ไม่สนใจธรรมะ
ตั้งแต่เล็กจนโต เราไม่เคยสนใจธรรมะ ไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร คำว่า ธรรมะ สำหรับเราในเวลานั้น คิดเองว่าคงเหมือนกับที่เคยเรียนในวิชาสังคม พุทธศาสนา คือ พุทธประวัติ และ หลักธรรมคำสอนสำหรับท่องจำ เพื่อสอบให้ผ่านแค่นั้น แต่ไม่ใช่สำหรับนำมาประยุกต์ใช้ในชีิวิตประจำวัน และไม่คิดว่าจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเรา เมื่อสอบเสร็จ เราก็ลืมและไม่ค่อยสนใจจำว่ามีหลักธรรมคำสอนเรื่องอะไรบ้าง แต่มีคำสอนอยู่เรื่องหนึ่งที่จำได้เองและติดอยู่ในใจเราตลอดเวลา คือ "ตนเป็นที่ึพี่งแห่งตน"
"ตนเป็นที่ึพี่งแห่งตน" ทำให้เราเกิดความสงสัยและขัดแย้งในใจ เวลาเห็นคนไปวัด เพื่อไหว้พระ ขอพรต่างๆ ให้กับตัวเอง เราสงสัยมากๆ ว่า ในเมื่อมีคำสอนว่า ให้พึ่งตนเอง แล้วทำไมจึงยังมีการขอพรได้ด้วย เรารู้สึกว่ามันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันมากกับคำสอน และคนที่แวดล้อมเราส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ไปไหว้พระขอพรเกือบจะทุกคน และไม่มีใครรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิด หรือ แปลก แต่เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ควรทำ
ภายนอกเราทำตามที่ผู้ใหญ่สอนให้ทำ เพราะไม่อยากให้ผู้ใหญ่เสียใจ จึงทำตามไปเรื่อยๆ แต่เพราะมีพิธีกรรมมากมายที่เราต้องทำตาม โดยไม่รู้จุดประสงค์และความหมายที่แท้จริง และบางพิธีกรรมก็ช่างขัดแย้งกับเรื่อง "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" อย่างมาก ทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธาในศาสนาพุทธ ทั้งที่กรอกเอกสารและบอกใครต่อใครว่านับถือศาสนาพุทธ
หนังสือธรรมะเปลี่ยนชีวิต
จนกระทั่งวันหนึ่ง เราเจอปัญหาทุกข์ใจอย่างหนัก จากการที่ไม่เข้าใจลูกและควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และกำลังหาทางออกว่าจะทำอย่างไร จึงจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ก็บังเอิญได้ยินบุคคลในโทรทัศน์ให้สัมภาษณ์ว่า เขาฝึกสมาธิเป็นประจำ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆ ได้ดี เราจึงเริ่มมองหาวิธีฝึกสมาธิจากหนังสือก่อน อ่านจบเล่มแรกไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ จึงหาอ่านไปเรื่อยๆ จนได้พบกับหนังสือของ พระไพศาล วิสาโล ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จำชื่อหนังสือไม่ค่อยได้แต่มีใจความว่า "แค่เปลี่ยนความคิด ชีิวิตเปลี่ยน" ตอนนั้น ที่เห็นชื่อหนังสือ มีความรู้สึกว่าไม่เชื่อ แต่อยากพิสูจน์ว่าจะจริงอย่างชื่อไหม เลยลองซื้อมาอ่านดู อ่านจบ ชีวิตเปลี่ยนจริงๆ
ตัวเราเอง ก็มีชื่อของท่านพุทธทาส อยู่ในความทรงจำ เพราะตอนเป็นเด็ก แม่เคยพาไปเที่ยวภาคใต้ แล้วในทัวร์นั้น พาไปวัดของท่านพุทธทาสพอดี ตอนนั้นเรายังเด็กมาก รู้แค่ว่าไปวัดหนึ่งที่ภาคใต้ มีพระมีชื่อเสียงชื่อพุทธทาส แค่นั้น ชื่อเสียงด้านไหนยังไม่รู้เลย พอเริ่มสนใจธรรมะมากขึ้น จึงลองหาหนังสือที่ท่านเขียนมาอ่านเพราะอยากรู้ว่าท่านมีชื่อเสียงทางด้านไหน
เราเลือกอ่าน "แก่นพุทธศาสน์" ก่อน เพราะอยากรู้ว่าอะไรคือแก่นของศาสนาพุทธกันแน่ และเพื่อหาคำตอบให้กับความสงสัยเรืื่อง "ตนเป็นที่ีพึ่งแห่งตน" ที่มีมาตั้งแต่เด็กด้วย จากสิ่งที่ท่านเขียน ตามความเข้าใจของเรา แก่นของศาสนาพุทธคือการฝึกฝนจิตใจ พัฒนาจิตใจของตนเองไปเรื่อยๆ จนพ้นทุกข์ได้ ส่วนเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นของศาสนาพุทธนั้น ท่านเรียกว่า "เนื้องอก" ที่งอกออกมาจนปิดบังคำสอนที่แท้จริง เพราะพิธีกรรมเหล่านั้นไม่ใช่ส่ิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นต่อๆ มา หลังจากที่พระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานนานแล้ว อ่านจบหายสงสัยหลายเรื่อง แล้วจีงอ่าน "คู่มือมนุษย์" เป็นเล่มต่อไป เพราะชื่อหนังสือทำให้สงสัยว่า ทำไมมนุษย์ต้องมีคู่มือด้วย และ อะไรคือคู่มือมนุษย์
จากงานเขียนของท่านพุทธทาสทั้ง 2 เล่ม ทำให้เราสนใจอยากรู้จักศาสนาพุทธมากขึ้น เพราะเป็นแง่มุมที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อน จึงเริ่มหาหนังสือของท่านมาอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหนังสือธรรมะอื่นๆ ด้วย ยิ่งอ่านมาก ยิ่งเกิดศรัทธาในพุทธศาสนาและในตัวท่านพุทธทาสมากขึ้น ถึงกับนับถือท่านเป็นอาจารย์และเรียกตัวเองว่าเป็นลูกศิษย์ท่าน รู้สึกว่าตนเองได้เจอกับอาจารย์ที่ตามหามานาน
ช่วงที่อ่านหนังสือธรรมะแรกๆ เรามักจะรู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายถูก และคนอื่นๆ รอบตัวเป็นฝ่ายผิดเสมอ และเป็นอย่างนั้นอยู่นานหลายปี แต่ถึงแม้จะรู้สึกแบบนั้นก็ตาม เราก็รู้สึกทุกข์น้อยลงทีละนิด เข้าใจตนเองและคนอื่นมากขึ้น แล้ววันหนึ่ง เราก็เห็นว่ามุมมองของเราเปลี่ยนไป เป็น "คนอื่นเขาถูกของเขากันอยู่แล้ว เราเองนี่แหละที่ผิด ที่เข้าใจพวกเขาผิดไปเอง" เราไม่รู้ว่าเราเริ่มเปลี่ยนตอนไหน รู้แค่ว่าธรรมะเปลี่ยนเรา และเราไม่สามารถกลับไปคิดแบบเดิมได้อีก
ธรรมะ สอนให้เราย้อนกลับมาดูตัวเอง พิจารณาการกระทำของตัวเอง แก้ไขกาย ใจของตัวเอง ก่อนที่จะกล่าวโทษผู้อื่น
เริ่มปฏิบัติ
