เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
FilmWATCHIES
MINARI แด่ชีวิตที่เบ่งบานในดินแดนไกลบ้าน


  • MINARI เป็นหนังที่ว่าด้วยการตั้งรกรากของชาวเกาหลี-อเมริกันในรัฐอาร์คันซอช่วงปี 1980 ของครอบครัวอี ที่ทำมาหากินด้วยการคัดแยกเพศของลูกเจี๊ยบแต่ใฝ่ฝันอยากที่จะทำไร่สวนเป็นของตัวเองจึงย้ายจากแคลิฟอร์เนียมายังอาร์คันซอ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กัน






    "ต่อจากนี้ไปจะมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องแน่เลยค่ะ

    ใครที่อยากไปดูเองอาจจะต้องระวังหน่อยนะคะ หรือไม่ก็ปิดบทความนี้ก่อนเลย

    เรากลัวจะทำให้หมดอรรถรสในการดูเหลือเกิน

    และมีการใส่ความคิดเห็นของเราเพิ่มเติมปะปนอยู่ด้วยนะคะ"



    เป็นหนังสัญชาติ 'อเมริกัน' ทำโดยสตูดิโออเมริกันอย่าง A24 ที่เล่าเรื่องราวของคนเกาหลีที่ย้ายไปตั้งรกรากที่อเมริกา ที่ต้องเผชิญหน้าความลำบากมากมายในการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ โดยที่พวกเขาก็ได้แต่หวังว่ามันจะดีกับครอบครัวของพวกเขา ทำให้ในหนังมีความเอเชียสูงมาก เป็นครอบครัวเอเชีย วัฒนธรรมเอเชีย ความคิดแบบเอเชียจ๋าๆในเรื่องครอบครัว จะสะท้อนภาพปิตาธิปไตยที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

    เพราะความใฝ่ฝันที่จะต้องการตั้งรกรากใหม่ ประกอบอาชีพมีธุรกิจเป็นของตัวเองเพื่อเป็นที่พึ่งพิงหลักให้กับครอบครัวเลยทำให้ เจค็อบตัดสินใจจะย้ายครอบครัวมาในที่ที่ดินดีที่สุดในอเมริกาเพื่อที่จะเริ่มทำสวนพืชผักเกาหลี ด้วยสังคมเอเชียและปิตาธิปไตยที่กดทับไว้ แม้กระทั่งในอเมริกาตรงนี้ก็ยังไม่ได้สลัดหลุดได้ง่ายๆ เหมือนที่เขาสอนเดวิดว่าผู้ชายต้องทำอะไรสักอย่างให้มีคุณค่า เพราะถ้าไม่งั้นก็จะโดนคัดทั้งเหมือนลูกเจี๊ยบตัวผู้ ที่ทำอะไรไม่ได้ เนื้อก็ไม่อร่อยอีกต่างหาก และนั่นทำให้เจค็อบรู้สึกกดดันเป็นอย่างมากในการที่ต้องทำสวนนี้ให้สำเร็จ เขาจะล้มเลิกกลางคันไม่ได้ เขาควรจะต้องทำมันสำเร็จ เพื่อให้ลูกเห็นภาพเขาที่ประสบความสำเร็จตรงนี้ และนั่นทำให้เขาพยายามกับไร่สวนจนละเลยกับความรู้สึกบางอย่างไป
    เจค็อบเป็นคนที่เต็มไปด้วยอีโก้แบบผู้ชายในสังคมเอเชีย ที่รู้สึกว่าเราต้องใช้เหตุผล ต้องมีความคิดวิทย์ๆ (โอ๊ย เหมือนพวกวิศวะเบียวๆอะนะ 55555) เลยทำให้เขาไม่ค่อยเชื่อในเรื่องของเซนส์ หรือความเชื่อเท่าไหร่ เห็นได้จาก ฉากหาน้ำ ที่จ้างคนมาหาน้ำ ที่เขาตัดสินใจจะหาเองจากทฤษฎีที่เขาคิดว่าเป็นไปได้มากกว่าพึ่งพาความเชี่ยวชาญที่ดูงงๆของคนในพื้นที่(เอาจริงๆเพราะมันต้องเสียเงินด้วยส่วนหนึ่ง) ในความคิดเห็นส่วนตัวของเรา คิดว่าน่าจะบอกถึงความคิดของเจค็อบได้ดี ว่าด้วยเป็นเอเชียนในดินแดนตะวันตก อาจจะต้องทำให้เขาต้องพยายามทำตัว globalize เพื่อให้สังคมยอมรับ

