เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่ากฎหมายให้เป็นภาษาคนidealtype_
#2 ทนายความหญิงใส่กระโปรงไปศาลได้… แล้วนักศึกษาเนติหล่ะ ?
  • (1) หลังจากข้อร้องเรียนหลังทนายความหญิงคนหนึ่งถูกศาลตักเตือนและบันทึกลงในรายงานกระบวนพิจารณาจนทำให้เกิดการร้องเรียนต่อคณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศ และนำไปสู่ออกคำสั่งให้แก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 ทำให้สมาชิกหญิงสามารถใส่กางเกงได้ และผลที่ตามมาคือ ทนายความหญิง (ซึ่งจะต้องเป็นสมาชิกทั้งสามีญ/วิสามัญของเนติบัณฑิต) สามารถใส่กางเกงขึ้นว่าความในศาลได้ ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องสีของกางเกงอยู่ 

    เช่นเดียวกับการแก้ไขในส่วนของสภาทนายความที่ทั้งยึดการแต่งกายตามระเบียบฉบับนี้ และการแก้ไข “ระเบียบสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ” 

  • (2) ข้อบังคับนี้ดูเหมือนเป็นการท้าทายกับความเชื่ออันคร่ำครึโบราณของสถาบันการศึกษากฎหมายที่อุดมไปด้วยอำนาจเหนือที่มาจากความเป็นชายล้นเกิน (toxic masculinity) จนบังคับกำหนดกระโปรงในฐานะสิ่งซึ่งกำกับตัวตนทางเพศของนักกฎหมาย ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น การแก้ไขให้ผู้หญิงใส่กระโปรงได้จึงอาจฟังดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในวงการกฎหมาย อย่างไรก็ดี ความสำเร็จสามารถสะท้อนถึงความหวังที่จะทันสมัยของวงการกฎหมายได้จริงหรือไม่

    ในขณะที่นักกฎหมายกำลังตื่นตาตื่นใจกับการแก้ไขข้อบังคับนี้ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเองก็โพสต์ประกาศระเบียบการเข้าสอบวัดความรู้ โดยเนื้อหาสำคัญคือ นักศึกษาหญิงยังคงต้องใส่กระโปรงเข้าสอบตามเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

  • (3) นักศึกษาในชั้นเนติบัณฑิตจะอยู่ภายใต้การแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้หรือไม่ ข้อสังเกตหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ในข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภาฯ พ.ศ. 2507 ข้อ 17 กำหนดว่า การแต่งกายของ “สมาชิก” ได้แก่ สามัญสมาชิก วิสามัญสมาชิก และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และกำกับการแต่งกายเพื่อ “สวมครุยเนติบัณฑิต” อย่างไรก็ดี นักศึกษาเนติบัณฑิตจัดเป็นภาคีสมาชิก ไม่ได้เป็นสมาชิกทั้งสามประเภทแต่อย่างใด ทำให้ในขณะเป็นนักศึกษาเนติบัณฑิตอยู่ นักศึกษาจึงไม่ใช่สมาชิกที่จะแต่งกายได้ตามแบบที่ข้อ 17 กำหนดไว้

    นอกจากนี้ การเป็นสมาชิกโดยเฉพาะประเภทสามัญสมาชิก จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการสอบไล่ตามหลักสูตรของสำนักอบรมฯ เช่นเดียวกับการเป็นวิสามัญสมาชิกก็ต้องมีเงื่อนไขในการจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ของบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จะมีสิทธิสมัครสมาชิกประเภทนี้ การเป็นประเภทของสมาชิกเนติบัณฑิตนี้ต่างมุ่งที่การใช้งาน “หลังการจบการศึกษาในชั้นเนติบัณฑิต” และ “เป็นเงื่อนไขหลักในการทำงานวิชาชีพ” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้การเป็นนักศึกษาจึงยังไกลกว่าที่จะนำข้อบังคับข้อนี้มาใช้ นักศึกษาหญิงยังคงต้องถูกบังคับให้ใส่กระโปรงมาเข้าฟังบรรยายและการสอบอยู่เช่นเดิม


  • (4) ในข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาฯ ไม่ได้กำหนดการแต่งกายของนักศึกษาหญิงไว้ชัดเจน แล้วข้อกำหนดนี้มาจากไหน ในข้อบังคับฯ ข้อ 53 วรรคสอง ที่อยู่ในส่วน “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” กำหนดว่า คณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายฯ สามารถออกระเบียบใหัใช้บังคับเพื่อประโยชน์ของการจัดการศึกษา ซึ่งระเบียบนี้น่าสนใจว่าจะต้องยึดโยงจากข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาหรือไม่ หรือเป็นข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้สามารถออกระเบียบแตกต่างไปจากข้อบังคับฯ ได้
    อย่างไรก็ดี เมื่อไปค้นระเบียบของสำนักอบรมฯ แล้วก็จะพบว่า ไม่มีระเบียบข้อไหนหรือฉบับใดที่ประกาศอย่างชัดเจนถึงการแต่งกายไว้ จนกระทั่งเจอ “ระเบียบการแต่งกายของนักศึกษา” จากเว็บไซต์ของเนติบัณฑิต ซึ่งข้อความนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ในเอกสารที่เป็นแบบฟอร์มเดียวกันกับระเบียบอื่นๆ ไม่ได้ระบุว่ามาจากคณะกรรมการอำนวยการฯ ไม่มีผู้ลงนาม ไม่วันที่ประกาศ ไม่มีการอ้างระเบียบ/ข้อบังคับฉบับใดเป็นฐานที่มาของระเบียบนี้ แต่มีเนื้อหากำหนดไว้ลอยๆ

