เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ขีดๆ เขียนๆshomona
“นิยายวาย” แตกต่างจาก “นิยายเกย์” อย่างไร?
  • ในแวดวงวรรณกรรมยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวัฒนธรรม “นิยายวาย” หรือนิยายชายรักชายนั้นแพร่หลายไปทั่วโลก ทว่าปัญหาหนึ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เนืองๆ คือ “นิยายวาย” ต่างจาก “นิยายเกย์” หรือ “นิยาย LGBTQ+” อย่างไร? และเราควรเลิกใช้คำว่า “นิยายวาย” แล้วหันมาเรียกนิยายประเภทนี้ว่า “นิยายเกย์” หรือ “นิยาย LGBTQ+”จะดีกว่าหรือไม่?

    ก่อนที่จะไปถึงขั้นอภิปรายกันว่าเราควรกำจัดคำว่า “นิยายวาย” ซึ่งเป็นคำที่ทำลายอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครให้หายไปจากสังหรือไม่ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือลองมาพิจารณานิยามของ “นิยายวาย” และ “นิยายเกย์” กันก่อน


    ※ อนึ่งบทความนี้ไม่มีเจตนาชี้นำว่านิยายสองประเภทนี้ควรแยกออกจากกันแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการพิจารณานิยามของนิยายสองประเภทนี้ในบริบทสังคมปัจจุบันเท่านั้น


    คำว่านิยายวายที่ใช้กันในสังคมไทยนั้นเป็นคำที่เกิดมาจากคำว่า Yaoi (ชายรักชาย) และ Yuri (หญิงรักหญิง) ในภาษาญี่ปุ่น แต่ในภายหลังญี่ปุ่นเปลี่ยนมานิยมใช้คำว่า BL (Boys'love) และ GL (Girl’s love) กันมากกว่า ขณะที่คำว่า “วาย” ได้ฝังรากลึกลงในแวดวงป๊อปคัลเจอร์ของไทย กลายเป็นคำที่รับรู้ความหมายโดยทั่วกันว่า “วาย” หมายถึงความรักระหว่างเพศเดียวกัน จนแม้แต่ซีรีส์ว่าด้วยความรักของชายรักชายที่นิยมผลิตออกมากันอย่างต่อเนื่องก็ยังใช้คำเรียกว่า “ซีรีส์วาย” กันมากกว่าจะใช้คำว่า “ซีรีส์เกย์”


    แล้วคำว่า “วาย” กับ “เกย์” มันต่างกันอย่างไรเล่า?


    ในที่นี้หากยกนิยายประเภท M/MRomance กับ Gay Fictionของฝั่งตะวันตกมาเปรียบเทียบข้อแตกต่างกันน่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

    M/MRomance คืออะไร? เว็บรวมรีวิวหนังสือเจ้ายักษ์อย่าง Goodreads ให้นิยามของ M/M Romance ไว้เพียงสั้นๆ ว่า “เป็นนิยายที่พล็อตหลักโฟกัสไปยังความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างผู้ชายสองคน(หรือมากกว่า)” ซึ่งเป็นนิยามที่ไม่ค่อยช่วยให้เห็นภาพความแตกต่างกับนิยายเกย์เท่าไรนัก แต่หากลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนิยายประเภทนี้ในหลายๆแหล่งแล้วจะพบว่าคุณลักษณะของ M/M Romance นั้นเรียกได้ว่าไม่ต่างจาก “นิยายวาย” ในการรับรู้ของคนไทยเลย

    ตัวอย่างนิยายประเภท M/M Romance

    คุณลักษณะของ M/MRomance นั้นสามารถสรุปออกมาเป็นข้อๆ อย่างง่ายได้ดังนี้

    • มันคือนิยายโรมานซ์ ใช่แล้ว ชื่อก็บอกอยู่ทนโท่ นิยายโรมานซ์คือนิยายที่เน้นความรักหรือความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของตัวละครเป็นหลักนิยายประเภทนี้เป็นที่นิยมกันมาช้านาน เพียงแต่ในยุคนี้เริ่มมีนิยายโรมานซ์ที่ตัวละครมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพราะฉะนั้นจุดโฟกัสของ M/M Romance ย่อมอยู่ที่ "ความรัก" เป็นหลัก