หลังจากอ่านหนังสือธรรมะมานานหลายปี เราก็เริ่มรู้สึกอยากปฏิบัติธรรมด้วยเพราะหนังสือแทบทุกเล่มจะเน้นว่า "ธรรมะต้องปฎิบัติ จึงจะเห็นผล" แต่ตอนแรกเราคิดว่าต้องเป็นการปฎิบัติในรูปแบบเท่านั้น แบบที่ต้องไปเข้าคอร์สปฎิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ แต่เมื่อได้อ่านงานของท่านพุทธทาสหลายๆ เล่ม เห็นว่าท่านไม่เน้นว่าต้องไปเข้าคอร์ส แต่สามารถฝึกเองได้ที่บ้าน ในชีวิตประจำวัน จึงค่อยๆ ลองฝึกด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ (มีไปเข้าคอร์สจริงจังเพียงครั้งเดียว พร้อมกับลูกวัยประถม ที่เสถียรธรรมสถาน แต่ก็ได้ประโยชน์มาก เพราะได้ความรู้เบื้องต้นในการฝึก มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน)
เข้าใจ อยู่กับปัจจุบัน
เราเริ่มจากการสังเกต "ความคิด" ของตนเองในชีวิตประจำวันก่อน เพราะเคยอ่านเจอว่าความคิดมันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แล้วพบว่ามันเป็นอย่างที่พระท่านสอนจริงๆด้วย เราเห็นว่าในเวลาแค่ 1 นาที มีความคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกันและไม่เกี่ยวกััน บางครั้งไปอดีต บางครั้งไปอนาคต บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกที่เห็นหรือได้ยิน บางครั้งก็ไม่
จากการสังเกตเห็น ลักษณะของความคิดที่เกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงไปมาของความคิดนี่เอง ที่ทำให้เราเข้าใจอาการของ "การ ไม่อยู่ กับปัจจุบัน" เพราะความคิดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตรงหน้าในขณะนั้นๆ แต่เป็นสิ่งอื่นๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้นเลย และการที่เราคิดตามความคิดเหล่านั้นไป จึงเท่ากับใจเราไม่ได้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า แต่กลับล่องลอยไปที่อื่นตามแต่ความคิดจะพาไป ร่างกายเราทำอย่างหนึ่ง แต่ใจเรากลับทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เราเพิ่งจะเข้าใจ ความหมายและอาการของคำว่า ใจลอย ว่าเป็นอย่างไรก็วันนั้นเอง ทั้งที่เคยได้ยินคำนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน และ จากความเข้าใจเรื่อง การไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงทำให้เราพอจะเดาได้ว่าอาการของ "การอยู่กับปัจจุบัน" คือ การที่ร่างกาย และ จิตใจ กำลังทำและคิด ในสิ่งเดียวกัน ในเวลาเดียวกันนั่นเอง
มรณานุสสติ
ช่วงที่ลูกยังเป็นเด็กเล็ก วัยก่อนเข้าเรียน เราเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ด้วยคิดว่าเราจะได้มีเวลาให้ลูกเต็มที่ ได้มีประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกับลูก เพื่อจะได้เห็นลูกเติบโตด้วยตาตัวเอง เรารู้ว่าเรารักลูกมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความรักของเราทำให้ลูกเจ็บปวด กลายเป็นหนามทิ่มแทงลูกตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เราคิดว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ทั้งกับตัวเราเองและลูกน้อย
ทุกวัน ช่วงที่ลูกตื่นอยู่ เรามักจะโกรธ หงุดหงิดลูก เกือบจะตลอดเวลา เพราะเราไม่พอใจที่ลูกทำสิ่งที่เราให้ทำไม่ได้ โดยทีี่เราไม่รู้ตัวสักนิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ให้ลูกทำนั้น มันเกินกว่าความสามารถตามวัยของเขาไปหลายสิบเท่า และเมื่อลูกทำไม่ได้ เรามักไม่พอใจและโกรธอยู่นานมาก ส่วนใหญ่โกรธจนถึงเวลาลูกเข้านอน เรารู้สึกว่าอารมณ์จะกลับมาเป็นปกติ หลังจากที่ลูกหลับไปแล้วสักพัก แล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกผิดที่โกรธเด็กตัวนิดเดียวแบบนั้นได้อย่างไร แล้ววงจรนี้ก็จะวนกลับมาอีกครั้งเมื่อลูกตื่น เป็นแบบนี้อยู่นาน แต่ในทางตรงกันข้าม ไม่ว่าเราจะโกรธลูกแค่ไหน ลูกก็ไม่เคยพูดว่าไม่รักเราเลย ลูกพูดว่า "หนูรักแม่" และให้อภัยเราเสมอ ไม่ว่าเราจะใจร้ายกับเขาแค่ไหนก็ตาม
วันหนึ่ง เราอ่านเจอเรื่อง มรณานุสสติ ที่ให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ ว่าชีวิตนั้นไม่แน่นอน ความตายจะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้ อ่านจบทำให้เราคิดถึงเรื่องระหว่างเราและลูก ถ้าหากวันใดเกิดอะไรขึ้นกับเราระหว่างที่ลูกหลับ แล้วเขาตื่นขึ้นมาไม่เจอเรา เขาจะรู้ไหมว่าเรารักเขา เขาจะคิดว่าเรายังโกรธเขาอยู่ไหม? ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราจึงตั้งใจว่า ไม่ว่าเราจะโกรธลูกแค่ไหนก็ตาม แต่ก่อนลูกหลับไป เราต้องหายโกรธและทำให้ลูกรู้ว่าเรารักเขา
วันที่เราเริ่มฝึก เมื่อถึงเวลาลูกเข้านอนแล้ว เรายังโกรธลูกอยู่ เราตัดสินใจฝืนอารมณ์โกรธ ที่มันมักจะผลักไสลูกไปจากเรา ด้วยการกอดลูกทั้งที่ยังโกรธอยู่แบบนั้น แล้วสิ่งที่ประหลาดก็เกิดขึ้นคือ ความรู้สึกโกรธในใจ มันค่อยๆ ลดลงไปเอง และหายไปในที่สุด โดยที่เราไม่ต้องพยายามห้ามใจไม่ให้โกรธเหมือนที่ผ่านมา แต่ความโกรธมันหายไปง่ายๆ แบบนั้นเอง หลังจากวันนั้น แม้ระหว่างวันเรายังห้ามตัวเองไม่ให้โกรธไม่ได้ แต่อย่างน้อยทุกวันก่อนนอน เราได้กอดลูกไม่ว่าอารมณ์ของเราจะเป็นเช่นไรก็ตาม
เพราะความรู้เรื่องมรณานุสสติ ทำให้เราได้มีโอกาสกลับมามีความสุขกับลูกก่อนนอนอีกครั้ง จากที่เคยเป็นสงครามย่อยๆ ทุกวันจนลูกหลับไป
ฝึกสมาธิ
