"เธอรู้ไหมว่าผู้ชายกับผู้หญิงต้องการอะไรในโลกนี้? พวกเขาต้องการความรักที่ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งและเจ็บปวด ความรักที่สนุกสนานไร้ซึ่งสิ่งใดให้กังวล ความรักที่ไม่ได้กลายมาเป็นภาระ ไม่มีใครมองหารักแท้จริงที่มาพร้อมกับความเจ็บปวดหรอก..." - โยโกะ (หน้า 9)
"ฉันถามหาหน้าตาของความรัก
(The Apprenticeship of Big Toe P - 親指Pの修業時代)"
ผู้เขียน: Rieko Matsuura (理英子 松浦)
ผู้แปล: วิลาส วศินสังวร
สนพ.เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง
พิมพ์ครั้งที่ 1, มีนาคม 2558
"นิ้วหัวแม่เท้าขวาของฉันกลายเป็นไอ้จ้อน..."
โยโกะ เพื่อนสนิทของคาซึมิฆ่าตัวตายและเลือกที่จะให้คาซึมิเป็นผู้พบศพ คาซึมิได้แต่สงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นเธอ และหลังจากวันนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาจากความฝันแปลกประหลาด คาซึมิก็ค้นพบความผิดปกติบางอย่างบนร่างกาย นิ้วหัวแม่เท้าขวาของเธอกลายเป็นอวัยวะเพศชาย! ไม่เพียงแต่รูปร่างเท่านั้น มันยังมีความรู้สึกเสียวซ่านและแข็งตัวได้เหมือนไอ้จ้อนของจริง เธอไม่รู้ว่านี่เป็นพรหรือคำสาปจากโยโกะหรือเปล่า ทำไมถึงได้เกิดเรื่องพิสดารอย่างนี้กับเธอกันนะ! ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มของเธอก็เริ่มมีปัญหา และเป็นสาเหตุที่ทำให้คาซึมิได้รู้จักกับชุนจิ ชายหนุ่มตาบอดนักเปียโนผู้ไม่เคยสัมผัสกับความรักและมิตรภาพที่แท้จริง คาซึมิตกหลุมรักเขา ชุนจิไม่มีปัญหากับการที่เธอมีไอ้จ้อนอยู่ที่นิ้วหัวแม่เท้าเลยสักนิด แต่แล้ววันหนึ่งคาซึมิก็ได้รับข่าวว่ามีคณะละครใต้ดินที่มีชื่อเสียงสนใจชวนเธอเข้าร่วมคณะ สมาชิกใน คณะบุปผา นั้นล้วนแต่มีความ พิเศษ คล้าย ๆ กับคาซึมิ การแสดงของพวกเขาก็ พิเศษ เช่นกัน คาซึมิและชุนจิตัดสินใจออกเดินทางร่วมกับ คณะบุปผา คาซึมิสงสัยเหลือเกินว่านิ้วหัวแม่จ้อนของเธอจะพาเธอไปพบเจออะไรในการเดินทางครั้งนี้...
