เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะตามท้องถนน หรือสถานที่ไหนๆ แน่นอนว่าอุบัติเหตุคงเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่มีใครตั้งใจจะให้เกิดหรือไม่อยากจะได้รับผลจากมันอยู่แล้ว ไม่ว่าผลจากอุบัติเหตุจะเบาหรือหนักแค่ไหน พอจัดการเคลียร์สถานที่อะไรเสร็จแล้ว หลายครั้งไม่ว่าจะหน่วยเคลื่อนที่เร็วของบริษัทประกันภัย ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาจัดการเรื่องทางคดีหรือการเคลมค่าเสียหาย มักจะมีคำๆ หนี่งที่ชอบพูดกันคือ “เคสนี้เป็นประมาทร่วมนะ” และทำให้เราอาจไม่ได้รับค่าเสียหาย หรือได้รับน้อยลงจากที่ควรได้รับ ทั้งที่เราเองรู้อยู่ว่าเหตุการณ์เป็นแบบไหน
คำถามคือ ประมาทร่วมคืออะไร มันมีจริงไหม คำตอบที่ให้เบื้องต้นตรงนี้ คือ “ประมาทร่วมไม่มีอยู่จริง”แล้วทำไมมันถึงไม่มีอยู่จริง เราอาจต้องมารู้จักศัพท์กฎหมายที่คุ้นหูกันดีก่อน นั่นคือคำว่า “ประมาท”
ประมาทคืออะไร
ประมาท (ในกฎหมายอาญา) หรือประมาทเลินเล่อ (ในกฎหมายแพ่ง) สองคำนี้ไม่มีความแตกต่างกันในความหมาย ทั้งสองคำต่างหมายถึง การที่บุคคลไม่ได้ทำสิ่งนั้นโดยเจตนาหรือโดยจงใจ แต่กลับกระทำโดยขาดความระมัดระวังในเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่คนคนนั้นเขาควรจะใช้ความระมัดระวัง แต่เขากลับไม่ได้ใช้มัน แล้วส่งผลให้เกิดผลจากการไม่ใช้ความระมัดระวัง การขาดความระมัดระวังจึงเป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ขัดกับความเข้าใจตามภาษาปกติที่เข้าใจว่าประมาทคือการขาดความระมัดระวัง แต่เมื่อเป็นถ้อยคำทางกฎหมายก็มักตามมาด้วยกรอบในการทำความเข้าใจและหลักเกณฑ์ที่จะใช้เพื่อชี้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาท/ประมาทเลินเล่อหรือไม่
ในเบื่้องต้นนั้น ความระมัดระวังอันนี้จะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดตรงหน้าซึ่งบุคคลนั้นได้กระทำหรือกำลังกระทำ ภาษากฎหมายเรียกว่า “ภาวะ” เช่น ภาวะของการขับรถ ภาวะของการผ่าตัด ภาวะของการใช้ปืน เป็นต้น ในภาวะแต่ละกรณีนั้นก็มีความระมัดระวังที่แตกต่างกันออกไป ในทางกฎหมายจะใช้การ “สมมติ” ตัวเองเข้าไปในเหตุการณ์นั้นประกอบกับการคำนึงถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภาวะแวดล้อมและสภาพภายในของบุคคลคนนั้น เพื่อหาระดับของความระมัดระวังแล้วนำมาเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดจริง โดยหลักในการค้นหาระดับของการใช้ความระมัดระวัง สามารถดูได้จาก 2 หลักเกณฑ์
ข้อแรก ให้ดูปัจจัยภายในตัวของบุคคลในเหตุการณ์หรือภาวะนั้น หรือที่เรียกว่า “วิสัย” โดยวิสัยให้ความสำคัญไปที่การพิจารณาจากสถานะที่บุคคลนั้นเป็นอยู่ในเหตุการณ์นั้น เช่น เป็นผู้ขับขี่รถ ก็จะต้องมีความระมัดระวังในการขับรถ หรือเป็นแพทย์ก็ต้องมีความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้สถานะดังกล่าวของคนคนนั้นจะกำหนดระดับความระมัดระวังของเขาด้วย เช่น แพทย์จะมีระดับของความระมัดระวังที่สูงมากกว่าบุคคลทั่วไปในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ หรือพนักงานขับรถประจำทางก็จะต้องระมัดระวังในการขับรถประจำทางมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวเพราะมีผู้โดยสารจำนวนมากและเป็นรถสำหรับขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
ข้อที่สอง ให้ดูปัจจัยภายนอกในเหตุการณ์นั้น ภาษากฎหมายเรียกว่า “พฤติการณ์” ซึ่งหมายถึง สภาพแวดล้อมในเหตุการณ์นั้นที่อยู่นอกตัวของบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลนั้นควบคุมได้เพราะสัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา เช่น สภาพอากาศ (ฝนตกหนัก-หมอกลงจัด) ลักษณะพื้นที่ (เขตเมือง-ทางหลวง/ในป่าทึบ-ในทุ่งกว้าง/ไฟสว่าง-ไฟมืด) ช่วงเวลา (กลางวัน-กลางคืน/วันธรรมดา-วันหยุด) เป็นต้น ความแตกต่างของพฤติการณ์เองก็นำมาสู่ความระมัดระวังที่ไม่เท่ากัน เช่น การขับรถในถนนทางหลวงกับถนนในเขตเทศบาล ย่อมมีระดับของความระมัดระวังไม่เท่ากัน เป็นต้น
การกำหนดให้กระทำโดยประมาท/ประมาทเลินเล่อเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา หรือเป็นเหตุแห่งการต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่ง ให้ความสำคัญไปที่ 2 มุมมอง อย่างแรกคือการเน้นให้สมาชิกในสังคมใช้ความระมัดระวังที่จะไม่สร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน และอย่างที่สองนั้นคือการต้องให้ผู้ที่สร้างความเสียหายได้รับการชดใช้/ชดเชยจากผลของการกระทำของเขานั้น
อย่างไรก็ดี ประมาทในทางกฎหมายจัดเป็น “องค์ประกอบในทางจิตใจ” ของตัวบุคคลที่แสดงการกระทำอย่างหนึ่งที่มีระดับเบากว่าการกระทำโดยเจตนา/จงใจที่เกิดจากความตั้งใจที่จะก่อความเสียหายหรือสร้างความไม่เป็นปกติสุขในสังคม บางกรณีกฎหมายจึงไม่กำหนดให้การกระทำโดยประมาทเป็นความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญา แต่ไม่ได้แปลว่าการไม่มีความผิดอาญาจะทำให้คนที่ก่อความเสียหายโดยประมาทนั้นไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ผู้เสียหาย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in