เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Social and History by Jack okKiattisak Wongliang
ละครใน-มรดกแห่งแผ่นดิน
  • ในวันที่ 26ตุลาคม พุทธศักราช 2560 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นวันสำคัญของชาวไทยและคนทั้งโลกเนื่องจาก มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติเปรียบดั่งพลังของแผ่นดิน 

    ภาพการแสดงความอาลัยของประชาชนและการวางดอกไม้จันทน์ ทั้งบริเวณท้องสนามหลวงและพระเมรุมาศจำลองในบริเวณจังหวัดต่างๆ ที่ได้จัดให้ประชาชนได้ถวายความอาลัยกับมหาบุรุษที่เขารักและศรัทธา ในงานพระเมรุมาศจึงมีการรื้อฟื้นศาสตร์หลายแขนงตามโบราณประเพณีงานศิลป์แผ่นดินที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมผู้เชี่ยวชาญของศาสตร์หลายแขนงต่างมารวมตัวกันเพื่อรังสรรค์งานแต่ละอย่างให้ออกมาอย่างสมบูรณ์และสมพระเกียรติมากที่สุด

    ภาพพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถในริ้วขบวนที่ 2 ที่มาภาพ ไทยรัฐ

    หนึ่งในสิ่งที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระ     ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นคือ มหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุมาศ อย่างที่เราทราบกันในงานออกพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 นั้น ประกอบด้วยการแสดงนาฏศิลป์ตามโบราณราชประเพณี ได้แก่ การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ บริเวณหน้าพระที่นั่งทรงธรรมและ ยังมีบริเวณกลางแจ้งด้านทิศเหนืออีก 3 เวทีประกอบด้วย หนังใหญ่เบิกหน้าพระ โขนหน้าจอและโขนชักรอก 

    หุ่นหลวงหุ่นกระบอกและละครใน เรื่อง อิเหนา นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า ” เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายความอาลัย และการแสดงบัลเล่ต์ ชุดมโนราห์บัลเล่ต์ ซึ่งเป็นการแสดงครั้งแรกในงานออกพระเมรุมาศในรัชกาลที่9 

    ภาพการแสดงโขนหน้าพระเมรุมาศ ที่มาภาพ ทรท.ถ่ายทดสด


  • ละครใน เป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชในครั้งนี้ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็น สิ่งที่เราควรทำความรู้จักเพราะถ้าหากคุณรู้ความเป็นมาของละครในว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว จะทำให้คุณตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ละครในมีซึ่งคนรุ่นหลังมักมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นสมัยนิยม เข้าถึงยาก รำแก้บนหรือเปล่า? เชื่อว่าทุกคนเคยคิดแบบนี้

    หากคุณอยากลองสัมผัสและรับรู้รสคุณค่าของนาฏศิลป์ ลองอ่านดู 

             พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ ละครใน หมายถึง ละครรำแบบหนึ่ง เดิมเป็นละครเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ตัวละครเป็นหญิงล้วน เครื่องแต่งตัวและกระบวนรำประณีตงดงาม ดนตรีไพเราะ แสดงเฉพาะ ๓ เรื่อง คืออิเหนา รามเกียรติ์ และอุณรุท

            ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี ๒๕๕๓ ให้คำจำกัดความคำว่า ละครใน ความว่า ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาพระมหากษัตริย์โปรดให้หญิงชาววังหัดละครแสดงในพระราชฐาน ละครผู้หญิงเป็นละครส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์เรียกว่า ละครนางใน (นางใน คือผู้หญิงในราชสำนักผู้เป็นบาทบริจาริกาของพระมหากษัตริย์) 

            ละครในถือศิลปะแห่งการรำเป็นสำคัญยิ่งกว่าเนื้อเรื่องการแสดงคืนหนึ่งอาจได้เนื้อเรื่องนิดเดียว ส่วนเพลงรำและบทบาทต้องดีที่สุด

           สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า ชั้นเดิมเห็นจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา(บางทีจะเป็นในชั้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) ทรงพระราชดำริให้นางรำเล่นระบำเข้ากับเรื่องไสยศาสตร์ เช่นให้แต่งเป็นเทพบุตรเทพธิดาจับระบำเข้ากับเรื่องรามสูร เป็นต้น 

    คำที่เรียกว่า ละครใน เข้าใจว่าจะมาเรียกกันในขั้นแรกว่า ละครนางใน หรือ   ละครข้างใน แล้วจึงเลยเรียกแต่โดยย่อว่า ละครใน