จากความเข้าใจเรื่อง การอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เราสังเกตเห็นตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากำลังทำอะไร มีความรู้สึกอย่างไร สามารถกำหนดและควบคุมสิ่งที่ต้องการจะทำได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้ แม้เราจะเห็นและรู้ว่าตัวเองโกรธ แต่ก็ไม่สามารถหยุดอารมณ์โกรธได้ ทั้งๆ ที่อยากหยุด เราทั้งนับ 1-10 ทั้งนับลมหายใจ แต่ก็ไม่ช่วยอะไรเลย เราจึงคิดว่า เราน่าจะต้องหาครู อาจารย์ที่จะช่วยให้คำตอบเราได้ บังเอิญเราเจอว่ามีคอร์สปฏิบัติธรรมแบบวันเดียวที่ "สวนมุฑิตาธรรม" ใกล้ๆ พุทธมณฑล ซึ่งใกล้บ้านแม่เรา เราจึงสมัครไป เพราะตอนนั้นลูกเรายังเล็ก ถ้าไปเรียนแค่วัันเดียว เราสามารถฝากลูกไว้กับแม่ขณะที่เราไปเรียนได้
ที่สวนมุฑิตาธรรม พระอาจารย์ให้คำตอบว่า การฝึกสติ สมาธิ ก็เหมือนการออกกำลังกาย ต้องทำประจำสม่ำเสมอ สติ และสมาธิจึงจะแข็งแรง แต่หลังจากวันนั้น เราก็ยังไม่เคยฝึกสมาธิแบบจริงจังสักที จึงยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้เหมือนเดิม เมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก ทะเลาะกับลูกเกือบจะตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน ทำลูกร้องไห้ไม่เว้นแต่ละวัน เราสงสารลูก โกรธและเบื่อตัวเอง จึงตั้งใจว่าจะฝึกสมาธิที่บ้านด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
เราใช้เวลาว่างช่วงกลางวันที่ลูกไปโรงเรียนฝึกสมาธิ เราเริ่มด้วยการสวดมนต์แปลโดยใช้หนังสือที่พี่ชายให้มา แต่รูัสึกว่ายังไม่ถูกจริต จึงเปลี่ยนมาเดินจงกรม เพราะเคยได้ยินจากวิทยุช่องธรรมะโดยบังเอิญว่า "สมาธิที่เกิดในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย จะแข็งแรงกว่าสมาธิที่เกิดจากการนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว เวลาฝึกปฎิบัติธรรมจึงให้นั่งสมาธิ สลับกับการเดินจงกรม" ช่วงแรกของการฝึกเดินจงกรมด้วยตัวเอง เราใช้คำบริกรรมควบคู่ไปกับการกำหนดสติด้วย แต่ฝึกไปสักพักรู้สึกว่าการใช้คำบริกรรมใดๆ ก็ตามทำให้เรารู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว จึงลองฝึกแบบไม่ใช้คำบริกรรม หรือคำพูดใดๆ แต่กำหนดสติที่การเคลื่อนไหวของร่างกายเพียงอย่างเดียวแทน ผลคือทำแล้วเรารู้สึกเบา สบายกว่า จึงฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเกิดอารมณ์โกรธ เราก็ยังควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้เหมือนเดิม รู้สึกว่าการฝึกของตัวเองไม่ค่อยก้าวหน้า
เรียนศิลปะ
เรามีโอกาสพาลูกไปเรียนพิเศษศิลปะที่ "ห้องเขียนศิลป์" เซ็นทรัลบางนา จากคำชักชวนของเพื่อนผู้ปกครอง ระหว่างที่รอลูกเรียน ช่วงแรกๆ เราจะไปช้อปปิ้งหรือไม่ก็นั่งรอเฉยๆ จนเริ่มรู้สึกเบื่อ จึงคิดหาวิธีแก้เบื่อโดยการเรียนด้วยเลย เพราะยังไงก็ต้องรอลูกเรียนอยู่ดี จึงสมัครเรียน เรียนไปสักพักได้ยินครูพูดขณะสอนนักเรียนคนอื่นว่า "วาดรูปไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นสัจธรรม" ตอนที่ได้ยิน เราหัวเราะแบบเสียมารยาทมาก เพราะไม่เชื่อ แต่ครูก็พูดย้ำอีกครั้งว่าจริง
วันหนึ่งครูให้เราวาดรูปผนังบ้านสังกะสีที่อยู่ในสลัม เรามองดูภาพถ่ายต้นฉบับแล้ว คิดสงสัยในใจว่า จะวาดทำไม ไม่เห็นสวยเลย แต่เมื่อวาดเสร็จ เรารู้สึกประหลาดใจกับรูปที่เราวาด มันดูสวยกว่าที่เราจินตนาการไว้ตอนแรกมาก ไม่ใช่ว่ารูปที่เราวาดสวยงามมากมาย แต่เป็นเพราะมันทำให้เราเห็นว่า ของที่เราคิดว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าวาด แต่พอวาดออกมา มันก็สวยได้ เราบอกครูว่าเราไม่คิดว่าวาดแล้วมันจะสวย ครูตอบว่า
"ความงามมีอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นมัันหรือไม่"
ประโยคนี้ เป็นประโยคเด็ดจากคอร์สเรียนศิลปะของเรา เพราะมันทำให้เรามองโลกต่างไปจากเดิม และศิลปะก็ทำให้เราได้เห็นสัจธรรมจริงๆ
เราไปเรียนศิลปะสัปดาห์ละครั้ง แต่ครั้งหนึ่งอาจจะนาน 3-4 ชั่วโมง ยิ่งใกล้วันไปเรียน เราจะยิ่งมีความสุข เร่งวันเร่งคืน อยากให้ถึงเร็วๆ เรียนเสร็จ ต้องขับรถกลับไปรับลูกจากโรงเรียนที่ชลบุรี จำได้ว่าทุกครั้งที่ขับกลับจากเรียนศิลปะ ตลอดทางเรายิ้มกับตัวเอง เปิดเพลงและร้องคลอตามไปด้วยอย่างมีความสุข ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เรามีความสุขมาก และก็สังเกตเห็นว่า ตัวเราเองยิ้่มมากขี้น มีความสุขมากขึ้น ที่สำคัญ "ควบคุมอารมณ์ตัวเอง" ได้ดีขึ้น แทบจะไม่โกรธลูกเลย ทะเลาะกับลูกน้อยลงมาก สถานการณ์เดียวกันถ้าเป็นแต่ก่อนเราคงระเบิดไปแล้ว แต่ช่วงที่เรียน เราสามารถบอกตัวเองให้วางเฉยได้ จนอดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร ลองคิดทบทวนไปมา จึงรู้ว่าเป็นเพราะเราไปเรียนศิลปะ และได้ฝึกสมาธิในขณะที่กำลังทำงานศิลปะไปด้วย
เราไปเรียนเพียงแค่สัปดาห์ละครั้ง แต่ผลของสมาธิ ทำให้เรามีความสุขและควบคุมตัวเองได้ยาวนานตลอดสัปดาห์ จนถึงวันที่เราไปเรียนครั้งต่อไป การที่เราได้เรียนศิลปะ ทำให้เราได้รู้ว่า เราสามารถฝึกสมาธิผ่านการทำงานศิลปะได้ แม้จะเคยได้ยินมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราตระหนักจนกว่าเราจะได้สัมผัสกับความรู้สึกนั้นจริงๆ
หลังจากที่เราหยุดเรียนศิลปะแล้ว เรายังแบ่งเวลาวาดรูปเพื่อฝึกสมาธิให้กับตัวเองได้อีกหลายปี แล้วก็เริ่มเบื่อจึงหยุดไป แล้วอาการขี้หงุดหงิด ขี้โกรธ ก็กลับมา...
