เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Social and History by Jack okKiattisak Wongliang
เพลิง ถวายพ่อ
  • 26 ตุลาคม 2560

             วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวไทย พระผู้ซึ่งสถิตในใจชนทุกหมู่เหล่าพระผู้ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก คุณความดีของพระองค์มีมากล้นเกินบรรยาย พระองค์มิใช่เพียงกษัตริย์ที่เปรียบดั่งความเชื่อตามคติเทวราชาที่สั่งสมมานับพันปี หากแต่ องค์ภูมิพล คือ พลังแผ่นดินกษัตริย์ที่ทำให้ฟ้าเข้าใกล้ดิน ราษฎรทุกคนรับรู้ได้ ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์กว่า 7 ทศวรรษพระองค์ไม่เคยคิดที่จะหยุดทำความดีเพื่อประโยชน์ของราษฎรดั่งพระปณิธานที่ทรงตั้งมั่นว่า 

    “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม”

    ภาพพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 หรือ             วันฉัตรมงคล  

              คำว่า ธรรม นี้ หมายถึง สิ่งที่ดีงามดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ผู้ชายเพียงคนเดียวที่ทำให้คนทั้งประเทศศรัทธาในพระองค์  ยึดมั่นพระองค์เป็นศูนย์รวมจิตใจ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม  นักวิชาการด้านโบราณคดี-มานุษวิทยา กล่าวว่า สิ่งที่พระองค์ทำชนะใจประชาชนจึงได้เกิดการร่ำไห้มากมาย นี่คือการชนะที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่ชนะเป็นราชาธิราช หากแต่เป็นการครองใจคนโดยโน้มพระองค์ลงมา 

           กษัตริย์ผู้เปรียบดั่งหัวใจแผ่นดิน การสวรรคตของพระองค์จึงเปรียบดั่งการบีบหัวใจที่บรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ เมื่อเทวดาเดินดินต้องกลับสวรรค์ ดังนั้นงานพระเมรุมาศจึงต้องสมพระเกียรติและเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดให้สมกับความดีของพระองค์และสถิตในใจชนตราบนิจนิรันดร์

     ภาพหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ยังคงตราตรึงอยู่ในใจคนไทยทุกหมู่เหล่า 

  •         ประการสำคัญอีกประการหนึ่งในการถวายพระเพลิงพระบรมศพนั่นคือ เพลิง (ไฟ) การจุดเพลิงเพื่อใช้ในงานพระเพลิงพระบรมศพมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ ประการแรกคือ การใช้ศิลาหน้าเพลิง และประการที่สองคือ แว่นแก้วจุดเพลิงจากแสงอาทิตย์ ตามโบราณราชประเพณีและมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของยุคสมัย การใช้ศิลาหน้าเพลิงปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในตำราหน้าที่มหาดเล็กระบุว่าเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพมหาดเล็กมีหน้าที่ถวายเพลิงเหล็กเพลิงและเทียนฉลองพระหัตถ์ สำหรับให้พระมหากษัตริย์จุดเพลิงที่เทียนนั้นเพื่อจุดท่อนจันทร์ถวายพระเพลิง

            สำหรับการจุดเพลิงอีกประการหนึ่งคือ การใช้แว่นแก้ว (แว่นแก้วสูรยกานต์) สำหรับจุดเพลิง ดังบันทึกไว้ในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า 

            "ถวายพระเพลิงด้วย ไฟฟ้า แล้วจึ่งเอาท่อนกฤษณากระลำพัก แลท่อนจันทน์อันปิดทองบรรดาเครื่องหอมทั้งปวงนั้นใส่ใต้พระโกศทองทั้งสองแล้วจึ่งจุดเพลิงไฟฟ้าแล้วจึ่งสาดด้วยน้ำหอมแลน้ำดอกไม้เทศแลน้ำกุหลาบแลน้ำหอมทั้งปวงต่างๆอันมีกลิ่นหอมฟุ้งตระหลบไปทั้งเมรุทอง" 

              ไฟฟ้า คงหมายถึงการทำให้เกิดไฟจากฟ้าซึ่งมีแสงจากดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ การพระราชทานเพลิงที่มาจากแสงอาทิตย์ยังเป็นวิธีการสืบทอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริว่า สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ไม่ใคร่เสด็จไปงานฌาปนกิจ ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษหรือข้าราชการที่ประกอบคุณงามความดีความชอบควรได้รับพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้ล่วงลับและวงศ์ตระกูล

           ส่วนใหญ่จะโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังอัญเชิญ ไฟหลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานหากเป็นผู้มีความดีความชอบจะทรงพระกรุณาจุดไฟหลวงด้วยพระหัตถ์โดยการใช้แว่นแก้วสูรยกานต์ส่องกับแดดจนเกิดไฟแล้วเจ้าพนักงานรับพระราชทานโคมแก้วสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นไฟหลวงมาพระราชทานเพลิงศพผู้นั้นต่อไป 

    ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาล ที่ 7
    ที่มาภาพ เพจ Thai Royal Ceremony 
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 
    ที่มาภาพ หนังสือพิมพ์ข่าวสด 

              ในคราวถวายพระเพลิงสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงส่องพลังงานความร้อนจากแสงดวงอาทิตย์ด้วยพระแว่นสูรยกานต์ ไว้ก่อนถึงวันกำหนดถวายพระเพลิงแล้วเลี้ยงเพลิงไว้ซึ่งเจ้าพนักงานได้ตั้งแต่งมณฑปสำหรับเลี้ยงเพลิงไว้ 1 องค์แล้วอัญเชิญมายังพระเมรุมาศ

    ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในคราวถวายพระเพลิงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
    ที่มาภาพ เพจ Thai Royal Ceremony 

  •           ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10 ) พระราชทานพระราชวโรกาส ให้ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับโคมไฟหลวงพระราชทานไปในการพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศจำลอง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และทุกจังหวัด รวมทั้งหีบเพลิงพระราชทานไปในการพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ในต่างประเทศ 
    ภาพ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับพระราชทานไฟหลวงจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
    ที่มาภาพ ข่าวสด วันที่ 18 ตุลาคม 2560 

    เอกสารอ้างอิง

    นนทพร อยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย.พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ: มติชน,2559.

    สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต.https://www.khaosod.co.th/the-royal-cremetion/news_577535.ค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2560

    ติดตามผ่าน Facebook Page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in