ตอนที่ได้ยินข่าวนี้ คดียังไม่พลิก (อันที่จริงมันก็ไม่เชิงพลิก มันแค่สืบสาวไปจนถึงที่สุดมากกว่า) มีโจรขโมยมะพร้าวของป้า ป้าเลยปรับเงินห้าหมื่น คนในโซเชียลเลยรุมด่าป้า แต่บ้างก็ว่า ขโมยของมันก็ผิด ตอนนั้นสตอรี่มีอยู่แค่นี้ แค่นี้ล้วนๆ ที่ชวนให้คิด
อะไรที่เรียกว่าเกินกว่าเหตุ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ชัด ในเมื่อคำว่าเกิน หมายถึงการเลยจากสิ่งที่กำหนดเอาไว้ออกไป มันก็ต้องตั้งคำถามว่าใครเป็นคนกำหนด บางคนพกไม้บรรทัด บางคนพกไม้ที บางคนพกไม้เมตร บางคนใช้แค่ไม้บรรทัดยาวสิบห้าเซนฯ วัด บางคนหยิบตลับเมตรมาวัด ความเกินเลยมันจะเริ่มเกินเลยจากที่ตรงไหน นี่ยังไม่นับว่าถ้าเอาไม้โปรฯ ขึ้นมาวัดก็จะยุ่งไปกันใหญ่
สมมติให้คนรวยระดับบนคือคนถือตลับเมตร และคนจนคือคนที่ถือไม้บรรทัดสั้นขนาดพกใส่กระเป๋า เงินห้าหมื่นอาจมี "จำนวน" เท่ากัน แต่ "ค่า" ของมันอาจต่างกันมหาศาล แล้วแต่จะมองในบริบทกว้างๆ เป็นนิ้วหรือยิบย่อยลงไปเป็นมิลมิลเมตร
เราก็คิดกลับไปกลับมาอย่างนี้ (จนพลิกไข่เจียวเสร็จไปสองด้าน) ก็ไม่ได้มีคำตอบอะไรหรอก แต่ถ้าถามตัวเองเป็นการส่วนตัว เราเป็นพวกทื่อมะลื่อที่คิดว่า "ทำผิดก็ต้องรับโทษ" แค่นั้นแหละ ไม่มีอะไรเป็นข้ออ้างได้ ไม่ว่าความจน ความรัก ความขัดสน เราว่าเรื่องนี้ไม่เกินไป เพราะเรื่องมีการผ่านคนกลาง ผ่านบุคคลที่สาม ถ้าบุคคลที่สามเห็นว่ามันเกินไป มันก็อาจเป็นไปได้ว่าจะไม่ถึงห้าหมื่น แต่ถ้าเป็นกรณีมีโจรขโมยมะพร้าวแล้วเจ้าของบ้านง้างปืนขึ้นมายิงตาย ไม่ถามไม่ไถ่ ไม่บอกใครสักคำ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องวัดค่า ระหว่าง มะพร้าว กับ ชีวิต
แต่ก็เหมือนหลายเรื่องในโลก หรือแม้แต่ในหนัง มันไม่ค่อยมีพล็อตเรื่องไหนเป็นเส้นตรง หรือมีตัวละครที่แบนราบ ดีสุดขั้วชั่วสุดขีด (อาจจะมี แต่ก็คงไม่สนุก เสร็จคะแนนมะเขือเน่าแน่ๆ) สุดท้ายคนน่าสงสาร อาจเป็นเพียงแค่ คนที่ใช้ความน่าสงสารเป็นใบเบิก เหมือนจักรยานคันเล็กราคาถูกที่ลัดเลาะเข้าไปในซอยแคบได้ ในขณะที่รถหรูคันใหญ่ถูกผลักให้วิ่งอยู่แต่บนถนน
เรานั่งแท็กซี่ผ่านตลาดแห่งหนึ่ง และเป็นอีกครั้งของอีกครั้งที่เห็นคนพิการขาขวา เสื้อผ้าขาดวิ่น เนื้อตัวมอมแมมนอนราบกับพื้นพร้อมขันใบหนึ่ง เราไม่อาจฟันธงได้ว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตหนึ่งชีวิต เลือกที่จะเรียกร้องความ "ดูแคลน" เพื่อแลกกับลมหายใจอยู่ ทั้งที่หากเป็นคนทั่วไปก็ย่อมต้องคิดว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ชีวิตก็ย่อมต้องมี "ศักดิ์ศรี" มากกว่านั้น อย่างหลายรายการหลายกรณีที่มีการยกย่องคนสู้ชีวิต (จริงๆ ไม่ชอบคำว่า สู้ชีวิต เลย แต่เพื่อความเข้าใจง่าย) หรือนี่อาจเป็นการสู้ศึกที่ยาก ยากเกินกว่าจะชนะ จึงมีคนบางกลุ่มที่ยอมแพ้
หรือเป็นมุมมองของการลงทุนจากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ คือความน่าสงสาร น่าเห็นใจ ย่อมง่ายกว่าการสร้างสิ่งที่ไม่มี คือ ศักดิ์ศรี ความเคารพ ถ้าคิดแบบพ่อค้า เพื่อให้คุ้มค่า ได้กำไรเร็ว เราก็ควรทำธุรกิจกับสิ่งที่เรามีต้นทุนอยู่แล้ว และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่สังคมไทยยังมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่สำหรับธุรกิจนี้ ที่พร้อมจะกระโจนเข้าใส่ทันทีที่เห็นป้ายลดราคา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in