เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กลับเข้าสู่ช่วงต่อไปของรายการfungfa
วันอังคาร 14.30 : ละครบ่ายคลายเครียด
  • ถ้าเปิดทีวีช่วงนี้ มักเจอสองช่องที่ประชันละครรีรันกันช่วงบ่าย ซึ่งเนื้อหาดูแล้วน่าจะต่างกันโดยสิ้นเชิง ฟากหนึ่งเป็นเรื่องของชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง อีกฟากหนึ่งเป็นการต่อสู้ (ต่อสู้จริงๆ แบบมีปืนผาหน้าไม้เลยนะ) ของกลุ่มชนชั้นล่าง ฟากหนึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ในสูทหรูหรา อีกฟากพาดผ้าขาวม้านั่งสบถคำกระแทกเสียงคำอยู่แคร่หน้าบ้าน

    เปิดสลับไปสลับมา (รู้สึกล้นทีก็เปลี่ยนที) เรานึกถึงความเห็นสองทางของคนดูละครที่น่าจะต่างกันอย่างสุดขั้ว ถ้าลองถามใครว่าทำไมถึงชอบดูละคร เรามักจะเจอทั้งฝั่งที่บอกว่า "อยากจะหลุดออกไปจากโลกของความเป็นจริง เป็นไปเพื่อความบันเทิง" และฝั่งที่บอกว่า "ดูละครเพื่อย้อนดูตัว ละครก็สะท้อนชีวิตจริงเหมือนกัน"

    น่าสนใจที่สิ่งสิ่งหนึ่งทำทั้งสองหน้าที่ในเวลาเดียวกัน ดีไม่ดี ก็อาจจะเป็นละครเรื่องเดียวกัน
    แต่โดยส่วนตัว เราเห็นว่าละครบ้านเรายังคงมุ่งไปในทาง หลุดออกไปจากโลกของความเป็นจริง มากกว่า ถึงแม้จะมีคนบอกว่าจะเป็นเรื่องราวหรือกลุ่มคนที่มีที่อยู่ในสังคมจริงๆ ก็ตาม แต่หากว่ากันตามที่นิสัยกลุ่มคนดูแล้ว พวกเขาก็ยังมีรสนิยมของการเลือกดูเพราะเรื่องเหล่านั้น เหนือจริง ไปกว่าที่พวกเขาเจอ

    กลุ่มชนชั้นกลาง อาจจะเลือกดูละครสักเรื่องที่บอกเล่าเรื่องของชนชั้นกลางหรือสูงกว่า นั่นเพราะเป็นฉาก (setting) ที่ใกล้ตัวเขา แต่เนื้อหาของเรื่องเมื่อดูกันจริงๆ แล้ว จะมีความดีสุดขั้วชั่วสุดขีดอยู่ เช่น การแก้ปัญหาด้วยการแต่งงาน การด่าทอทำร้ายกันกลางที่สาธารณะ การที่พระเอกซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทหนุ่มหน้าตาดีมารักชอบกับนางเอกที่เป็นพนักงานระดับล่างแสนธรรมดา ฯลฯ ในทางกลับกัน ในชนชั้นล่าง ก็มักจะเลือกดูละครที่บอกเล่าถึงเรื่องของชนชั้นล่าง พ่อค้าแม่ค้า ชั้นแรงงาน หรือที่เราเรียกว่ามีความเป็นลูกทุ่ง เพราะนั่นก็เป็นฉากที่ใกล้กับชีิวิตพวกเขาเช่นกัน แต่เมื่อดูดีๆ ก็จะพบความเหนือจริง เช่น ฮีโร่ชั้นแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นอย่างอาจหาญ การไล่ยิงต่อสู้กันด้วยปืนผาหน้าไม้ หรือชีวิตชนบทอันสุขสงบ ผู้คนยิ้มแย้มสนุกสนาน อยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว

    ดูแล้วเรามีความรู้สึกว่า ละครไทยมุ่งหมายไปในทางที่ให้ความบันเทิง ตอบสนองโลกจินตนาการที่ผู้ชมได้แต่คิดในโลกของความเป็นจริง ให้กลายเป็นจริงขึ้นมาบนหน้าจอสี่เหลี่ยมในเวลาชั่วโมงสองชั่วโมง มากกว่าที่จะสะท้อนว่าความจริงของสังคมคืออะไร เมื่อปิดทีวี ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไป ด้วยความหวังว่าสักวันอาจจะมีเจ้านายหนุ่มหน้าตาดีเข้ามาช่วยอุ้มพยุงให้พ้นจากวรรณะพนักงานระดับล่าง หรือหากโมโหโกรธากับเพื่อนร่วมงานสักคน ก็สะกดอดกลั้นไว้ รอให้นางเอกได้ตบคืนนางร้ายในคืนนี้ตอนสองทุ่ม ก้มหน้าหาเงินเลี้ยงตัววันต่อวันกันเรื่อยไป โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีคนดีฮีโร่ เข้ามาช่วยต่อรอง ต่อกรกับอำนาจที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสแรงกดทับบนหลังไหล่ได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือหากนึกโกรธเลือดขึ้นหน้า คืนนี้สักสองทุ่มสิบห้า เดี๋ยวพระเอกจะชักปืนขึ้นมาฆ่าคนร้ายให้

    เรามักไม่พบการสะท้อนสังคมที่เป็นอยู่จริงๆ เราไม่พบการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้จริงๆ อยู่ในละครที่หลายคนบอกว่า สะท้อนชีวิตจริง หรือแม้จะไม่จริงเราก็ไม่พบเป้าหมายใดที่เป็นไปเพื่อการจรรโลงใจ จรรโลงสังคม อย่างละครเกาหลีที่พระเอกแสนจะไม่จริง ยังว่ากันว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ชายเกาหลี แล้วดูบ้านเราเล่า จะให้จับนางเอกแต่งงาน จะให้กระโดดขึ้นข่มขืน จะให้ชักมีดชักปืนขึ้นมากระซวกคนอื่นอยู่ถ่ายเดียวน่ะหรือ

    ไม่ว่าจะพูดอะไร ก็เป็นคำถามที่ถูกเพิกเฉยมานับพันปี ไม่มีอะไรใหม่แล้ว ใครก็พูดกันมาเป็นหนังม้วนเก่า ก็เอาเถอะ... บางที ละครอาจจะสะท้อนสังคมจริงๆ ก็เป็นได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in