เริ่มจากอ่าน
เพราะเราอยู่บนโลกคนละใบ (Ura Version - 裏ヴァージョン) ของ Rieko Matsuura ก่อนแล้วเกิดติดใจ ก็เลยตั้งใจว่าจะอ่าน
ฉันถามหาหน้าตาของความรัก (The Apprenticeship of Big Toe P - 親指Pの修業時代) นี้เป็นเล่มถัดมา แต่ก็มีเหตุให้ไปหยิบเรื่องอื่นมาอ่านก่อนทุกที แต่ในที่สุดก็หยิบมาอ่านจนจบจนได้ล่ะนะ (ใช้เวลาไปร่วมเดือน ฮาา) พอเริ่มอ่านแล้วถึงนึกออกว่าที่ซื้อเรื่องนี้มาก็เพราะพล็อตนิ้วหัวแม่จ้อนเนี่ยแหละ ไอ้จ้อนที่หัวแม่เท้าเนี่ยนะ?! แถมมางอกบนร่างกายของนางเอกอีก แม่เจ้า คุณคนเขียนเขาจินตนาการบรรเจิดมากนะ ว่าไหม? (ว่าแต่ทำไมต้องเป็นที่หัวแม่เท้านะ ดูลำบากออก =//=) พล็อตเรื่องนี้ก็ออกไปทางแฟนตาซี ดราม่าแบบหน่วง ๆ เราจัดให้เรต 18+ มีฉากเซ็กส์เยอะพอสมควร เพราะปมหลักของตัวละครอยู่ที่อวัยวะเพศที่ดันงอกเกินออกมาในตำแหน่งประหลาด แถมยังไม่ตรงกับเพศสภาพอีกด้วย บวกกับการค้นหาความหมายของเซ็กส์กับความรัก
ถ้าใครเคยอ่าน เพราะเราอยู่บนโลกคนละใบ น่าจะพอจับทางได้ว่า Rieko Matsuura ดูจะติดใจประเด็นเลสเบี้ยนและ SM (sadism/Masochism) เพราะมีพล็อตแบบนี้อยู่ในหลายบท ใน ฉันถามหาหน้าตาของความรัก ก็มาแนว LGBT (Lesbian, gay, bisexual, and transgender) บวกกับ SM ในรูปแบบนิยายเรื่องยาวกันเลย บอกตามตรงว่าตอนแรกไม่ได้เตรียมใจจะเจอพล็อตแบบนี้ คิดว่าอาจจะเปลี่ยนแนวบ้าง เลยมีเหวอไปเล็กน้อยตอนเรื่องค่อย ๆ เผยประเด็นนี้ออกมาอย่างชัดเจน
ถ้าพูดถึงความรัก เชื่อว่าแต่ละคนก็มีนิยาม มีความรู้สึกและมุมมองแตกต่างกันออกไป และน่าจะเปลี่ยนไปตามวัย และประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มขึ้น ตัวคาซึมิในนิยายเรื่องนี้เองก็ค่อย ๆ เติบโตและเรียนรู้ไปทีละนิดจากการเดินทางร่วมกับไอ้จ้อนที่หัวแม่เท้าข้างขวา ความรักที่ขับเคลื่อนอยู่ในนิยายของ Rieko Matsuura เรื่องนี้มันก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ อย่างเพศสภาพ รูปลักษณ์ภายนอกหรืออวัยวะ รวมไปถึงรูปแบบ เมื่อความรักมาถึงจุดหนึ่ง เมื่อเราชอบหรือรักใครสักคนอย่างจริงใจ ปัจจัยภายนอกอย่างรูปร่างหน้าตา หรือเพศของเขาจะไม่สำคัญเลย และถึงแม้เขาจะมีสิ่งที่เราไม่ชอบ นิสัยที่น่ารำคาญเราก็จะทนมันได้เพราะเรามีความรักที่มีพลังมากกว่า "ฉันรู้สึกสบายใจขึ้นในยามที่เลิกคิดถึงว่าเพศใดควรจะคู่กับเพศใด ฉันปฏิเสธความรักของคนเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล..." (คาซึมิ, หน้า 337) เมื่อคาซึมิเปิดใจและยอมรับว่าตัวเธอหลงรักผู้หญิงได้ เธอก็ค้นพบว่าตัวเองก็มีความหื่นอยากอยู่ในตัว จากที่ผ่านมาเวลาร่วมรักกับแฟนเก่า หรือชุนจิ คาซึมิติดอยู่ในกรอบจินตนาการถึงรูปแบบของเซ็กส์และตอบสนองในแบบที่เธอคิดว่าควรจะเป็น ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกต้องการของตัวเอง ดังนั้น พอมาร่วมรักกับผู้หญิงด้วยกันซึ่งเกิดจากความปรารถนาของตัวเธอเอง จึงเหมือนเป็นภาวะหลุดออกมาจากกรอบหรือรูปแบบเดิม ๆ จึงก่อเกิดความรู้สึกหื่นอยากขึ้นมาเป็นครั้งแรก สำหรับคาซึมิ มันไม่ใช่เพราะอีกฝ่ายเป็นหญิงหรือชาย แต่เป็นเพราะเธอรักคน ๆ นั้น เหมือนที่ฮิเดกิในการ์ตูนเรื่องดิจิทัลเลดี้ตอบเฟรย่าเมื่อถูกถามว่าจะรักชีได้ไหมถ้าชีมีสิ่งที่ชีทำไม่ได้ "ยังไงฉันก็รักชี...ไม่ใช่เพราะอยากครอบครองร่างกายชีถึงรัก แต่เพราะรักเลยปรารถนา" (Clamp, ดิจิทัลเลดี้ (Chobits), หน้า 98)
ตัวละครอีกตัวที่มีสีสันและน่าสนใจก็คือทาโมทสึ ชายหนุ่มผู้ยึดติดกับความปรารถนาอยากมีเซ็กส์แบบปกติ รวมทั้งอวัยวะที่เหมือนผู้ชายทั่วไป เขาไม่ยอมรับตัวเอง ไม่ยอมรับน้องชายของตัวเอง และเลือกที่จะทำร้ายทั้งชิน ทั้งเอโกะให้เจ็บช้ำทั้งกายและใจ และเพราะเขาไม่เคยสูญเสีย เขาจึงยิ่งไม่เห็นคุณค่าของความรักที่เอโกะมอบให้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วทาโมทสึเป็นคนน่ารักและอ่อนโยน เรื่องราวของเขาทำให้เราสะเทือนใจและเห็นใจอย่างมาก แต่เขาก็มักจะปล่อยให้อารมณ์และความยึดติดนั้นขึ้นมามีอิทธิพลเหนือด้านดี ๆ เหล่านั้น และแสดงแต่ด้านร้ายกาจออกมา เอาความทุกข์ที่มีทำร้ายทั้งตัวเองและคนอื่น ขอเพียงเขาเลิกหมกมุ่นกับรูปแบบ ปกติ เขากับเอโกะก็น่าจะเป็นคู่รักที่มีความสุข แต่เมื่อถึงเวลานั้นมันจะยังทันอยู่หรือเปล่าหนอ?
"อย่าอาลัยอาวรณ์ความสุขราวกับเธอสูญเสียมันไป
แต่จงมีความสุขกับความทรงจำราวกับเธอได้รับมันมา"
- มาซามิ (หน้า 433)
การแสดงของชาวคณะบุปผาเองก็เหมือนจะเป็นตัวแทนเพื่อเสียดเย้ย กลุ่มคนดูซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ชนชั้นสูงจนถึงชนชั้นกลาง และ(อาจจะ)มีชีวิตปกติเรียบง่ายน่าเบื่อหน่าย การชมละครของคณะนี้เป็นเหมือนอีกช่องทางในการหลีกหนีจากความจำเจของพวกเขา ในขณะที่ชาวคณะกลับฝันถึงชีวิตปกติแบบที่คนดู(อาจจะ)มี (นอกเรื่องนิด: แว้บแรกที่คณะบุปผาปรากฏตัวในเรื่อง เรานึกถึงซีรี่ส์เรื่อง American Horror Story Season 4 (Freak Show) คณะโชว์นั้นก็รวมเหล่าคนมีปมเหมือนกัน แต่คนละแนว ว่าแล้วก็ยังดู S5 ไม่จบเลยเนี่ย TT^TT)
แม้ว่าเนื้อเรื่องจะน่าสนใจ และมีหลายประเด็นที่น่าคิด แต่จังหวะการเดินเรื่องบางช่วงมันออกจะน่าเบื่อและโหดเกินไปหน่อย ให้ 3.5 คะแนนจาก 5 อ่านแล้วไม่ประทับใจเท่า เพราะเราอยู่บนโลกคนละใบ ที่เป็นรวมเรื่องสั้นอะ เอาล่ะ จบแล้วก็อ่านนิยายจีนได้สักที woohoooooo
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in