฮิตและได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของหญิงสาวจำนวนมากทั่วโลก
Le Petit Prince หรือ เจ้าชายน้อย คือวรรณกรรมสัญชาติฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงโด่งดังกระฉ่อนที่สุดของ
อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ซึ่งได้รับการเผยแพร่และออกสู่สายตาของชาวโลกเมื่อปี ค.ศ. 1943
ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์นับครั้งไม่ถ้วนและถูกแปลมากกว่า 250 ภาษาทั่วโลกจวบจนถึงปัจจุบันทันด่วนนี้
สิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อคือการเสียดสีสังคมและความเป็นผู้ใหญ่ที่มักจะใช้ชีวิตราวกับเครื่องจักร
ซึ่งไร้หัวใจในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันชิงดีชิงเด่นจนหลงลืมความเป็นตัวตนในวัยเยาว์โดยสิ้นเชิง
วรรณกรรมระดับโลกทั้งสามที่ได้นำเสนอประเด็นสตรีนิยม (Feminist) ความเท่าเทียม (Equality)
การปฏิบัติของมนุษย์ที่ไร้ซึ่งมโนธรรมภายในจิตใจ รวมถึงการเคารพในความต่างระหว่างเผ่าพันธุ์
ไม่ใช่เพียงแต่สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่บิดเบี้ยวตั้งแต่อดีตจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบัน
หรือการเป็นพลวัตครั้งสำคัญของวงการน้ำหมึกที่จุดประกายความฝันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเท่านั้น
ทว่าเจ้าของวรรณกรรมอมตะทั้งสามคนยังได้สรรสร้างตัวละครหลักของเรื่องราวที่ล้วนแล้วแต่เป็น
คนตัวเล็ก ๆ ในสังคมตามชื่อของบทประพันธ์ให้กลายเป็นคนที่ตั้งคำถามและหาคำตอบต่อสิ่งต่าง ๆ
จนเกิดเป็นแรงกระเพื่อมในวงกว้างราวกับจะตอกย้ำโดยสื่อนัยยะสำคัญให้ผู้อ่านทุกคนได้รับรู้ว่า
ความเป็นคนตัวเล็กในโลกวรรณกรรมซึ่งยึดโยงอยู่กับการเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ตาดำ ๆ ในสังคม
แท้จริงแล้วกลับมีพลังอำนาจมหาศาลและทรงอิทธิพลจนกลายเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ในโลกจริงได้เสมอ
เพียงแค่กล้าที่จะผิดแผกแตกต่าง กล้าที่จะเติบโตทางความคิดและกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง
...ก็พอ
พรชา จุลินทร (สบาย)
3 มีนาคม 2565
23.16 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in