เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
On Shelvespiyarak_s
Mindhunter: เอฟบีไอ พฤติกรรมศาสตร์ อาชญากร
  • "First tell me about the crimes and let me tell you about the guy"
    John Douglas





    Book title:    "Mindhunter: Inside the FBI's Elite Serial Crime Unit" 
    Author(s):     John Douglas, Mark Olshaker
    Genre:          Non-fiction



    หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า 'ชีวิตจริงบางทีก็ยิ่งกว่านิยาย' เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงบางเรื่องก็โหดร้าย ชวนพิศวง และเข้าใจยากยิ่งกว่าเรื่องที่แต่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน นิยายบางเรื่อง ละครบางตอนก็อาจสะท้อนมาจากเรื่องจริงเช่นเดียวกัน 

    ถ้าใครเป็นแฟนอาชญนิยายหรือซีรี่ส์สืบสวนสอบสวน แนวนิติวิทยาศาสตร์ และนิติจิตวิทยาที่นำเอาศาสตร์ด้านจิตวิทยามาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นใคร หรือ UNSUB (Unknown Subject) อย่าง Hannibal หรือ Criminal Minds คงคุ้นเคยกับหน่วยงานพิเศษหน่วยงานหนึ่งของ FBI คือ Behavioral Science Unit (BSU) หรือบางซีรี่ส์เรียกว่า Behavior Analysis Unit (BAU) แต่กว่าจะมาถึงจุดที่หน่วยงานพิเศษและเจ้าหน้าที่พิเศษจะมาทำหน้าที่ของตัวเองและเป็นที่รู้จักในโลกของวรรณกรรมและสื่อบันเทิงอย่างทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจพอกันหรือบางทีก็อาจจะยิ่งกว่าเรื่องแต่งเสียอีก 

    Mindhunter เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของคุณ John Douglas เจ้าหน้าที่พิเศษของหน่วยพฤติกรรมศาสตร์รุ่นบุกเบิก เป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนเทคนิคการวิเคราะห์พฤติกรรมของอาชญากรของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ หรือ FBI ที่ศูนย์ฝึกควอนติโก และเขียนคู่มือเกี่ยวกับการวิเคราะห์พฤติกรรมที่เจ้าหน้าที่รุ่นหลังใช้ประโยชน์และพัฒนางานสอบสวนอย่างทุกวันนี้ และ Netflix ก็ได้นำไปทำซีรี่ส์แล้วด้วย 


    หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 19 บท โดยอาจแบ่งเป็น 2 ภาคหลักๆ คือ ก่อนที่คุณดักลาสจะเข้าไปทำงานเป็น FBI และระหว่างฝึกอบรม หลังจากผ่านการฝึกอบรมเข้าเป็น FBI เต็มตัวและการทำงานในหน่วย BSU  โดยในแต่ละบทก็จะมีการยกตัวอย่างคดีดังที่ทำ อธิบายกระบวนการ วิธีคิด หลักการคิด และแนวทางในการวิเคราะห์พฤติกรรมและประมวลผลเพื่อหาลักษณะของคนที่เป็นผู้ต้องสงสัยในคดี 


    ในช่วงแรกของ Mindhunter คุณดักลาสเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าทำงานเป็น FBI ของคุณดักลาส และที่มาที่ไปของความสนใจศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมของคนอื่น และตัวอย่างของการใช้ทักษะการสังเกตพฤติกรรมและทำนายแนวโน้มของตัวบุคคลไปใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน (แต่บางทีการเป็นนักพฤติกรรมศาสตร์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการทำเซอร์ไพรส์ขอสาวแต่งงานเหมือนกัน) 

    ส่วนในภาคหลังการอบรมและทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเต็มตัว เป็นเรื่องการทำงานของหน่วยพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการวิเคราะห์พยานหลักฐานที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเหยื่อ สภาพที่เกิดเหตุ การกระทำของอาชญากร และอื่นๆ ประกอบกันขึ้นเป็นลักษณะและตัวตนของผู้ต้องสงสัย และกว่าจะได้ฐานความรู้ที่มากพอ การเรียนรู้วิธีคิดแบบอาชญากรจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเรียนรู้จากตัวอาชญากรเอง ในบางบท เราก็จะได้เห็นคุณดักลาสและเพื่อนร่วมงานเข้าไปสัมภาษณ์อาชญากรต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ทั้งฆาตกรต่อเนื่อง นักข่มขืนต่อเนื่อง ฆาตกรในคดีสังหารหมู่ เพื่อสำรวจแรงจูงใจ เหตุผลของการกระทำเพื่อนำมาวิเคราะห์หาจุดร่วมของพฤติกรรมของอาชญากรในแต่ละรูปแบบ