เข้าใจ สติ
ตอนยังไม่รู้จักธรรมะ เราเข้าใจว่า การที่เราทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ พูดคุยรู้เรื่อง ทำงานได้ ไม่บ้าแปลว่าเรามีสติดีแล้ว แต่หลังจากที่เราเข้าใจเรื่องการอยู่กับปัจจุบัน และสังเกตตัวเองได้มากขึ้น ว่าเมื่อไหร่อยู่ หรือ ไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงฝึกฝนตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ รู้ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง แล้ววันหนึ่งเราก็มองเห็น "ตัวเอง" กำลังทำบางอย่างโดยอัตโนมัติ ทั้งที่ไม่ได้คิดที่จะทำสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้นทำให้เราเข้าใจอาการของการ "ไม่มีสติ" เพราะ เราสามารถทำสิ่งนั้นได้เอง ด้วยความเคยชิน โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องมีสติกำกับเลย และจากการเห็นตัวเองไม่มีสติ จึงทำให้เราพอจะ "เดา" ได้ว่าอาการของการ "มีสติ" ควรเป็นอย่างไร
เราเดาว่า การมีสติ น่าจะหมายถึงการที่เรากำหนดในใจก่อนว่าต้องการทำสิ่งใด แล้วจึงทำสิ่งนั้นตามที่กำหนดไว้ เราจึงฝึกตัวเองให้กำหนดสติแบบเดียวกันกับเวลาที่เดินจงกรม แต่ไม่ใช่เฉพาะในเวลาเดินจงกรมเท่านั้น แต่กำหนดสติไว้ที่การก้าวเดินของเราในชีิวิตประจำวัน เหมือนเดินจงกรมตลอดทั้งวัน และขยายไปสู่การกระทำอื่นๆ ด้วย เท่าที่ความสามารถของเราจะมีในขณะนั้นๆ
ท่านพุทธทาสบอกว่า การฝึกเน้นที่การสังเกตร่างกายและจิตใจ "ของตนเอง" เป็นหลัก ช่วงที่เราฝึกกำหนดสติ แรกๆ เรารู้สึกเหมือนตัวเองไม่ก้าวหน้าและท้อแท้ แต่เมื่อฟังซีดีที่ท่านพุทธทาสเทสน์สอน ว่า "การฝึกปฎิบัติธรรมเหมือนการฝึกขี่จักรยาน ตอนฝึกแรกๆ ไม่มีใครไม่ล้ม แต่เมื่อล้มแล้วก็แค่ลุกขึ้นมาฝึกใหม่ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเอง การปฎิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้ายังทำไม่ได้ ก็แค่ฝึกทำใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าได้ หรือไม่ได้ ไม่ต้องไปเคร่งเครียดกับมัน ปล่อยตามสบาย ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ ได้เอง" ที่เคยท้อแท้ ก็เลยมีกำลังใจฝึกต่อมาเรื่อยๆ
เราเคยเป็นคนขี้ลืม แต่เคยอ่านผ่านตาว่า คนที่มีสติจะไม่เป็นคนขี้ลืม ตอนนั้นเราสงสัยว่าจริงเหรอ แล้วเพราะอะไรที่ทำให้คนที่มีสติไม่ลืม จากการฝึกกำหนดสติระหว่างวันไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเราดีขึ้นและลืมน้อยลง เพราะเราจะกำหนดสติก่อนว่าต้องการจะทำอะไร แล้วจึงลงมือทำสิ่งนั้นอย่างมีสติรู้ตัว เราจึงจำได้ว่าทำอะไรไปบ้าง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลืม เมื่อนึกย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าเราไม่ได้กำหนดสติในขณะที่เราทำสิ่งนั้นๆ เราจึงลืมและจำไม่ได้
เห็น อารมณ์โกรธ
เราเคยอ่านเจอในหนังสือว่า "ทัันทีที่เราเห็นอารมณ์ อารมณ์นั้นจะหายไป" และ "อารมณ์เกิดขึ้นเอง และ หายไปเอง" ที่เสถียรธรรมสถานบอกว่า "ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น" เราสงสัยว่าจะจริงหรือ เพราะเราก็เคยเห็นอารมณ์โกรธหลายครั้ง แต่ไม่เคยเห็นมันหายไปเลย
ช่วงนั้นเราฝึกสมาธิ และฝีกกำหนดสติให้ตัวเองมาสักพักแล้ว แล้ววันหนึ่ง ในขณะที่เรา "กำลังจะเริ่ม" ทะเลาะกับลูก แต่ในใจลึกๆ เราไม่อยากทะเลาะ และในเสี้ยววินาทีนั้น เราเห็นตัวเองกำลังจะโกรธมากขึ้น กำลังจะตะโกนใส่ลูก แต่แล้วจู่ๆ มันก็หายไปเฉยๆ แบบทันทีทันใด โดยที่เรายังไม่ได้แสดงอารมณ์โกรธออกมา ไม่ได้ตะโกน แต่กลับมามีอารมณ์ปกติตามเดิม ทั้งที่เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย เราแค่เห็นมันเฉยๆ และมันก็อยู่แค่ในหัวเราเท่านั้นโดยที่ยังไม่ได้แสดงออกมาภายนอกด้วย มันเป็นความรู้สึกเหลือเชื่อ ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ ด้วย ถ้าเราเห็นมัน มันก็หายไปจริงๆ ด้วย และทำให้เราเข้าใจได้เองว่า ที่ผ่านมา ที่เราคิดว่าเราเห็น ที่จริงเราไม่ได้เห็น แต่เรา "อยู่" ในอารมณ์นั้นๆ เราจึงหยุดมันไม่ได้ แต่ครั้งนี้ที่มันหายไป ที่เราหยุดมันได้ เพราะเราแค่ "เห็น" มัน แต่ไม่ได้ "เป็น" ไม่ได้ "อยู่" ในอารมณ์นั้น
เหตุการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์ทางใจที่เกิดขึ้นกับเราเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว หลังจากการฝึกฝนตัวเองมาพักใหญ๋ มัันทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้ว เพราะเราสามารถเห็นในสิ่งที่ในหนังสือบอกไว้ ในสิ่งที่พระอาจารย์ที่สวนมุฑิตาธรรมเทศน์ ทั้งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และนั่นก็เป็นเพียงครั้งเดียวที่เราได้เห็นอารมณ์หายไปต่อหน้าต่อตา แต่ก็เพียงพอให้เรามีกำลังใจที่จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป
เห็น กฎแห่งกรรม
