“ครูครับ เมื่อวานป้าอกูลิน่าถูกจับข้อหาขายวอดก้าไม่จ่ายภาษี มีคนบอกว่าพระเจ้าซาร์ก็ขายวอดก้า แล้วทำไมป้ากกูลิน่าถูกจับคนเดียวครับ” เด็กน้อยยกมือถามกลางชั้นเรียน
“อย่าโง่น่า พระเจ้าซาร์เป็นกษัตริย์ ทรงไม่ขายอะไรทั้งนั้น ที่ป้าเธอโดนจับเพราะไม่จ่ายภาษี ทำให้ประเทศขาดรายได้ “ ครูตอบเด็กอย่างใจเย็น
“ขาดอย่างไร?”
“ตามกฏหมายแล้วการขายวอดก้าต้องเสียภาษี ไง”
“หมายความว่าถ้าคนกินวอดก้าเยอะ ประเทศก็ได้ภาษีเยอะ”เด็กซัก
“ใช่จ๊ะ พระเจ้าซาร์ก็นำเงินภาษีไปบำรุงกองทัพและการศึกษา”
“ถ้าพระเจ้าซาร์อยากได้เงินไปให้กองทัพ ทำไมไม่เรียกเก็บโดยตรงละครับ ทำไมต้องไปเรียกเก็บจากวอดก้าด้วย”
“ทำไมนะเหรอ ก็เพราะกฏหมายระบุนะสิ ! พวกเธอเปิดบทเรียนได้แล้วอย่าถามมาก” บทละครข้างต้นเป็นผมคัดย่อแปลงมาจากบทละครของ ลีโอ ตอลสตอย ที่เขียนไว้เมื่อสักร้อยปีที่แล้ว( พฤษจิกายน 1910) สะท้อนการใช้ชีวิตของผู้คนและเสียดสีการปลูกฝังเด็ก เป็นไง
“เหตุผลดี ๆ ที่ผู้ใหญ่ใช้กับเด็กเวลาตอบคำถามไม่ได้”
การเติบโตที่ต่างยุคของเรากับลูกหลาน การเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนกัน และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง แต่มีสิ่งที่หล่อหลอมเราและมีส่วนสำคัญกับการเติบโตของเราที่ผมคิดว่าคล้ายกันคือ
วัฒนธรรมและระบบการศึกษา
โอ้ว ผมไม่ได้มาวิเคราะห์ ฉีกกระชาก หรือมาชำแหละอะไรหรอก ผมไม่ได้มีความคิดวิเคราะห์ที่ดีเยี่ยมอะไรเยี่ยงนั้น เพียงแต่มาเล่าให้ฟังละกันว่าผมเติบโตมาด้วยการเรียนแบบไหน อะไรที่คิดว่ามันแปลก และอะไรที่ยังไม่เข้าใจเหตุผล
เชื่อ กับ ฟัง
เริ่มจากรากฐานการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จของเราก่อนผมคิดว่า วัฒนธรรม คือพื้นฐานการเรียนของเรา วัฒนธรรมไทยที่ถูกพร่ำสอนกันนั้น มีแก่นสำคัญอย่างนึงคือเราต้องมีความเป็นผู้เคารพผู้อาวุโส สังคมเราใช้คำว่า เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งมันหมายถึง เมื่อผู้ใหญ่ บอก พูด เราต้องฟังไปพร้อมกับเชื่อ ไม่โต้แย้ง เถียง หรือตั้งคำถาม
เด็กที่ติดเถียงคือเด็กไม่ดี เด็กที่ไหนอยากเป็นเด็กดีบ้าง ยกมือขึ้น ! นั่นแน เป็นเด็กดีทุกคนเลย
คุณฮิวโก้ วง สิบล้อ สุดเซอร์ไฮโซ ตอนเด็ก ๆหลังกลับมาจากเมืองนอก เคยสงสัยและ ถามกับนักเขียนท่านนึงว่า ทำไมคนไทยใช้คำว่า เชื่อฟัง แต่ฝรั่งใช้คำว่า เชื่อ แยกกันกับคำว่า ฟัง น่าคิดนะครับ
งั้นเรามาดู"ราก"ของวัฒนธรรมเรากันก่อน เมืองไทยเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ใช่ไหมครับ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ตามที่เราเคยได้ยินกันมา ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนเมืองนอก เหมือนฝรั่งหรือญี่ปุ่นมากนัก คนไทยไม่ต้องตรากรำลำบากกับภัยธรรมชาติ อยู่เฉย ๆ ก็ไม่อดตาย ความเกียจคร้านซึมอยู่ลึก ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้คนไทยเลยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวเพราะลูกคิดว่าอยู่กับพ่อแม่ดีกว่าสบายกว่า พ่อแม่ก็คิดว่าลูกอยู่ด้วยก็ดีสบายเหมือนกัน ผิดกับญี่ปุ่นหรือฝรั่งที่ที่ต้องแยกตัวออกไปเพราะพ่อ แม่ต้องการให้ออกไปเผชิญโลก เอง และเป็นที่น่ารังเกียจมากหากถูกด่าว่า “ลูกแหง่”
