เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
yellowpagesiamyellow
สังคมไทยเปิดกว้างเรื่องเพศจริงหรอ?; วิเคราะห์ Love, Simon ในบริบทสังคมไทย
  • สังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ถูกมองว่าเป็นสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องเพศแต่ว่าจริง ๆ แล้วก็ยังมีชุดความคิดหรือทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจและไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

    ในบทความนี้เลยอยากที่จะนำเสนอเกี่ยวกับชุดความคิดที่บิดเบี้ยวและการกระทำบางอย่างที่ไม่ได้ตระหนักถึงความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่ของกลุ่ม LGBT ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อหวังให้เกิดการตระหนักและฉุกคิดในการกระทำบางอย่างของคนในสังคม ว่าอาจเป็นการลิดรอนสิทธิของกลุ่ม LGBT

    จากภาพยนตร์เรื่อง Love, Simon เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักของเพศที่สามในช่วงวัยรุ่นเรื่องแรก ๆ ที่บริษัทภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่จัดทำขึ้น และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและทำให้ฉุกคิดว่าหากภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยจะมีผลลัพธ์เป็นอย่างไรและมีวาทกรรมหรือชุดความคิดใดที่ถูกผลิตซ้ำจนทำให้เกิดการปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT แบบที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้

    •       เรื่องราวของตัวละครที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในภาพยนตร์เรื่องLove, Simon

    •       สังคมไทยที่คิดว่าเปิดกว้างทางด้านเพศแต่จริงๆ แล้วกลับมีเงื่อนไขบางอย่างที่จำกัดความหลากหลายทางเพศ

    •       คนในสังคมยังไม่เคารพในอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มLGBT และบางทีก็มองว่าอัตลักษณ์ทางเพศเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนไปได้หรือแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

    •       รากฐานที่ทำให้เกิดชุดความคิดที่เข้าใจผิดคือ แบบเรียนของไทยที่ปลูกฝังความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและ สื่อที่ถูกผลิตโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็น LGBT ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

    •     ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากกลุ่ม LGBT เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทย

     

    Love, Simon | อีเมลลับฉบับไซมอน - Official Trailer

    Love, Simon ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่ออกฉายในช่วงปี 2018 พูดถึงเรื่องการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครหลัก Simon Spier ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเปิดเผยเพราะถูกเพื่อนร่วมชั้น Martin ขู่ว่าจะนำบทสนทนาที่เขาคุยผ่านทางอีเมลกับ Blue นักเรียนที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในเว็บบอร์ดของโรงเรียน โดยที่ไม่เปิดเผยตัวตนมาเปิดเผยให้คนอื่นในโรงเรียนรู้ ส่งผลให้ Simon ต้องทำตามคำขอของเพื่อนซึ่งก็คือต้องช่วยให้ Martin ได้พูดคุยกับ Abby เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ถูกเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็ถูกพรากสิทธิที่จะเปิดเผยตัวตนด้วยตัวเองเพราะว่า Martin ที่ถูก Abby ปฏิเสธได้ทำการเผยแพร่ภาพบทสนทนาในอีเมลของ Simon ลงในเว็บบอร์ดโรงเรียน แต่ว่า Simon ก็สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้เพราะมีครอบครัว เพื่อน และคนรอบตัวที่เข้าใจเขา และเอาใจช่วยให้ผ่านเรื่องราวแย่ๆ มาได้

    ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนเข้าใจความหลากหลายทางเพศหรือ สิทธิในการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่ม LGBT มากขึ้น และนอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ LGBT เปิดเผยตัวเองต่อครอบครัวและสังคมที่ตัวเองอยู่ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ภาพยนตร์เสนอออกมาเป็นเพียงผลลัพธ์ด้านที่ประสบความสำเร็จ นั่นคือการที่คนรอบข้าง สังคมยอมรับและเปิดกว้าง แต่ทว่าก็มีกลุ่ม LGBTจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องเผชิญกับความขมขื่นและเจ็บปวดจากการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองกับครอบครัวหรือสังคม

    อย่างในประเทศไทยที่ดูเหมือนว่าจะเป็นสังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่พอเป็นคนในครอบครัวตัวเองที่กลายเป็นกลุ่ม LGBT ก็มีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่รับไม่ได้และต้องการให้ลูกหลานตัวเองมีเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงกับเพศกำเนิดมากกว่า นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมอีกมากมายที่ถูกผลิตซ้ำทำให้เกิดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กลุ่ม LGBTจะต้องปฏิบัติตามถึงจะได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสังคมไทย อาทิ เป็นเพศไหนก็ได้ขอแค่เป็นคนดี เป็นประโยคที่ผู้ใหญ่มักจะพูดกับลูกหลานที่เป็น LGBT คล้ายว่าจะยอมรับและเปิดกว้างเรื่องเพศแต่กลับเอาประโยคนี้มาพูดสร้างเป็นเงื่อนไขว่า การที่จะเป็น LGBT ได้ต้องเป็นคนดีเท่านั้นหรือในอีกแง่มุมหนึ่งคือ หากกลุ่มคนรักต่างเพศเป็นคนไม่ดีก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีเฉย ๆ แต่ว่าคนที่เป็นLGBTหากกลายเป็นคนไม่ดีจะถูกมองว่า เป็นตุ๊ด, เกย์, เลสเบี้ยน ฯลฯ แล้วยังเป็นคนไม่ดีอีก กลายเป็นว่าการที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้นเป็นสิ่งที่ทวีการกระทำที่เป็นความผิดของพวกเขาหรือ เป็น LGBT ได้แต่ต้องประสบความสำเร็จถึงจะได้รับการยอมรับ ซึ่งคนรักต่างเพศไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการประสบความสำเร็จก็ยังได้รับการยอมรับจากสังคม แต่พอเป็น LGBT กลับต้องประสบความสำเร็จถึงจะได้รับการยอมรับซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมและไม่ได้เปิดกว้างเรื่องเพศอย่างที่คนในสังคมเข้าใจไปเอง

    นอกจากการตั้งเงื่อนไขแล้วยังมีคนจำนวนมากในสังคมไทยที่เชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเช่นวาทกรรม เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ หรือ นิ้วเย็น ๆ จะสู้เอ็นอุ่น ๆ  ซึ่งเป็นชุดความคิดที่ค่อนข้างยึดโยงกับภาวะชายเป็นใหญ่ในความคิดที่ว่าต่อให้เป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง แต่ถ้าได้ลองคบกับผู้ชายก็ต้องกลับมาชอบผู้ชายอยู่แล้วเพราะว่า ผู้ชายดีกว่าผู้หญิง ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่ไม่ให้เกียรติและไม่เคารพในอัตลักษณ์ทางเพศของคนอื่น และคนในสังคมไทยกลับมองว่าคำพูดเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องล้อเล่น ไม่ควรเก็บมาจริงจัง ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ควรจะมีประโยคเหล่านี้ออกมาจากกลุ่มคนที่เข้าใจว่าตัวเองเปิดกว้างทางเพศด้วยซ้ำ นอกจากเรื่องคำพูดที่ไม่ให้เกียรติแล้วก็ยังมีผู้ใหญ่บางท่านที่มองว่าการที่ลูกหลานตัวเองเป็น LGBT เพียงเพราะตามกระแสสังคมหรือตามกลุ่มเพื่อน พอโตขึ้นก็จะกลับไปคบเพศตรงข้ามได้อยู่ดี ซึ่งมันคือการไม่เชื่อในการมีอยู่ของLGBT มองว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทำให้อัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ไม่ถูกมองเห็นและทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากความไม่เท่าเทียมต่อไปเรื่อย ๆ

    อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสังคมไทยยังไม่เข้าใจและเปิดกว้างเรื่องเพศ คือ เรื่องข่าวซุบซิบดาราที่เป็น LGBT การที่ดาราออกมาเปิดเผยตัวหรือคบเพศเดียวกัน มักจะกลายเป็นข่าวที่ฮือฮาในประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็ในเมืองหลวง ซึ่งการชอบเพศอะไร หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน ถ้าเป็นสังคมที่เปิดกว้างจริง ๆ เรื่องนี้จะกลายเป็นแค่เรื่องธรรมดาที่ทุกคนรับรู้ แต่ในประเทศเรากลับกลายเป็นข่าว และกลุ่มดารา LGBT ที่ตกเป็นข่าวมักจะโดนล้อ หรือโดนโจมตีด้วยความคิดเห็นที่ไม่ให้เกียรติเช่น สายเหลือง (และคำหยาบคายอีกมากมาย) ความคิดเห็นต่าง ๆ จากสังคมทำให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นตัวตลกหรืออาจจะไม่ได้รับโอกาสให้ทำงานในวงการอีก เพราะมีหลายบริษัทที่ไม่เปิดรับนักแสดงที่เป็น LGBT เพราะคนในสังคมจะติดภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ว่ามีแต่กะเทยหรือเกย์ ที่ต้องการเป็นหญิง มีท่าทางตุ้งติ้ง หรือหมกหมุ่นกับความต้องการทางเพศ ทำให้ผู้จัดทำสื่อบางคนกลัวว่าคนดูจะไม่อินไปกับบทบาทที่ตัวละครเล่นหรือ ตีความบทละครผิดแปลกไป ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่การเหมารวมกลุ่ม LGBT ว่าเป็นแบบนั้นทั้งหมด ทำให้อัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลในกลุ่ม LGBT ถูกกลืนหายไป และโดนมองว่าถ้าเป็น LGBT ต้องมีลักษณะนิสัยแบบนี้เท่านั้น นอกจากนี้การแสดงกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมันก็ไม่ได้ผูกโยงกันเลยแม้แต่น้อย ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ถ้ากลุ่มคนที่ไม่ได้เป็น LGBT สามารถเล่นบทกะเทย หรือเกย์ได้ แล้วทำไม LGBT ถึงเล่นบทผู้ชายที่ชอบผู้หญิงไม่ได้ ?