เราไปเที่ยวต่างจังหวัด ขากลับแวะเข้าห้องน้ำ แล้วลืมกระเป๋าสะพายทั้งใบไว้ในห้องน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือก็อยู่ในนั้น แต่เราไม่รู้ตัวเลย ตลอดทางก็มีความรู้สึกว่าให้หยิบกระเป๋าหรือโทรศัพท์มาดูบ้าง แต่เราก็เพิกเฉยต่อความรู้สึกนั้น ถึงบ้านเราที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ทยอยเก็บของลงจากรถ เพิ่งรู้ในตอนนั้นเองว่า เราทำกระเป๋าสะพายหาย พยายามนึกว่าเราแวะที่ไหนบ้าง แล้วที่ไหนที่กระเป๋าอยู่กับเราเป็นที่สุดท้าย ตอนที่นึกได้ว่าเป็นนครสวรรค์ รู้สึกใจเต้นแรงมาก คิดว่าไม่ได้คืนแน่ๆ แต่ก็ลองโทรเข้าโทรศัพท์มือถือในกระเป๋า ครั้งแรกไม่มีคนรับ คิดว่าหายแน่ แต่ลองเสี่ยงโทรใหม่อีกรอบ ครั้งนี้มีคนรับ เสียงปลายสายตอบว่า ขอโทษที่รับช้า เขารับไม่เป็น ต้องไปหาคนอื่นช่วยรับให้ (ตอนนั้น iphone ที่เป็นหน้าจอทัชสกรีนเพิ่งออกมาไม่นาน โทรศัพท์ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบปุ่มกด) เขาบอกว่าจะส่งกระเป๋าคืนให้ทางไปรษณีย์ แต่ขอใช้เงินในกระเป๋าเงินของเรา เพราะเขาไม่มีเงิน
ตอนที่ได้รับกล่องพัสดุ ที่ข้างในมีกระเป๋าสะพายของเรา เราเกิดความรู้สึกในตอนนั้นว่า ภาพมันช่างเหมือนกับเวลาที่ลูกค้าลืมของไว้ที่ร้าน แล้วเราส่งคืนให้เขาทางไปรษณีย์ เราคิดในใจว่า ถ้าเราไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ถ้าเราเพิกเฉย ไม่สนใจหาทางส่งของคืนลูกค้า หรือเอาของลูกค้าไว้เอง แล้ววันนี้เราจะได้กระเป๋าของเราคืนไหม? เราคิดว่าก็คงจะไม่ แต่เป็นเพราะที่ผ่านมา เราพยายามอย่างที่สุดที่จะติดต่อเจ้าของ เพื่อจะส่งของคืนเขาไป ทำให้เรามีโอกาสได้รับกระเป๋าคืนในวันนี้ มันชัดเจนมาก!!! ว่านี่คือกฎแห่งกรรม ที่กำลังแสดงให้เราเห็นต่อหน้าต่อตา และ ปัจจุบันเรากำลังรับผลของการกระทำของเราในอดีต ในชาตินี้ที่ยังมีลมหายใจ ไม่ต้องรอให้ตายก่อนแล้วไปรับผลชาติหน้า
ถึงแม้เราจะเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ว่ามีจริงและทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น แต่มันมีผลต่อเราเพียงแค่เป็นความรู้ทางศาสนาอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อจิดใจของเราสักเท่าไหร่ แต่การที่เราได้รับกระเป๋าคืน มันเป็นประสบการณ์สำคัญที่ทำให้เรารู้สึกแจ้งแก่ใจว่ากฎแห่งกรรมมีจริงๆ และเราจะได้รับผลของสิ่งที่เราทำแน่นอน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ก็เท่านั้น มันทำให้เราเกิดศรัทธาที่มั่นคงและหนักแน่นในเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่สังสัย ไม่สั่นคลอนอีกต่อไป
เรื่องกระเป๋าหายแล้วได้คืน เหมือนเป็นการเปิดตาของเราให้มองเห็นการกระทำของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น เพราะหลังจากนั้น เราเริ่มเห็นกฎแห่งกรรมของตัวเราเองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราเคยทำอะไรมาบ้างในอดีต แล้วเราได้รับผลแห่งกรรมนั้นๆ อย่างไรบ้าง "ในชาตินี้ที่ยังไม่ตาย" นี่แหละ มันทำให้เรารู้สึกกลัว และไม่กล้า ทำไม่ดี ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน หรือ แม้แต่แค่ "คิดไม่ดี" กับคนที่ไม่รู้จักก็ไม่กล้า เพราะ เรารู้แล้วว่า ถ้าเรามี "เจตนา" มันต้องย้อนกลับมาหาเราแน่ แล้วเรากลัว ไม่อยากให้สิ่งไม่ดีย้อนกลับมาหาเรา ทำให้เราระมัดระวังการกระทำ และความคิดของตัวเองมากขึ้น
ปกิจจสมุปบาท
เราไปงานหนังสือแล้วตัดสินใจเดินเข้าไปในบูทสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เพราะเห็นโชว์หนังสือของท่านพุทธทาสหลายเล่ม รูปเล่มสวยงามน่าอ่าน และมีหลายเล่มที่เราไม่รู้จัก และยังไม่เคยอ่าน เช่น อิทัปปัจยตา ปกิจจสมุปบาท เราเลยซื้อมาดองไว้ก่อน
เรื่องปกิจจสมุปบาท เราเคยได้ยินผ่านๆ ครั้งหนึ่งจากที่เสถียรธรรมสถาน แต่ยังไม่รู้สักนิดว่าคืออะไร รู้แต่ว่าเป็นชื่อที่แปลกและไม่เคยได้ยินมาก่อน หลังจากอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสแล้ว เข้าใจมากขึ้นว่าปกิจจสมุปบาทคือวงจรการเกิดทุกข์ในใจ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้และนำมาสอน (แต่เรากลับไม่เคยได้ยินชื่อนี้จากที่ไหน ยกเว้นจากท่านพุทธทาส) ซึ่งถ้าเราเข้าใจ ศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติ เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ได้ หรือดับทุกข์ได้ นั่นเอง
สำหรับเนื้อหาของปกิจจสมุปบาท เราจะไม่ลงรายละเอียด แม้จะอยากก็ตาม เพราะมันเป็นเรื่องลึกซึ้งที่ต้องใช้เวลาศึกษาและทำความเข้าใจ เรายังไม่มีความสามารถขนาดนั้นและถ้าจะเขียนคงจะยาวมากๆ ถ้าท่านใดสนใจ กรุณาอ่านจากงานของท่านพุทธทาสโดยตรงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถัวนที่สุด
โดยสรุป เราเข้าใจว่า ณ ชั่วขณะที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายในทั้ง 6) สัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และ ความรู้สึกนึกคิดในใจ (อายตนะภายนอกทั้ง 6) ถ้าเราสามารถตั้งสติ กำหนดรู้เท่าทัน และยับยั้งไม่ให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกว่า พอใจ หรือ ไม่พอใจ หรือ เฉยๆ ได้ วงจรการเกิดทุกข์ก็จะขาดตอน และ ไม่เกิดความทุกข์ (ตอนที่อ่านรู้สึกงงๆ ว่าทำไม ความรู้สึกนึกคิดในใจ จึงเป็นอายตนะภายนอก "ในใจ" ก็น่าจะเป็นภายในสิ แต่ทำไมถึงเป็นภายนอก หลายปีผ่านไป ถึงได้เข้าใจ แต่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังทีหลัง)
จากหนังสือปกิจจสมุปบาท ท่านพุทธทาสกล่าวว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และใช้ดับทุกข์ได้จริง "ในชาตินี้" ท้นที ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า ท่านยังบอกอีกว่า "จะมีกิจใดสำคัญกว่า การฝึกสติและสมาธิของตน เพื่อให้พ้นทุกข์ได้" รวมกันกับเรื่องกฎแห่งกรรมจากประสบการณ์กระเป๋าหาย ทำให้เราเชื่อท่านพุทธทาส และตั้งใจจะฝึกตัวเองให้มากขึ้น