สังเกตอย่างชัดเจนได้ว่าเมื่อมีชาวต่างชาติมาอยู่ เช่น จีน เวียดนาม คนกลุ่มนี้ขยัน หนีภัยมา สู้ชีวิต มาอยู่เมืองไทยไม่นานรวยเอาๆ คนเจ้าที่อย่างพวกเรากลับมอง นั่งดูถูกและปล่อยให้เขาก้าวข้ามเราไป
เออ ก็จริง แล้วเกี่ยวอะไรกันเล่ามาซะยาวเหยียด ผมคิดว่าเกี่ยวนะ เพราะว่าเมื่อเราอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันอย่างอบอุ่น วัฒนธรรมการ “เชื่อฟัง” จึงกำเนิดเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ทั้งใช้สอน อบรม หรือแม้กระทั่งใช่บังคับและกำจัดสิ่งที่ไม่ชอบในตัวเด็ก ๆ ด้วยซึ่งเอาเข้าจริง คำสอนบางอย่างผู้ใหญ่บางคนไม่เคยประสบพบเอง แต่ก็ดันหยิบยกเอามาสอนต่อแบบไม่เข้าใจ หรือสอนแบบความหมายผิดเพี้ยนไปมากมาย
โอ้ว เริ่มเห็นภาพใช่ไหมครับ หมายความว่าวัฒนธรรมเหล่านี้เริ่มกำเนิด กลายเป็นนิสัย สันดาน ความเชื่อและสุดท้ายก็ส่งต่อ ๆ กันอย่างไม่รู้ตัว จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ใหญ่บอก เราเกือบจะหมดสิทธิ์ถาม ถ้าผู้ใหญ่มีเหตุผลให้หรือสอนด้วยประสบการณ์ที่จริงก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ หรือสอนแบบตามๆ กันมาก็ก้มหน้าก้มตารับคำสั่งต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงต้องอยู่ในวัฏจักรการเชื่อฟัง และเก็บมาส่งต่อ ต่อไปอยู่ดี
ภาษาไทย
มาถึงการเรียนของเราบ้าง เราเติบโตมาจากการเรียนแบบไหนกันนะ มาฉีกรากการเรียนกันออกมาบ้างดีกว่านะครับ เริ่มจาก"ภาษาไทย"
ภาษาไทยเป็นภาษาพูดมากกว่าจะเป็นภาษาเขียน สังเกตได้จากความไพเราะ สำนวน การคล้องจองที่เหมาะสำหรับอ่านให้ฟัง ขับร้อง คนไทยสืบต่อเรื่องราวโดยการพูดให้ฟังมากกว่าเขียนให้อ่าน ดูง่ายๆ เฮีย ส. ที่ต้องหายไปจากสื่อไทย แกดังมาจากอะไร ก็มาจากการเอาข่าวมาอ่านให้เราฟังไงครับ ดังเป็นพลุแตกเลย
สังคมแบบนี้เราเรียกกันว่าสังคม “มุขปาฐะ”
สมัยก่อนการอ่านการเขียนไม่ได้เป็นแบบนี้ สังคมไทยจะเขียนก็ต่อเมื่อเป็นบทสวด กวี และบันทึกในชนชั้นสูงเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การถ่ายทอดเรื่องราวจึงเป็นการบอก เล่า ทำให้ตัวอักษรถูกมองว่าเป็นของสูง เจ้าขุนมูลนายกับพระเท่านั้นที่มีสิทธิ์เขียน นั่นไง จึงทำให้ประชาชนเช่นบรรพบุรุษเรา เชื่อ และฟังข้อเขียนเหล่านี้มากขึ้น แล้วไงต่อ เมื่อข้อเขียนตำราเป็นมีอำนาจ เด็ก ๆ ที่เรียนจึงถูกปลูกฝังอีกเช่นกันว่า “ตำรา” เถียงไม่ได้ เด็ก ๆ จึงต้องอ่านบทเรียนแบบไร้ข้อกังขา นับถือข้อความ ทั้งเชื่อ และ ฟัง ตำรา แม้จะรู้ทีหลังว่าผิด เราก็จะมีสำนวนว่า”ผิดเป็นครู”มาช่วยผ่อนหนักเป็นเบาไงละครับ
โอ๊ะ ผู้ใหญ่ก็เถียงไม่ได้
ตำราก็เถียงไม่ได้ แล้ว
เด็กไทยจะเป็นยังไงละเนี่ย!!!
