ชื่อเรื่อง: Finding Nouf (ฉบับแปลภาษาไทย : บุรกา อาฆาต)
ผู้เขียน: Zoë Ferraris
ผู้แปล: ศุภลักษณ์ สนธิชัย (สำนักพิมพ์ สันสกฤต suspense)
ที่มา: https://geekgirlinlove.files.wordpress.com/2013/09/finding-nouf_press.jpg
นูฟ ชราห์วี (Nouf Shrawi) เด็กสาวอายุ 16 ปี บุตรสาวตระกูลเศรษฐีในเจดดาห์ ที่กำลังจะแต่งงานในอีกไม่ช้า หายตัวไปจากบ้าน มีเบาะแสว่า เธอหายไปในทะเลทราย นายีร์ ชาร์คี (Nayir Sharqi) ไกด์ทัวร์ทะเลทราย เชื้อสายปาเลสไตน์ ได้รับการว่าจ้างให้ออกตามหาตัวเธอ แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับเป็นข่าวร้าย เมื่อมีคนพบศพของเธอในทะเลทราย ผลการชันสูตรแสดงให้เห็นว่า เธอเสียชีวิตจากการจมน้ำ เธอมีบาดแผลที่ศีรษะ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กสาวชาวซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่ผู้หญิงไม่สามารถไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ ถ้าหากไม่มีผู้ติดตาม และผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถผู้นี้ (ตามกฎหมายในตอนนั้น) กำลังตั้งครรภ์
อ็อธมาน ชราห์วี (Othman Shrawi) พี่ชายของนูฟ เพื่อนและนายจ้างของนายีร์ว่าจ้างเขาให้สืบหาความจริงเบื้องหลังการตายของเธออย่างลับ ๆ โดยมีคัทยา ฮิจาซี (Katya Hijazi) คู่หมั้นของอ็อตมาน ซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำงานในแล็บของกองพิสูจน์หลักฐานเป็นผู้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง แต่การสืบสวนการตายของนูฟไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในซาอุดิอาระเบีย โลกของผู้ชายและผู้หญิงถูกแบ่งแยกออกจากกันแทบจะสิ้นเชิง การพบปะกันในที่สาธารณะ การทำสิ่งที่หมิ่นเหม่ต่อกฎศาสนาอาจชักนำความลำบากมาให้ได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะกับผู้หญิง
จากการค้นหานูฟ และค้นหาความจริงเบื้องหลังการตายของเธอ ทำให้นายีร์ ชาร์คี ชายหนุ่มผู้เคร่งครัดในศาสนา ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสิ่งมึนเมา ไม่เคยเห็นเรือนร่างใต้เสื้อคลุมอบายาร์ของผู้หญิงเลยสักครั้ง ทั้งยังขัดเขินและรู้สึกผิดที่จะมองหน้าของผู้หญิงที่ปราศจากผ้าคลุมบุรกา ถูกดึงเข้าไปในโลกที่เขาแทบไม่เคยรู้จักมาก่อน นั่นคือ โลกของผู้หญิงและความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงภายใต้กรอบและกำแพงที่วางเอาไว้อย่างแน่นหนา
สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ตลอดเวลาที่ค้นหาความจริงเกี่ยวกับคดีของนูฟ ทำให้ความคิดที่เคยมีของเขาต้องสั่นคลอน เมื่อค้นพบตัวตนที่แท้จริงของนูฟ เด็กสาวที่ใครต่อใครในครอบครัวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เธอมีความสุข ไม่เคยมีสิ่งใดต้องกังวล และกระตือรือร้นกับการออกเรือน และเมื่อได้ทำงานใกล้ชิดกับคัทยา หญิงสาวที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างโลกในกรอบศาสนา สังคม และวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยข้อห้าม กับตัวตนที่แท้จริงของเธอ และสิ่งที่เธอปรารถนาที่จะทำ
