สองสามปีก่อน ลาว เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ของนักท่องเที่ยวทั้งจากเอเชียและยุโรป ภูมิประเทศของลาวนั้นอุดมไปด้วยความเขียวขจีของธรรมชาติทั้งภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ และยังมีวัฒนธรรมและศิลปะอย่างเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ที่รอให้หลายคนไปสัมผัส จุดหมายที่นักท่องเที่ยวมักจะหมุดหมายกันก็มีอยู่หลายที่ นอกจากนครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ก็ยังมีวังเวียง จำปาศักดิ์ และอีกมากมายที่เริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับลาวมากขึ้น
ประกอบกับหากเป็นบ้านเรานั้น การไปลาวยิ่งมีความสะดวกสบายมากขึ้นแต่ก่อนเยอะมีให้เลือกตั้งแต่ ทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ มีครบแล้วแต่จะประสงค์ เรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกเริ่มที่เหมาะสมสำหรับการออกเดินทางนอกประเทศก็ได้ เกริ่นยาวมาขนาดนี้อันที่จริงผู้เขียนก็เคยใช้ลาวเป็นทางผ่านเพื่อไปเวียดนาม อาจจะมีแวะเที่ยวตรงจังหวัดสะหวันนะเขตเพียงแค่ไม่ถึงวันด้วยซ้ำ ภาพจำของที่ยังจำได้จึงมีเพียงภาพของถนนที่ขรุขระ ดอกหางนกยูงที่ชูช่อสวย วัดที่ไปเที่ยวก็พาลลืมไปเสียแล้ว สิ่งล่าสุดที่ได้เห็นก็คือทิวทัศน์แม่น้ำโขงที่มองจากฝั่งไทยของจังหวัดหนองคาย
ในช่วงเวลาสองสามปีพร้อมๆ กับลาวเริ่มเป็นนิยมนั่นเอง บนชั้นหนังสือการ์ตูนออกใหม่ของร้านประจำของผู้เขียน ได้มีหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งที่สะดุดตาผู้เขียนมากๆ จากค่ายสยามอินเตอร์ เป็นรูปผู้ชายพนมมือไหว้และแต่งตัวคล้ายชุดราชปะแตงคาดผ้าลายคุ้นตา พื้นหลังที่เป็นรูปหอพระแก้ว ตัวอักษรที่อยู่บนหน้าปกที่มีความกลมมนวนๆ อ่านได้ว่า "วิถีอาทิตย์อุทัย"
ความรู้สึกแรกที่ได้เห็นคือ เห้ย! นี่มันการ์ตูนอะไรเนี่ย(ก็การ์ตูนญี่ปุ่นไง) คนญี่ปุ่นในลาวนี่นะ ไม่เคยจะเห็นการ์ตูนแนวนี้มาก่อน อ่านมาก็เยอะจะเห็นแต่ การ์ตูนที่เขียนถึงเรื่องราวของทวีปยุโรป แต่นึกไปนึกมา ก็มีการ์ตูนที่เขียนถึงเรื่องของชนเผ่าในแถบเอเชียกลาง หรือ การ์ตูนแนวสงครามที่มีพื้นเรื่องแถวบ้านเรา แต่ก็นับจำนวนเรื่องได้ว่ามีน้อย แล้วจู่ๆ การ์ตูนเรื่องนี้ก็ปรากฏขึ้นมา ผู้เขียนจึงไม่รีรอที่จะต้องทำความรู้จักกับลาวในแบบของญี่ปุ่นสักหน่อย
"ジャポニカの歩き方(japonica no arukikata)" หรือ "วิถีอาทิตย์อุทัย" เป็นผลงานของ Nishiyama Yuriko (ผู้เขียน Halem Beat) ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการ์ตูน Evening กับสำนักพิมพ์ Kodansha ในปี 2011 ความยาว 7 เล่มจบ โดยการ์ตูนเรื่องนี้มีการใช้พื้นเรื่องเกิดในประเทศลาว แต่เนื้อเรื่องต่างๆ เป็นจินตนาการของผู้เขียนผสมผสานกับเรื่องจริง ดังนั้นผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ้าตัวได้เอาประสบการณ์ของตนเองเมื่อครั้งเยาว์วัยมาร้อยเป็นเรื่องราว(ในวัยเด็กของคนเขียนได้อาศัยอยู่ประเทศลาว เพราะมีพ่อเป็นนักการทูตที่ไปประจำอยู่ลาวในช่วงที่แถวบ้านเรามีสงครามเย็น) โดยมีตัวเอกที่ชื่อว่า อาโอมิ คาราโดะ (ภาพปกเล่ม 1) ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นแท้ๆ ที่เพิ่งเรียนจบจากสาขาวรรณคดีญี่ปุ่น และตั้งมั่นไว้ว่า ในชีวิตนั้นไม่ออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศญี่ปุ่นโดยเด็ดขาด เรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่มีความเป็นคนญี่ปุ่นอย่างเข้มข้นโดยไม่ต้องสงสัย แต่เพราะการไปท่องเที่ยวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ว่าง่ายๆ ก็กลุ่มประเทศอาเซียน) ทำให้เขาพลาดการสัมภาษณ์งานกับสำนักพิมพ์ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้าย ทำให้เขากลายเป็นคนตกงานและไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไรดี
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็คิดว่าชีวิตของคาราโดะนี่เหมือนผู้เขียนตอนนี้เลย เพราะก็จบจากสายศิลปศาสตร์คือๆ กันนี่แหละ ตอนนี้เองก็ยังหางานประจำไม่ได้เหมือนกัน(ข้ามเรื่องนี้ไปก่อน /ซับน้ำตา) แต่เพราะคำชักชวนของเพื่อนร่วมสาขา คาราโดะจึงได้ไปช่วยงานจิปาถะในงานแฟร์ของสถานทูตต่างๆ ที่จะมาร่วมกันจัดบูทแสดงงานของแต่ละประเทศ และเจอเข้ากับนักการทูต คุณโยโคมิโซ ที่ชักชวนเขาไปเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศลาว !
นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้ชีวิตคาราโดะเปลี่ยนไป กับคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะเผชิญสิ่งประหลาดต่างแดน ทั้งความทรงจำอันเลวร้ายตอนไปเที่ยวแถวนั้น การจะไปอยู่ที่ลาวประเทศที่ต่างกับญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง ทำให้ตัวเขาคิดหนักว่าจะมีชีวิตอยู่ที่นั้นได้อย่างไร ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ทำอะไรก็งูๆ ปลาๆ เป็นชายญี่ปุ่นธรรมดาอย่างสมบูรณ์แบบ! แต่เพราะ ประเทศลาวยังเป็นประเทศเปิดใหม่ สถานทูตญี่ปุ่นที่ลาวเองก็เพิ่งจะดำเนินการสร้าง จึงไม่มีใครอยากจะที่ไปอยู่ คาราโดะจึงผ่านการสอบมาอย่างง่ายๆ แม้เจ้าตัวจะแอบเสียใจที่ให้สัมภาษณ์อยากตะกุกตะกักก็ตาม
จากบรรทัดนี้ไป อาจจะเป็นการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องบางส่วน
เนื้อเรื่องได้ทำการยึดเอาเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับลาวตามมโนทัศน์ของ Nishiyama (อันเกิดจากความทรงจำวัยเด็กและการลงภาคสนามที่ประเทศลาวตอนที่เธอเขียนเรื่องนี้) และแสดงถึงเรื่องราวของอาชีพนักการทูตออกมาอย่างเข้มข้น (อ่านไปก็อยากจะไปลองเป็นเจ้าหน้าประจำที่สถานทูตต่างๆ บ้าง/หรือก็คือเบ๊จิปาถะนั้นแหละ) การดำเนินเรื่องนั้นจะมีจุดพลิกผันอยู่สองสามจุด จะสอดคล้องไปกับชีวิตการทำงานและลักษณะนิสัยของคาราโดะที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เป็นลักษณะของการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรามักเจอกันบ่อยๆ แนวว่า พระเอกตอนแรกไม่เอาไหนแต่สุดท้ายก็กลับกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ก็นี่แหละคือความเป็น วิถีอาทิตย์อุทัยตามชื่อเรื่อง
ความเป็นญี่ปุ่นในเรื่องนั้น ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างภาพความเป็นญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างมิตรภาพกับชาวลาว อย่างคาราโดะเองก็จะสนิทกับบลู ล่ามคนลาว(แต่ดันมีผมสีเงินตาสีฟ้า) เพราะว่าทั้งคู่ชอบอนิเมะและมังงะ ทำให้กำแพงระหว่างทั้งสองทลายลงไปอย่างง่ายๆ โดยสิ่งนี้กำลังสะท้อนภาพของวัฒนธรรมการ์ตูนที่มีผลกระทบต่อการรับสารหรือสร้างภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นนั้นเอง หรือ การแข่งทำข้าวปั้นรสชาติต่างๆ เพื่อให้ถูกปากคนลาว แม้แต่การที่ท่านทูตโยโคมิโซ เป็นคนช่วยแก้สถานการณ์ที่บาดหมางระหว่างชาวลาวสามัญชนกับราชวงศ์ก็มี ! เรียกได้ว่าสร้างเรื่องราวหรือพล็อตขึ้นมาจนคนอ่านเผลออินตามไปอย่างง่ายๆ
ความอินในเรื่องนี้เอง ที่ทำให้เราลงเรียนในรายวิชาศิลปะลาว เพื่อเอาให้อินที่สุดกับความเป็นลาวไปเลย ต้องขอบคุณเรื่องนี้จริงๆ ที่ทำให้หลงใหลในลาวขนาดนี้