-ครู-คือผู้ใหญ่และถือตำราเรียน
ชีวิตเด็กนักเรียนในประเทศไทยของผมก็ไม่ต่างจากเพื่อน ๆ พี่ๆ รุ่นเดียวกันมากนัก คือเรียนมันตั้งแต่ 3 ขวบจน 23ขวบกันเลยทีเดียว ก้มหน้าก้มตาไหว้ครูบาอาจารย์ผู้พร่ำสอนส่งเรา ท่านเสียสละเป็นเรือจ้างส่งเราให้ถึงฝั่งก่อนถอนร่นกลับไปรับลูก รับหลาน ส่งข้ามฝั่งเป็นทอด ๆ เป็นเรื่องดีครับที่สังคมเราให้ความเคารพครูบาอาจารย์อย่างสุดแสน นำดอกไม่ ธูป เทียนมาไหว้
“ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา” กันทุก ๆ ปี อันนั้นผมไม่ยุ่ง
แต่จะมายุ่งก็ตรงประเด็นที่ว่า
“ในโรงเรียน ครูทำอะไรไม่ผิด!”
ไม่มากก็น้อยนักเรียนอย่างเราต้องเคยเจอกันบ้าง
ตามบทละครข้างต้น จะเห็นได้ว่าหากครูบางคนหรือผู้ใหญ่บางคนไม่สามารถตอบคำถามเด็กได้ หลายครั้งมักจะลงท้ายด้วยการตะคอก ให้ไปทำอย่างอื่น บอกให้หยุดพูด ทำโทษ หรือแม้กระทั่งตัดเกรดเด็กกันเลย สังคมที่ผมเรียนมาการถามของเด็กมักเคลือบความไม่พอใจส่งให้ครู ถ้าถามเกี่ยวกับบทเรียนก็จะโดนว่า “แค่นี้ก็ไม่เข้าใจ” ถามเรื่องอื่นก็บอกว่า “ครูไม่ได้สอนเรื่องนี้” อย่างนี้ใครจะกล้าถาม ใครจะกล้าเปิดใจพูดคุย
เคยเจอนะครับ ครูภาษาอังกฤษบอกผมว่า
“ภาษาไทยเป็นภาษาพ่อภาษาแม่เราเรียนตอนไหนก็ได้”
ส่วนครูภาษาไทยบอกว่า
“ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพ่อภาษาแม่เธอเหรอที่ต้องใส่ใจขนาดนี้”
เป็นไง โรงเรียนที่ผมเรียนฮาร์ดคอไหมครับ
มีคำกล่าวนึงที่ผมจำได้แค่จำคนพูดไม่ได้นะต้องขออภัย เขากล่าวไว้ว่า
“ครูที่ตะคอกนักเรียนให้หยุดพูดเป็นเพราะว่าเขาพยายามปิดบังความโง่ของตนเองอยู่"
สังคมโรงเรียนที่เราเติบโตมานั้นคือสังคมที่ผู้ใหญ่คนที่เราเถียงไม่ได้
เดินถือตำราที่เราเถียงไม่ได้มาฟาดหัวให้เรา ท่อง จำ กัดกินความงมงาย
โดยที่กรอกหูเราว่าของดี ๆ ทั้งนั้นกินเข้าไป ๆ
เรามีหน้าที่ก้มหน้าก้มตา เรียน เรียน เรียน
ตามตำราที่เขา(เขาคือผู้ที่อยากเป็นผู้อาวุโสในแต่ละยุค)ต้องการให้เรียน
ต้องการให้รู้ และหนำซ้ำอย่าลืมกลับมาเชิดชูครูด้วยนะครัชชชช
ฟังดูเหมือนผมมองโรงเรียนเลวร้ายนะครับ แต่ก็อย่างที่บอกครับ เรื่องดี ๆ ในโรงเรียนมีอยู่เยอะและจำเป็นที่เราต้องเรียนแต่เรื่องที่ต้องปรับปรุงก็ไม่ใช่น้อย เช่นกัน