===================================
เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่อ่านแล้วแทบไม่อยากวาง ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่พอเริ่มอ่านไปแล้ว สิ่งที่คนเขียนเล่าเปิดหูเปิดตาและเปิดโลกที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนจนอยากรู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ไม่ใช่แค่พระเอกของเรื่องนี้หรอก ที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ แต่ตัวเองที่เป็นคนอ่าน และตามนายีร์กับคัทยาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ของเจดดาห์ คฤหาสน์ริมทะเลแดง และแหล่งน้ำกลางทะเลทราย ก็ได้รู้จักกับสิ่งที่ตัวเองไม่เคยมีความรู้ ไม่เคยเห็นภาพมาก่อนเหมือนกัน
ตัวคดีอาจไม่ได้ซับซ้อนมาก เผลอ ๆ เดาได้ตั้งแต่เริ่มอ่านบทต้น ๆ แล้วด้วยซ้ำว่า น่าจะมีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้สนุกและน่าติดตาม จนเรียกว่า มีจุดให้ลุ้นอยู่เรื่อย ๆ คือ ตัวตนที่แท้จริงของนูฟที่ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อย ๆ ชีวิตที่เหมือนนกในกรงทองของผู้หญิง ความยากลำบากของผู้หญิงที่ตัดสินใจทำงานมีอาชีพเป็นของตัวเอง และการร่วมมือกันของชายหนุ่มกับหญิงสาวที่มีข้อจำกัดในการพบปะกันหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อต่างคนต่างยังไม่ได้แต่งงาน
สิ่งที่ชอบในวิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียน คือ บรรยายให้เห็นภาพของผู้หญิงที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดัน โดยที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาตรง ๆ ให้ความเคารพในวัฒนธรรมความเชื่อของชาวซาอุดิอาระเบีย กับปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ให้คนอ่านคิดเอาเองว่า ชีวิตของผู้หญิงภายใต้ผ้าคลุมหน้าเหล่านี้ มีความสุขหรือไม่มีความสุขอย่างไรกันแน่
สำหรับตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิง ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้วอย่างคัทยากับนูฟ สำคัญกับเรื่องมาก ๆ และเป็นตัวแทนในการบอกเล่าถึงแง่มุมที่อึดอัดและขัดข้องของผู้หญิงในเรื่องนี้ได้ดี เพราะทั้งสองคนมีจุดที่เหมือนกันตรงที่ พวกเธอใฝ่หาการศึกษา อยากใช้ความรู้ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ อึดอัดกับความว่างเปล่าในชีวิตแบบผู้หญิง ๆ ที่หลายคนบอกว่าชีวิตอย่างนี้นั้นดีแล้ว และต่างกันตรงที่ คนหนึ่งยังเด็กเสียจนทำเรื่องผิดพลาด แต่อีกคนหนึ่งโตพอ มีความคิดมากพอที่จะรักษาตัวเอง และเอาตัวรอดไปพร้อมกับประนีประนอมหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว และโชคดีพอที่ความเข้มแข็งของเธอทำให้ผู้ชายบางคน ยอมให้ความร่วมมือและยอมรับในสิ่งที่เธอทำ