นอกจากเรื่องของวิธีการทางการทูตหรือชีวิตของคาราโดะ ที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ สถานที่สำคัญของลาวๆ ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง อย่าง ทาดหลวง(พระธาตุหลวง) ประตูไซ(ประตูชัย) วัดเชียงทอง ทาดพูสี หอพระแก้ว และอีกมากมายที่ปรากฏในนี้ เรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ เช่น งานบายศรี การทำบุญใหญ่ หรือ งานแสดงบูทของต่างประเทศในลาว ทุกอย่างถูกรวบรวมไว้ในการ์ตูนเรื่องนี้ทั้งหมด จนอ่านแล้วก็เหมือนเราพาตัวเองไปอยู่ที่ลาวเลยละ
พูดมาซะยืดยาว อันที่จริงในมุมมองของเรา รู้สึกว่าการ์ตูนเรื่องนี้นอกจากจะมีความเป็นญี่ปุ่นจ๋ามากๆ แล้ว มันยังช่วยให้เห็นมองเห็นภาพของนักการทูตว่า ทุกอย่างที่ทำออกไปต้องมีความหมายหรือในนัยยะที่ซ่อนไว้(ในเรื่องมีการกล่าวถึงปมประเด็นของการเข้ามาลงทุนของบริษัทญี่ปุ่น เช่น เวชภัณฑ์ หรือ เหมืองแร่) เป็นวิธีการของนักการทูตซึ่งต้องมีฝีปากที่คมกริบแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวิธีการที่น้อมนอบ
แม้การ์ตูนเรื่องนี้ของ อาจารย์จะไม่ได้โด่งดังอะไรมากเมื่อเทียบกับเรื่อง Halem Beat ที่ครองใจคนไทยไปชั่วเวลาหนึ่ง(แต่เราไม่ได้อ่าน) แต่สำหรับเราที่เป็นเพื่อนบ้านกับประเทศลาวนั้น การได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้ก็เหมือนกับการได้ผลประโยชน์สองต่อ อย่างแรก การ์ตูนในเรื่องนี้เหมือนไกด์บุ๊คกลายๆ เราตั้งใจว่าหากมีโอกาสไปลาวก็จะไปตามสถานที่ที่ว่าด้วย(รวมถึงไปสถานทูตญี่ปุ่น...ถ้าหาเจอละก็นะ) และ สองคือการได้เข้าใจคนญี่ปุ่นนั่นแหละ
ถ้ามีโอกาส โดยเฉพาะใครที่เป็นคอการ์ตูนที่ชอบแนวชีวิต Slice of Life เรื่องนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยละ เพราะนอกจากเนื้อเรื่องแล้วในส่วนของการออกแบบตัวละครและรายละเอียดต่างๆ ทั้งฉากและองค์ประกอบ ก็วาดออกมาได้สวยมากๆ เพิ่มเติมคือ ตัวละครทุกตัวมีความหน้าตาดีมาก ++ จนหลงรักลายเส้นของอาจารย์ไปเลย
เกร็ดเล็กน้อยอื่นๆจากการอ่านเรื่องนี้
- ภาพจำของคนลาวหรือคนในแถบอินโดจีน ในมุมมองของคนญี่ปุ่น จะหนีไม่ผลเรื่องของสีผิว ที่มีการทำให้เข้มผิดปกติ ทั้งที่หากเป็นบ้านเราก็จะรู้ว่า ลักษณะสีผิวจะไปทางอมเหลืองหน่อยก็เท่านั้น เข้าใจว่าเพราะเห็นว่าประเทศแถบเราเมืองร้อนพอตากแดดก็เลยเป็นแบบนั้นไป (งั้นเหรอ!?)
- ในเรื่องจะมีการกล่าวถึงระบบการปกครองที่มีลักษณะคล้ายกันกับของประเทศไทย ตรงนี้ในปัจจุบัน ลาวนั้นเป็นประเทศที่ปกครองด้วยรูปแบบของคอมมิวนิสต์(แต่ในลาวจะเรียกว่า ประชาธิปไตยประชาชน) เป็นความต่างในเรื่องแต่งกับเรื่องจริงอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องยังมีการสร้างกลุ่มปัญญาชนที่ใช้ชื่อว่า Shield of Laos ด้วย แต่เรื่องจริงไม่มีนะ
เยี่ยมเยียนอาจารย์ได้ที่ บลอค HARLEM GO TEN
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in