การเป็นเด็กที่ต้องเติบโตมาแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ไอ้นิสัยแบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดต่อลงไป
Super Organism
จากการรวบรวมและแตกความคิดของผมข้างเป็นความเห็นของผมคนเดียวนะครับ เชื่อมโยงตามมีตามเกิดนิแหละ คำถามต่อมาแล้วมันเกิดอะไรขึ้นหากวัฒนธรรมการเรียนการสอนแบบนี้ยังคงอยู่ (ซึ่งผมคิดว่ามันยังอยู่) และเราจะแก้มันได้อย่างไร
เอาคำถามแรกก่อน "จะเกิดอะไรขึ้นหากวัฒนธรรมแบบนี้ยังคงอยู่"
ง่ายมากเปิดทีวีดูตอนสักหกโมงเย็นสิครับ ชัดเจนเลย ทำไมผู้ใหญ่เหล่านี้ยังอยู่ละ การดำรงค์อยู่ของวัฒนธรรมเคารพผู้ใหญ่ นั้นจะก่อให้เกิดการทำรัง ฟังไม่ผิดครับทำรังแบบมด ปลวกนั่นแหละ การครอบงำของผู้อาวุโสนั้นถ้าเราลำดับขึ้นไปเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว จุดสูงสุดจะมีเพียงหนึ่งเดียวเสมอ เป็นท่านผู้เฒ่าสูงสุดแห่งดาวนาเม็ก ผู้สร้างมหามังกรและให้พรกับทุกสิ่ง ผู้ฒ่าเหล่านี้มีสถานะแบบนางพยาปลวก หรือราชินีผึ้ง ผู้สั่งการให้มดปลวกเหล่านี้ออกทำงาน เราจะถูกทำให้กลายเป็นมดงานทำหน้าที่เพียงเคลื่อนไหวให้รังเราเดินไปข้างหน้า ไม่มีคำถามหรือข้อสงสัย กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าพวก Super Organism เกิดมาทำหน้าที่และตายจากไป ไม่สามารถดำรงค์อยู่ได้โดยลำพังเป็นเพียงแขนขาของสัตว์อาวุโสขนาดมหึมา แค่นั้นเอง
โอย ผมพามาไกลจังเลยนะครับ แต่ก็อย่างที่เห็นละครับ สังคมไทยมีการปฏิวัติแบบนี้นับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ การดำรงค์อยู่ของวัฒนธรรมผู้นำถือปากกาขีดเขียนเรื่องราวใหม่และใช้อำนาจของผู้อาวุโสมาครอบงำให้ประเทศเราเดินไป ให้เราเชื่อฟัง ทำตาม ก็พอ ผมไม่ได้โจมตีแบ่งสีตามการเมืองสมัยนี้นะครับ แต่หากแค่แสดงทรรศนะการเมืองไทยโดยรวมเลย ว่า “ราก”ของมันมาจากอะไร
คำสอนของกาลามสูตรที่ว่าไม่ให้เชื่อเพราะเป็นพ่อ แม่ ครู อาจารย์ นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หากสังคมและวัฒนธรรมของเรายังเหยียบเราไม่ให้โผล่จากน้ำ ด้วยคำว่าอาวุโสและตำราศักดิ์สิทธ์ของท่านเหล่านั้น เราก็คงเป็นไปไม่ได้มากกว่าเรือที่ขนเอาปฏิกูลส่งต่อให้ลูกให้หลานอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยนั่นเอง
-จบละ-
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in