เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ระหว่างทาง#นักสังเกต
สังเกต #นักสังเกต
  • อยากเขียน

    ตอนที่ยังไม่ได้เริ่มเขียนเรื่อง เรามีความรู้สึกอยากเป็นนักเขียนมากๆ มันมากจนเหมือนจะล้นออกมา เหมือนเป็นความรู้สึก "กระหาย" อยากที่จะเขียนสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในใจออกมา คิดว่าถ้าได้ทำคงจะมีความสุข ที่ได้ทำสิ่งที่เราใฝ่ฝัน แต่หลังจากได้ทำจริงๆ แล้ว ก็ค้นพบว่า ความสุขที่เราเฝ้าฝันถึงมาตลอดเวลา "มันก็แค่นี้เอง!!" มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมาย "อย่างที่เราคาดหวังไว้" 

    เวลานี้ หลังจากที่เราได้ให้นิยาม "นักเขียน" กับตัวเองเพียงคนเดียวมาสักพักแล้ว ความรู้สึกกระหายมันหายไปจากใจเราแล้ว เรายังคงมีความรู้สึกอยากเขียนในบางครั้ง เมื่อรู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากจะเล่า หรือแบ่งปันประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ฟัง และยังคงมีความสุขที่ได้เขียนทุกครั้ง แต่ความถี่ในการเขียนก็คงห่างออกไป ไม่เร่ง ไม่รีบร้อน

    แม้จะเขียนไปเพียงไม่กี่เรื่อง มีคนอ่านไม่กี่คน แต่การที่เราได้เขียนออกมา ได้ลองทำตามที่เคยฝัน ก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้ลิ้มรสความเป็นนักเขียนแล้วว่าเป็นอย่างไร แค่ได้ลงมือทำตามที่เคยคิด เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว 

    "ถ้า" เรายังไม่ได้ลองทำ เราก็คงจะกระหายอยากเขียนต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด และก็คง "จินตนาการ" ไปเองว่า "ถ้า" เราทำแล้ว ชีวิตเราคงจะเป็นแบบนั้น แบบนี้ และเมื่อวันเวลาผ่านไป ก็อาจจะรู้สึกเสียดายที่เราไม่ได้เป็นนักเขียน และก็อาจจะโทษสารพัดสิ่งรอบตัวที่ทำให้เราไม่ได้ทำตามฝัน และคงไม่มีทางรู้เลยว่า "ความกระหายอยากเป็นนักเขียน" ที่เราเฝ้าใฝ่ฝันถึงมาตลอด จะเป็นสิ่งที่เราตามหาและใช่สำหรับเราจริงๆ หรือไม่ 

    บางทีคำตอบที่เราเฝ้าตามหา จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ถ้าเราไม่ลงมือทำให้สิ่งที่เราคิดเกิดขึ้นก่อน ทันทีที่เรา "ตัดสินใจ" ลงมือทำตามที่เราคิด คำตอบที่เราตามหาจะปรากฎออกมาให้เราได้เห็นเอง

    ผัดวัน

    เราเคยเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ชอบเดี๋ยวเป็นชีวิตจิตใจ แถมเป็นคนขี้งก งกแม้กระทั่งเวลาและระยะทางด้วย555 จะทำอะไรที ต้องรวบรวมไปทำภายในครั้งเดียวหลายๆ อย่าง แบบออกเดินทางครั้งเดียวแต่มีรายการสิ่งที่ต้องทำประมาณ 5-6 อย่าง ไม่ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นจะเล็กน้อย หรือ ใหญ่โต แค่ไหน ก็จะยังไม่ทำ ถ้าไปแล้ว ทำได้แค่อย่างเดียว และเมื่อจะทำจริง เราต้องการให้ผลลัพธ์นั้นออกมาดี ไม่มีที่ติด้วย ต้องการให้ได้ตามที่เราคิดทุกอย่าง ทำให้เราคิดโน่น ห่วงนี่สารพัด แล้วก็กังวัลกับผลลัพธ์ไปก่อนล่วงหน้า ว่าจะเป็นอย่างที่คิดไหม และ "กลัว" ว่าสิ่งที่จะทำ จะออกมาไม่ดี กลัวโดนต่อว่า กลัวโดนดูถูก ทำให้ยังไม่ได้ทำสักที ได้แต่คิด และบางทีทำไปแล้ว ก็ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำไม่ครบเท่าที่คิดไว้ตอนแรก เพราะไฟมอดก่อน

    ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เรามีสิ่งที่ค้างคาใจ ที่ยังทำไม่เสร็จ และยังไม่ได้ทำมากมาย รู้สึกว่าต้องใช้สมองและจิตใจของเราจดจำ พะวักพะวงกับสิ่งที่ยังไม่ได้ทำพวกนั้น และมันก็พอกพูนมากขึ้นทุกวัน แบบเดียวกับดินพอกหางหมู เรารู้สึกว่าเรามีรายการสิ่งที่ต้องทำมากมายเต็มไปหมด จนรู้สึก "เหมือน" ไม่มีเวลาเหลือพอให้เราทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และ กลายเป็นคน "เหมือนยุ่ง" ตลอดเวลา

    เราคิดว่าเราเป็นคนลงมือทำ เพียงแต่การลงมือทำ จะไม่เกิดขึ้นทันทีจนกว่าเราจะรู้สึกว่าเรามั่นใจ เราจึงจะทำ ทำให้ตั้งแต่วันที่เริ่มต้น "คิด" ว่าจะทำ จนถึงวันที่ทำนั้นห่างกันมาก และบางทีก็นานจนสิ่งที่คิดไว้ล้าสมัย ไม่ควรทำแล้ว และส่วนใหญ่จบลงด้วยการไม่ได้ทำในที่สุด จนวันหนึ่งเราอ่านหนังสือ "ธรรมดีที่พ่อทำ" เจอพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คัดลอกมาจากหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ความตอนหนึ่งว่า 

    "...ถ้ามัวแต่ไปคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ ทำอะไรไม่สำเร็จหรอก คิดอะไรก็ทำไปเลย ผิดถูกค่อยแก้ไป แล้วเดี๋ยวมันก็ค่อยๆ ได้ออกมาเอง ถ้ามัวแต่คิดแล้วไม่กล้าทำ มันจะไม่มีอะไรสำเร็จขึ้นมาสักอย่าง.."

    เปลี่ยน

    พระบรมราโชวาทเรื่องนี้ กระทบใจของเราอย่างแรงและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราตั้งใจที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนทำ "ทันที" เราเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเองด้วยความคิดที่จะทำงานชิ้นหนึ่งให้เสร็จ ซึ่งเป็นงานที่เราคิดไว้นานแล้วแต่ยังไม่ได้ทำสักที จำได้ว่าแค่เริ่มคิดจะกลับมาทำ นิสัยเดิมๆ ก็กลับมาชวนให้กังวลไปล่วงหน้า ชวนคิดว่ามันยาก ไม่รู้จะทำได้ไหม ต้องติดต่อใครยังไง แต่เราตัองคอยผลักดันตัวเองให้ทำ ทำ และ ทำ และคอยปฏิเสธคำชวนที่ให้ผัดไปก่อน 

    ตั้งแต่วันที่เราเริ่มคิดจะทำ (เมื่อนานมาแล้ว) จนถึงวันที่เราตัดสินใจว่าจะทำ หลังจากได้อ่านพระบรมชาโชวาทของในหลวง เราใช้เวลานานถึง 2 ปี แต่เมื่อลงมือทำจริง จนถึงวันที่งานเสร็จออกมาเรียบร้อย เราใช้เวลาแค่เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ช่างเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากสำหรับคนที่เคยผัดผ่อนมาตลอดอย่างเรา 

    เราพบว่า เมื่อลงมือทำจริงๆ นั้น ตัวงานเองไม่ยากเลย และ ไม่มีอุปสรรคใดๆ แบบที่เราเคยกังวลล่วงหน้าไปก่อน ทุกอย่างแค่ต้องการ "ความกล้าในการตัดสินใจ" และทำตามสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว และพบว่าสิ่งที่ยากจริงๆ คือ "ใจ" ของเราเองต่างหาก ที่เราจะต้องต่อสู้ด้วยตลอดเวลา เพื่อเอาชนะ เพื่อให้ทำได้อย่างที่ "ใจ" คิด และ เพื่อผลักดันตัวเอง ให้ทำได้อย่างต่อเนื่องจนกว่างานจะเสร็จ เราพบด้วยว่า เวลาที่ใช้ไปถีง 2 ปีนั้น ไม่ใช่เพื่อการวางแผนอันแยบยล หรือป้องกันปัญหาใดๆ แต่เป็นการหาข้ออ้างให้ตัวเองผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ต่างหาก 

    ประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้ตัวเราเองเห็นว่า งานนี้ (และงานใดๆ ก็ตามที่จะทำในอนาคต) ไม่ได้ยาก แต่ใจเราเองต่างหากที่คิดไปเองว่ายาก อุปสรรคที่แท้จริงในการทำงานใดๆ ก็ตาม สำหรับเราในตอนนี้ คือตัวเราเอง ไม่ใช่สิ่งอื่น แปลกแต่จริง "ใจ" เป็นตัวต้นคิดริเริ่มให้ทำ แต่ "ใจ" ก็เป็นตัวฉุดรั้งไว้ไม่ให้ทำเช่นกัน งานนี้ทำให้เราได้รับประสบการณ์ทางใจที่สำคัญและล้ำค่า ซึ่งเปลี่ยนวิธีคิดและชีวิตของเราหลังจากนั้นตลอดไป และเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจส่วนตัวของเรา ที่เก็บไว้ใช้เตือนตัวเองเมื่อยามที่นิสัยเก่าๆ จะย้อนกลับมา

