เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ขีดๆ เขียนๆshomona
มาทำความรู้จักกับรางวัลวรรณกรรมของญี่ปุ่นกันเถอะ
  • คอวรรณกรรมญี่ปุ่นหลายต่อหลายคนคงคุ้นเคยกับหน้าปกหนังสือที่เขียนคำโปรยว่า "นักเขียนรางวัลอาคุตากาวะ" หรือ "ผลงานชนะเลิศรางวัลนาโอกิ" กันอยู่บ้าง บางคนก็อาจทราบอยู่แล้วว่าอาคุตากาวะหรือนาโอกิในทีนี้เป็นใคร มีความสำคัญต่อวงการน้ำหมึกในประเทศญี่ปุ่นอย่างไร แต่รางวัลเหล่านี้ยิ่งใหญ่และโด่งดังในญี่ปุ่นแค่ไหน ใครเป็นคนตัดสิน และผู้ชนะจะได้รับอะไรบ้าง? และนอกจากรางวัลชื่อดังทั้งสองนี้แล้ว คนญี่ปุ่นเขาตื่นเต้นกับรางวัลไหนอีก เรามาทำความรู้จักกับรางวัลวรรณกรรมที่โดดเด่นในญี่ปุ่นกันดีกว่า

    ชนชาติญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความรักการอ่าน อ้างอิงจากกรมสถิติของญี่ปุ่นแล้ว ในแต่ละปีมีหนังสือออกใหม่กว่าเจ็ดหมื่นปกด้วยกัน ในบรรดานั้นเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรม (文学) ราวๆ หนึ่งหมื่นสามพันเล่มโดยเฉลี่ย แน่นอนว่าเมื่อมีวรรณกรรมมากมายปานนั้น รางวัลวรรณกรรมจึงมีอยู่มากมายตามไปด้วย

    เรามาพูดถึงรางวัลที่มีชื่อเสียงที่สุดสองรางวัลที่กล่าวถึงเมื่อครู่นี้กันก่อนดีกว่า


    • รางวัลอาคุตากาวะ (芥川賞)

    ชื่อเต็มของรางวัลนี้คือ "รางวัลอาคุตากาวะ ริวโนะสุเกะ" ก่อตั้งในปีโชวะที่ 10 (ค.ศ. 1935) โดยคิคุจิ คัง นักประพันธ์และนักข่าวผู้โลดแล่นในยุคเมจิ เขาตั้งชื่อรางวัลตามชื่อของอาคุตากาวะ ริวโนะสุเกะ มิตรของเขาผู้เสียชีวิตไปในปีโชวะที่ 2 (ค.ศ. 1927) โดยมีเป้าประสงค์เพื่อมอบรางวัลให้กับงานเขียนประเภท "วรรณกรรมบริสุทธิ์ (純文学)" ซึ่งหมายถึงวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยให้ความสำคัญกับศิลปะโดยบริสุทธิ์แทนที่จะเขียนเอาใจผู้อ่าน

    รางวัลอาคุตากาวะประกาศทุกๆ เดือนมกราคมและกรกฎาคมของทุกปี กล่าวคือประกาศปีละสองครั้ง กรรมการผู้ตัดสินรางวัลเป็นนักเขียนผู้คร่ำหวอดในวงการ 9 คน (บางครั้งก็มี 10 คน) โดยกรรมการจะเป็นผู้เฟ้นหาผลงานเพื่อมอบรางวัลให้ มิได้ใช้ระบบส่งประกวดแต่อย่างใด

    เงื่อนไขของผลงานที่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลอาคุตากาวะมีอยู่ว่า

    1. เป็นผลงานประเภทวรรณกรรมบริสุทธิ์
    2. เป็นเรื่องสั้นหรือนิยายขนาดสั้นที่เคยเผยแพร่ลงในนิตยสาร
    3. ผู้เขียนเป็นนักเขียนหน้าใหม่

    ใช่แล้ว จุดเด่นของรางวัลอาคุตากาวะคือ เป็นรางวัลที่มอบให้นักเขียนหน้าใหม่ นั่นเอง จะเรียกว่าเป็นเวทีแจ้งเกิดสำหรับนักเขียนใหม่ๆ ก็ว่าได้

    รางวัลหลักที่มอบให้สำหรับผู้ชนะคือนาฬิกา สาเหตุเป็นเพราะตอนที่ก่อตั้งรางวัล ซาซากิ โมซาคุ มิตรอีกคนของคิคุจิ คังเสนอว่า "ของรางวัลหลักควรเป็นสิ่งของที่เก็บเป็นที่ระลึกได้" นาฬิกามูลค่าสูงจึงกลายเป็นของรางวัลสำหรับผู้ชนะนับตั้งแต่นั้นมา นอกจากนั้นยังมีรางวัลรองเป็นเงินหนึ่งล้านเยนอีกด้วย

