ฮารูกิ มูราคามิ - เขียน
นพดล เวชสวัสดิ์ - แปล
สำนักพิมพ์กำมะหยี่
-----------------------------------
/ / / /
“นี่คือตัวตนของ ฮารูกิ มูราคามิ
นักเขียน และนักวิ่ง
ผู้ที่อย่างน้อยที่สุด ไม่เคยยอมเดิน”
/ / / /
ฉันเลือกอ่านหนังสือเล่มนี้ ด้วยความคาดหวังสองประการ
หนึ่ง อยากหาแรงบันดาลใจในการวิ่ง เพราะเพิ่งค้นพบความเสื่อมถอยของร่างกายที่ไม่ทนทานเหมือนตอนสาว(กว่านี้) เลยตั้งใจกลับมาคุยกับร่างกายอย่างจริงจังผ่านการวิ่ง ที่ดูเข้ากับฉันได้ดีที่สุด
สอง อยากรู้จักมูราคามิ เพราะดูทรงจากผลงานเขียนและสัมภาษณ์ที่เคยผ่านตามาบ้าง คิดว่าพวกเราน่าจะเป็นคนประเภทเดียวกัน “ประเภทที่ชอบอยู่กับตัวเอง…ไม่เจ็บปวดถ้าจะอยู่ตามลำพัง” เลยคิดว่าคงคุยกันรู้เรื่องผ่านตัวอักษร
.
แล้วความคาดหวังของฉันก็ได้รับการตอบสนอง
ฉันได้รับแรงบันดาลใจในการวิ่ง จากความมีวินัยไม่อ่อนข้อให้ใครแม้แต่ตัวเองของมูราคามิ เขาบอกกับตัวเองว่าจะวิ่งทุกวัน เขาก็วิ่งทุกวัน “ผมมีเหตุผลเพียงไม่กี่ข้อที่จะมาอ้างเพื่อออกวิ่ง มีเหตุผลหลายคันรถบรรทุกที่จะหยุดวิ่ง เท่าที่ผมทำได้ จะเป็นการเลือกสรรเหตุผลไม่กี่ข้อมาเจียระไนให้สุกปลั่ง”
เขาออกกฎกับตัวเองว่าจะไม่เดิน เขาก็ไม่เดิน “แต่ผมไม่ยอมเดินแม้แต่ก้าวเดียว ผมหยุดเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แต่ไม่เดิน ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อเดิน ผมมาเพื่อวิ่ง”
ส่วนฉัน ถ้าบอกว่าจะวิ่งวันนี้ พรุ่งนี้ยังคงมีข้ออ้างให้อิดออด แต่ไม่ซะหรอก! หลังจากอ่านเล่มนี้ ฉันจะฮึดกับเรื่องวิ่ง! (ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สุดในชีวิตของผู้เป็นปรปักษ์กับการออกกำลังกายอย่างฉัน) รวมถึงเรื่องอื่นในชีวิต ที่มักดับมอดได้ง่าย ตามสายลม แสงแดด และผู้คนที่สวนผ่าน
.
แล้วฉันก็ได้รู้จักมูราคามิสมใจอยาก
‘ความมูราคามิ’ ปรากฏโผล่ให้เห็นตลอดเล่มว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร เขาทำมันอย่างไร และเน้นย้ำซ้ำๆว่าเขาเป็นเขา ไม่เหมือนใครแต่เป็นเขา
มูราคามิไม่ใช่แค่คนเงียบๆชอบอยู่กับตัวเองอย่างที่ฉันวาดภาพไว้ แต่โดยเนื้อแท้เขาดื้อรั้น ทำทุกอย่างที่อยากทำแม้ใครจะห้ามปราม เหมือนที่เขาออกวิ่งหรือเขียนนิยาย ไม่ใช่เพราะมีใครร้องขอให้ทำ แต่แค่อยู่มาวันหนึ่งเขาคิดอยากทำ ก็พรวดพราดลุกขึ้นมาทำโดยไม่รู้ตัว และทำอย่างมุ่งมั่นจนถึงที่สุด นั่นล่ะเขา ที่ฉันได้รู้จักผ่านหนังสือเล่มนี้
.
นอกจากเรื่องวิ่งๆและเรื่องเขียนๆ ยังมีเกร็ดความคิดที่เกิดบนก้าววิ่ง ที่มูราคามิมีต่อตัวเอง ต่อโลก และต่อความชรา “คุณมีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น เมื่ออายุมากขึ้น คุณจะเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในตัว นั่นเป็นความวิเศษงดงงามของความชรา”
ทำให้ฉันอ่านแล้วคิดตาม และตั้งคำถามกับตัวเอง เหมือนได้อ่านปรัชญาชีวิตขนาดย่อม จากการนั่งดูเขาวิ่งอย่างไม่คิดหยุดเดิน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in