  • (5) การกำหนดรูปแบบของการแต่งกายของนักศึกษา แล้วเทียบกับระเบียบอื่นๆ แล้ว เช่น ระเบียบสำนักอบรมฯ ว่าด้วยการสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต หรือ ระเบียบฯ ว่าด้วยการเป็นนักศึกษา การสอน การสอบไล่ วินัยและมรรยาท เราตั้งข้อสังเกตว่าระเบียบนี้อาจ “ไม่ได้เป็นระเบียบแบบที่เป็นทางการ” ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีผลบังคับใช้และดูไม่น่ากังวล แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือระเบียบที่ไม่เป็นทางการนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการทำให้กลายเป็นขนบ (normalization) ของสิ่งที่ระเบียบไม่ได้กำหนดไว้ แต่กลับถูกทำซ้ำจนกลายเป็นกรอบพฤติกรรมของผู้คนที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนในชั้นเนติบัณฑิต  

    ระเบียบที่ไม่เป็นรูปธรรมเหล่านี้มีอำนาจผ่านการประพฤติอย่างซ้ำๆ แล้วมีผู้ที่คอยกำกับควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบนั้น เพื่อระบุบ่งชี้ว่าใครเป็น “นักกฎหมาย” ใครคือผู้เป็น “นักศึกษา” บรรดาเจ้าหน้าที่สวมบทเสมือนตำรวจที่คอบกำกับการรักษาให้นักศึกษาต้องทำตัวและแสดงตนให้เป็นไปตามกรอบของระเบียบลักษณะเช่นนี้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือพยายามจะตั้งคำถามสามารถถูกโจมตีโดยทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่หรือน้กกฎหมายผู้ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมแบบนี้ พร้อมถูกผลักออกไปให้ไร้ตัวตนจากพื้นที่ของนักกฎหมายได้ กระบวนการเช่นนี้สะท้อนให้ความสำคัญของตัวตนของผู้เป็นนักกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการเลือกสรรและกำหนดไว้แล้วในวงการกฎหมาย

    เมื่อย้อนทบทวนระเบียบของสำนักอบรมฯ อีกสักครั้ง ข้อ 11 ของระเบียบก็รวบยอดข้อเสนอว่าด้วยกลไกการกลายเป็นขนบ ให้กลายเป็น “เกียรติของนักศึกษา” ที่สะท้อนการกำกับควบคุมตัวตนของนักศึกษากฎหมายด้วย นี่คืออำนาจที่ลื่นไหล ไร้ตัวตน แต่กลับควบคุมตัวตนของเราในพื้นที่ๆ หนึ่งเท่านั้น

  • (6) ดังนั้น หากการสอบเนติบัณฑิตมีนักหญิงที่เห็นการแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาฯ แล้วเข้าใจว่าเขาสามารถใส่กางเกงไปสอบได้ แล้วเมื่อไปถึงสนามสอบ เขาอาจถูกไล่ออกหรือปฎิเสธสิทธิในการเข้าสอบโดยเจ้าหน้าที่ของเนติบัณฑิต ไม่ว่าจะโดยอำนาจในการออกระเบียบของสำนักอบรมฯ ที่แยกเป็นเอกเทศออกจากข้อบังคับฯ และกลไกของการสร้างความเป็นขนบของการแต่งกายที่ไม่มีระเบียบชัดเจนแต่กลับมีอำนาจอย่างมากและเข้มแข็ง รวมถึงจะโดยอ้าง “ช่องว่าง”  ที่ข้อบังคับฯ ทิ้งไว้จากการละเลยนักศึกษาเนติบัณฑิตในสถานะสมาชิกก็ดี 

    เมื่อนักกฎหมายเกลียดและกลัวช่องว่างกฎหมาย ถึงขนาดที่สอนว่า กฎหมายไม่มีช่องว่างนั้น การสอนกันแบบนี้เป็นการปิดตาตัวเองและสร้างภาพโลกสวย (romanticized) ให้แก่โลกทางกฎหมายของตัวเอง แต่กลับไม่ได้พิจารณาถึง “ข้อเท็จจริง” ให้รอบว่า แม้แต่กฎหมาย/ระเบียบ/ข้อบังคับที่พวกเขาใช้บังคับหรือพยายามทำให้เกิดนั้นก็ก่อให้เกิดช่องว่างเสมอ ทั้งในระดับกฎระเบียบ ไปจนถึงการบังคับใช้ และกระบวนการสร้างขนบที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องนอกกฎหมายไป ทั้งที่สิ่งนี้อาจสะท้อนให้เห็นปัญหาของ “ระบบกฎหมาย” ได้อย่างน่าสนใจ

    แต่ก็นั่นแหละ นักกฎหมายก็หาแต่ “ระเบียบที่ตายตัว” อะไรที่ไม่ตายตัว ไม่ชัดเจน หรือเป็นข้อเท็จจริง” ก็คือข้อเท็จจริงนอกสำนวน ไร้ประโยชน์ ไร้ความหมาย จนกว่าสิ่งที่ไร้ความหมายจะกลับมาสร้างผลกระทบแก่ตัวพวกเขา เหมือนที่นักศึกษาหญิงเนติบัณฑิตกำลังจะพบเจอ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in