    เอาจริงๆ การที่เจค็อบตัดสินใจไม่เสียเงิินแต่หาน้ำด้วยตัวเองนี่โคตรจะเอเชีย (ชวนให้เราคิดถึงพ่อเรามากๆ 55555) มันเป็นความรู้สึกว่า เขาต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาทำได้ ทำไมจะต้องไปเสียเงินกับเรื่องพวกนี้ด้วย แบบเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย แต่จริงๆแล้ว น้ำมันคือรากฐานของการทำไร่ ซึ่งในที่นี้คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของครอบครัวอีเพราะฉะนั้น ถ้ามันเริ่มต้นแบบไม่มั่นคง ก็จะพบปัญหาตามมาดั่งที่เราจะได้พบเจอในเรื่อง และพอมันจบด้วยการจ้างคนในพื้นที่คนนั้นมาหาน้ำ เหมือนมันปลดล็อกในที่สุดอะ ว่าต่อจากนี้ไป ครอบครัวนี้จะเริ่มต้นแบบมั่นคงแล้ว

    ความสัมพันธ์ของเจค็อบกับโมนิก้าที่ดูเหมือนว่าจะระหองระแหงเนื่องด้วยความคิดที่ไม่ตรงกัน และเราว่าความปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมเอเชียมันกดทับทั้งคู่เอาไว้ เราจะได้เห็นผ่านไดอะล็อคเวลาที่เขาทั้งคู่มีปากเสียงกันและกัน เช่นการที่เจค็อบส่งเงินกลับบ้านในฐานะลูกชายของที่บ้าน เพื่อให้ที่บ้านสุขสบาย เพราะในฐานะลูกชายที่มาทำงานในต่างประเทศเจค็อบก็อาจจะโดนคาดหวังมากกว่า ไหนจะวัฒนธรรมครอบครัวสามีในสังคมเกาหลีอีก เรื่องนี้อาจจะไม่ได้สื่อแบบคิมจียองในแง่พบปะกับครอบครัวของเจค็อบ แต่เป็นในแง่ที่เจค็อบต้องดูแลที่บ้านในฐานะลูกชาย แต่ตัวโมนิก้าไม่เคยได้ส่งเงินให้แม่เลย

    แม้กระทั่งแนวคิดผู้นำครอบครัว ที่เจค็อบตัดสินใจเองคนเดียวที่จะย้ายมาทำรกรากที่นี่ ต้องทำฟาร์มสำเร็จ นู่นนี่ แต่ตัวโมนิก้าไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ รู้ตัวอีกทีก็เห็นบ้านที่ตั้งอยู่บนล้อซะแล้ว เอาจริงๆ เราว่าเราไม่ค่อยได้เห็นเจคอบตัดสินใจร่วมกับโมนิก้าสักเท่าไหร่ในเรื่อง มันเลยอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทั้งคู่ดูจะขัดแย้งกันไปตลอด เพราะจุดยืนที่ต่างกัน อย่างโมนิก้า รู้สึกให้ค่ากับคำว่าครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นตายร้ายดียังไงเราก็จะอยู่ด้วยกัน ไปพร้อมๆกัน เพราะในมุมมองของเจค็อบ ก็รู้สึกว่าเขาต้องประสบความสำเร็จเพื่อครอบครัว และตัวเขาจะได้เป็นแบบอย่างให้ลูก เป็นช้างเท้าหน้า ผู้นำครอบครัวประมาณนี้

