เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เกือบจะเป็นบทความ--และเกือบจะลามเป็นเพ้อเจ้อ...imonkey7th
1Q84 : อาโอมาเมะ : การเอาคืนของหญิงสาวบนโลกพระจันทร์สองดวง
  • เหมือนมีใครเอาค้อนเหล็กกล้ามาทุบความเป็นชายให้สูญสิ้น การทำลายทิ้งซึ่งขนบ ศีลธรรม และความเป็นผู้นำของเผ่าพันธุ์ชาวดาวอังคาร

    ข้อความด้านบนคือคำจำกัดความของผมที่กลั่นออกมาหลังจากการอ่าน 1Q84 เล่มแรกจบไป ยังเหลืออีกสองเล่ม แต่มันเก็บไว้ไม่ไหวเลยขอมาระบายออกจากความคิดก่อน
     
    เกริ่นไว้ก่อนนะครับว่าบทความนี้มีเนื้อหาบางส่วนของนวนิยายเรื่อง 1Q84 ของ มูราคามิ โดยเฉพาะพฤติกรรมของนางเอก "อาโอมาเมะ" ที่กระโดดออกจากหนังสือมากระทืบความเชื่อ ความดีงามที่ปลูกฝังผมมา แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมเพราะพึ่งอ่านแค่เล่มเดียว บทความนี้มุ่งเน้นไปที่ความคิดของตัวละคร การกระทำ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ที่สัมผัสได้ 
    การเอาคืนของหญิงสาวบนโลกพระจันทร์สองดวง

        เรื่องย่อของนิยายเรื่องนี้ คือ ตัวละครสองเส้น(ตามแบบฉบับของเฮีย) เดินทางไป เติบโตไป โดยมีผู้หญิงคือ "อาโอมาเมะ" และ ผู้ชายคือ "เทงโก๊ะ" ที่ทั้งคู่อาศัยอยู่ในโลก(ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นดวงเดียวกันหรือไม่) ตามหาบางสิ่ง และทำบางสิ่งสูญหาย เรื่องค่อย ๆ เผยตัวตนของตัวละคร ภาระกิจต่าง ๆ ที่ต้องทำ โดยฝ่ายผญิงเป็นครูสอนฟิตเนสกึ่งนักฆ่า ที่คอยเก็บพวกผู้ชายที่มีพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว ส่วนผู้ชายเป็นครูกวดวิชา คณิตศาสตร์และนักเขียน มีจุดเชื่อมโยงกันโดยกลุ่ม "ซาคิงาเคะ" ที่ตัวละครต้องสืบหาว่าเป็นองกรณ์อะไร และ "ลิตเติ้ลพีเพิ้ล" 

         - แก้แค้น - 

         อาโอมาเมะ หญิงที่เริ่มต้นมาก็ออกล่าผู้ชาย ใช่ครับล่าผู้ชาย ในบทแรกเป็นการเกริ่นนำนิดหน่อยก่อนเข้าเนื้อที่ที่เธอไปฆาตกรรมชายหนุ่มคนนึงโดยใช้อาวุธที่เธอทำขึ้นมาเอง การตายจะไร้ร่องรอยดุจดังหัวใจวายตาย อาโอมาเมะจัดการมาแล้วสอง สามคน โดยผู้ตายมีลักษณะที่คล้ายกันคือ มีหน้าตาดี สังคมดี มีภูมิ ฐานะดี ความรู้ดี แต่มีความรุนแรงในครอบครัว หมายถึงการทำทารุณกรรมภรรยาตัวเองนั้นเอง      แรงผลักดันที่อาโอมาเมะออกมาเคลื่อนไหวก็คือการสูญเสียเพื่อนรักคนเดียวไปกับผู้ชายที่ทำร้ายภรรยาอย่างทารุณ เพื่อนของเธอต้องทนทุกข์กับการข่มเหงทั้งร่างกายและจิตใจ จนทนไม่ได้และฆ่าตัวตายในที่สุด ระบอบกฏหมายไม่สามารถทำอะไรได้ เธอทนไม่ได้จึงต้องพัฒนาวิธีการแก้แค้นและลุกขึ้นมาเอาคืน      ตอนแรกผมคิดแค่ว่าเป็นนิยายที่ซ่อนความรุนแรงที่มีต่อสตรีเพศไว้ แต่เมื่อวิเคราะห์ลึก ๆ แล้ว มันคือการแก้แค้นต่อความรุนแรงทั้งหมดที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง ในเรื่องจะตอกย้ำความรุนแรงเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ครองโลกมานาน และมันนานเกินไปจนต้องมีคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง 
        การฆ่าของอาโอมาเมะไม่ได้ก่อเกิดความรู้สึกบาปใด ๆ ผู้ชายไม่สามารถป้องกันตนเองได้และไร้การสืบสาวถึงผู้กระทำ และมีการรวมกลุ่มก้อนของผู้หญิงที่ต้องการเปลี่ยนแปลง