ออกกำลังกาย
เมื่อลูกอยู่วัยประถมปลาย เราเริ่มออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน มีครั้งหนึ่ง เราตั้งใจจะฝึกรอบขา จึงต้องสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยเฉพาะขาและเท้าทั้งสองข้าง ในขณะที่กำลังสังเกตร่างกาย เรารู้สึกว่ามันช่างเหมือนกับการฝึกสติและสมาธิโดยการเดินจงกรม เพียงแต่เราฝึกผ่านการปั่นจักรยานแทน นี่เป็นอีกครั้งที่บอกเราว่า การฝึกสติและสมาธิ สามารถฝึกผ่านกิจกรรมอะไรก็ได้ ขอให้เรามีสมาธิจดจ่อและนานพอ ก็สามารถใช้ฝึกได้ทั้งนั้น
ในการปั่นจักรยานบนถนน เราจำเป็นต้องมี "สติและสมาธิจดจ่อ" กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าตลอดเวลา เพราะถ้าเราเผลอหรือว่อกแว่กอาจล้มได้ เราคิดว่า การที่เราปั่นจักรยานเป็นประจำ ทำให้สติของเราว่องไวขึ้น เพราะเราต้องรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายตัวเอง ของจักรยาน รวมถึงต้องรับรู้การเคลื่อนไหวของสิ่งอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมด้วย เพื่อให้ปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ จากการที่เราต้องรับรู้สิ่งต่างๆ มากมายในขณะที่ปั่นจักรยานนี่เอง ทำให้เราเข้าใจคำว่า "รู้สึกตัวทั่วพร้อม"
เนื่องจากเราเห็นว่า การออกกำลังกายสามารถใช้ฝึกสมาธิได้ และเราชอบการออกกำลังกายมาก เราจึง "ตั้งใจ" ใช้การออกกำลังกายเป็นการฝึกสมาธิทุกวัน แทนศิลปะ แบบยิงปึนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งสมาธิและสุขภาพในกิจกรรมเดียว โดยเราจะเลือกกีฬาที่เรา "รู้สึก" อยากทำในวันนั้น และ สามารถทำได้สะดวก อาจจะเป็น ปั่นจักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ (แต่ไม่ได้เล่นไตรกีฬานะจ๊ะ) บอดี้เวท หรือ โยคะ ก็ได้
แต่มีบางช่วงเวลาที่เราไม่สามารถออกกำลังกายได้ จึงต้องหากิจกรรมอื่นในการฝึกสมาธิแทน และก็นึกได้ว่าเราซื้อหนังสือสวดมนต์แปล "คู่มือพุทธบริษัท ฉบับสมบูรณ์" ของสำนักพิมพ์ ธรรมสภา มาจากเสถียรธรรมสถานนานแล้ว แต่ไม่เคยใช้เลย จึงหยิบออกมาปัดฝุ่น และใช้สวดมนต์ทำสมาธิแทนในวันที่ออกกำลังกายไม่ได้ เราเลือกสวดบทที่เคยสวด เมื่อครั้งไปปฎิบัติธรรมที่เสถียรธรรมสถาน มีบททำวัตรเช้าที่สรรเสริญพระพุทธเจ้า และคำสอนเรื่อง ขันธ์ 5 และ บทอริยมรรคมีองค์ 8 บางวันก็เลือกจากความรู้สึก
เห็น อุปาทานขันธ์ 5 และ ปกิจจสมุปบาท
จากการฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยสลับไปมาระหว่างการออกกำลังและการสวดมนต์ เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีสติและสมาธิดีขึ้นเรื่อยๆ จิตใจและอารมณ์แจ่มใสมาก รู้สึกว่าจิตใจมั่นคงและสติปัญญาเฉียบแหลมขึ้น สามารถคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น และทำให้เราเข้าใจเรื่องอุปาทานขันธ์ 5 และเริ่ม "สังเกตเห็น" อุปาทานขันธ์ 5 และวงจรปกิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวันของตนเอง
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เราทุกข์เพราะเราคิดว่า ขันธ์ 5 เป็นสิ่งที่ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง และ คิดว่าเป็นของเรา แต่ที่จริงขันธ์ 5 เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่ใช่ของเรา
-ขันธ์ที่ 1 รูปหรือร่างกาย เรารู้อยู่แล้วว่าเราไม่สามารถบังคับร่างกายไม่ให้แก่ ไม่ให้เสื่อมสลายได้ ทุกคนเกิดมาล้วนเดินเข้าหาความตายทุกคน ดังนั้นร่างกายจึงไม่ใช่ของเรา เพราะถ้าเป็นของเราจริง เราต้องสั่งได้ว่าให้เป็นอะไรและไม่เป็นอะไร และไม่ตาย
-ขันธ์ที่ 2 เวทนาหรืออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยตัวของมันเอง ไม่คงที่ ของที่เคยชอบวันนี้ พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นไม่ชอบได้ และมันเปลี่ยนของมันเอง เราบังคับไม่ได้เช่นกัน
-ขันธ์ที่ 3 สัญญาเราแปลว่าเป็นความทรงจำ ซึ่งเราเคยคิดว่ามันคงทนถาวร เหมือนเดิมทุกครั้งที่คิดถึงแต่ก็พบว่าไม่ใช่ และความทรงจำของเรากับคนอื่น ในเรื่องเดียวกัน ก็ไม่เหมือนกัน ทำนองเดียวกับประวัติศาสตร์ ผู้ชนะ และ ผู้แพ้ จดจำเหตุการณ์เดียวกัน แต่แตกต่างกันมาก ไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้ามันคงทนถาวรจริง ทุกคนก็น่าจะเห็นหรือจำได้เหมือนๆ กัน แต่มันไม่ใช่ และนานไป สิ่งที่จดจำไว้ก็ค่อยๆ เลือนหายไปหรือเปลี่ยนไปด้วย
-ขันธ์ที่ 4 วิญญาณ แปลว่า การรับรู้ผ่านทางอายตนะทั้ง 6 หรือ การรับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ใช่วิญญาณออกจากร่างแบบที่เคยเข้าใจหรือเห็นในละคร เช่น ตาเห็นรูปแล้วเกิดความรับรู้ว่าเป็นภาพอะไร (จักษุวิญญาณ) แล้วภาพนั้นเป็นเหตุหรือปัจจัย ทำให้เกิดเวทนา (ขันธ์ที่ 2) หรือความรู้สึกอย่างไรต่อไป เป็นตัน
-ขันธ์ที่ 5 สังขาร แปลว่า ความคิดที่ปรุงแต่ง ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดขึ้นเองในใจ ตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้นๆ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะคิดแต่มันเกิดขึ้นเอง และเพราะมันเกิดขึ้นเอง ความคิด "ในใจ" จึงเป็นอายตนะภายนอกนั่นเอง และเมื่อความคิดในใจ สัมผัสกับใจ ก็จะเกิดเป็น มโนวิญญาน เช่น ความคิดเกี่ยวกับการออกกำลังกายแวบเข้ามาในขณะนั่งทำงาน ทำให้คิดต่อเรื่องการออกกำลังกาย (มโนวิญญาณ) เป็นต้น