    หรือในตอนที่เจค็อบตัดสินใจบอกโมนิก้าว่าจะแยกกันอยู่ก็ได้นะ เราว่ามันก็เป็นความนึกคิดที่มาจากเขาเพียงฝ่ายเดียว เวลาดูเลยสงสารที่โมนิก้าดูจะไม่ได้มีปากมีเสียงในบ้านเท่าไหร่นัก ในตอนท้ายๆที่เราได้เห็นเธอระเบิดอารมณ์ออกมาเราคิดว่ามันพอจะเข้าใจได้ เพราะในมุมมองของโมนิก้า อีโก้และความทะนงตัวที่จะเป็นผู้นำครอบครัวของเจค็อบมันดูจะบดบังความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นครอบครัว เรียนรู้ร่วมกันไป

     
    การย้ายเข้ามาที่ใหม่ที่อะไรๆก็ดูจะไม่ได้ดั่งใจเธอเหลือเกิน โมนิก้า อี หญิงสาวผู้รับบทบาทเป็นแม่ในครอบครัวอี รู้สึกไม่พอใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นว่าต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากความเจริญราวกับเป็นพื้นที่รกร้างทั้งที่ลูกของเธอเป็นโรคหัวใจ บนบ้านที่ตั้งอยู่บนล้อ แค่นั้นดูเหมือนจะยุ่งเหยิงไม่พอ พวกเธอยังคงเจอพายุทอร์นาโดตั้งแต่คืนแรกที่ย้ายเข้ามา ทำให้บ้านที่สร้างอยู่บนล้อดูจะไม่ปลอดภัยสำหรับสี่ชีวิตนี้ 
    เธอเป็นคุณแม่ที่เราจะพบได้ตามครอบครัวเอเชียจริงๆนั่นแหละ คุณแม่ผู้มองเห็นครอบครัวสำคัญที่หนึ่ง อยากจะทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวตั้งรกรากอย่างแข็งแรง ตอนที่เธอให้เดวิดขอพรจากพระเจ้าให้หายป่วยนี่คือให้ความรู้สึกนึกถึงแม่เรามาก (เนื่องจากว่าก่อนเขียนบทความนี้ประมาณอาทิตย์นึง แม่พาเราไปไหว้พระขอที่วัดดังมา เลยรู้สึกรีเลทเลย พอเขียนถึงเรื่องนี้ 55555) เราว่าโมนิก้าดูจะใช้ชีวิตเป็นไปตามขนบของผู้หญิงเอเชียในสังคมปิตาธิปไตยค่อนข้างมาก ทั้งหน้าที่ในการทำงานบ้าน การยกให้สามีตัดสินใจเรื่องสำคัญๆอย่างการย้ายถิ่นฐาน หรือจะเป็นการโหยหาคอมมูนิตีี้เอเชีย เพราะแม้ว่าจะไปโบสถ์แต่เพื่อนชาวเมกันก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกคอมฟอร์ทอยู่ดี

    แต่เราชอบมากการที่ตัวโมนิก้าเปิดใจรับความหวังดีของพอล เพื่อนร่วมงานที่ดูจะแปลกตาสักหน่อยของเจค็อบ ที่อาสามาช่วยเจิมบ้านเผื่อว่าจะไล่ภูติผี ปัดเป่าความโชคร้ายในบ้านออกไปได้ เราว่ามันยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่โมนิก้ามี priority เป็นครอบครัวอันดับหนึ่ง เรารู้สึกว่านี่โคตรจะสะท้อนความคุณแม่ในสังคมเอเชียเลย เธอผู้ยอมทำทุกอย่างให้ครอบครัวเจอแต่เรื่องดีๆ เราจะไม่ค่อยเห็นโมนิก้าพูดถึงความฝัน หรือความต้องการในแง่มุมที่เป็นตัวเองเท่าไหร่ ซึ่งเราว่านี่ก็เป็นอีกอย่าง สังคมเอเชียในหลายๆที่ดูจะผูกมัดความสำคัญของเราไว้กับครอบครัว มันเลยทำให้โมนิก้าดูจะเป็นคนแบบนั้น 