    -- เกร็ดเพิ่มเติม--

       หลายคนเมื่อฟังเรื่องความรุณแรงและทารุณกรรมในครอบครัว อาจนึกไปถึงเรื่องของ ซาดิสม์ และ โซมาคิสม์ (S/M) ซึ่งความหมายเกือบจะคล้ายกัน ผมขอยกตัวอย่างข้อแตกต่างระหว่างความรุนแรงทารุณกรรม กับ S/M ให้ชัดเจนแบบไม่ลงลึกมากเพื่อให้ได้เข้าใจว่า มันทำให้เจ็บเหมือนกัน แต่ มันให้ผลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

    S/M -เป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้
    ทารุณทางเพศ -ควบคุมไม่ได้

    S/M -มีการพูดคุยว่าจะเล่น"เกมส์"นี้ยังไง หนักหน่วงแค่ไหนและมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
    ทารุณทางเพศ -เกิดจากความต้องการของฝ่ายเดียว

    S/M -มี Safety Word เพื่อหยุดการกระทำที่รุณแรงเกินไป
    ทารุณทางเพศ -ไม่หยุดจนกว่าฝ่ายควบคุมจะพอใจ

    S/M -มีความระมัดระวังสูง สังเกตอารมณ์ร่วม
    ทารุณทางเพศ -ไม่มีการระแวดระวังใด ๆ

    S/M -ไม่ค่อยมีแอลกฮอร์หรือสารเสพติดมาเกี่ยวข้อง 
    ทารุณทางเพศ -เกิดจากสารเสพติดเป็นปัจจัย

    S/M -เสร็จกิจแล้วรู้สึกดี 
    ทารุณทางเพศ -มันคือรอยด่างในจิตใจ



    -การล่าแบบที่สอง-
       หลังจากเสร็จภาระกิจ อาโอมาเมะจะออกไปที่ผับ หาผู้ชายสักคนมานอนด้วย โอ้ว ความจริงไม่ใช่แค่เสร็จจากการฆ่าคน แต่ถ้าเธอเบื่อเธอก็จะชวนคู่หูออกไปล่าผู้ชายที่ต้องการ กฏของเธอคือ มีอะไรครั้งเดียว ป้องกันอย่างดีที่สุด แล้วเลือนหายไป ไม่มีแม้แต่ความทรงจำ     มันแสดงถึงการประกาศว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องโอนอ่อนตามผู้ชายอีกต่อไป ผู้ชายกลายเป็นวัตถุที่หาเมื่อไหร่ก็ได้ และไม่มีค่าพอแม้แต่จดจำ เหมือน ดิลโด้ที่ให้สำเร็จความใคร่และจางหายเมื่อชำระล้างเสร็จ 

        แล้วผู้ชายแบบไหนที่อาโอมาเมะเลือก?    ไม่ใช่แบบที่คุณคิดแน่ ๆ คนที่เธอเลือกคือ ชายหัวล้าน วัยกลางคน ผมกร่อน แต่รูปหัวสวย สะอาด มีรสนิยม ไม่จำเป็นต้องโสด (เพราะใช้แล้วทิ้ง) เธอจะเข้าไปหา พูดคุยแบบตรง ๆ ว่าต้องการ เมื่อเสร็จกิจแล้ว จากกัน ประกาศแบบโต้ง ๆ ไม่ชอบคำพูดที่ดูฉลาดมากมาย ไร้ค่าเสียเวลา ไม่ชอบคำกล่าวอ้างโอ้อวดอันไร้สาระและน่าเบื่อ เพราะท้ายสุดยังไงเธอคือผู้เลือกว่าจะไปด้วยหรืิอไม่    โอ้วววว   เรื่องนี้ เหมือนการลุกขึ้นมาตบหน้าผู้ชายที่พยายามทำตัวให้ดูดีมีคลาส ตอกกลับด้วยคำว่า "มึงคือวัตถุ มึงไม่ได้ฉลาดและแข็งแรงพอที่จะให้ผู้หญิงอย่างฉันก้มหัว" เธอก้าวออกจากกฏเกณฑ์ที่ผู้หญิงต้องสงบเสงี่ยม ไม่พูดคุยเรื่องเพศ และรอการเลือกจากผู้ชาย อาโอมาเมะคือผู้หญิงที่เป็นผู้ล่าอย่างสมบูรณ์แบบ ตามหาอาณาเขต ดูแล ปกครอง และ ร่วมรักเมื่อต้องการแค่นั้น ไม่มีค่ามากกว่านั้น

    -ศีลธรรม ความงามที่เน่าเฟะของทัศนคติที่ไม่มีอยู่จริง-     
    ความต้องการลึก ๆ ของจิตใจมนุษย์ทุกคน คือการสังวาสกับคนแปลกหน้า และลาจากแบบไร้ความผูกพันธ์
          
    จากเรื่องที่ผมเขียนมาข้างต้น คนที่ไม่เคยสัมผัสนิยายเรื่องนี้อาจคิดว่า ผู้หญิงอะไร ไร้ศีลธรรม และต่ำทรามเช่นนี้     

    ผมก็คนนึงที่ขยะแขยงในตอนแรกที่อ่าน แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ในเรื่องก็ไม่ได้ทำให้อาโอมเมะ "เลว" อย่างที่คิด เพียงแต่เธอกล้าเปิดเผยความต้องการของเธอเอง         

