เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Social and History by Jack okKiattisak Wongliang
...มาบัดนี้สมเด็จพระนวมินท์ เสด็จสู่ถิ่นคืนสรวงสถาน...
  •          การปกครองของไทยในอดีตก่อนปีพุทธศักราช 2475 สยามประเทศปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นคือศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะที่เปรียบได้กับสมมติเทพหรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทวราชา ดังนั้นด้วยคติความเชื่อทั้งทางพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยก่อให้เกิดพิธีกรรมหรือประเพณีที่ส่งเสริมให้สถานะของกษัตริย์ดุจเทพเจ้า ดังนั้นการส่งเสด็จพระมหากษัตริย์สู่สวรรคาลัยจึงต้องมีงานพระบรมศพและงานพระเมรุมาศเพื่อส่งเสริมสถานภาพของพระมหากษัตริย์ที่เปรียบดั่งเทวาและสง่างามเพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุด

             อย่างที่เราทราบกันดีว่าในงานพระเมรุจะประกอบด้วยพระราชพิธีต่างๆมากมายและแต่ละพระราชพิธีก็ล้วนแล้วแต่มีที่มาแตกต่างกันออกไปนอกจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในงานพระเมรุแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคืองานออกพระเมรุเนื่องจากตามคติความเชื่อของชาวตะวันออกและในภูมิภาคของเรานั้นถือว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพมิได้ถือว่าเป็นงานโศกเศร้า เพราะคำว่า สวรรคต หมายถึงการเสด็จสู่สวรรค์ การถวายพระเพลิงจึงเป็นพิธีการขอขมาศพและการแสดงคามเคารพครั้งสุดท้ายจึงมีมหรสพดุจงานมงคล และเป็นงานกึ่งอาลัยระลึก (การสวมชุดดำในงานพระบรมศพหรือในงานศพและการโศกเศร้าเสียใจในงานศพเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก)

    พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 แสดงถึงคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาที่ส่งผ่านมาถึงปัจจุบัน
    ที่มาภาพ : TPBS

             สาเหตุอีกประการหนึ่งของการมหรสพในงานออกพระเมรุมาศ มีวัตถุประสงค์ คือ เมื่อฝูงชนรวมตัวกันมากๆ เมื่อเดินทางมาไกลและยาวนานย่อมต้องดึงดูดให้เกิดความสนใจ เป็นการพักผ่อนและการหาความสุขทางใจจากการดูมหรสพซึ่งแม้ว่าพระผู้สวรรคตไปแล้ว พระบารมียังคงให้ความสุขแก่ปวงชนได้

    ภาพการซ้อมการแสดงโขน มรสพในงานออกพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 

                      

           
  •         คำให้การขุนหลวงหาวัดในสมัยอยุธยาบันทึกเกี่ยวกับงานออกพระเมรุมาศความว่า 

     “หน้าพระเมรุมีรทาใหญ่สำหรับดอกไม้เพลิงสูง 12 วา 16 รทาๆนั้น มียอดมณฑปทั้งสิ้น ระหว่างระทามีโรงระบำ 15 โรง ......มีคนคาบค้อนนอนหอกนอนดาบ ลอดบ่วงเพลิง กะอั้วแทงควาย กุลาตีไม้โมงครุ่ม การเล่นอีกหลายอย่างต่างๆและมีโขน งิ้ว ละคร สิ่งละสองโรง ละครชาตรีเทพทองมอญรำ เพลงปรบไก่ เสภาเล่านิยาย อย่างละโรง...”

    ภาพงานพระเมรุในสมัยอยุธยาตอนปลาย ผ่านงานจิตรกรรมฝาผนังวัดประดู่ทรงธรรม

             คำว่า ระทา คือการแสดงดอกไม้ไฟในสมัยก่อน เรียกว่า อัคนีกรีฑา ซึ่งเป็นร้านดอกไม้ไฟตกแต่งงดงามเป็นจุดเด่นของการแสดงหรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หอคอยดอกไม้ไฟเพราะเป็นหอสูงใช้ได้ท้งงานศพและงานฉลอง นอกจากนี้ยังมีการเล่นกายกรรม เช่น ไต่ลวดคาบค้อน นอนหอก นอนดาบ เป็นต้น ส่วนนาฏศิลป์มีทั้งภายในราชสำนักเช่น โขน ละครเป็นต้น การมหรสพทั้งหลายถูกยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เนื่องจากมีพระราชประสงค์ให้เคารพต่อผู้ล่วงลับโดยแท้

    ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงให้เห็นถึงภาพงานพระเมรุที่มีมหรสพสมโภช ในงานออกพระเมรุ เป็นคติความเชื่อที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงงานพระเมรุในรัชกาลที่ 9

              ต่อมาการแสดงมหรสพในงานออกพระเมรุมาศถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในปีพุทธศักราช2539 ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนีซึ่งประกอบด้วยมหรสพ 4 ชนิดได้แก่หนังใหญ่ โขน ละคร และหุ่นกระบอก

    การแสดงหุ่นหลวงในงานออกพระเมรุรัชกาลที่ 9 ที่มีการรื้อฟื้นตามโบราณราชประเพณี ใช้ในกาารแสดงในพระราชพิธีที่สำคัญเท่านั้น

         

  •           ส่วนในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 ณ เวทีกลางแจ้งบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ มี ๓ เวที ทุกเวทีกำหนดเวลาเริ่มแสดง๑๘.๐๐ น.ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจนถึงเวลา๐๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ได้แก่ 
    • การแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) กำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ 
    • การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ  การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก 
    • การแสดงละครหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก ประกอบละครเรื่องพระมหาชนก อิเหนา และมโนราห์
    • การบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพลงเทิดพระเกียรติ

             บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยโดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ครูนาฏศิลป์ และนิสิต-นักศึกษา สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

             นับได้ว่าเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุดและการถวายความอาลัยในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระผู้ซึ่งเปรียบได้ดั่งพลังของแผ่นดินและเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่านที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาที่มีต่อประชาชนชาวไทยดังนั้นการดำเนินงานจึงต้องเป็นไปด้วยความสง่างาม สมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

    ภาพการซ้อมใหญ่การแสดงโขนหน้าพระเมรุ เรื่องรามเกียรติ์
    ที่มาภาพ คมชัดลึก

    เอกสารอ้างอิง

    นนทพรอยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน,2559.

    ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง.-- กรุงเทพฯ:แสงดาว, 2553.

    พลาดิศัยสิทธิธัญกิจ. สืบตำนานงานพระเมรุ.นนทบุรี:บันทึกสยาม,2551.

    หมายรับสั่งและพงศาวดาร เรื่องมหรสพงานพระเมรุกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ดร. อนุชา ทีรคานนท์ สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ติดตามผ่าน Facebook Page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม

     

    ที่มาภาพ T NEWS




     




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in