    • เมื่อขึ้นชื่อว่าโรมานซ์ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องสมจริงเสมอไป นิยายโรมานซ์ชายหญิงเองก็เป็นเช่นนั้นมันมักจะแฝงด้วยความเพ้อฝันและจินตนาการด้วยเสมอ

    • กลุ่มเป้าหมายหลักของนิยายโรมานซ์คือผู้หญิงดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักของ M/M Romance ก็คือผู้หญิงเช่นกัน

    • และอันที่จริงแล้ว เหล่านักเขียน M/M Romance ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงด้วย

    ซึ่งหากเปรียบเทียบกับนิยายเกย์หรือ Gay Fiction แล้ว เราจะพบว่านิยายเกย์นั้น...

    • ไม่ใช่โรมานซ์ นิยายเกย์คือนิยายที่ตัวละครหลักของเรื่องเป็นเกย์พูดถึงชีวิตของเกย์คนหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเรื่องไม่ใช่โรมานซ์หรือ "ความรักเชิงแฟนตาซี"

    • เมื่อไม่ใช่โรมานซ์ก็ย่อมมีความสมจริงมากกว่า

    • กลุ่มเป้าหมายไม่ได้จำกัดอยู่แค่บรรดาผู้หญิงที่โหยหาเรื่องราวความรัก

    • ไม่ว่าจะเป็น GayFiction, Queer Fiction หรือ LGBTQ+ Fiction สิ่งเหล่านี้มักเขียนขึ้นเพื่อนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศอันหลากหลายสะท้อนภาพชีวิตของเหล่า LGBTQ+ และสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในสังคม เป็นงานเขียนที่รังสวรรค์ขึ้นเพื่อผู้อ่านใน LGBTQ+ และเพื่อผู้อ่านอื่นๆ ในสังคมที่สนใจประเด็นทางเพศ มากกว่าจะเขียนเพียงเพื่อตอบสนอง "ความฟิน" ของสาวๆ

    • ผู้เขียนนิยายประเภทนี้มักเป็นคนในคอมมิวนิตี้LGBTQ+ มากกว่าจะเป็นสาวๆ สเตรทผู้เปี่ยมจินตนาการ

    โดยสรุปแล้ว ในเมื่อ M/MRomance หรือ “นิยายวาย”และ Gay Fiction หรือ “นิยายเกย์” ถูกเขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เพื่อกลุ่มผู้อ่านที่แตกต่างกันการจะตัดสินว่านิยายประเภทไหนทรงคุณค่ามากกว่ากันจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายแตกต่างกันมาตั้งแต่แรก

    ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้นิยายสองประเภทนี้จะมีคุณลักษณะแตกต่างกันเด่นชัด แต่บางครั้งก็มีนิยายที่ถูกจัดเป็นทั้ง M/MRomance และ Gay Fiction ในเรื่องเดียวอยู่เหมือนกัน และบางสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้ใช้คำว่า M/M แต่เลือกที่จะใช้คำว่า Gay Romance ด้วย บางทีวันหนึ่งข้างหน้าเส้นแบ่งระหว่างนิยายสองประเภทนี้อาจถูกกลืนหายไปก็เป็นได้

    อย่างไรก็ตาม เรื่องที่คำว่า “นิยายวาย” เป็นการทำลายอัตลักษณ์ทางเพศของ LGBTQ+ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น คำเรียกนิยายโรมานซ์ที่มีตัวละครเป็นLGBTQ+ ควรเปลี่ยนเป็นคำอื่นหรือไม่นั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรถกเถียงกันต่อไป
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in