เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
yellowpagesiamyellow
วรรณกรรมเด็กในมุมผู้ใหญ่; วิเคราะห์เรื่อง 'เด็กชายกับต้นไม้ประหลาด'
  • วรรณกรรมเด็กที่ผู้ใหญ่แต่งให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อ่าน ในวรรณกรรมเด็กมักมีเรื่องราวหรือสัญญะซ่อนอยู่มากมาย แค่รอเวลาที่เราเติบโตและเข้าใจโลกมากขึ้น พอเรากลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิม เราจะได้อะไรที่ไม่เหมือนเดิม

    เรื่องย่อ เด็กชายกับต้นไม้ประหลาด เรื่องสั้นที่น่าสนใจในหนังสือเรื่อง “ร่องรอยเล็ก ๆ ในจักรวาล”

    เป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่ทีชื่อว่า ขลุ่ย เขาพิการโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับคุณพ่อ แม่เลี้ยง และน้องสาว ขลุ่ยโดนเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา อาจเป็นเพราะรูปร่างหน้าตาหรือความพิการของเขา และด้วยระดับสติปัญญาทำให้เขาต้องออกจากโรงเรียนมาตั้งแต่ตอนอายุสิบห้าขลุ่ยก็ใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยที่ครอบครัวไม่ได้สนใจใยดีอะไรเขามากนัก จนกระทั่งวันหนึ่งขลุ่ยไปเจอกับผลของต้นไม้ประหลาดเข้า ที่พอเขากินเข้าไปแล้วมีต้นไม้งอกออกมาจากภายในตัวเขาแล้วผลของมันก็สามารถนำไปขายทำกำไรให้กับครอบครัวของขลุ่ยได้ จากนั้นมาพ่อ แม่เลี้ยงและน้องสาวของขลุ่ยก็ต่างประคบประหงมดูแลขลุ่ยเป็นอย่างดีจนกระทั่งวันหนึ่ง ต้นไม้ที่งอกออกมาจากตัวเขาไม่ออกผล และไม่สามารถทำเงินให้กับครอบครัวเขาได้อีกต่อไปพ่อ แม่เลี้ยง และพี่สาวจึงตั้งใจกำจัดขลุ่ยทิ้ง เพื่อไม่ให้ต้นไม้ที่งอกออกมาจากตัวเขาทำให้พวกตนเดือดร้อน

    ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนตัวเรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ที่เนื้อเรื่องและตัวละครตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงแต่ก็มีเหตุการณ์บางอย่างที่เหนือจากความเป็นจริง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญะที่จะสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ

    ซึ่งประเด็นที่เรามองเห็นในเรื่องนี้ค่อนข้างหลากหลายและเสียดสีคนบางประเภทในสังคมโดยใช้ขลุ่ย และต้นไม้ประหลาดมาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องแทนการสื่อออกมาตรง ๆ 


    เด็กชายที่พบเจอต้นไม้ประหลาด

    เด็กชายที่รูปร่างหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่จนดูอัปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัวเหมือนเคราะห์กรรมแต่ปางก่อนยังตอบแทนไม่สาสม (น. 147)

     

    จริง ๆ แล้วขลุ่ยเป็นเด็กคนนึงที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางร่างกายและสติปัญญา (หรือเรียกว่าพิการ) และคนในครอบครัว ของขลุ่ยก็ปฏิบัติต่อเขาราวกับไม่ใช่คนในครอบครัว ราวกับเขาเป็นเพียงแค่สิ่งของที่เอาไว้ใช้ระบายอารมณ์ซึ่งเรามองว่าผู้เขียนต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวก็เปรียบกับคนในสังคมปัจจุบันที่ปฏิบัติตัวหรือมีชุดความคิดบางอย่างที่ทำให้ความพิการนี้กลายเป็นอื่น เช่น อาจจะมองความพิการในแง่ลบ มองว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือน่าสงสาร มองว่าความพิการคือความบกพร่อง ซึ่งหลายคนอาจจะกำลังตั้งคำถามว่าแล้วความพิการไม่ใช่ความบกพร่องยังไงส่วนตัวเรามองว่าความบกพร่องของคนพิการที่จริงแล้วมันเกิดจากการที่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของคนเหล่านี้ ถ้าสมมติว่าเมืองเมืองนึงที่รัฐบาลจัดการสร้างสิ่งที่อำนวยความสะดวกที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการคนเหล่านี้ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนปกติทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีความบกพร่องใด ๆ นั่นเอง

     นอกจากนี้ในวรรณกรรมเรื่องนี้ นักเขียนยังใช้ประโยคที่อธิบายความพิการว่าเหมือนเคราะห์กรรมแต่ปางก่อนยังตอบแทนไม่สาสม ซึ่งเป็นการมองความพิการในนัยยะแฝงที่ไม่ได้มองความพิการเป็นความผิดปกติของร่างกายจริง ๆ แต่กลับมองว่าความพิการนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย หรือบาปที่ติดตัวมานั่นเองซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังมีกรอบความคิดเกี่ยวกับความพิการแบบนี้อยู่

    เราคิดว่าคนเขียนอาจจะต้องการเขียนจุดนี้เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าความคิดนี้เป็นความคิดที่ค่อนข้างถูกผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนที่มีอายุหรือเชื่อในบาปกรรม ซึ่งความจริงแล้วความพิการก็แค่ความผิดปกติของร่างกายไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายอย่างเวรกรรมแต่อย่างใด

