เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความฝัน บันทึก ฝึกงาน ร้านหนังสือLinderelly
คาบที่ 6 : การสั่งหนังสือ
  • “การนำหนังสือมาขายคือ การกำหนดทิศทางและเสน่ห์ของร้าน

    การนำหนังสือขายดีมาขาย ไม่เท่าการนำหนังสือที่ให้คุณค่ากับผู้อ่านมาขาย”

    — พี่ป๋วย ผู้จัดการร้านหนังสือซอมบี้บุ๊ค


    —————————————————————————


    (แอบขอยืมรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ในการรีวิวหนังสือของซอมบี้บุ๊ค
    มาเริ่มทักทายทุกท่านในตอนนี้นะคะ เผื่อวันไหนกลับมาอ่านจะได้หายคิดถึงกันหน่อย)

    สวัสดีค่ะผู้ที่ติดตามและนักอ่านผู้หลงรักร้านหนังสือทุกท่าน


    ในที่สุด วันนี้ที่ลี่รอคอยก็มาถึงแล้วค่ะ วันที่จะได้เรียนรู้วิธีการสั่งและคัดหนังสือเข้าร้าน

    ซึ่งที่จริงแล้วการจะมาเป็นคนคัดหนังสือเข้าร้านได้ ไม่ใช่ใครก็เข้ามาทำได้นะคะ

    เพราะนอกจากต้องเป็นผู้ที่เห็นภาพแนวหนังสือของร้านที่ชัดเจนแล้ว

    ยังต้องอาศัยประสบการณ์การอ่านชั้นครูที่อ่านมาแล้วทุกแนว

    เสพข่าวการตีพิมพ์หนังสือเหมือนการแปรงฟันล้างหน้าทุกเช้า

    ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้ยังต้องประกอบไปด้วยวิสัยทัศน์ ความรู้เกี่ยวกับสำนักพิมพ์ นักเขียนและข่าววงในเกี่ยวกับการออกหนังสือต่าง ๆ ด้วยค่ะ


    ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพี่ป๋วยให้โอกาสลี่ได้เรียนรู้ “วิธีการสั่งหนังสือ เบื้องต้น” ขอย้ำอีกครั้งว่า “เบื้องต้น” เท่านั้นนะคะ เพราะว่าเรื่องนี้เรียนรู้กันในเวลาไม่กี่วันไม่กี่ชั่วโมงไม่ได้ค่ะ เราต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ทั้งชีวิต


    แต่เด็กฝึกงานตัวน้อย ๆ ที่มีความฝันเกินตัวแบบลี่

    จะพยายามเก็บเกี่ยวความรู้ตรงนี้มาแบ่งปันให้ทุกคนฟังกันนะคะ


    ในเช้าวันจันทร์ที่แสนสดใสเช่นทุกวัน

    หลังจากเปิดร้านไปได้ไม่นานขณะที่ลี่กำลังนั่งอ่านหนังสือเล่มที่กำลังจะเขียนรีวิวอยู่อย่างตั้งใจ

    พี่ป๋วยผู้จัดการร้านที่น่ารักของเราก็พูดกับลี่ขึ้นมาว่า 

    “เดี๋ยวถ้าเราทำอะไรเสร็จเรียบร้อย พร้อมแล้วบอกนะ พี่จะสอนเรื่อง ‘การสั่งหนังสือ’ เข้าร้าน” 

    เพียงแค่ได้ยินหัวใจก็เต้นแรงขึ้นมาเพราะความตื่นเต้น แม้จะตอบรับไปเรียบๆ (หรือเปล่านะ) ก็ตาม

    ถ้าหากว่าไม่มีแมสก์บังอยู่พี่ ๆ ได้เห็นสีหน้าแป๊ะยิ้มของลี่ในตอนนี้เป็นแน่ 

    ในที่สุดก็คงมีเรื่องให้ขอบคุณโควิดเสียบ้าง


    ลี่รีบทำงานที่มีอยู่ในมืออย่างรวดเร็วและเข้าไปรายงานตัวกับพี่ป๋วยว่า “หนูพร้อมแล้วค่ะ!” พี่ป๋วยพยักหน้ารับรู้เงียบ ๆ และบทเรียนที่น่าสนุกของวิชาร้านหนังสือในสัปดาห์นี้ก็เริ่มขึ้น


    พี่ป๋วยเปิดคอมแล้วบอกว่า “สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือ การนำหนังสือมาขายเป็นการกำหนดทิศทางและเสน่ห์ของร้าน การนำหนังสือขายดีมาขายมันก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่ดีเท่าการนำหนังสือที่ให้คุณค่ากับผู้อ่านมาขาย” 