    นอกจากเรื่องซุบซิบดารา คนในสังคมยังชอบซุบซิบเรื่องของคนแปลกหน้าด้วย มีคนไทยจำนวนไม่น้อยมีนิสัยมองคนจากภายนอก อย่างคำทักทายของคนไทยยุคก่อน ๆ จะชอบทักทายว่า 

    ไปทำอะไรมาทำไมอ้วนจัง’ 

    ดำขึ้นหรือเปล่า

    ทำให้เวลาเจอผู้ชายที่ดูรักสะอาดหรือเจ้าสำอางก็มักจะเกิดการซุบซิบนินทาในหมู่เพื่อนว่า

    เขาเป็นไหม

    'เขาใช่...รึเปล่านะ

    ซึ่งมันคือการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของคนอื่นเราไม่มีความจำเป็นต้องรู้ว่าเขาเป็นเพศอะไร หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไรถ้าทุกเพศเท่าเทียมกันในสังคมไทยอย่างแท้จริงจะไม่เกิดการตั้งคำถามว่า เขาหรือเธอคนนี้เป็นเพศอะไรกันแน่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ส่งผลให้เกิดค่านิยมผู้ชายที่รักต่างเพศไม่ยอมดูแลตัวเองให้ดีเพราะกลัวว่าจะโดนนินทาว่าเป็น LGBT ซึ่งทำให้เกิดการฉุกคิดต่อ ว่าการโดนนินทาว่าเป็น LGBTมันเลวร้ายขนาดที่ว่าต้องยอมทำตัวไม่ให้ดูดีมากเกินไปเลยหรอ สุดท้ายแล้วคนในสังคมก็ยังมองว่าการเป็น LGBT คือตัวตลก เป็นเรื่องแปลก คนที่ไม่ได้เป็น LGBT จึงไม่อยากถูกมองแบบนั้น เลยนำไปสู่การกระทำที่ต้องแสดงออกว่ารังเกียจกลุ่ม LGBTเพื่อที่จะได้ไม่โดนมองว่าเป็น LGBTนอกจากนี้กลุ่ม LGBT บางคนก็อาจจะโดนรังเกียจหรือโดนกีดกันออกจากสังคมด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ไม่ใช่ลักษณะของสังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศเลย

    นอกจากนี้คำในภาษาไทยที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่เป็น LGBT ในประเทศไทยก็แสดงออกถึงความไม่เปิดกว้างอีกด้วย อย่างเช่น คำว่า เพศที่สาม ซึ่งนั่นหมายความว่า เพศชายเป็นหนึ่ง เพศหญิงเป็นสอง แล้วกลุ่ม LGBTเป็นกลุ่มที่อยู่ล่างสุดเป็นที่สาม นอกจากจะเป็นการกดให้กลุ่ม LGBT อยู่ต่ำกว่าเพศชายและหญิงแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงสังคมที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ซึ่งนำไปสู่การทวีคูณปัญหาชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) ในสังคมไทยที่กำลังเผชิญอยู่อีกด้วย หรือคำว่า กลุ่มคนที่เบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งเป็นคำที่ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง เพราะมันสื่อถึงความผิดปกติทางเพศหรือเป็นเพศที่แปลก ไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็น ซึ่งความจริงแล้วเรื่องเพศเป็นสิ่งที่หลากหลาย ไม่ควรมาจำกัดความว่าสิ่งไหนคือถูกหรือสิ่งไหนคือผิด เพราะทุกเพศ ก็คือเพศเพศหนึ่งเหมือนกัน


