ผลการจัดอันดับของ 2017 World Press Freedom Index โดยองค์กร Reporters Without Orders เผยให้เห็นนัยยะสำคัญบางอย่างโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ด้าน 'เสรีภาพของสื่อที่ดี' 4 อันดับแรก เป็นประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียทั้งหมด คือ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ
เสรีภาพของสื่อที่ดี มาจากสังคมที่ดี หรือสังคมที่ดีมาจากเสรีภาพของสื่อที่ดี? ก็อาจจะเป็นสองสิ่งที่เกื้อกูลกัน แต่ที่แน่ชัดก็คือ ไม่ว่าจะสังคมหรือสื่อที่มีคุณภาพนั้น ต่างไม่ได้สร้างขึ้นมาได้ในเร็ววัน
ตัวอย่างของประเทศที่มีเสรีภาพสื่อเป็นอันดับที่ 2 ของโลก
อย่างสวีเดน น่าจะพอเป็นคำอธิบายที่ดีได้ เพราะพวกเขาพัฒนาเสรีภาพของสื่อมาหลายร้อยปี ก่อนที่สื่อจะเข้ามาหาคุณทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือหน้าจอโทรทัศน์เสียด้วยซ้ำ
สวีเดนกับประวัติศาสตร์ด้านสื่ออยู่คู่กันมาเนิ่นนาน สวีเดนเป็นชาติแรกๆ ที่พิมพ์หนังสือด้วยเครื่องพิมพ์ ภายหลังโยฮันน์ กูเตนแบร์กประดิษฐ์' เครื่องพิมพ์แบบตัวพิมพ์ถอดได้' ไม่กี่ปี ต่อมา ก็มีหนังสือเล่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการศาสนาตามมาเรื่อยๆ ในยุคสมัยนั้น สวีเดนยังเป็นประเทศที่มีการศาสนาที่เข้มแข็ง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 11 จึงประกาศใช้กฎหมายเซนเซอร์หนังสือ ต้นฉบับจะต้องถูกส่งไปสำนักราชวังเพื่อตรวจสอบเนื้อหาหนังสือว่ามีการบิดเบือนจากศาสนาไปหรือไม่ ก่อนจะถูกนำไปตีพิมพ์จริง
แต่ในเวลาอีกร่วม 100 ปี ต่อมา เมื่อยุโรปเริ่มผ่านพ้นยุคกลางอันเป็นยุคเคร่งครัดทางศาสนา เข้าสู่ยุคสมัยแห่งเหตุผล ที่หันมาสนใจเรื่องทางโลกและวิทยาการมากขึ้น สังคมสวีเดนก็เริ่มตั้งคำถามถึงการที่สื่อหนังสือจะมีเสรีภาพมากขึ้น ในการบอกเล่าเรื่องราวอื่นๆ จากเรื่องศาสนา หนึ่งในงานชิ้นสำคัญคือ Anders Nordencrantz ซึ่งเขียนหนังสือ Arcana Oeconomiae et Commercii ที่เป็นหนังสือเล่มสำคัญซึ่งเรียกร้องให้สวีเดนมีเสรีภาพด้านสื่อมากขึ้น และได้รับการพูดถึงในวงกว้างอย่างมากจากสังคมสวีเดน
งานดังกล่าวนำไปสู่การผลักดันให้เกิด การออกกฎหมายด้านการรับรองเสรีภาพของสื่อ โดย 'กฤษฎีกาว่าด้วยเสรีภาพสื่อ' ของสวีเดน ในปี 1766 เป็นกฎหมายด้านเสรีภาพของสื่อที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อนที่ต่อมาจะถูกพัฒนาเป็น Freedom of the Press Act ในปี 1810 หลักการสำคัญคือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ไม่อนุญาตให้มีการเซนเซอร์สื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ก่อนจะถูกตีพิมพ์
นอกจากนี้ในปี 1916 สวีเดนยังเป็นชาติแรกของโลกที่มี สภาแห่งสื่อ (Pressens Opinionsnämnd) โดยมุ่งเน้นกิจการสื่อด้านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเหตุการณ์ที่ท้าทายเสรีภาพสื่อก็คือ การเติบโตของลัทธินาซีในสวีเดน ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงว่า ควรจะเซนเซอร์สื่อที่สนับสนุนนาซีหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็มีการควบคุมสื่อที่โปรนาซีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นของการเซนเซอร์
ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 สวีเดนดำรงตนเป็นกลาง และมีนโยบาย En svensk tiger เพื่อไม่ให้สวีเดนส่งสัญญาณที่ดูเหมือนจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงคราม ซึ่งอาจนำไปสู่ภัยคุกคามแห่งการถูกรุกราน ภายหลังสงคราม สวีเดนได้ประกาศใช้ กฎหมายด้านเสรีภาพสื่อ ในปี 1949 ใจความสำคัญคือชาวสวีเดนทุกคนมีสิทธิที่จะผลิตสื่อ และในปี 1991 ได้มีบทเพิ่มเติมเพื่อขยายความด้านสื่อเกี่ยวกับสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และภาพยนตร์
พวกเขายังคงเป็นประเทศด้านสื่อชาติแรกของโลกเสมอ เมื่อปี 2011 สวีเดนเป็นประเทศแรกของโลกที่มีแอคเคาท์ทวิตเตอร์เป็นชื่ิอประเทศตัวเอง (@sweden)
สวีเดนผ่านร้อนผ่านหนาวด้านการพัฒนาเสรีภาพสื่อมานาน และมีกฎหมายที่ชัดเจนในการเอื้อให้เสรีภาพของสื่อยังดำรงต่อไปได้ ในฐานะประเทศที่ 'ทำมาก่อนนานนับร้อยปี' ถ้าเรามองดูบริบทของประเทศไทย ซึ่งริเริ่มทำช้ากว่า และเป็นรูปธรรมน้อยกว่า ซึ่งส่งผลให้ความมีเสรีภาพของสื่อยังดำเนินไปไม่ถึงไหน จนติดอันดับอยู่ที่ 142 จาก 180 ประเทศ ในตารางอันดับเดียวกับที่สวีเดนติดอันดับ 2 นั่นแล
เราอาจต้องใช้เวลาอีกนับร้อยปีแบบสวีเดนเช่นกัน และพัฒนาในความเร็วที่รีบเร่งยิ่งกว่า.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in