เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ระหว่างทาง#นักสังเกต
หนี้ และ เหตุที่เป็นหนี้
  • จากการสังเกต ผู้ใช้แรงงาน และ หนี้ของพวกเขา ต่อไปนี้คือข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับแรงงานที่มีรายได้น้อยที่มาทำงานที่ร้าน เราอาจเคยทำงานกับคนไม่กี่สิบ แต่ก็มากพอที่จะทำให้เห็นว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขาช่างคล้ายกัน
    - เกือบทุกคนจบการศึกษาแค่ ป. 6
    - บางคนจบ ม. 3 หรือ ป.ว.ช.
    - บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
    - ทุกคนไม่ชอบอ่านหนังสือ และ อ่านไม่คล่อง
    - บางคนอ่านหนังสือนิยาย หรือ หนังสือซุบซิบดารา ไม่อ่านหนังสือที่ให้ความรู้ ที่มีเนื้อหาซับซ้อน
    - เกือบทุกคนไม่สามารถวิเคราะห์ หรือ สังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้
    - ทุกคนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการคิดเลขขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องเปอร์เซนต์ เมื่อถูกถามว่าดอกเบี้ย 20% คิดอย่างไร อาจตอบได้ตามหลักการ แต่เมื่อให้คิดเป็นตัวเลขออกมา ทุกคนไม่สามารถคิดได้
    - ทุกคนมีหนี้ และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ
    -และเนื่องจากมีความรู้น้อย จึงไม่รู้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ตนจ่ายไปมากน้อยแค่ไหน
    -บางคนจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ไม่เคยคิดปิดเงินต้น เพราะคิดเพียงว่าเขาไม่มีเงินก้อนนั้นในเวลานั้น ไม่เคยจด จึงตกใจเมื่อรู้ว่าตนจ่ายดอกเบี้ยไปแล้วเท่าไหร่ (เกินเงินต้นไปหลายเท่า!!!)
    -ทุกคนซื้อหวย และหวังว่าจะรวยหรือปลดหนี้ได้จากการถูกหวย บางคนซื้อหวยเป็นหลักพัน ทั้งที่มีรายได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ
    -แต่เมื่อถูกหวย สิ่งแรกที่ทำคือ เลี้ยงเพื่อน
    -ทุกคนเบิกเงินเดือนล่วงหน้า และ เมื่อได้เงินจะนำไปใช้ทันที
    -ทุกคนไม่ทำบัญชีรับจ่ายส่วนตัว และ ทำไม่เป็น จึงไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้ว ตนมีเงินเหลือหรือไม่
    -ทุกคนที่มีหนี้ เชื่อว่าตนไม่มีเงินเหลือพอที่จะออม และเชื่อว่าตนมีรายจ่าย > รายได้เสมอ ทั้งที่ไม่เคยทำบัญชีเลย
    -ทุกคน "ที่มีหนี้" เชื่อว่าคนที่ไม่มีหนี้และมีเงินเก็บ คือ คนที่มีเงินเดือนสูง หรือ คนที่รวยอยู่แล้ว
    -ทุกคนไม่มีเงินออม หรือ มี แต่เก็บไปได้สักระยะ ก็จะนำออกมาใช้จนหมด
    -เกือบทุกคนไม่เชื่อว่าการเก็บออมจะทำให้รวยขึ้นได้ ไม่เคยได้ยินเรื่องเสื่อผืนหมอนใบ
    -ทุกคนไม่รู้จัก เงินเฟ้อ คิดว่า เงินเฟ้อ = ฟุ้งเฟ้อ
    -ทุกคนชอบดูละครหลังข่าวมาก โดยเฉพาะละครที่ใช้คำพูดรุนแรง มีฉากตบตี
    -ทุกคนไม่เคยดู ไม่ชอบดู รายการที่มีสาระให้ความรู้
    -บางคนชอบดูรายการที่ให้รางวัลด้วยการช่วยปลดหนี้ โดยออกแรงแข่งขันเพียงเล็กน้อย
    -ส่วนใหญ่ชอบทำงานแค่ในหน้าที่ของตนเองเท่านั้น มองว่าการทำเกินหน้าที่เป็นการถูกเอาเปรียบ และ ไม่ยอมเสียเปรียบใคร
    -ทุกคนมีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล บางคนไม่คุมกำเนิด มีลูกทั้งที่ไม่มีความพร้อมทั้งกำลังทรัพย์และความรู้
    -เกือบทุกคนไม่มีความรู้เรื่องสุขอนามัยที่ดีขั้นพื้นฐาน บางคนยังแปรงฟันไม่ถูก ไม่เป็น มีฟันผุทั้งที่มีลูก 3 คนแล้ว
    -เกือบทุกคน เลี้ยงลูกด้วยขนมซอง ไส้กรอกคุณภาพต่ำ ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ โดยไม่รู้ว่ามีโทษและสิ้นเปลือง