    ภาพ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

              สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงกล่าวว่า ละครใน เป็นละครชั้นสูงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ อิเหนาและอุณรุท ละครในใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน มีการรำที่สวยงามประณีต และไม่มีบทตลกใดๆชื่อเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบละครใน จะมีคำว่า “ใน”ต่อท้าย เช่น เพลงช้าปี่ในเป็นต้น

    ภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ 

            ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ละครใน เป็นละครที่เกิดขึ้นในพระราชฐาน จึงเป็นละครที่มีระเบียบแบบแผนใช้ผู้แสดงหญิงล้วน นิยมเล่นกัน 3 เรื่องได้แก่เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนาและอุณรุท 

    วัตถุประสงค์สำคัญของละครในมีด้วยกัน 3 ประการ คือ 

    • รักษาศิลปะของการรำอันสวยงาม 
    • รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเคร่งครัด
    • รักษาความสุภาพทั้งบทร้องและเจรจา เพราะฉะนั้นเพลงร้อง เพลงดนตรีจึงต้องดำเนินจังหวะค่อนข้างช้าเพื่อให้รำได้อ่อนช้อยสวยงาม 

    ภาพของการแสดงละครใน เรื่อง อิเหนา ตอนบุษบาชมศาล ในงานออกพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนช้อยของการร่ายรำของผู้แสดง

              อิเหนา เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่นำมาใช้ในการแสดงละครใน ที่มาของเรื่องอิเหนานั้น สันนิษฐานว่าเข้ามาในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยได้รับอิทธิพลของวรรณคดีชวา นั่นคือ นิทานปันหยี ฉบับภาษาไทยที่ถือเป็นฉบับหลัก ได้แก่ อิเหนาและดาหลัง

             ตามตำนานเล่าว่า เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ    ได้ฟังนิทานปันหยีผ่านมาจากหญิงเชลยปัตตานีที่เป็นข้าหลวงรับใช้จากนั้นพระราชธิดาทั้งสองได้ทรงแต่งเรื่องขึ้นมาองค์ละเรื่อง เรียกว่า อิเหนาเล็ก(อิเหนา) และอิเหนาใหญ่(ดาหลัง) 

     ภาพงานพระเมรุพระอัยกีของอิเหนา จากจิตรกรรมฝาผนังวัดโสมนัสวิหาร

              บทประพันธ์ทั้งสองได้รับการประพันธ์ขึ้นเพื่อนำไปใช้ขับประกอบการแสดงละครฟ้อนรำโดยเฉพาะบทละครเรื่องอิเหนาได้รับความนิยมมากกว่าบทละครเรื่องดาหลัง ดังที่มีหลักฐานปรากฏว่า อิเหนาเคยถูกนำไปแสดงเป็นละครฟ้อนรำในพิธีฉลองพระพุทธบาทเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 23 

              กล่าวกันว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 เอกสารต้นฉบับงานเขียนก็คงจะสูญหายไปจำนวนไม่น้อยการรื้อฟื้นเรื่องอิเหนาจึงเกิดขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยการนำต้นฉบับเดิมมาปรับปรุงขึ้นใหม่ บทละครเรื่องอิเหนามีสำนวนที่ไพเราะมากที่สุดคือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็น ยอดแห่งบทละครรำด้วย 

    ตราพระพิฆเนศ ตราสัญลักษณ์ของวรรณคดีสโมสร

            ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า อิเหนาเป็นบทละครที่ให้คุณค่าทางวรรณศิลป์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในละครใน ที่เป็นการแสดงที่ทำให้ผู้ชมเห็นความประณีตและอ่อนช้อยของนาฏศิลป์ประกอบกับบทร้องและดนตรีที่มีความไพเราะ

            จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในการแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรอิเหนาเป็นการแสดงลำดับที่ 5 ของเวทีที่ 2 หุ่นและละคร โดยเสนอตอน บุษบาชมศาล อิเหนาตัดดอกไม้ ฉายกริช และท้าวดาหาบวงสรวง ซึ่งได้รับเกียรติจากอาจารย์ศุภชัยจันทร์สุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ควบคุมการแสดง ร่วมกับคุณเวณิกา บุนนาคศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง(นาฏศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2558 มาช่วยต่อท่ารำและควบคุมการแสดงมหรสพสมโภชออกพระเมรุให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศสูงสุด 

  •         ยิ่งไปกว่านั้นอิเหนาทั้ง 4 ตอนที่กล่าวมาข้างต้นได้รับการคัดเลือกให้แสดงในครั้งนี้ เนื่องจากเป็น4 ตอนที่มีตัวละครเอกสำคัญในวรรณคดีครบทุกตัวละครมีท่าร่ายรำที่งดงามอ่อนช้อย ประกอบกับบทละครและดนตรีปี่พาทย์ที่มีความไพเราะ ดังที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีความเห็นเรื่องพระราชนิพนธ์อิเหนาในรัชกาลที่2  ไว้ว่า  
            
