เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เต่าเต่าเล่าหนังสือHimmel Brown
: สุดชีวิต :
  • แอลิช มันโร - เขียน
    อรจิรา โกลากุล และวิวัฒน์ เลิศวัฒน์วงศา - แปล
    บทจร - สำนักพิมพ์
    -----------------------------------


    / / / /
    “รวม 10+4 เรื่องสั้นสุดท้ายก่อนเกษียณของนักเขียนหญิงชาวแคนนาดา
    ผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็น ‘นักเขียนเรื่องสั้นร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่’
    หนึ่งเรื่องสั้นสมบูรณ์เหมือนหนึ่งนวนิยาย ละเอียดอ่อน ซับซ้อน มีชั้นเชิง”
    / / / /

    .
    ฉันใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ประมาณ 1 อาทิตย์ ด้วยความรู้สึกทรมานในใจและหนักอึ้งในหัว บอกกับตัวเองว่า หนังสือเล่มนี้ ไม่สามารถอ่านเร็วๆรวดเดียวจบโดยไม่หยุดพักได้จริงๆ

    ไม่ใช่เพราะไม่สนุกจนต้องกล้ำกลืนฝืนทนอ่าน (แม้ต้องยอมรับว่าบางบททำให้ฉันรู้สึกเหมือนต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองอย่างหนัก)

    แต่ด้วยความละเอียดของเรื่องราวในแต่ละบท ที่แม้จะเป็นเรื่องสั้น แต่มีความครบเครื่องยาวเหมือนนวนิยาย ประหนึ่งฉันกำลังนั่งฟังชีวิตอันโลดโผด 14 ชีวิต ที่ผลัดกันเล่าเรียงรายไม่ยอมหยุด ไม่ทันหายอินจากเรื่องของหญิงสาวหมายเลขสอง ก็ต้องไปทำความเข้าใจชายหนุ่มหมายเลขสาม เดี๋ยวคนนี้เป็นแม่บ้านเบื่อสามี อีกคนเป็นกวี อีกคนเป็นครู เป็นหมอ เป็นทหาร เป็นโปลิโอ เป็นบ้า เป็นชู้ เป็นคู่รัก เป็นคนแก่ เป็นเด็ก เป็นหญิง เป็นชาย ฯลฯ...
    เป็นสารพัดแตกต่างที่น่าติดตาม

    .
    แม้เนื้อเรื่องแต่ละบทจะมีความเฉพาะตัวแยกจากกัน แต่มีจุดร่วมบางประการที่ฉันจับสังเกตได้

    เช่น
    การบรรยายที่ละเอียดอ่อนแต่เข้มข้น /มีฉากหลังร่วมกันคือประเทศแคนนาดา โดยเฉพาะเมืองแวนคูเวอร์ / ช่วงยุคสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ 1930 ฯลฯ /แก่นเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครหลากช่วงวัย ที่บางบทเป็นการทิ้งร่องรอยความทรงจำในอดีต บางบทเป็นการทิ้งเรื่องเพื่อสานต่อในอนาคต /การหักความรู้สึกคนอ่านให้บิดไปจากที่คาด และการเล่าพฤติกรรมผิดศีลธรรมตามมาตรฐานคนส่วนใหญ่ (เช่นการเป็นชู้) แต่ไม่ตัดสิน หน้ำซ้ำยังเล่าด้วยน้ำเสียงธรรมดาราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความรัก ไม่ต่างจากตอนที่เราจีบหรือคบหาใครสักคนอย่างจริงจังเพื่อหวังใช้ชีวิตร่วมกัน

    .
    ส่วนตัวแล้ว ถ้าให้จัดอันดับจาก 10 + 4 เรื่อง (ต้อง +4 เพราะ 4 เรื่องหลังมันโรบอกว่าเป็น ‘อัตชีวประวัติเชิงอารมณ์’ ที่ไม่ใช่เรื่องเล่าซะทีเดียว) ฉันชอบเรื่อง ‘กรวด’ มากที่สุด รองลงมาคือเรื่อง ดอลลี และคอร์รี

    ตอนแรกฉันอ่านเรื่องกรวดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่พอเริ่มลำดับจับเรื่องได้ กลับชอบกลวิธีในการเล่าเรื่องที่สร้างบรรยากาศและความรู้สึกให้อินตามตัวละคร และการจบเรื่องที่ทิ้งก้อนคำให้กลับมาขบคิดกับตัวเอง

    “ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วหลังจากนั้นเรื่องเศร้าก็จะหายวับไป หรือไม่อย่างนั้น เรื่องเศร้าก็จะบรรเทาเบาบางลง แล้วเธอก็แค่อยู่ที่นั่น ใช้ชีวิตไปอย่างง่ายๆสบายๆในโลกใบนี้”

    .
    ขอแถมนอกเรื่อง
    สิ่งที่สะดุดตาฉันแต่แรกเห็น คือความสวยของหนังสือ

    ฉันไม่รู้ว่ากระดาษที่ บทจร ใช้เรียกว่าอะไร แต่สำหรับฉันมันคือกระดาษมิตรสหายนักอ่าน ด้วยสีกระดาษละมุนตา เนื้อเบาเปิดง่าย กางได้แบบไม่กลัวสันหลุด และการจัดหน้าเป็นระเบียบสะอาดกวาดตาสะดวก

    มีที่ยากลำบากจนทำให้การอ่านสะดุดเพียงอย่างเดียว คือ 'เชิงอรรถท้ายเรื่อง' ที่คนขี้เกียจเปิดกลับไปกลับมาให้เสียจังหวะการอ่านอย่างฉัน ต้องข้ามไปไม่อ่านแล้วทำเป็นเออออรู้เรื่องกับตัวละคร (ทั้งที่แน่นอนว่าไม่รู้เรื่องสักนิด!)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in