    จากข้อมูลด้านบน สรุปได้ว่าผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ มีความรู้น้อย และไม่มีความรู้เรื่องการจัดการเงิน ถ้าเราลองสังเกตแรงงานที่ทำงานอยู่รอบๆ ตัว ก็อาจจะได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงไม่มากก็น้อย  แต่เรื่องการไม่มีความรู้เรื่องการเงินนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น คนที่มีรายได้สูงจำนวนมาก ก็มีปัญหานี้เช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่หลังจากรัฐออกมาตรการป้องกันโควิดแล้วเศรษฐกิจจะล่ม เพราะเขาเหล่านี้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีแต่หนี้และไม่มีความรู้ที่จะทำให้ตนเองไม่มีหนี้ จะบอกว่ารัฐบาลไม่ช่วยก็คงไม่ได้ เพราะรัฐช่วยได้แค่ให้เงิน แต่เมื่อเขาได้เงินแล้วใช้ไม่เป็น ทุกอย่างก็จะวนกลับมาเหมือนเดิม ตราบใดที่เขายังไม่มีความรู้เรื่องการจัดการเงิน

    เราเคยพยายามให้ความรู้เรื่องการเงินกับทุกคนที่เห็นว่าควรช่วย แทนการให้เบิกเงินล่วงหน้า แต่ก็เห็นว่าเป็นความพยายามที่ไร้ผล เพราะเขาไม่อยากได้ความรู้ ที่จะทำให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งต้องใช้ความพยายามอดทน และรอคอยผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น แต่เขาอยากได้เงินล่วงหน้า = หนี้ ที่รวดเร็วและสบายกว่าในเบื้องต้น

    ดังนั้นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชอบโทษภาครัฐเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาก็ได้ ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเอง ที่มีบางเรื่องที่เราเห็นว่าดี ว่าสำคัญ แล้วเราบอกใครบางคนด้วยความหวังดี หวังว่าเขาจะทำแล้วเขาจะดีขึ้น กลับกลายเป็นว่าเขาไม่คิดเหมือนเรา เขาไม่ต้องการ เขารำคาญ และความพยายามของเราก็ไร้ผล เขายังทำเหมือนเดิมต่อไป โดยที่เราทำอะไรไม่ได้

    เรื่องนี้ก็เป็นแบบเดียวกันกับเหล่าผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย และผู้มีหนี้ที่เกิดจากการใช้เงินไม่เป็นทั้งหลาย ไม่ใช่เราไม่เห็นใจ ไม่อยากช่วย แต่เขายอมรับความช่วยเหลือจากเรา ในแบบที่เขาต้องการเท่านั้น นั่นคือได้เป็นเงิน และในจำนวนที่ตนพอใจด้วย (จึงออกมาเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าค่าแรงสูงๆ จะทำให้มีเงินเหลือ **ย้อนกลับไปอ่านข้อมูลข้างบนอีกรอบ) ไม่ต้องการความรู้ ที่ใช้เวลาและการฝึกฝน ในการทำความเข้าใจ 

    ถ้าเราอยากให้สังคมของเราดีขึ้น เราคงต้องช่วยกันให้ความรู้คนเหล่านี้ ให้เขารู้ว่า ค่าแรงหรือรายได้เท่าไหร่ไม่สำคัญ เท่าเก็บได้เท่าไหร่ ช่วยให้เขามีความรู้เพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ เมื่อวิกฤตอะไรมา เขาก็อยู่ได้ 

    สุดท้ายถ้าทุกคนประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อเจอวิกฤต เราก็รอด เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใช้ได้กับทุกคนทุกอาชีพ แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าพอเพียง = อยู่ทีเดิม ห้ามก้าวหน้า ห้ามรวย ห้ามใช้ของหรู หรือ เป็นเรื่องเกษตรกรรมเท่านั้น และที่ตอนนี้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้เพราะคนส่วนใหญ่ไม่พึ่งตัวเอง แต่รอพึ่งสิ่งอื่นอยู่โดยที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in