    กล้า

    จากการที่เราสามารถทำงานนี้ให้เสร็จได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ทำให้เรามี "ความกล้า" ในการที่จะทำทุกอย่างที่เราเคยคิดจะทำ ทั้ง งานเล็ก งานใหญ่ เราค่อยๆ ลงมือทำไปเรื่อยๆ จนเสร็จทีละชิ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้เราสนใจที่จะหาหนังสือพัฒนาตนเองมาอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้มุมมองในการทำงานของเราค่อยๆ เปลี่ยนไป จากกลัวไม่กล้าทำ เป็นทำไปก่อน ผิดพลาดแก้ไขได้ และการเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นส่วนหนี่งของการเติบโต

    ทั้งที่ยังมีงานมากมายที่ต้องทำ เรากลับพบว่า เมื่อเราเปลี่ยนเป็นคนลงมือทำ "ทันที" กลายเป็นว่า เรามีเวลา "เหลือเฟือ" ให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจนเสร็จเรียบร้อยแบบไม่ต้องเร่งรีบ แค่ "ทำ" ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ จนงานเสร็จหมด ไม่มีงานเหลือในรายการสิ่งที่ต้องทำอีกต่อไป รายการที่เคยมีงานค้างต่างๆ เต็มไปหมด มาบัดนี้ว่างเปล่าเพราะทำเสร็จหมดแล้ว และใจเรารู้สึกเบาสบายอย่างมาก แบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะทั้งวันไม่ต้องกังวลว่าจะต้องทำอะไรอีกต่อไป

    แล้วทุกวันก็ผ่านไปโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย ได้แต่นั่งเฉยๆ ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย กินๆ นอนๆ แล้วก็วนๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน เพราะไม่มีรายการงานที่ต้องทำอีกต่อไปแล้ว จากความรู้สึกเบาสบายในช่วงแรก เปลี่ยนเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายเข้ามาแทนที่ เริ่มรู้สึกเหมือนชีวิตไร้ค่า ไร้ความหมาย ไม่อยากลุกไปทำอะไร ไม่อยากไปไหน ทั้งที่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปทำธุระ แต่ความรู้สึกเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก ทำให้เรารู้สึกไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น รู้สึกว่าต้องใช้พลังอย่างมากในการขุดตัวเองให้ลุกขึ้นออกไปทำธุระ 

    เราเล่าให้เพื่อนสนิทฟัง เพื่อนแนะนำว่า เขาก็เคยเป็น ให้ตั้งเป้าหมายและหาอะไรทำ แล้วจะดีขึ้น เราลองทำตาม ตั้งเป้าหมายเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ให้ตัวเองมีงานทำได้ทุกวัน แล้วความรู้สึกเบื่อก็หายไปจริงๆ จากที่เคยมีความคิดว่า งานเยอะ เหนื่อย ไม่ดี แค่เปลี่ยนวิธีคิด และ การกระทำนิดหน่อย (จากคนผัดวันประกันพรุ่ง เป็นคนลงมือทำทันที) ทำให้จากที่เคยมีงานล้นมือ กลายเป็นไม่มีงานเหลือให้ทำ ทำให้มีเวลาเหลือในชีวิตมากมายจนรู้สึกเบื่อ 

    ทุกวันนี้ เราต้องคิดหางานให้ตัวเองทำให้ได้ทุกวัน งานช่วยให้รู้สึกมีชีวิตชีวา มีเป้าหมาย ถ้าวันไหนที่เรารู้สึกเบื่อ ก็จะพบว่าวันนั้นไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว รีบไปหางานให้ตัวเองทำ แล้วความเบื่อจะหายไป และความเบาสบายใจจะเข้ามาแทนที่ งานทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า และจิตใจมีที่ยึดเหนี่ยว ไม่ล่องลอยไร้จุดหมาย ถึงวันนี้ เราเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนบางคนยังสนุกกับการทำงานได้ทั้งที่มีอายุมากแล้ว เราก็เพิ่งเข้าใจเมื่ออายุล่วงเลยเลข 4 มาสักพักแล้ว

    ชีวิต คือ การเดินทาง ทั้งภายนอก และ ภายใน
    ชีวิต คือ ผลลัพธ์ ของสิ่งที่เราตัดสินใจ "เลือก" มาตลอดการเดินทางของเรา 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in