    ตัวอย่าง ผลงานชนะเลิศรางวัลอาคุตากาวะที่มีการแปลภาษาไทยคือเรื่อง "มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ" (コンビニ人間) ผลงานของมุราตะ ซายากะ

    หน้าปกนิยายเรื่องมนุษย์ร้านสะดวกซื้อฉบับภาษาญี่ปุ่น 
    ฉบับแปลไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อนิแม็ก


    • รางวัลนาโอกิ (直木賞)

    ชื่อเต็มคือรางวัลนาโอกิ ซังจูโกะ (直木三十五賞) เป็นรางวัลที่คิคุจิ คัง ก่อตั้งขึ้นพร้อมๆ กับรางวัลอาคุตากาวะโดยใช้ชื่อมิตรนักเขียนของเขาอีกเช่นกัน

    ความที่ก่อตั้งโดยบุคคลเดียวกัน รางวัลนาโอกิจึงคล้ายคลึงกับรางวัลอาคุตากาวะตรงที่มอบรางวัลปีละสองครั้งในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคมเหมือนกัน มีรางวัลเป็นนาฬิกาและเงินเหมือนกัน มีกรรมการเป็นนักเขียนผู้มีชื่อเสียง 9 คนอีกเช่นกัน ทว่าเงื่อนไขของรางวัลนี้มีอยู่ว่า

    1. เป็นผลงานประเภทวรรณกรรมมวลชน (大衆文学) ที่มุ่งเน้นความสนุกสนานของผู้อ่านเป็นหลัก
    2. เคยตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ
    3. ผู้เขียนเป็นนักเขียนรุ่นกลางขึ้นไป ไม่ใช่หน้าใหม่

    สรุปง่ายๆ คือต่างกันที่ประเภทของวรรณกรรมและความเก๋าประสบการณ์ของผู้เขียนนั่นเอง

    และหากพูดถึงนักเขียนรางวัลนาโอกิแล้ว คนที่นักอ่านชาวไทยน่าจะรู้จักกันดีก็คือฮิงาชิโนะ เคโงะ โดยคุณฮิงาชิโนะได้รับรางวัลนาโอกิครั้งที่ 134 (รอบปลายปี 2005) จากนวนิยายเรื่อง 容疑者Xの献身 ซึ่งในฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า "กลลวงซ่อนตาย" ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไดฟุกุ

    หน้าปกนิยายเรื่องกลลวงซ่อนตายฉบับภาษาญี่ปุ่น
    รางวัลสองรางวัลนี้เป็นรางวัลเก่าแก่ที่คนญี่ปุ่นจับตามองกันทุกปี แต่เนื่องด้วยรางวัลนาโอกิมอบให้นักเขียนที่มีชื่อในวงการระดับหนึ่ง เมื่อประกาศรางวัลพร้อมๆ กัน รางวัลนาโอกิจึงมักเป็นที่ฮือฮามากกว่า แต่หากพิจารณาถึงประเภทของผลงานแล้วจะพบว่าอันที่จริงสองรางวัลนี้ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบว่าใครเหนือกว่าใคร เพราะเป็นรางวัลที่ก่อตั้งขึ้นมาแยกกันเพื่อรองรับผลงานคนละประเภทกันตั้งแต่แรก

    และนอกจากรางวัลเก่าแก่ทั้งสองข้างต้น ปัจจุบันรางวัลมาแรงที่ว่ากันว่า "เป็นที่จับตามองมากที่สุดในญี่ปุ่น" ชนิดที่ทำให้ผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนยอดขายพุ่งกระฉูดถึงหลายแสนเล่มทุกครั้งไปก็คือรางวัลร้านหนังสือ


    • รางวัลร้านหนังสือ (本屋大賞)

    รางวัลร้านหนังสือเป็นรางวัลน้องใหม่ ก่อตั้งในปีค.ศ. 2004 เกิดจากความร่วมมือของบรรดาร้านหนังสือทั่วประเทศ โดยครั้งล่าสุดในปี 2020 นี้เป็นครั้งที่ 17