            " ทรงดัดแปลงร้อยกรองให้เป็นท่วงทีงดงามดี เหมาะแก่การเล่นละคอนใน เชิงรำก็ให้ท่าทีจะรำได้แปลกๆงามๆในเชิงจัดคุมหมู่ละคอน ก็ให้ท่าทีจะจัดได้เป็นภาพงามโรง ในเชิงร้องก็ให้ที่ที่จะจัดลู่ทางทำนองไพเราะเสนาะโสต ในเชิงกลอนก็สละสลวยเพราะพริ้งไม่มีที่เปรียบ อาจเล่นละคอนให้สมบูรณ์ครบองค์ห้า ของ "ละคอนดี"  ได้คือ 1. ตัวละครงาม   2.รำงาม  3. ร้องเพราะ 4. พิณพาทย์เพราะ  5. กลอนเพราะ ซึ่งสำเร็จเป็นทั้ง ทัศนานุตตริยะ(การเห็นที่ประเสริฐกว่าเห็นทั้งหลาย) และสวนานุตตริยะ(การฟังที่ประเสริฐกว่าฟังทั้งหลาย) อย่างไพบูลย์ "

    ละครในเรื่องอิเหนา เป็นละครที่แสดงให้เห็นถึงลีลาท่ารำที่มีความอ่อนช้อยและสวยงาม

              ในต้นเรื่องอิเหนาตอน บุษบาชมศาลเปิดฉากด้วย มีศาลเทพารักษ์เห็นไกลๆ มีสระบัว มีแท่นใต้ต้นโศก นางบุษบาออกมาพร้อมกับเหล่านางสนม กำนัล พี่เลี้ยง เมื่อออกมาก็จับระบำชมศาลด้วยเพลงชมตลาดไหว้ศาลเทพารักษ์ บทละครบรรยายไว้ว่า

                               ครั้นถึงซึ่งศาลเทพารักษ์                     เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์อาศัย

                 แม้นธานีมีเหตุเภทภัย                                       ก็บวงบนเทพไททุกครั้ง

                             ศาลนั้นมีชั้นเชิงสนุกนัก                        ฉลุฉลักลายงามทั้งสามหลัง

                 ทองหุ้มซุ้มทวารบานบัง                                    มีบัลลังก์ตั้งรูปอาลักษณ์ไว้

             จากบทละครข้างต้นจะเห็นได้ว่า ศาลเทพารักษ์ตั้งอยู่บนภูเขาวิลิศมาหรา เป็นศาลที่สร้างด้วยทองคำทั้งหลังเมื่อเมืองมีภัยก็เป็นที่บนบานศาลกล่าว

    ภาพการเปิดฉากตอนบุษบาชมศาล ด้วยเพลงชมตลาด นางบุษบาเดินมาพร้อมเหล่านางกำนัล


    นางบุษบาตัวเอกของละคร การแต่งกายของนางบุษบาจะสวมรัดเกล้ายอด แสดงถึงตำแหน่งธิดากษัตริย์

    วิดีโอบุษบาชมศาลทางละครใน ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปนาฎดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 
     
  •           บทละครเรื่องอิเหนาในตอนบุษบาชมศาลจะมีบทละคร 2 ลักษณะ กล่าวคือ บทละครทางละครในและละครดึกดำบรรพ์ ในงานมหรสพสมโภชออกพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 เลือก ตอนบุษบาชมศาลทางละครในมาแสดงทำให้เห็นถึงความอ่อนช้อย จังหวะ ท่วงท่า และลีลาการร่ายรำตามแบบละครใน
     อิเหนา ตอนบุษบาชมศาลทางละครใน ในมหรสพงานออกพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9

             ต่อจากตอนบุษบาชมศาล จะแสดงตอน ตัดดอกไม้-ฉายกริช  เริ่มจากอิเหนา สังคามาระตาและ  พี่เลี้ยงตามเสด็จท้าวดาหาไปใช้บน อิเหนาไปพบนางค่อมขณะที่นางค่อมหลงป่า อิเหนาจึงช่วยพาไปส่งที่ศาล โดยให้นางค่อมนำดอกปะหนันจารึกสารส่งให้บุษบา 

    ภาพ การแสดงอิเหนาพบนางค่อมจึงออกอุบายให้นางค่อมนำดอกปาหนันจารึกข้อความให้นางบุษบา