    ทั้งๆที่ตัวโมนิก้าจะดูเป็นผู้หญิงที่อยู่ในขนบของสังคมเอเชียค่อนข้างมาก แต่แม่ของเธอกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น อาจจะด้วยว่าเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียวมาตั้งแต่สามีตายหลังสงคราม และต้องใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายย้ายมาอยู่อเมริกาเพื่อดูลูกให้ลูกสาว เราค่อนข้างทำให้ตัวคุณยายซุนจาเป็นยายที่ดูจะไม่เป็นยายสักเท่าไหร่ในสายตาของหลานชายอย่างเดวิด ตัวของซุนจา เป็นคุณยายสุดเฟี้ยวที่ชวนหลานวัยไม่เกิน 15 เล่นไพ่นกกระจอก นั่งดูมวยปล้ำ ใส่การเกงในผู้ชาย อบคุกกี้ไม่ได้ ทำอาหารไม่เป็น (อิงจากบริบทในเรื่องที่ตัวละครบอก และเราไม่เห็นฉากตัวคุณยายทำอาหารเลยสักครั้ง)

    สำหรับเรา คุณยายซุนจาเหมือนถูกวางมาเป็นสร้างคอนฟลิกให้กับตัวละครในเรื่อง การเข้ามาของเธอดูจะเป็นปัญหาในหลายๆอย่าง โดยเฉพาะกับเดวิด แต่เมื่อเวลาผ่านไป และเรื่องราวต่างๆได้ดำเนิน ตัวละครตัวนี้ก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในท้ายที่สุด คุณยายซุนจาเป็นตัวละครสำคัญที่กลายเป็นที่พักพิงทางใจ เป็นน้ำใสไหลเย็นคอยปลอบประโลมใจให้กับคนในบ้าน เหมือนมาคอยสมานความสัมพันธ์ของคนในบ้านเข้าไว้ด้วยกันด้วยพลังบางอย่างที่เธอนำพามาจากเกาหลี มันอาจจะเป็นความเกาหลีในตัวเธอที่ทำให้คนในครอบครัวรู้สึกสบายใจ เหมือนได้เข้าใกล้แผ่นดินเกิดที่ไม่ได้กลับไปเยี่ยมเยียนเป็นเวลานาน

    เราชอบการที่สุดท้ายแล้วไม่มีใครโทษคุณยายเลย เราไม่ได้เห็นอาการหงุดหงิด หรือพูดถึงคุณยายในแง่ที่ไม่ดี กลับกันหนังยังทำให้เราเห็นภาพที่เจค็อบพาเดวิดไปเก็บมินาริที่คุณยายเอามาปลูกที่ข้างริมธาร ราวกับว่าน้อมรับความหวังดีของคุณยายที่หอบหิ้วมาฝากจากเกาหลีไว้ เป็นอะไรที่ชวนอบอุ่นหัวใจมาก 

