เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเล่า ตัวตน คนอื่นอ่าน-คิด-เขียน
เรื่องเล่า ตัวตน คนอื่น
  • "เรื่องเล่า ตัวตน คนอื่น"  เป็นคอลัมน์ที่รวบรวมงานเขียนในชั้นเรียนรายวิชา Thai Prose Writ  ศิลปะร้อยแก้วที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สอน  งานทุกชิ้นที่ทุกคนจะได้อ่านต่อไปนี้พัฒนาขึ้นจากกิจกรรมในชั้นเรียนที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อขึ้นตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม คือ เพื่อต้องการให้นิสิตในคลาสทุกคนสะท้อน "ตัวตน" ของตัวเองผ่านภาพและงานเขียนประกอบภาพหรือเรียกรวมๆ ว่า "เรื่องเล่า" ในหัวข้อที่เขาและเธอจับฉลากได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เด็กๆ ทุกได้เรียนรู้ที่จะเปิดใจรับฟัง "คนอื่น" ซึ่งในที่นี้คือเพื่อนร่วมชั้นเรียนและครู ว่ามีความรู้สึก ความคิดเห็น และมุมมองต่อภาพๆ นั้นอย่างไร  รวมถึงมีความคิดเห็นต่องานเขียนเรื่องประกอบภาพของกันและกันอย่างไร

    ไอเดียต้นเรื่องของกิจกรรมดังกล่าว มาจาก ไก่ ณฐพล บุญประกอบ  (โพสต์ต้นเรื่อง: https://goo.gl/kheFKB )  ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่แชร์เรื่องดีๆ จากคลาสของ ลัน เบอร์ลิเนอร์ คนทำหนังสารคดีแนวทดลองไว้ในเฟซบุ๊ค

    แน่นอนว่างานเขียนต่างจากงานภาพยนตร์และภาพนิ่ง  งานนี้ข้าพเจ้าจึงต้องปรับกันยกใหญ่  ทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายให้นิสิตได้เรียนรู้มุมมองที่หลากหลายจากเพื่อนได้อยากถึงแก่นของกิจกรรม  แน่นอนว่า outcome ของการเรียนรู้ต้องออกมาเป็นงานเขียน ที่แสดงให้เห็น "การผสานตัวตนเข้ากับคนอื่น"  ส่วนความคาดหวังของเราในฐานะครูก็คือการได้เห็นทุกคนในคลาส "แลกเปลี่ยนพูดคุย" 



    ความรู้สึกก่อนเข้าคลาสคือ กลัวๆ กล้าๆ  กลัวว่าจะเป๊ก ไม่สนุก แต่ก็รู้สึกว่าเออ...ท้าทายต้องลอง  เมื่อดีไซน์กิจกรรมประมาณหนึ่ง (จนคิดว่า "เอาวะ"! แล้ว)  ก็เลยให้เด็กๆ จับฉลากที่มีหัวข้อ "งาม" "น่าเกลียด" "น่าเบื่อ" "น่าสนใจ" และ "กลัว"  (เปลี่ยนจากสวยเป็น "งาม" และเพิ่ม "กลัว" เข้ามา)  

    เมื่อทั้ง 18 คน จับฉลากแล้วก็กำชับว่า ห้ามให้เพื่อนรู้ว่าตัวเองจับได้หัวข้ออะไร  แล้วให้ไปหาภาพจากเน็ตหรือถ่ายภาพอะไรมาก็ได้ที่เราคิดว่าเข้ากับหัวข้อนั้นๆ มา พร้อมเขียนอธิบายเหตุผลว่าทำไมเราถึงรู้สึกเช่นนั้นๆ กับภาพนั้นมาพอสังเขป แล้วให้ส่งอีเมลหาครู

    18 ภาพส่งมา ในหัวข้อ "งาม" "น่าเกลียด" "น่าเบื่อ" "น่าสนใจ" และ "กลัว
  • ในชั้นเรียน เราคงปกปิดต่อไป  ว่าใครส่งภาพไหนมา  เราเปิดภาพและถามความคิดเห็นของเพื่อนที่มีต่อภาพนั้นอย่างเสรี ไม่มีตีกรอบว่าเด็กต้องรู้สึกตามหัวข้อที่เราโยนให้นะ  เพราะไม่มีใครรู้ว่าหัวข้อทั้งหมดมีอะไรบ้าง  แรกๆ ก็ดูตะกุกตะกัก  แต่พอพุชให้พูดจนถึงจุดที่เราพอใจแล้ว  เราก็เฉลยว่าภาพนั้นส่งมาถึงเราในหัวข้ออะไร   เราเปิดงานเขียนให้อ่านไปพร้อมๆ กันพร้อมชื่อของเพื่อนที่ส่งผลงาน 

    เท่านั้นแหละ มันสนุกตรงที่เกิด "บทสนทนา" มากมายขึ้น และหลายกรณีเป็นในเชิง "ตรงกันข้าม" หรือ "สวนกระแส"  เช่นภาพ "สุนัขหมอบตรงบันไดบ้าน" ของ พิม พัสวี วงศ์ปิยะ ที่ส่งมา ทุกคนในห้องบอกว่ามัน "น่ารัก" มันดู "เหงา"  และ "น่าเอ็นดู"    แต่พอเฉลย พิมเขียนมาในหัวข้อ "น่าเบื่อ"  เพราะพิมเบื่อที่ต้องเก็บกวาดข้าวของและสิ่งมีชีวิตตัวน้อยซึ่งเป็นผลพวงจากความซนของเจ้าตูบ  ดังที่พิมเปิดเรื่องไว้ว่า