    ช่วงแรก ๆ อาจจะมีช่วงอืดเล็กน้อย เพราะเป็นส่วนของประวัติส่วนตัว แต่พอเข้าส่วนของแนวทางการทำคดี วิธีการคิดวิเคราะห์ และยกตัวอย่างการทำ 'คดีจริง' ที่เกิดขึ้น ซึ่งคดีพวกนี้มักจะเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องระดับตำนานของสหรัฐอเมริกาที่ถ้าใครติดตามพวก true crime หรือหนังกับซีรีส์ที่สร้างอิงจากคดีเหล่านี้นึกภาพตามได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ทำให้ Mindhunter พิเศษ คือ เป็นการเล่าผ่านปากของคนทำคดีนั้นจริง ๆ หรือได้สัมภาษณ์และสัมผัสกับตัวตนของอาชญากรคนนั้นมาจริง ๆ 

    นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อย ที่ตัวเองคิดว่าน่าสนใจดี


    Taking the Show on the Road

    "The three most common motives of serial rapists and murderers turn out to be domination, manipulation, and control." 

    "Manipulation. Domination. Control. These are the three watchwords of violent serial offenders." 

    พูดถึงเรื่องแรงจูงใจของอาชญากรนักข่มขืนและฆาตกรต่อเนื่อง ในหลาย ๆ คดีมีจุดร่วมเดียวกัน 3 อย่าง คือ การชักจูงให้ทำตาม การครอบงำ และการควบคุม 


    The Most Dangerous Game

    "Modus operandi—MO—is learned behavior. It’s what the perpetrator does to commit the crime. It is dynamic—that is, it can change. Signature, a term I coined to distinguish it from MO, is what the perpetrator has to do to fulfill himself. It is static; it does not change." 

    'แบบแผนการก่ออาชญากรรม' กับ 'ลายเซ็น' ของอาชญากรนั้นต่างกัน แบบแผนการก่ออาชญากรรมหรือแผนประทุษกรรมนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่อาชญากรเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ลายเซ็นนั้นมีเอกลักษณ์ ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิ่งที่ผู้กระทำความผิดทำเพื่อเติมเต็มบางสิ่งให้ตนเอง


    "The best predictor of future behavior, or future violent action out, is a past history of violence." 


    และเหตุสำคัญที่ต้องศึกษาพฤติกรรม หรือเหตุที่ทำให้พฤติกรรมศาสตร์มีความสำคัญก็เพราะพฤติกรรมหรือการกระทำที่เคยกระทำมาในอดีตเป็นสิ่งบ่งชี้หรือใช้ทำนายพฤติกรรมหรือความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีที่สุดนั่นเอง



    สำหรับคนที่ชอบเรื่องสืบสวนหรืออยากลองเขียนเรื่องสืบสวน Mindhunter เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีสำหรับการศึกษาการสร้างตัวละครและแบบแผนการสืบคดีเลยละ เพราะมีมุมมองให้เห็นค่อนข้างรอบด้าน และมีเนื้อหากับข้อสังเกตเด็ด ๆ เป็นไฮไลท์หลายข้อด้วยกัน ส่วนคนที่เป็นนักอ่าน หนังสือเล่มนี้มีส่วนที่สนุกและส่วนที่น่าเบื่ออยู่บ้าง และค่อนข้างยาว ถ้าไม่อ่านรวดเดียวยาว ๆ ค่อย ๆ อ่านไปทีละบทก็จะดี ส่วนที่จะเริ่มสนุกขึ้นมาก็คือช่วงที่คนเขียนเข้าทำงานในแผนกพฤติกรรมศาสตร์และสัมภาษณ์อาชญากรเพื่อรวบรวมข้อมูลนั่นล่ะค่ะ ช่วงปลาย ๆ เรื่องมีแผ่วนิดหน่อย แต่ในภาพรวมก็ถือเป็น non-fiction ที่ดีใช้ได้เลย แต่ถ้าใครขี้เกียจอ่าน ดู Mindhunter ใน Netflix สนุกกว่า เพราะเรียบเรียงเรื่องได้ suspense กว่า


    ป.ล. มีแปลไทยแล้ว มีจุดที่แปลก ๆ บ้าง แต่ในภาพรวมก็โอเคอยู่นะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in