    เดวิด ลูกชายคนสุดท้องที่ไม่เคยเลยที่จะไปเหยียบประเทศเกาหลี แต่นางเหม็นกลิ่นสาบเกาหลีของยายๆได้นะ 55555555 มีความอเมริกันที่สุดในบ้านแล้วนะเราว่า เป็นตัวละครที่ทั้งแสบสันจนอยากจะตี และชวนเอาใจช่วยให้น้องผ่านกับเรื่องราวร้ายๆไปเหมือนกัน ด้วยการที่ตัวเองป่วยเป็นโรคหัวใจ เลยทำให้ตัวน้องถูกจับจ้องตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ทั้งพ่อแม่ และพี่สาวที่เป็นห่วง ไม่อยากให้ทำอะไรหนักๆเพราะกลัวหัวใจจะหยุดเต้นด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรารู้สึกอึดอัดแทนเดวิดเข้าไปใหญ่ น้องถูกบีบบังคับให้ใช้ชีวิตในมุมมองที่พ่อแม่เห็นว่าควรจะเป็น มองว่าตัวเองอ่อนแอมาตลอดตามคำพูดของพ่อแม่ (อันนี้เป็นการตีความจากคนอื่น ---- ถ้าสังเกตในหนังจะใช้รองเท้าบูธเป็นการควบคุมพฤติกรรมของเดวิดในการเดินวิ่ง ซึ่งนั่นทำให้เราเห็นแล้วยิ่งรู้สึกว่าน้องเหมือนถูกจำกัดขีดความสามารถ และเป็นที่จับตามองของพ่อแม่อยู่ตลอดเลย)

    แต่เมื่อเจอคุณยายที่บอกกับเดวิดว่า 'เดวิดเป็น Strong boy นะ' แบบลองทำนั่นดูสิ ลองทำนี่ดู กลายเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ความสัมพันธ์ยายหลานดีขึ้นมากๆ คุณยายกลายเป็นคนมอบความเชื่อมั่นให้เดวิดจนในตอนสุดท้ายแล้วเดวิดก็เริ่มวิ่งจริงๆ แน่นอนว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะคลิเช่ และไม่ได้เกินคาดเราเท่าไหร่ แต่ด้วยโทนเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด มันทำให้เรารู็สึกคอมพลีทมากๆ ตอนได้เห็นเดวิดออกวิ่ง ราวกับว่ามันปลดล็อกทั้งเดวิด และคนดูแบบเราๆที่เอาใจช่วยตัวละครตัวนี้มาตลอด

    และตัวละครที่ดูจะจางมากในสายตาคนดูหลายคนอย่างแอนน์ เป็นตัวละครที่เราชอบมากอีกตัว คือเป็นตัวละครที่สะท้อนสังคมครอบครัวเอเชียจริงๆอะ ในฐานะพี่สาวคนโต ที่น้องชายป่วยเป็นโรคหัวใจ มันก็จะจางหน่อยๆแบบนี้แหละ สำหรับเราเขาเล่นเป็นแอนน์ออกมาได้มีเสน่ห์มาก โดยส่วนตัวเราชอบฉากที่ตัวแม่กับแอนน์คุยกัน ที่แม่ขอบคุณที่แอนน์คอยดูแลเดวิดมาตลอดในช่วงเวลาที่ที่บ้านวุ่นวายจนแม่กับพ่อไม่สามารถดูแลน้องได้ เรารู้สึกอบอุ่นหัวใจมาก ว่าอย่างน้อยๆที่บ้านก็ไม่ได้ทอดทิ้งความรู้สึกแอนน์
    ชอบการที่แอนน์ดูจะไม่เป็นปฎิปักษ์ต่อยาย แต่มันก็จะมีความไม่ลงรอยเล็กๆบางอย่าง ที่เหมือนเพราะเป็นคนละเจน และต่อให้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวเอเชีย แต่ตัวแอนน์ก็ยังเติบโตมาในอเมริกันมันก็จะยังมีคอนฟลิก หรือความเป็นเอเชียบางอย่างที่แอนน์ไม่เข้าใจยาย