    เรื่องถูกผูกให้เธอรักผู้ชายคนเดียวในตอนเด็ก(น่าจะเป็นเทงโก๊ะ ที่ใช้คำว่าน่าจะเพราะคุณจะเดาอะไรไม่ได้ในนิยายของเฮีย และผมก็ยังอ่านไม่จบ) แต่บางอย่างทำให้เธอหายไปจากเขา เธอจึงเก็บความรักไว้ให้ผู้ชายคนนี้ เธอไม่พยายตามหา คิดแค่ว่าหากบังเอิญเจอกันในรถไฟ เธอจะเข้าไปบอก ( โรแมนติคแปลก ๆ )       

    แต่สิ่งที่เธอกระทำมันสวนทางอะสิ เธอไปมีสัมพันธ์แบบเรี่ยราดเมื่อเธอต้องการ แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเป็นความรักได้ไง 

        ตรงนี้แหละที่ผมอยากกล่าวถึง นิยายเรื่องนี้ได้ขุดความดีงามที่อยู่ในจิตสำนึกของคุณมาตีให้กระจุย ตั้งคำถามว่า ศีลธรรมกับความต้องการคืออะไร เมื่อผู้หญิงต้องการก็แค่ออกไปหา เมื่อจบแล้วก่็จาก ไม่มากกว่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้มันก็ความคิดของผู้ชาย(บางส่วน)ที่มักบอกกับผู้หญิงว่า ไม่มีอะไร ไม่ใช่ไม่รักเธอ แต่แค่ไปนอนกับคนอื่นเท่านั้นเอง 

        นิยายแสดงออกถึงความรัก กับ การกระทำที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยง ไม่ต้องอยู่บนรากฐานอะไรทั้งนั้น เดินไปที่ ๆ ตนเองต้องการ เหมือนกับอยากกินอะไรก็แค่เดินไปสั่งกิน แค่นั้นเอง   แต่เหนือกว่านั้นเธอก็มีความสามารถแยกความรักออกจากสิ่งที่เธอทำ    แม้จะมีคำถาม(จากผม) ว่าที่เธอทำเช่นนี้มันเหมาะสมแล้วเหรอ ผู้ชายยังต้องการผู้หญิงเช่นนี้อยู่เหรอ แต่เมื่อมาคิด แยกแยะจริง ๆ แล้ว ความคิดเชิงหยามผู้หญิงแบบนี้ มันก็คือการกดขี่สตรีเพศดี ๆ นี้เอง ว่าต้องเป็นอย่างไร ทำอะไร แล้วผลสุดท้าย ไม่ว่าคนที่เธอรอจะเลือกเธอหรือไม่ เธอก็ไม่จำเป็นต้องแคร์อะไร 
         ทีนี้ ผมว่าเราต้องมีนิยามคำว่าศีลธรรมกันใหม่แล้วว่า เมื่อจะนิยามอะไรออกมา มันมีความต้องการของทุกฝ่ายรวมอยู่หรือไม่ หรือก่อเกิดแค่จากกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่มีอำนาจในการชี้ว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร


          ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่สื่อให้รู้ว่านิยายเรื่องนี้เป็นการมอบอำนาจคืนสู่ผู้หญิง เช่น 

    -แฟนที่เทงโก๊ะคบอยู่ตอนนี้ก็เป็นภรรยาคนอื่น เมื่อเจอกันก็แค่ มีอะไรกัน โดยมีการควบคุมจากฝ่ายหญิงมากกว่า และเทงโก๊ะก็สบายใจที่เป็นเช่นนั้น-เทงโก๊ะแปลงนิยายของเด็กสาว 17 ปี ที่มีเรื่องน่าติดตามเพียงแต่ภาษาไม่ดี เทงโก๊ะเลยรับหน้าที่เขียนใหม่ แต่ก็เคลือบด้วยความเจ็บปวดกับความจริงที่ว่า เขาไม่มีปัญญาสร้างเรื่องแบบนี้ได้เลย

         นี้คือสิ่งที่ผมเห็นในนิยายเรื่องนี้ในเล่มแรก จากทั้งหมด สามเล่มเหลืออีกสองหากผมได้อะไรคงได้มากล่าวให้ฟังอีกในบทต่อๆไป      ทั้งนี้ที่ผมเขียนมาทั้งหมดก็คงต้องยืนยันว่ามาจากความคิดของผมคนเดียว ไม่อาจนำมาเป็นไม้บรรทัดวัดอะไรได้เลย    
    -  หากโลกที่มีดวงจันทร์ลอยแจ่มอยู่ตอนนี้เป็นของผู้ชายที่ครอบครอง

    - โลกสองพระจันทร์ที่ มูราคามิ สร้างขึ้นก็อาจเป็นการเอาคืนอย่างสาสมของอิสตรีเพศนั่นเอง   


    ลิง
    19.00
    4.4.16
     

     ขอบคุณบางแนวคิดจาก : เรื่องรักในบางเรา (โตมร ศุขปรีชา)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in