เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#squarreadsquarrium
[Review] คำพิพากษา : ความปกติที่ไม่ควรปกติ

  • เล่มนี้เป็นเล่มแรกของคุณชาติ กอบจิตติ ที่เรามีโอกาสได้อ่าน

    ไม่เคยรู้มาก่อนว่าสไตล์การเขียนเป็นยังไง ถึงขั้นที่ว่าเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำพิพากษาเป็นต้นฉบับของภาพยนตร์ ไอ้ฟัก ที่เคยได้ยินตอนเด็ก ๆ (แต่ก็ยังไม่เคยดูอีก) โอยย คือไม่รู้อะไรเลยย

    คำพิพากษา

    ผู้เขียน : ชาติ กอบจิตติ
    สำนักพิมพ์ : หอน
    ราคา : 140 บาท

    เรื่องย่อ
    เมื่อพ่อตาย ฟัก จึงเลี้ยงดู นางสมทรง หญิงบ้าที่เป็นเมียใหม่พ่อเอาไว้ในบ้านเดียวกัน จนทำให้ชาวบ้านพูดกันไปต่าง ๆ นานาว่าไอ้ฟักเอาเมียพ่อมาเป็นเมียตัวเอง นั่นทำให้ไอ้ฟักที่เคยเป็นต้นแบบในทางที่ดีของคนอื่น กลายเป็นตัวอย่างในทางที่ไม่ดีไปแล้ว 

    การดำเนินเรื่องเป็นไปด้วยความเรียบง่าย คือไม่ได้มีการระเบิดภูเขาเผา(ใบ)กระท่อม ไม่ต้องแฟนตาซีกลับชาติมาเกิด หรือรถเหาะได้อะไร เป็นเพียงเรื่องของผู้ชายธรรมดา กับหญิงเป็นบ้า ในเมืองชนบทแห่งนึง

    แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์มาก ๆ ของเล่มนี้สำหรับเราก็คือความเป็นชนบทอย่างแท้จริง ชนบทแบบที่น่าจะหาไม่ได้อีกแล้วในงานเขียนสมัยนี้ ทั้งการพรรณาถึงบรรยากาศ สภาพความเป็นอยู่ และทัศนคติ ลักษณะสังคมชนบทสมัยก่อนที่ใครทำอะไรก็รู้ตั้งแต่ต้นยันท้ายหมู่บ้าน 
    อ่านไปแล้วก็ทำให้คิดถึงภาพตอนเด็ก ๆ ที่เคยสัมผัสอะไรแบบนั้นจริง ๆ วันพระทีนึงก็ขนของใส่ตะกร้าไปนั่งทำบุญสวดมนต์กันอยู่บนศาลาวัด มีปัญหาอะไรก็จะวิ่งไปหากำนัน ไปปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน บ้านใครเปิดเป็นร้านขายของโชห่วย ร้านข้าวแกง ก็จะเป็นแหล่งกระจายข่าวอันดับหนึ่งยิ่งกว่าเสียงตามสาย

    เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ ความปกติที่ไม่ปกติ หรือ ความไม่ปกติที่แม่งกลายเป็นความปกติไปแล้ว สิ่งที่ฟักต้องเจอเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดกับใครคนไหนทั้งนั้น ให้อารมณ์เหมือนตอนฟังเพลงน้ำลาย Silly Fools เหมือนกันนะ ความจริงแล้วไม่มีใครรู้จักฟักจริง ๆ เลยซักคน แต่คำพูดของทุกคนก็ดันกลายเป็นตัวกำหนดว่าไอ้ฟักเป็นอย่างงั้น ไอ้ฟักเป็นอย่างงี้
    ฟักที่มีจิตกุศลขนาดว่าเมื่อพ่อตายก็ยังคงดูแลแม่เลี้ยง (เมียใหม่ของพ่อ) ที่เป็นบ้าต่อไป เพราะเป็นห่วงเกินกว่าจะปล่อยให้หญิงบ้าใช้ชีวิตแบบไม่รู้ชะตากรรม แต่ก็ดันถูกสังคมตราหน้าว่าเอาเมียพ่อมาเป็นเมียตัวเอง 

    อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจะเป็นพ้อยสำคัญของเรื่องนี้เลย คือ คนเรานี่แม่งมองคนที่ภายนอก ตัดสินคนที่อาชีพเก่งกันจริง ๆ นะ เรามักจะคิดไปก่อนแล้วว่าถ้าทำอาชีพแบบนี้แม่งต้องเป็นคนแบบนี้แน่ ๆ ไอ้นี่ไม่น่าคบ ไอ้นี่ไม่น่าเข้าใกล้ แต่ถ้าใครดูมีหน้ามีตาหน่อย ทำอาชีพที่ดูมีเกียรติก็จะมีความน่าเชื่อถือกว่าชาวบ้านเขา พูดอะไรใครก็เชื่อ ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจจะเน่าเฟะยิ่งกว่าศพซะอีก

    หรือบางคนที่ทำอาชีพที่ไม่มีใครยอมทำ ทำอาชีพที่ถูกมองว่าสกปรก กลับมีจิตใจที่บริสุทธิ์เหมาะกับการคบหาเป็นเพื่อนแท้กว่าทุกคนซะด้วยซ้ำ 

    ถึงมันจะเป็นนิยายที่แต่งมาหลายสิบปีแล้ว ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปบ้าง แต่สภาพสังคมยังคงเหมือนเดิมเป๊ะ สังคมที่คนเรามันยังไม่เท่ากัน แค่ทำอาชีพต่างกันมีฐานะต่างกัน ความดังของเสียงก็ต่างกันไปด้วย 

    เรียกว่าเป็นการอ่านที่ต้องใช้พลังพอสมควร กับการต้องค่อย ๆ รับรูัว่าฟักจะโดนสังคมตัดสินเรื่องอะไรอีก วันนี้ฟักจะซวยเพราะใครอีก ฯลฯ

    ถึงจะไม่ได้เป็นพล็อตล้ำระเบิดภูเขาเผากระท่อม หรือสร้างระบบโลกใหม่ขึ้นมา แต่นี่แหละคือโลกแห่งความจริงที่เราอยู่ โลกที่อ่านแล้วหดหู่ แต่เงยหน้าขึ้นมาดันหดหู่ยิ่งกว่า เพราะไปสุดยิ่งกว่าหนังสือซะอีก

    ...
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in