    ความสัมพันธ์สองพี่น้องนี้น่ารักมากเลย มันมีดีเทลเล็กๆน้อยๆที่เราได้เห็นตัวละครสองตัวนี้แสดงออกมาที่มีความสนิทสนมเปิดใจคุยกันอยู่ในนั้น ในเรื่องราวความเป็นไปของครอบครัวพวกเธอ เช่นการย้ายกลับแคลิฟอร์เนีย หรือตั้งใจจะอยู่ต่อ หลายๆอย่างที่ทั้งคู่เอามาปรึกษากันไรงี้ เราว่าแอนน์ก็ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของน้อง แม้ว่าเธออาจจะดูจุกจิกหรืออะไรงี้ไปบ้างเพราะภาระที่ต้องดูแลน้องมันก็ใหญ่เกินตัวเธอเหมือนกัน

    ระหว่างสองคนนี้ นอกจากฉากสนทนากันเล็กๆเรื่องแล้ว ฉากที่เราชอบมากๆฉากหนึ่งคือฉากที่ลูกๆพยายามหยุดพ่อแม่ที่โต้เถียงกันอย่างหนักด้วยจรวดกระดาษที่เขียนว่า Don't Fight เราว่ามันเป็นกิมมิคที่น่ารักดี แบบว่าลูกๆในครอบครัวเอเชียก็ไม่ใช่เด็กๆที่จะกล้ามีปากมีเสียงกับพ่อแม่เท่าไหร่นัก แต่ก็ยังมีความแบบ เราพยายามจะบอกพวกคุณนะ เป็นการแก้ปัญหาในแบบของลูกๆ

    ชอบการพูดถึงศาสนาในเรื่องที่ใช้ศาสนาเพื่ออธิบายในการรวมตัวของกลุ่มคน หรือในแง่ของความศรัทธาก็ดี เราว่าการพูดถึงศาสนาในแง่ของการรวมตัวหรือพูดถึงการไปโบสถ์เพื่อทำความรู้จักกับคนได้น่าสนใจ แล้วเพื่อนที่ไปดูด้วยกัน ก็บอกออกมาเลยว่า เออตอนเข้าไปอยู่ที่นู้น มันก็ต้องรู้จักคนจากการเข้าโบสถ์จริงๆนั่นแหละ นอกจากเรื่องความสัมพันธ์จากโบสถ์แล้ว หนังยังพาเราไปตั้งคำถามเล็กๆเกี่ยวกับการที่คนในโบสถ์คริสต์เรียกคนแบบพอลที่แบกกางเขนไปทั่วในวันอาทิตย์ และพึมพำบทสวดอยู่เสมอๆว่านอกรีต ทั้งที่จริงๆแล้วเขาก็นับถือเยซูคริสต์มากเหมือนกัน สำหรับเรานั่นอาจจะทำให้พอลก็รู้สึกเป็นคนอื่นหรือเปล่านะ และอาจจะเป็นเหตุผลที่พอลดูจะเข้ากับครอบครัวที่ดูจะแปลกแยกจากคนอื่นอย่างครอบครัวอีได้ดี

    เราชอบบทเรื่องนี้มากกว่าที่คิดไว้อีกพอมานั่งตกตะกอนแล้ว เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจดีที่คำพูดหรือการกระทำที่ดูจะเรื่อยเปื่อยในเรื่องเป็นการบอกใบ้ถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้น่าสนใจ เช่นคำพูดที่ยายเป็นคนชวนให้เดวิดวิ่ง และในท้ายที่สุดเดวิดก็วิ่งเพื่อยายจริงๆหรือจะเป็นคำพูดที่ว่า
    'สิ่งที่อันตรายปรากฎให้เห็นดีกว่าหลบซ่อนไว้' แล้วคุณยายอยู่ดีๆก็ป่วยจนเข้าโรงพยาบาล เราชอบการที่เขาใช้ไดอะล็อคเพียงไม่กี่คำในการอธิบายสถานความสัมพันธ์ หรือพื้นเพของตัวละครในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