    ร้านหนังสือของเรารับหนังสือจากสายส่งหลายเจ้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กำมะหยี่ เคล็ดไทย อมรินทร์ ดวงกมลสมัย มติชน หรือแซลมอน และยิ่งไปกว่านั้นคือหนังสือในหนึ่งเดือนออกมาไม่ต่ำกว่า 20-30 เล่ม ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มหาศาลเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้อ่านในไทย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหนังสือเล่มนี้ควรเอาเข้ามาขายหรือไม่ หรือควรจะมีเล่มไหนติดร้านไว้บ้าง


    หัวใจสำคัญของการคัดหนังสือที่ใช่และไม่ใช่ก็คือ…

    1. สไตล์ของร้านค่ะ ร้านหนังสือแต่ละแห่งก็เหมือนคนหนึ่งคน ที่มีนิสัย ความชอบและเอกลักษณ์ของตัวเอง เราต้องรู้จักสไตล์ของร้านเพื่อเลือกหนังสือที่ถูกจริตกับร้านของเรา เป็นสิ่งสำคัญเพราะหนังสือในร้านจะกำหนดสไตล์ของลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อหนังสือที่ร้านด้วย สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการเลือกหนังสือมาขายอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

    2. ขายดีมันก็ได้ แต่ขายได้และมีคุณค่าที่ดีต่อผู้อ่านนั้นดียิ่งกว่า หนังสือขายดีเป็นหนังสือประเภทที่ทุกร้านต้องมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่การคัดเลือกหนังสือที่มีคุณค่า จากนักเขียนมือทองที่ห่างหายไปนาน หรืองานเขียนที่ห่างหายไปจากวงการหนังสือแล้วได้รับการตีพิมพ์ใหม่ และงานเขียนที่คุยกับผู้อ่านนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งร้านหนังสือซอมบี้บุ๊คใส่ใจและให้ความสำคัญกับจุดนี้มาก (ไม่น่าแปลกใจนะคะว่าทำไมใครเข้ามาก็เหมือนโดนกัด กลายเป็นสาวกซอมบี้กันทั่วหน้าเลยทีเดียว)

    3. ดีไม่พอต้องขายเป็นด้วย ข้อนี้ถึงจะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญไม่แพ้กันคือ เราเองต้องขายมันได้ด้วย หนังสือดีแต่คนขายนำเสนอจุดเด่นออกมาไม่ได้เพราะไม่รู้จักหนังสือเล่มนั้นก็ ไม่สามารถพาหนังสือเล่มนั้นไปอยู่กับคนที่เป็นเนื้อคู่ของมันได้เช่นกัน ดังนั้นต้องคำนึงด้วยว่า หนังสือที่สั่งมาเรารู้จุดแข็งของมันและพามันไปอยู่ในมือของคนที่ใช่ได้


    นอกจากหัวใจหลักทั้งสามอย่างนี้ที่ลี่ได้เรียนรู้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องคำนึงถึงทั้งจำนวนต่อปกที่จะสั่งจากสายส่ง การเคลียร์พื้นที่หน้าร้านสำหรับลงหนังสือ การใช้ภาษาในการติดต่อสายส่ง (ซึ่งจำไว้เลยว่า อะไรที่เป็นทางการโปรดติดต่อทางอีเมลเท่านั้น) ข้อมูลหนังสือที่จำเป็น เช่น ชื่อหนังสือและเลข ISBN รวมไปถึงข้อมูลปลีกย่อยอีกมากมายที่เราต้องศึกษา และการชำระเงินซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจและต้องระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาด


    พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า เวลาเพียง 2 เดือนของการฝึกงานที่ถูกจำกัดให้สั้นลงเพราะสถานการณ์โควิด19 นั้น ไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้งานทั้งหมดจริง ๆ แต่การได้โอกาสรับฟังคำสอน และการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ที่ตกผลึกแล้วมาเป็นคำอธิบายสั้น ๆ ของพี่ป๋วยก็เป็นการเปิดมิติใหม่แห่งโลกบรรณพิภพที่ทำให้ลี่รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมากค่ะ


    สำหรับในสัปดาห์นี้ลี่ก็ได้รับความรู้ใหม่ที่น่าสนใจและบ่มเพาะทักษะของศาสตร์แห่งการเขียนรีวิวต่อไปเช่นเคย แต่สิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปคือมุมมองต่อโลกและหนังสือที่เติบโตขึ้นอีกขั้น


    ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนถึงบรรทัดเกือบสุดท้ายนี้เช่นเคยนะคะ

    ช่วงนี้ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพเพราะไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ สุขภาพคือสิ่งเดียวที่เราขอเพิ่มและเรียกกลับมาไม่ได้ หวังว่าทุกคนจะมีความสุขและปลอดภัย แล้วเจอกันใหม่ในตอนหน้านะคะ •͈ᴗ•͈ 


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in