    ภาพการแสดงละครใน อิเหนาตัดดอกปาหนันเพื่อจารึกสารให้นางบุษบา
    นางค่อมมอบดอกปาหนันที่มีสารของอิเหนาแก่นางบุษบา

  •          เมื่อบุษบารับดอกปะหนัน  อิเหนากวัดแกว่งกริชกระทบแสงอาทิตย์เกิดประกายวาบเข้าตา เป็นเหตุให้บุษบาเป็นลม
    ภาพ นางบุษบาอ่านสารจากอิเหนาบนกลีบดอกปาหนัน 


    ภาพ อิเหนาแกว่งกริชเป็นเหตุให้นางบุษบาเป็นลม 

    นางบุษบาเป็นลม เหล่านางกำนัลพากันเข้าไปดูแล การแยกนางกำนัลและนางบุษบา คือนางกำนัลจะสวมรัดเกล้าเปลว                   (นางกำนัลที่มีตำแหน่งสูง)

              ในตอนสุดท้ายมีชื่อตอนว่าท้าวดาหาบวงสรวง กล่าวถึง ท้าวดาหาพร้อมด้วยมเหสีกับบุษบา        สียะตรา อิเหนา  สุหรานากง  กะหรัดตะปาตี  สังคามาระตา  ล่าสำ และจรกา  ทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้า    มีการบวงสรวงเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชาในตอนนี้จึงเปรียบเสมือนการสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย 

    ภาพการแสดงละครใน อิเหนาตอน ท้าวดาหาบวงสรวง ในงานออกพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9

              จากที่กล่าวมาทั้งหมดคือเรื่องราวของละครในวรรณคดีเรื่องอิเหนา ทั้ง 4 ตอนที่นำมาใช้ในการแสดงในงานมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร 

             มหรสพที่นำมาแสดงจึงต้องได้รับการฝึกหัดและการถ่ายทอดท่ารำตามธรรมเนียมและท่วงท่าที่มีความอ่อนช้อยและสง่างามที่แสดงให้เห็นถึงการถวายพระเกียรติสูงสุด เราในฐานะผู้ชมมหรสพจึงควรทราบความเป็นมา เพราะเมื่อเราทราบที่มาที่ไปย่อมทำให้งานนาฏศิลป์มีคุณค่าและควรที่จะอนุรักษ์เพื่อ มรดกแห่งแผ่นดินจะได้ไม่สูญหาย ดั่งพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ความว่า 

      ที่มาภาพ http://www.tsood.com/contents/152837

    "...งานด้านการศึกษาศิลปวัฒนธรรม นั้น คือ งานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญา และทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้ง ต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและ ดำรงความเป็นไทย ได้สืบไป..." 

             พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร  

    ณ วังท่าพระ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓

    ติดตามผ่าน Facebook Page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม 

  • เอกสารอ้างอิง

    หนังสือ

    นริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยา. ชุมนุมบทละครและบทคอนเสิต. พระนคร : กรมศิลปากร, 2506. (กรมศิลปากรจัดพิมพ์อุทิศถวายในงานฉลองครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ วันที่ 28 เมษายน  พ.ศ.2506)

    ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น  ตำราฟ้อนรำ ตำนานเรื่องละครอิเหนา ตำนานละครดึกดำบรรพ์. กรุงเทพฯ : มติชน,2546.

    ทวีศักดิ์เผือกสม.วงศาวิทยาของอิเหนา:ปัญหาเรื่องลิ้นความลื่นไหลของสัญญะ และการเดินทางสู่โลกของ ปันหยี.กรุงเทพฯ:ยิปซีกรุ๊ป,2560.

    รื่นฤทัยสัจจพันธุ์.มิใช่เป็นเพียงนางเอก.กรุงเทพฯ:ประพันธ์สาส์น,๒545.

    ส.พลายน้อย.สารานุกรมวัฒนธรรมไทย.กรุงเทพฯ:พิมพ์คำ,2553.

    อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดีมรดกความทรงจำแห่งสยามประเทศ เล่มที่ 2.กรุงเทพ: โครงการวิจัยอิสระประวัติศาสตร์ไทย,2559.

    บทความ

    นนทพรอยู่มั่งมี.”มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์.”ศิลปวัฒนธรรม 38,12(2560):97-98.

    ออนไลน์

    สืบค้นจากอินเทอร์เน็ตhttp://nidnoicu.blogspot.com/2010/08/blog-post.html ค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560

     สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต http://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/parameters/km/item/%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99 ค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560

    สืบค้นจากอินเทอร์เน็ตhttps://pantip.com/topic/30249051ค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in