ซึ่งแต่ละคนจะเห็นและให้ความหมายของ อุปาทานขันธ์ 5 ว่าเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ เหตุ ปัจจัย ประสบการณ์ชีวิต ทัศนคติ วิธีคิดของคนคนนั้น และส่งผลให้วงจรปกิิจจสมุปบาทของแต่ละคนแตกต่างกันไปอย่างมาก นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมของสิ่งเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน คนแต่ละคน จึงตอบสนองไม่เหมือนกัน และแตกต่างกันมาก ราวฟ้ากับดิน
ยกตัวอย่าง เช่น
คนขี้หึง เห็นแฟนตนเอง ไปกินข้าวกับคนอื่น
ณ เวลาที่ดวงตาเห็นภาพแฟนกับคนอื่น (ผัสสะ ในวงจรปกิจจสมุปบาท) คือ ช่วงเวลาที่อายตนะภายในคือตา สัมผัสกับอายตนะภายนอกคือ ภาพแฟนกับคนอื่น เกิดเป็นจักษุวิญญาณ หรือ วิญญาณทางตา (ขันธ์ที่ 4)
ณ ช่วงเวลานี้ ถ้าไม่มีสติ หรือ สติมาไม่ทัน ก็จะเกิดความคิดที่ปรุงแต่งไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งในกรณีนี้ เหตุคือขี้หึง ปัจจัยคือภาพที่เห็นผ่านดวงตา (ขันธ์ที่ 4 จักษุวิญญาณ)
ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นเองในใจ (ขันธ์ที่ 4 มโนวิญญาณ) ณ เวลาที่เห็นภาพ (ผัสสะ) ว่า แฟนนอกใจ หรือมีชู้ โดยที่ยังไม่ได้สอบถามหรือค้นหาความจริงใดๆ ด้วยเหตุเป็นคนขี้หึง หรือ เคยมีประสบการณ์ถูกนอกใจมาก่อน
ณ ช่วงเวลานี้ ถ้าไม่มีสติ หรือ สติมาไม่ทัน จะเกิดเวทนา (ขันธ์ที่ 2) ความรู้สึกว่าไม่พอใจ ถ้าคิดไปตามความคิดปรุงแต่งที่เริ่มไว้ให้ ก็จะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต จนถึงขั้นทะเลาะกับแฟนได้ คล้ายกับประกายไฟจากไม้ขีดไฟ ถ้าเราเอามาจุดต่อ ไฟจากไม้ขีดไฟ อาจจะกลายเป็นไฟจากเทียนพรรษา หรือ ไฟไหม้บ้านได้
แต่ถ้ามีสติ รู้ว่านี่เป็นความคิดที่ปรุงแต่ง เกิดขึ้นเองในใจ ปล่อยความคิดนั้นไป หยุด ไม่คิดต่อ แค่บอกตัวเองว่า แฟนไปกินข้าวกับใครสักคนที่เราไม่รู้จัก หรือ รอสอบถามแฟนก่อน แค่นั้น ความคิดที่ปรุงแต่งนั้นก็จะดับไป (ขันธ์ที่ 4 มโนวิญญาณ) และจะไม่เกิดเวทนา (ขันธ์ที่ 2) อารมณ์ความรู้สึกใด แบบที่พระท่านมักพูดว่า "เห็นสักแต่ว่าเห็น" "ความคิดสักแต่ว่าความคิด" ความคิดนี้ก็จะหายไปเอง คล้ายกับไฟจากไม้ขีดไฟที่จะดับมอดไปเอง และรอที่จะเกิดความคิดขึ้นใหม่ จากเหตุและปัจจัยใหม่ที่จะผ่านเข้ามาทางอายตนะต่างๆ ต่อไป
คำตอบ และ เสียงวิเศษ
หลังจากที่เราฝึกสมาธิเกือบทุกวัน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เราเริ่มสังเกตเห็นเรื่องแปลกๆ บางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเอง คือ เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดคำถามบางอย่างในใจ จู่ๆ เรามักจะได้รับคำตอบเรื่องนั้นโดยบังเอิญ เช่น เปิดวิทยุแล้วได้ยินเรื่องนั้นพอดี หรือ หนังสือที่เราเพิ่งอ่าน หรือ ซื้อมา เขียนถึงเรื่องที่เราสงสัย หรืออะไรที่เรากำลังตามหา จู่ๆ ก็ได้มาโดยง่าย เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ เราจึงเริ่มคิดว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่จะเกิดจากอะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกัน และเราก็เริ่มได้ยินเสียงกระซิบ จากในใจของตัวเอง หรือ เป็นเสียงเตือน ให้เราทำ หรือไม่ทำบางอย่าง ซึ่งถ้าเราเชื่อเสียงเตือนนี้ แล้วทำตาม รับรองว่าดีแน่ แต่ถ้าผัดผ่อน ไม่ทำตาม อาจเกิดปัญหาตามมา ส่วนตัว เราเรียกเสียงนี้ว่า เสียงวิเศษ
การทำตามเสียงวิเศษที่เราได้ยิน ทำให้เราทำทุกสิ่งทุกอย่าง ได้อย่างราบรื่น เข้าที่ ลงล็อคเหมือนถูกจับวาง ไม่มีปัญหากวนใจ จนดูเหมือนเป็นเรื่องบัังเอิญ แต่เมื่อเจอเหตุการณ์ซ้ำๆ หลายครั้ง เราก็เริ่มรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เช่นเดียวกันกับคำตอบที่เราเคยได้รัับ แต่เป็นเพราะเสียงวิเศษ ทำให้เราเดินหมากชีวิตได้ถูกที่ ถูกเวลา ทุกอย่างจึงลงตัวอย่างที่ควรจะเป็น ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ทำตามเสียงวิเศษแนะนำ เราต้องเจอกับความยุ่งยากใจ ปัญหา อุปสรรค ให้ต้องตามแก้ไขไปตลอดทาง ถ้าจะเล่าให้เห็นภาพง่ายๆ เสียงวิเศษนี้บอกให้เราเก็บผ้า "ทันทุกครั้ง" ก่อนฝนตก แต่ถ้าเราผัดหรือเลื่อนไปก่อน รับรอง!! ได้ผ้าเปียกทุกที 55 ฟังดูอาจจะเห็นเป็นเรื่องนิดเดียว แต่เรื่องที่ต้องใช้ความคิด และการตัดสินใจ เสียงนี้ก็คอยกระซิบบอกเหมือนกัน
ที่จริง เสียงวิเศษนี้มีอยู่แล้ว และ เราเชื่อว่ามีในทุกคนด้วย ดูได้จากละครหรือภาพยนตร์ทั้งของไทย และต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ที่จะมีการพูดคุยกับตัวเอง หรือ มีฉากทะเลาะกันระหว่างตัวเองที่เป็นเทวดา กับ ปีศาจ หรือ บางครั้งก็เรียกว่าเสียงในใจ เพียงแต่ที่ผ่านมา ตอนที่สติและสมาธิของเรายังไม่แข็งแรง เราแยกระหว่าง เสียงวิเศษ กับ ความคิดที่ปรุงแต่งไม่ได้ (ซึ่งเราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็แยกไม่ค่อยได้) และ ส่วนใหญ่ก็จะเพิกเฉยกับเสียงเตือนนั้นด้วย ชีวิตที่ผ่านมาจึงยุ่งเหยิง วุ่นวายใจตลอดเวลา