    สิ่งที่ผิดคาดนิดหน่อยคือการที่เราคาดหวังจะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวอีกับชาวเมกันในเมืองมากกว่านี้หน่อย แต่ก็คิดว่าพอจะเข้าใจได้ เพราะรู้สึกเป็นอื่นด้วยมั้ง ก็เลยเลือกจะอยู่ในพื้นที่เซฟโซนของตัวเอง และเนื่องด้วยทำธุรกิจเป็นการปลูกพืชผักเกาหลีก็ยิ่งทำให้ดูจะตัดโอกาสการปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นถิ่นไป  เหมือนฉากที่ไปโบสถ์ก็พบว่าทั้งตัวเจค็อบและโมนิก้าเลือกที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เยอะ ต่างจากลูกๆของพวกเขาที่เริ่มทำความรู้จักกับเด็กๆชาวเมกัน อาจจะด้วยการเติบโตที่ต่างกันด้วย ลูกๆอาจจะรู้สึกเป็นอื่นน้อยกว่าพ่อแม่ เพราะเขาเกิดและเติบโตที่นี่

    เราชอบเขาลำดับเรื่องแบบนี้มากๆ เริ่มจากการใส่อุปสรรคมากมายที่ครอบครัวต้องเผชิญในการตั้งรกรากใหม่ ทั้งการเจอทอร์นาโด การทำไร่ที่เต็มไปด้วยปัญหา แม้จะได้ผลผลิตแล้วร้านที่ดีลไว้ก็ยกเลิก แม่ที่มาจากเกาหลีก็ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษา ราวกับว่าจะมีความซวยเข้ามาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็ปิดท้ายไว้ด้วยความหวังที่สวยงาม

    เปรียบชีวิตของคนผลัดถิ่นชาวเอเชียนที่ไปตั้งรกรากในอเมริกันเป็นดั่งมินาริ ที่จะเบ่งบานเมื่ออยู๋ในที่ๆเหมาะสม ข้างๆแหล่งน้ำที่ดี และอดทนฝ่าฝันไปได้ (เราว่าการที่เริ่มต้นด้วยการหาน้ำของพระเอก ที่ตัดสินใจหาเองอาจจะเทียบเคียงกับอันนี้ก็ได้นะ แบบว่าถ้าเราหาแหล่งน้ำที่ถูกวิธีตั้งแต่แรกชีวิตมันก็คงมีทางไปที่งดงามกว่านี้ แต่ก็ทำครั้งแรกใครมันจะไปรู้กัน) สอดคล้องกับเพลงท่อนที่เดวิดร้องว่า MINARI MINARI WONDERFUL WONDERFUL อาจจะหมายถึงว่าการเป็นพืชพันธุ์แบบมินาริน่ะ มันสุดแสนจะวิเศษที่สุดแล้ว ราวกับจะปลอบประโลมคนที่ต้องเริ่มตั้งรกรากใหม่ในต่างแดนว่า สักวันหนึ่งจะเบ่งบานราวกับมินาริริมธารของคุณยายซุนจานะ

    ---------------------------------------
    เขียนบทความนี้ไป เปิดยุนสเตย์ไป หิว 55555555
    ถ้าเขียนตรงไหนอ่านไม่รู้เรื่อง หรือวกวนยังไงต้องขอโทษด้วยนะคะ
    เราจะปรับปรุงให้ดีขึ้นในบทความถัดๆไปนะคะ
    ขอบคุณมากเลยนะคะที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้
    ถ้าคิดเห็นอย่างไรทิ้งคอมเม้นท์หรือแวะไปพูดคุยกันในทวิตเตอร์ได้เลยนะคะ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Inging Ingchanok (@fb3879548542131)
เขียนดีมากเลยค่ะ เราไปดูมาแล้วรู้สึกชอบเรื่องนี้มาก มันมีความเรียบง่ายแต่ทำให้เห็นได้หลายอย่างมากเลยค่ะ
WATCHIES (@Watchies)
@fb3879548542131 ขอบคุณมากเลยค่ะที่อ่านจนจบ จริงค่ะ เป็นหนังที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มีนู้นนี่นั่นเต็มไปหมดเลยค่ะ