เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกการอ่านmenalin
สูญสิ้นความเป็นคน (人間失格) - ดะไซ โอซามุ
  • "ตกต่ำ...เกินกว่าจะเรียกว่ามนุษย์
    ผมสูญสิ้นความเป็นคนโดยสมบูรณ์"
    - โยโซ
    (หน้า 174)



    "สูญสิ้นความเป็นคน (人間失格 - Ningen Shikkaku)"

    ผู้เขียน: ดะไซ โอซามุ (治 太宰)
    ผู้แปล: พรพิรุณ กิจสมเจตน์
    สนพ. เจลิท, พิมพ์ครั้งแรก, กรกฎาคม 2559

    ภาพ cover จาก colorfully.eu
    ภาพปก จาก goodreads.com

              สูญสิ้นความเป็นคน คือบันทึกเรื่องราวในชีวิตของชายที่ชื่อ โอบะ โยโซ ถูกนำมาตีพิมพ์โดยนักเขียนนิยายคนหนึ่งซึ่งบังเอิญได้รับสมุดบันทึกของโยโซมาสามเล่มจากคนที่เคยรู้จักกับโยโซมาก่อน โดยไม่ผ่านการตัดต่อหรือปรุงแต่งเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื้อหาในแต่ละเล่มจะแบ่งออกตามช่วงชีวิตในสามช่วงเวลาของโยโซ คือ วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ จากชีวิตสุขสบายในครอบครัวใหญ่ บิดาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ต่อมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยใช้ชีวิตเสเพลจนเสียการเรียน สุดท้ายตกอับหมดสภาพ

              เราเริ่มอ่านเล่มนี้โดยไม่รู้จักผู้เขียนคนนี้มาก่อน เพียงแต่เกิดสะดุดใจกับชื่อเรื่องแถมด้วยโปรแพ็กคู่แถมสมุดโน้ต (พรีออเดอร์พร้อมรวมเรื่องสั้น ฝันสิบราตรี) เลยสั่งมาอ่าน เป็นหนังสือเล่มเล็กที่ให้น้ำหนักกดทับไม่น้อยเลย ตอนแรกก็แอบสงสัยว่า ดะไซ โอซามุ นี่เขามีปมอะไรในใจหรือเปล่าถึงได้ถ่ายถอดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ และกดดันออกมาได้ชัดเจนขนาดนี้ พอมาอ่านคำตาม และประวัติท้ายเล่มก็ยิ่งอึ้ง อยากจะย้อนกลับไปอ่านทวนใหม่อีกรอบ แต่ไม่รู้ว่าถ้าอ่านใหม่คราวนี้จะแยกออกหรือไม่ว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง

              ตอนเป็นเด็กโยโซมักจะเสแสร้งแกล้งเป็นตัวตลกให้คนอื่นหัวเราะเยาะ หรือขบขันอยู่เสมอ แต่แท้จริงภายในใจของเขานั้นเต็มไปด้วยความกลัว ความเศร้า และอึดอัดใจ โยโซไม่เคยแสดงออกถึงความรู้สึกจริง ๆ ไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลยสักครั้ง เพราะเขากลัวเหลือเกินว่าจะมีคนมองเห็นตัวตนอันแท้จริงข้างใน "...รู้ตัวอีกทีผมก็กลายเป็นเด็ก ซึ่งไม่พูดความจริงแม้แต่คำเดียว" (หน้า 19) แต่ถึงแม้โยโซจะปกปิดได้อย่างแนบเนียนแค่ไหน เราก็ยังได้ยินเสียงกรีดร้องที่ดังออกมาผ่านตัวอักษร ยิ่งอ่านเรายิ่งรู้สึกว่าคน ๆ นี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก หากว่าจะมีสักคนที่สังเกตเห็นความผิดปกติในจิตใจของเขาและยื่นมือเข้าช่วย โยโซก็อาจจะมีเส้นทางชีวิตที่ดีกว่านี้

              นอกจากน้ำหนักของความทุกข์ใจของโยโซที่กดทับคนอ่านแล้ว ดะไซ โอซามุ ยังใส่คำถามคับข้องใจต่อผู้คน ต่อสังคมลงไปแบบตัวเป้ง ๆ แล้วยังแอบ (?) จิกกัดเสียดสีเล็ก ๆ เสียดเย้ยตัวเองก็ไม่น้อย นึกภาพเป็นฉากในหนังแบบพระเอกนั่งเขียนบันทึกอยู่ในห้องที่มีแสงเพียงสลัว ๆ หน้านิ่วคิ้วขมวดเร่งความเร็วในการเขียนขึ้นเรื่อย ๆ เคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก มีเพลงบรรเลงประกอบเร้าอารมณ์หนักขึ้นไปอีกเพื่อสื่ออารมณ์ออกมาให้คนดูสัมผัสได้ถึงความหม่นเศร้า ความล้มเหลว ความคับแค้นของตัวละคร แต่อารมณ์ทั้งหมดนี้เพียงแค่กดดันให้เรารู้สึกหน่วง ๆ ไม่ถึงกับทำให้เราเครียดจนทนไม่ไหว

              นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของนักเขียนญี่ปุ่นที่น่าสนใจ นับเป็นโชคดีที่มีสนพ. เลือกนำผลงานของนักเขียนชื่อดังอีกคนของแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่นมาให้คนไทยได้อ่าน ติดอยู่นิดหนึ่งเรื่องเชิงอรรถที่นำไปไว้ท้ายเรื่อง มันไม่ค่อยสะดวกเท่าไรที่ต้องเปิดสลับไปมาระหว่างอ่าน อยากให้ทำไว้ท้ายหน้าแต่ละหน้าที่เชิงอรรถอธิบายขยายความส่วนนั้น ๆ แทนมากกว่า
              
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in