เมื่อสติและสมาธิเราแข็งแรงขึ้น ทำให้เราแยกเสียงวิเศษออกจากความคิดที่ปรุงแต่งได้ รู้ว่าควรทำตามเสียงใด และ ทิ้งเสียงใดไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มลังเล สงสัยว่าควรทำตามเสียงใด แปลว่า สติของเราไม่แข็งแรง ซึ่งก็จะมีเป็นพักๆ ช่วงที่เหนื่อย หรือ ฮอร์โมนแปรปรวน เราก็จะบอกตัวเอง ให้พักหรือปล่อยเรื่องนั้นไปก่อน ยังไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจอะไร รอให้สติแข็งแรงแล้วค่อยกลับมาคิดใหม่ ไม่ต้องรีบร้อน ถึงเวลาเดี๋ยวคิดได้เอง เพราะเราก็รู้แล้วเช่นกันว่า อาการรีบร้อนเช่นนั้นเป็นอาการของกิเลสยั่วยุ แต่ถ้าทำด้วยสติ จิตใจจะนิ่ง และสงบ ต่างกันมาก
ยิ่งเราสังเกตเห็นทั้งสองอย่างบ่อยขึ้นเท่าไหร่ สติเราก็ไวขึ้นเท่านั้น และยิ่งสังเกตเห็นเสียงวิเศษบ่อยมากขึ้นเท่าไหร่ และไม่เพิกเฉยต่อเสียงนั้น ชีวิตเราก็เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ยิ่งเห็นความคิดที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น และทิ้งมันไปบ่อยเท่าไหร่ เราก็ทุกข์ใจน้อยลงเท่านั้น วันคืนผ่านไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่า ใจเรามัน "เบา สบาย" แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงแม้จะต้องเผชิญความทุกข์ แต่ความเบาสบายใจนั้น ทำให้เรารับมือความทุกข์นั้นได้แบบเบาๆ สบายๆ
ปัจจุบัน
จากวันแรกที่เราเริ่มสนใจธรรมะ จนถึงวันนี้ที่เราใช้ธรรมะในการนำทางชีิวิต เรารู้ว่าเราเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และใช้ระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ลูกเราอายุได้เพียง 6 เดือน จนถึงวันนี้ที่ลูกเราเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เรารู้ว่า เราไม่ใช่คนๆ เดียวกันกับหลายปีก่อน เพราะทัศนคติ วิธีคิดในการมองโลกภายในตัวเรา และโลกภายนอกรอบตัว เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แบบหน้ามือเป็นหลังมือ (ยิ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า ตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่ใช่ของเรา)
เราเคยอ่านเจอในหนังสือพัฒนาตนเองว่า
"เราไม่สามารถเป็นคนที่เราอยากเป็นได้เลย ถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยนตัวเอง"
ที่เราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ เพราะความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาธรรมะ และ การฝึกสมาธิมีส่วนสำคัญมาก เพราะสมาธิช่วยยกระดับจิตใจ เพิ่มกำลัง และความสามารถของสติปัญญา ทำให้เรามีแรง และพลังในการเอาชนะใจตัวเอง หากเราทำเพียงแค่อ่านหนังสือธรรมะ เราคงไม่ก้าวหน้าสักเท่าไหร่ แต่เพียงลงมือฝึกปฎิบัติไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน ทำให้ได้รับผลลัพธ์เป็น ใจที่ เบา สบาย แบบนี้ ทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันของเราอย่างมาก
ทุกวันนี้ เรารู้สึกสนุกกับการเปลี่ยนตัวเอง และดีใจที่ได้เห็นตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ต้องการให้เป็น เรายังฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม เกือบทุกวัน โดยสลับไปมาระหว่างการออกกำลังกาย สวดมนต์ อ่านหนังสือ ทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้ เย็บผ้า หรือ อะไรก็ตามที่ทำแล้วมีสมาธิ (เอ๊ะ ศิลปะ หายไปไหน?) ที่เพิ่มเติมคือในระหว่างวัน เราคอยสังเกตความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสังเกตเห็นความคิดที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น เราจะกำหนดรับรู้ลมหายใจ และความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เพราะทั้งสองอย่างจะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน และปัดความคิดที่ปรุงแต่งเหล่านั้นทิ้งไปได้
เรารู้สึกว่า เราโชคดีมากที่ได้พบธรรมะ และในระหว่างทางแห่งการศึกษาเรียนรู้ เราได้พบเจออาจารย์ที่ท่านมีสัมมาทิฏฐิ ทำให้เราได้เดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าท่านได้นำทางไว้ ที่จะนำให้เราพ้นทุกข์ได้ และ ไม่หลงไปทางอื่นเสียก่อน
"เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน" พระไพศาล วิสาโล
"ปัจจุบัน คือ ที่รวมของเหตุและผล" อดีตพระอาจารย์มิตซุโอะ คเวสโก
"การทำงานคือการปฎิบัติธรรม" ปัญญานันทภิกขุ และ พุทธทาสภิกขุ
"ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น" แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
"ความทุกข์ ดับได้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้" พุทธทาสภิกขุ
"ชีวิต ไม่มีคำว่าบังเอิญ" แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
"ธรรม เป็น อกาลิโก สามารถปฏิบัติได้ และ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล" พระพุทธเจ้า
ปล เรื่องนี้่เป็นเรื่องที่เราใช้เวลาในการเขียนนานมาก เพราะทุกครั้งที่เขียนจะต้องมีงานอื่นมาแทรก หรือมีสิ่งกวนใจตลอดเวลา ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิและไม่สามารถเขียนได้อย่างต่อเนื่อง จนรู้สึกเหมือนมี "มารผจญ" เลย 555 แต่ในที่สุดก็เขียนจบจนได้ เย้!!!
ขอบคุณความทุกข์ ที่ทำให้เราได้พบธรรมะ ^^
#นักสังเกต
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in