ระหว่างสวดมนต์ มีหลายครั้งที่เราสวดผิด บางครั้งเพราะความเคยชิน บางครั้งเพราะใจลอยไปที่อื่น พอรู้ตัว เราจะแก้ไขด้วยการย้อนกลับไปสวดใหม่อีกรอบ หรือ หลายรอบ แล้วแต่ว่าจะรู้สึกตัวว่าตั้งสติได้หรือยัง แล้ววันหนึ่งก็คิดได้ว่า ในชีวิตจริง เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วเหมือนย้อนกลับไปสวดใหม่อีกครั้งได้ เราจึงคิดว่า เราต้อง "ตั้งใจ" สวดให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ไม่ใช่ปล่อยให้สวดผิดแล้วรอแก้ไขทีหลัง ทำให้หลังจากนั้น เราตั้งใจและมีสมาธิขณะสวดมนต์มากขึ้นกว่าเดิม และทำให้ระลึกได้ว่าในชีวิตประจำวัน เราก็ต้อง "ระว้ง" รักษาการกระทำและคำพูดของเรา "ให้ถูกต้อง" ณ เวลานั้นๆ เสมอๆ ด้วยเหมือนกัน เพราะเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขความผิดพลาดได้อีก
ก่อนหน้านี้ เราสังเกตเห็นว่า เมื่อสวดมนต์ไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง จิตจะเริ่มนิ่งและมีสมาธิ ทำให้ในครึ่งชั่วโมงแรก เรามักสวดแบบไม่ค่อยตั้งใจสักเท่าไหร่ (โดยที่เราไม่รู้ตัว) ปล่อยใจคิดไปตามความคิดที่แวบเข้ามาบ่อยๆ และคิดว่า "ไม่เป็นไร" เดี๋ยวพอสวดบทนี้จบ บทหน้าก็จะมีสมาธิเอง จนวันหนึ่งก็คิดได้ว่า นี่เรากำลัง "รอ" ให้จิตเป็นสมาธิ "ในอนาคต" แต่เพิกเฉย ไม่ทุ่มเทในปัจจุบัน ทั้งที่ "ปัจจุบัน" ต่างหากที่สำคัญที่สุด ทำให้เราเปลี่ยนความคิดตัวเอง ให้สนใจ ใส่ใจ กับบทสวดที่กำลังสวดอยู่ในปัจจุบัน ฝึกตั้งสติและมีสมาธิ "ทันที" ที่เริ่มสวดมนต์ ไม่ใช่ "รอ" บทหน้าแล้วค่อยมีสมาธิ และนำวิธีที่ผึกในขณะสวดมนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ทำให้ตั้งสติและรู้ตัวเร็วขึ้้น ปล่อยความคิดและอารมณ์ต่างๆ ได้เร็วขึ้น
การสวดมนต์บทที่ไม่เคยสวด เราจะตั้งสติและมีสมาธิได้เร็วและง่ายกว่า การสวดบทที่สวดเป็นประจำ ยิ่งสวดได้คล่องปากมากเท่าไหร่ ยิ่งตั้งสติได้ยากกว่า ใจลอยไปที่อื่นง่ายกว่า เพราะการทำในสิ่งที่คุ้นเคย ร่างกายจะจดจำและสามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้เองโดยอัตโนมัติ แม้เราจะยังไม่ได้สั่งหรือกำหนดการกระทำนั้นๆ ดังนั้นในการดำเนินชีวิต เราต้องมีสติสัมปชัญญะให้มากขึ้นในกิจวัตรประจำวันที่เราคุ้นเคย ทำเป็นประจำ เพราะมีโอกาสที่เราจะทำผิดพลาดโดยที่เราไม่รู้ตัว ได้มากกว่าทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
เวลาเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน บทสวดมนต์แปล ที่เราสวดเป็นประจำ แต่เมื่อนานวันไป ความเข้าใจในความหมายของบทสวดก็เปลี่ยนไป อาจเป็นเพราะกำลังของสติและสมาธิที่มีเพิ่มขึ้นจากความตั้งใจในการสวดมนต์ ส่งผลให้เราสามารถเข้าใจความหมายของบทสวดได้กว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เรื่องเดียวกัน ทั้งที่อ่านผ่านตาเป็นประจำ แต่เมื่อความสามารถยังไม่ถึงพร้อม ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ ต้องใช้เวลาในการสะสมความรู้ และพัฒนากำลังของสติ สมาธิจึงจะเข้าใจได้ เมื่อเราเข้าใจว่าตัวเราเองยังต้องใช้เวลา จึงเข้าใจผู้อื่นว่าเขาก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน และจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ความสามารถของแต่ละคน
แต่ก่อนเราไม่เคยคิดอยากสวดมนต์ เพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ และไม่รู้ความหมายของบทสวด เราเคยลองสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์แปลมาหลายเล่ม แต่ก็ไม่มีเล่มไหนทำให้เรารู้สึกอยากสวดมนต์ เพราะหนังสือเหล่านั้นจะอวดอ้างผลที่เกิดจากการสวดมนต์บทนั้นๆ ว่าจะมีผลดีต่อผู้สวดอย่างไร หรือจะได้อะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือเสริมบุญบารมี โชคลาภ ซึ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกต่อต้านไม่อยากสวด เพราะเราไม่เชื่อและไม่สนใจทางด้านนี้ จนได้มาเจอหนังสือสวดมนต์แปล "คู่มือพุทธบริษัท ฉบับสมบูรณ์" ที่เสถียรธรรมสถานใช้สวดมนต์ทำวัตรเช้า ตอนที่เราเคยไปปฎิบัติธรรม เขาให้สวดบททำวัตรเช้า (ที่มีคำสรรเสริญพระรัตนตรัย และคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่อง ทุกข์ อนิจจังอนัตตา) และ บทอริยมรรคมีองค์ 8. เพียงครั้งแรกที่เราได้สวดทั้ง 2 บทนี้ ก็ทำให้เราเต็มใจที่จะสวดมนต์ต่อไป
จากการที่เราสวดมนต์เป็นประจำ แม้จะไม่ทุกวัน แต่ก็ทำให้เห็นว่าจุดประสงค์ของการสวดมนต์ที่แท้จริงสำหรับเรา (แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับคนอื่น) คือการฝึกสมาธิให้กับตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าไปด้วย เราจึงยินดีที่จะให้การสวดมนต์เป็นอีกส่วนหนี่งในหลายๆ กิจวัตรประจำวันของเราต่อไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in