    รากฐานของปัญหาเหล่านี้เกิดจากการปลูกฝังชุดความคิดผิด ๆ ให้กับคนในสังคม ผ่านแบบเรียนของประเทศไทย ซึ่งในแบบเรียนของไทยมีการพูดถึงการเป็น LGBTว่าเป็นการเบี่ยงเบนทางเพศ และมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาและเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานของสังคมซึ่งแบบเรียนเหล่านี้นอกจากจะไม้ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBT และไม่ได้ก่อให้เกิดความคิดที่ตระหนักถึงปัญหาจริง ๆ แล้ว ยังทวีคูณภาพจำที่ทำให้คนในสังคมมองว่าการเป็น LGBTเป็นเรื่องผิดพลาด เป็นปัญหา และไม่เหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้กลุ่มคนที่เป็น LGBTถ้าได้เรียนในแบบเรียนเล่มนี้อาจจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าเป็นสิ่งที่แปลกและเป็นปัญหาในสังคมซึ่งตรรกะความคิดในแบบเรียนเหล่านี้ไม่สมควรนำมาสอนนักเรียนด้วยซ้ำแต่มันกลับถูกนำมาใช้สอนในโรงเรียนไทย

    นอกจากเรื่องแบบเรียนที่สร้างภาพจำหรือชุดความคิดที่ผิดเกี่ยวกับ LGBT แล้ว ยังมีสื่อในสังคมไทยที่สร้างภาพจำให้กับกลุ่ม LGBT เช่นการสร้างลักษณะตัวละครที่เป็น LGBT ในรูปแบบของกะเทยที่ตลกหรือเกย์ที่มีความต้องการทางเพศอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันเป็นการ Stereotype ทำให้สังคมเหมารวมพวกกลุ่มLGBT ว่าจะต้องมีแต่คนที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้ซึ่งในความเป็นจริง LGBT ก็เหมือนคนทั่ว ๆ ไปมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและที่สำคัญคือสื่อในสังคมไทยมักไม่นำเสนอภาพของกลุ่มหญิงรักหญิง (Lesbian) ทำให้เพศหญิงรักหญิงกลับไม่ถูกมองเห็นบางคนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่จริง ทำให้การเป็น LGBT ที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้ชายจะเป็นชายขอบในสังคมแล้ว การเป็น LGBT ที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงเลยกลายเป็นชายขอบในชายขอบมากกว่าเดิมอีก

    ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากกลุ่ม LGBT เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยที่ยังไม่เข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงมีดังนี้

    อย่างแรก คืออาจจะโดนล้อ ถูกมองว่าเป็นตัวตลก เป็นเรื่องแปลกหรืออาจโดนตั้งคำถามที่ไม่ให้เกียรติอัตลักษณ์ทางเพศของเขา เช่น คนมักล้อเลียนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่ม LGBT อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากสื่อด้วยส่วนหนึ่ง หรือถ้าเป็นคนดังก็อาจจะเป็นข่าว ซึ่งจริง ๆ เรื่องพวกนี้มันควรเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่เป็นเรื่องสนุกปากของคนในสังคม ถ้าหากเป็นคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่างชัดเจนอาจโดนปิดกั้นทางสังคม ยกตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้ว่าเป็นปัญหา คือเรื่องการเข้าห้องน้ำ ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำที่ตรงกับเพศสภาพหรือเพศกำเนิดคนในห้องน้ำก็อาจเกิดความอึดอัดหรือไม่สบายใจที่จะใช้ห้องน้ำร่วมกับกลุ่มคนเหล่านี้ แค่เรื่องห้องน้ำที่เป็นเรื่องธรรมดาในสังคม คนที่เป็น LGBTยังต้องเผชิญกับความยากลำบากตรงนี้ นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่กลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อขอใบรับรองอาการผิดปกติทางเพศมาใช้ในการยื่นเอกสารบางอย่าง ซึ่งถ้าสังคมไทยหรือหน่วยงานต่าง ๆ มองว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกก็ไม่จำเป็นต้องไปขอใบรับรองจากจิตแพทย์นอกจากนี้ยังมีคนบางกลุ่มที่มองว่าการเป็น LGBTมันคือความผิดปกติทางจิตที่สามารถรักษาได้ด้วยการพาไปหาจิตแพทย์ แต่การเป็น LGBTนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นเพียงแค่เพศเพศหนึ่งเท่านั้น

    จากที่กล่าวมาไม่ได้จะเหมารวมว่าทุกคนในสังคมไทยไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและไม่ตระหนักถึงปัญหาทุกคน เพียงแต่ต้องการให้คนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ได้ฉุกคิดและพิจารณาการกระทำของตัวเองมากขึ้น เพื่อรักษาและเยียวยาความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่ของกลุ่มคนที่เป็น LGBT ในประเทศไทยเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาก็มีคุณค่าเท่ากับเพศชายและหญิงและสมควรที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานทุกอย่างในฐานะที่เป็นประชากรของประเทศนี้และหวังว่าวันนึงสังคมไทยของเราจะเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงและตระหนักถึงปัญหาในสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดเห็นจากเราเท่านั้น ถ้าหากว่ามีข้อผิดพลาดสามารถติชมได้เลยนะคะ หวังว่าทุกคนจะเอนจอยกับบทความนะคะ :)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in