    ปกติแล้วรางวัลวรรณกรรมในญี่ปุ่นนั้นมักจัดโดยสำนักพิมพ์ มีคณะกรรมการเป็นนักเขียนใหญ่ นักเขียนชื่อดัง หรือนักวิจารณ์ต่างๆ ทว่ารางวัลร้านหนังสือนั้นคือรางวัลที่พนักงานร้านหนังสือทั่วประเทศญี่ปุ่นจะลงคะแนนโหวต "หนังสือใหม่ที่อยากขายให้คนอ่าน" มากที่สุดในปีนั้นๆ เงินรางวัลคือหนึ่งล้านเยน โดยในแต่ละปีจะมีการมอบรางวัลหนึ่งครั้ง ทุกครั้งจะมีการประกาศคะแนนผลงานที่เข้ารอบให้รับรู้โดยทั่วกัน ข้อแตกต่างจากรางวัลอื่นๆ นี้ทำให้รางวัลร้านหนังสือเป็นที่จับตามองยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี ผลงานชนะเลิศหลายๆ เรื่องก็ขึ้นชื่อว่ายอดเยี่ยมจับใจผู้อ่านอย่างแท้จริง รางวัลนี้จึงได้รับการยอมรับจากผู้อ่านอย่างมาก

    ตัวอย่างผลงานชนะเลิศรางวัลร้านหนังสือที่มีแปลไทยแล้ว เช่น "โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผม และพ่อในบางครั้งคราว" (東京タワー 〜オカンとボクと、時々、オトン〜) ผลงานของลิลี่ แฟรงกี้ และ "คำสารภาพ" (告白) ผลงานของมินะโตะ คะนะเอะ แปลไทยโดยแพรวสำนักพิมพ์ทั้งสองเรื่อง

    หน้าปกนิยายเรื่องคำสารภาพฉบับญี่ปุ่น

    ผลงานชนะเลิศรางวัลร้านหนังสือในปี 2020 นี้คือเรื่อง 流浪の月 (พระจันทร์พเนจร) ของนางิระ ยู ผู้อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อนักเขียนคนนี้ แต่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รางวัลร้านหนังสือปีนี้เป็นที่ฮือฮามากคือนางิระ ยูนั้นเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในแวดวงนิยาย Boys' love หรือนิยายวายมาก่อน โดยนวนิยายแนวบอยส์เลิฟของนางิระ ยูเคยมีแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วมากมาย เช่น "รักในความทรงจำ" "ค่ำคืนก่อนรักผลิบาน" "ค่ำคืนก่อนรักเพรียกหา" โดยสำนักพิมพ์ BLY ในเครือบงกช ทำให้ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหูในหมู่นักอ่านนิยายวายญี่ปุ่นบ้านเราดี

    อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ได้รับรางวัลคราวนี้เป็นวรรณกรรมทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ กระนั้นการที่นักเขียนผู้ได้รับรางวัลอันเป็นที่จับตามองมากที่สุดในญี่ปุ่นตอนนี้มีต้นกำเนิดมาจากวงการนิยายวายก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการน้ำหมึกญี่ปุ่นไม่น้อย นิตยสารและเว็บไซต์มากมายแย่งกันรุมสัมภาษณ์คุณนางิระ แม้แต่อินางาคิ โกโร่ (อดีตสมาชิกวง SMAP) ยังเคยเชิญคุณนางิระไปสัมภาษณ์เรื่องรางวัลร้านหนังสือและนิยายวายมาแล้ว

    หลังจากได้รับรางวัลในเดือนเมษายน ยอดขายของพระจันทร์พเนจรก็พุ่งกระฉูด ทำให้กลายเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรมที่ขายดีที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 โดยยอดขายทิ้งห่างจากอันดับสองกว่าหกหมื่นเล่มเลยทีเดียว 

    แม้ว่าความเก่าแก่และความขลังของรางวัลร้านหนังสือจะทาบสองรางวัลข้างต้นไม่ติด แต่ดูจากความพุ่งแรงฉุดไม่อยู่ของยอดขายแล้ว การที่หลายต่อหลายคนบอกว่ารางวัลร้านหนังสือคือรางวัลที่โดนจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ย่อมไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลยแม้แต่น้อย


    นอกจากสามรางวัลใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว ญี่ปุ่นยังมีรางวัลวรรณกรรมอีกมากมาย ซึ่งหากนับรางวัลเล็กรางวัลน้อยทั้งหมดแล้วก็น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยรางวัล แน่นอนว่ารางวัลเหล่านี้ย่อมมีเหตุผลทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรางวัลที่แต่ละสำนักพิมพ์จัดขึ้น แต่หากดูจากการที่มีรางวัลสำหรับงานเขียนหลากหลายประเภท และการที่เหล่านักอ่านสนอกสนใจว่าผลงานเรื่องใดจะได้รับรางวัล ทั้งยังพร้อมจะแห่แหนไปซื้อผลงานรางวัลมาอ่านแล้ว จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นช่างเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับงานเขียนและรักการอ่านกันจริงๆ


    อ้างอิง:
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in