การที่คัทยาถูกเลี้ยงดูมาโดยพ่อคนเดียวที่ไม่ยอมแต่งงานใหม่หลังจากแม่เสียชีวิต ได้รับการศึกษาถึงปริญญาเอกด้านเคมี กว่าจะหางานได้ก็ยากเย็น กว่าพ่อจะตัดสินใจให้เธอออกไปทำงาน ทั้งที่รู้ว่า การที่ผู้ชายยอมให้ผู้หญิงออกไปทำงานอาจถูกมองว่า เลี้ยงผู้หญิงไม่ได้ ที่บ้านมีปัญหาด้านการเงิน ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป และต้องจ้างให้เพื่อนสนิทอย่างอาหมัด เป็นคนคอยขับรถรับส่งลูกสาวไปในที่ต่าง ๆ ในฐานะผู้ติดตาม ไม่ให้ผิดกฎหมายและศาสนา บอกอะไรได้หลายอย่างเลยละค่ะ
ในส่วนของตัวละครที่เป็นผู้ชาย คนที่เคยนึกภาพของชีคหรือหนุ่มอาหรับหล่อล่ำลากสาวขึ้นเตียงแบบในนิยายโรแมนซ์ก็ให้ลืมไปเถอะค่ะ นักสืบจำเป็นของเราไม่ใช่คนแบบนั้น
นายีร์ ชาร์คี ไกด์ทะเลทรายผู้หลงรักความสงบของทะเล เป็นตัวแทนของชายชาวทะเลทรายที่เคร่งศาสนาและเป็นสุภาพบุรุษ เพราะศาสนาตีกรอบให้เขาเป็นผู้ชายที่มองว่าการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับผู้หญิงนั้นเป็นบาป แต่ก็มองว่าตัวผู้หญิงเองก็ควรจะระวังตัวไม่ทำอะไรที่ผิดกฎศาสนาและประเพณีด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ตั้งแต่ต้นจนเกือบจะจบเรื่อง นายีร์แทบไม่ถูกตัวผู้หญิงคนไหนเลย ยกเว้น นุสรา แม่ของนูฟ ที่เป็นคนตาบอด
ถึงจะเป็นคนเคร่งศาสนา แต่นายีร์ไม่ใช่คนใจแคบ ถึงจะโดยช็อกด้วยความจริงหลายอย่างที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่เคยโทษฝนโทษฟ้า โทษใครต่อใครแบบไม่มีเหตุผล แต่พยายามทำความเข้าใจ จนหลายครั้งก็ยอมตกกระไดพลอยโจนทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงไปด้วย เพื่อปกป้องคัทยาไม่ให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะตำรวจศาสนา หรือคนอื่นที่อาจจ้องเล่นงานด้วยเรื่องทางศาสนา เพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้หญิงตกเป็นเป้าสายตามากกว่าผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคอยเตือนตัวเองว่า เธอเป็นคู่หมั้นของอ็อธมาน และกำลังจะแต่งงานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลชราห์วีในอีกไม่ช้า
ในขณะที่นิยายในโลกตะวันตก พระเอกกับนางเอกอยู่ด้วยกันสองต่อสองเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเรื่องนี้ ตอนที่คัทยากับนายีร์ต้องอยู่ด้วยกันสองคน อย่างตอนที่ตำรวจศาสนามาเคาะกระจกรถทัก ตอนที่คัทยาเปิดผ้าคลุมหน้าหาของเพราะมองไม่ถนัด ระหว่างอยู่กับนายีร์ กับตอนที่คัทยาไปหานายีร์ในเรือที่ใช้เป็นที่พักในมารีน่า แล้วต้องให้เข้ามาอยู่ด้วยกันสองคนเพราะกลัวคนอื่นจะเจอ ลุ้นระทึกพอกันกับความจริงเกี่ยวกับตัวนูฟที่ถูกเปิดเผยออกมาทีละนิด เพราะกฎศาสนาจะส่งความซวยมาเยือนได้ง่าย ๆ และที่ลุ้นเป็นประการถัดมา คือ เรื่องความสัมพันธ์ของสองคนนี้นี่ละ ว่าจะลงเอยกันแบบไหน เพราะคนหนึ่งยังโสดแต่แทบไม่รู้จักผู้หญิง แต่อีกคนก็เป็นผู้หญิงที่มีคู่หมายอยู่แล้ว
เอาเข้าจริง ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นการบอกเล่าสภาพสังคมและความเชื่อของคนในซาอุดิอาระเบียผ่านคดีฆาตกรรมเด็กสาวคนหนึ่งก็ได้ หนังสือค่อนข้างเก่าแล้ว และมีออกมาเป็น series ต่อในชื่อ City of Veils กับ Kingdom of Strangers
ไม่แน่ใจว่า ฉบับแปลไทยยังพอหาได้หรือเปล่า แต่ถ้าหาได้ แนะนำให้ลองอ่านดูค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in