    "ปากกายาสีฟัน ตุ๊กตา หมอน รองเท้า หูฟัง สายปล่อยน้ำทิ้งของเครื่องซักผ้า แมลงสาบจิ้งจก หนู นกพิราบ งูเขียวพระอินทร์ ฉันนั่งนับสิ่งต่างๆที่สุนัขของฉันเคยกัด ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จริงๆ แล้วยังมีเยอะกว่านี้มากถ้าให้เล่าวีรกรรมว่าสุนัขของฉันเคยไปเล่นซนอะไรมาบ้างต่อให้เล่าเป็นวันก็คงไม่จบ ความเสียหายที่สุนัขของฉันก่อหากตีเป็นเงินก็น่าจะซัก4-5หลักได้ ส่วนพวกสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ถูกสุนัขของฉันฆ่าตายหากเป็นพวกแมลงสาบหรือหนูก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อฉันอยู่หรอก แต่พอนึกภาพของนกพิราบที่ถูกกระชากปีกแยกออกจากตัวทีไรฉันก็ได้แต่ภาวนาให้สุนัขของฉันซนน้อยลงสักหน่อย..."

    พิมเล่าเรื่องจากมุมมองของ "คนใน"บ้าน  ส่วนเรามองจากมุมมองของ "คนนอก" บ้าน  อย่างนี้เป็นต้น

    เสียดายที่เวลา 3 ชั่วโมงในชั้นน้อยไปหน่อยสำหรับกิจกรรมนี้   รารู้สึกว่า คุณสมบัติแรกที่คนเขียนหนังสือจะต้องมีคือรู้จักที่จะถ่ายทอดความคิดเห็นของตนเอง และรู้จักฟังความคิดเห็นของคนอื่นเพื่อเปิดหูเปิดตาตััวเองให้กว้างขึ้น     กิจกรรมนี้บรรลุเป้าหมายของเรามากประมาณนึง จึงค่อนข้างพอใจ (เอาให้จริงคือ "โล่งใจ" ) ที่เราปรับแล้วมันก็ออกมาพอใช้ได้

    กลายเป็นว่าภาพ 1 ภาพของเด็ก 1 คน ได้รับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนถึง 17 คน  

    จากกิจกรรมในชั้นเรียน  เราให้การบ้านเพื่อให้ทุกคน "ไปต่อ" โดยเขียนความเรียง หรือ เรื่องสั้น ต่อยอดจากภาพและเรื่องชิ้นเดิมที่เราเขียนมาส่งวันนี้ เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการของงานตัวเอง เช่น หัวข้อเดิมคือ “น่าเกลียด” เด็กส่งภาพตุ๊กแกมา ก็ให้กลับไปมองตุ๊กแกมาใหม่จาก "บทสนทนา" ต่างๆ ในวันนี้
    ให้ทุกคนออกแบบอย่างสร้างสรรค์ได้  "ผสานส่วนผสม" ทุกอย่างในชั้นเรียนเข้าด้วยกันได้อย่างอิสระ ทั้งความคิดเห็นของเพื่อนที่มีต่อภาพของเรา ความคิดเห็นของเราที่มีต่อภาพของเพื่อน และอื่นๆ นอกชั้นเรียน 

    ข้อแม้เดียวคือ ให้เล่าเรื่องจากมุมมองของ “คนอื่น” จะเป็นใครก็ได้ เช่นเล่าจากมุมมองของเพื่อนในห้อง (ถ้าได้จากคนเห็นตรงข้ามกับเราจะยิ่งเก๋ไก๋ แต่ถ้าไม่ได้แค่ต่างออกไปก็พอ) เล่าเรื่องจากมุมมองขององค์ประกอบอื่นๆ ในภาพก็ได้  สำคัญคือหาจุดยืนของการเขียนให้เจอว่าจะเล่าเรื่องผ่านใคร หรือใช้มุมมองแบบใด

    งานเขียนที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นผลงานของ "นักเรียนการเขียนเชิงสร้างสรรค์" ผู้รักการเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ประสบการณ์มีมากบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป แต่ก็ไม่ย่อท้อและมีความพยายามในการเขียนอย่างต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ครูอย่างข้าพเจ้า(โคตร)ภูมิใจ   

    แต่ละชิ้นมีผู้เขียนหลักเป็นเจ้าของงานเขียนก็จริง  แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า งานแต่ละชิ้นมีส่วนผสมของมิตรสหายทั้ง 18 คน (รวมถึงข้าพเจ้าในฐานะผู้สอน) รวมอยู่ในนั้น   สำหรับข้าพเจ้าความสมบูรณ์ของงานเขียนชุดนี้อยู่ที่การที่ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะผสานตัวตนเข้ากับผู้อื่น  แม้จะไม่ใช่งานเขียนที่ดีพร้อมด้วยมาตรฐานการเขียนที่มีชั้นเชิงมากมาย  แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับ "นัก (อยาก) เขียน" มือใหม่   หวังว่าท่านจะสนุกไปกับงานเขียนในคอลัมน์ "เรื่องเล่า ตัวตน คนอื่น"    ฝากติดตามได้ เร็วๆ นี้ค่ะ

    12 มีนาคม 2561
    หัตถกาญจน์ อารีศิลป (ครูน้ำ)
    ภาควิชาภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ


    **ลิขสิทธิ์งานเขียนและภาพถ่ายเป็นของผู้สร้างผลงาน**

    --------------------------

    ติดตามคอลัมน์ "เรื่องเล่า ตัวตน คนอื่น"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in