     

    เหตุการณ์ต้นไม้ประหลาด

    ขลุ่ยเข้าไปในสวนและได้ไปกินเม็ดผลไม้ประหลาดวันต่อมาขลุ่ยก็มีเถาไม้สีดำงอกออกมาจากปาก แต่ทว่าต้นไม้นั้นออกผลละขายได้กำไรงอกงามให้แก่ครอบครัวของเขา ระหว่างนั้นขลุ่ยก็เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดพ่อกับแม่เลี้ยงก็หันมาเอาใจใส่ดูแล (น.146)

     

    ขลุ่ยที่ไม่เคยได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัว เสมือนอยู่ตัวคนเดียวตั้งแต่แม่แท้ ๆ ของเขาตายไป เขาไม่เคยได้รับความอบอุ่นไม่เคยได้รับการเอาใจใส่ที่ดีเพราะความพิการและรูปลักษณ์ของเขาที่ครอบครัวรังเกียจ และมองว่ามันเป็นภาระแต่พอวันนึง ขลุ่ยมีเถาไม้ประหลาดออกมาจากปาก และทำประโยชน์ให้ครอบครัวได้ทุกคนกลับรัก และดูแลขลุ่ยเป็นอย่างดี ทั้ง ๆที่การมีเถาไม้ออกมาจากปากนั้นก็ถือว่าเป็นความแตกต่างเหมือนกันไม่ใช่หรือ? มันทำให้เรามองเห็นว่าความแตกต่างที่มีมูลค่ามันเพิ่มคุณค่า ให้กับตัวขลุ่ยมากขนาดไหนและทำให้ครอบครัวรักที่มูลค่าของเขา ต่างจากความพิการเดิมของขลุ่ย ที่ครอบครัวของเขามองว่ามันเป็นความแตกต่างที่เพิ่มภาระทำให้ขลุ่ยถูกรังเกียจ และถูกกีดกันออกจากสายสัมพันธ์ที่เรียกว่าครอบครัว ถ้าให้เปรียบกับคนในสังคมก็เปรียบเสมือนคนที่ประจบประแจงหรือเข้าหาคน ๆ นึง ทั้ง ๆ ที่ในใจลึก ๆ ก็อาจจะไม่ได้ชอบคน ๆ นั้นแต่เพราะผลประโยชน์ที่มีต่อตนเองก็เลยทำเช่นนั้น

     

    เมื่อต้นไม้ประหลาดถูกทำลาย

    พอถึงวันนึงที่ต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้ครอบครัวนี้แล้วนอกจากนั้นยังเพิ่มภาระและส่งผลเสียอีกมากมาย ครอบครัวก็หาทางทำลายมันทิ้งแต่ก็ไม่ได้ผล สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะฆ่าทั้งขลุ่ยและต้นไม้ไปพร้อมกัน

    บางทีต้นไม้ต้นนี้อาจจะแทนสิ่งที่คนพิการทำประโยชน์ให้ครอบครัวได้ เช่นสิทธิประโยชน์ที่ได้จากความพิการ,ความสามารถบางอย่างที่ใช้หาผลประโยชน์ให้กับครอบครัวแต่พอวันนึงต้นไม้ต้นนี้ไม่ออกผล ก็อาจจะเป็นสัญญะแทนความเจ็บป่วยของคนพิการที่นอกจากจะไม่สร้างประโยชน์แล้ว ยังทำให้คนในครอบครัวต้องมีภาระเพิ่มมากขึ้นซึ่งครอบครัวที่ไม่มีกำลังเงิน หรือกำลังในด้านต่าง ๆ มากพอ ก็อยากที่จะตัดภาระตรงนี้ทิ้งไปซึ่งผู้แต่งก็ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนว่าครอบครัวนี้ต้องการกำจัดภาระตรงนี้ทิ้งไปโดยที่ไม่สนใจว่าขลุ่ยจะต้องตายไปกับภาระนี้ด้วย

    ครอบครัว

    หลังจากที่ได้อ่านเรื่องนี้นอกจากจะเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้เขียนซ่อนไว้ในวรรณกรรมเด็กเรื่องนี้แล้ว ก็ยังเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วครอบครัวจริง ๆ มันคืออะไรกันแน่? คือคนที่อยู่บ้านเดียวกันคนที่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือคนที่มีความเป็นห่วงเป็นใยให้กันเสมอ ซึ่งครอบครัวของขลุ่ย ก็ยังเรียกตัวเองว่าครอบครัวอยู่แต่เรามองว่าการกระทำที่พวกเขามีต่อขลุ่ยมันไม่ใช่คำว่าครอบครัว มันก็อาจจะเป็นแค่คำเรียกในนาม แต่ไม่ได้ปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นครอบครัวจริง ๆ เพราะเราคิดว่า ครอบครัวที่แท้จริง จะไม่แสวงหาผลประโยชน์จากกันจะไม่ทำร้ายอีกฝ่ายเพียงเพราะเขาไม่สร้างผลประโยชน์ให้เรา

    แล้วทุกคนคิดว่าครอบครัวที่แท้จริง มันคืออะไรกันแน่?

     



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in