เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
I SAW I WROTEchochou44
รีวิวนิทรรศการ : MANGA ANIME GAME FROM JAPAN TO BANGKOK
  • (อ่านฉบับเต็มได้ ที่นี่ )

    ความเป็นญี่ปุ่นนิยมได้นำพาให้ผู้เขียนไปเยี่ยมเยียนหอศิลปเจ้าฟ้า หอศิลป์ลับแลที่มักถูกมองข้าม(ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะอะไร) ทั้งที่เป็นหอศิลป์ที่ควรจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่คนที่แวะเวียนมาแถวถนนท่าพระอาทิตย์หรือย่านบางลำพูจะได้เรียนรู้ เรื่องราวของศิลปะไทยร่วมสมัยและศิลปะไทยประเพณี แต่บทความนี้จะขอข้ามเรื่องข้างต้นไปก่อน แต่เราจะมีพูดถึง นิทรรศการที่กำลังจัดอยู่ ณ ขณะนี้

     นิทรรศการ ‘มังงะ อนิเมะ เกม จากญี่ปุ่นสู่กรุงเทพมหานคร’ หรือ ‘ Manga Anime Game From Japan in Bangkok ‘ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเพื่อเป็นช่องทางในเผยแพร่เรื่องราวของทั้งสามสิ่งตามชื่อของนิทรรศการ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนที่ชื่นชอบในสามสิ่งที่ปรากฏอย่างเด่นหลาเป็นชื่อนิทรรศการที่ชื่อเถรตรงที่สุดเท่าที่เคยเห็น ประกอบกับภาพโปสเตอร์ที่น่าจะเป็นแรงจูงใจให้หลายคนรวมทั้งผู้เขียนอยากจะไปงานนี้เพราะอยากจะรู้จริงๆ ว่านิทรรศการนี้จะเสนออะไรให้ได้ชมกันบ้าง และนี่อาจจะถือเป็นครั้งแรกๆ ที่การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แสดงศิลปะของไทย

    โปสเตอร์ที่ครอบคลุมเนื้อหานิทรรศการอย่างครบถ้วนและมีความตรงไปตรงมาเหมือนกับชื่อนิทรรศการอย่างไม่ต้องสงสัย พร้อมกับการออกแบบที่มีความทันสมัย และได้ชี้ชัดว่าผู้ชมจะได้เห็นอะไรจากงานแสดงครั้งนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่โปสเตอร์นั้นขาดความหลากหลายไปสักหน่อย เพราะปรากฏเพียงสาวน้อยในชุดนักเรียนกึ่งไซบอร์ก(?) ที่เราไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของเธอว่าเธอเป็นใคร ใครไปเป็นคนให้กำเนิดเธอกันแน่ ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นผู้มีละเอียดลออ ในการสร้างเรื่องราวให้กับตัวละครหรือสิ่งของต่างๆ กลับไม่ปรากฏในการงานแสดงครั้งนี้ (และคุณจะได้พบเธอแค่ในโปสเตอร์เท่านั้นอีกด้วย)

    ในเวลาประมาณ ห้าโมงเย็น ตามปกติแล้วเป็นเวลาที่หอศิลปเจ้าฟ้าจะปิดทำการ แต่เพราะงานแสดงนี้ทำให้เราสามารถเข้าชมหอศิลปได้หลังสี่โมงเย็นจนถึงหนึ่งทุ่ม แต่จะเปิดเฉพาะส่วนนิทรรศการนี้เท่านั้น ในห้องจัดแสดง ได้มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 7 ส่วน ซึ่งไม่ได้แบ่งตามเส้นเวลาที่ต้องเล่าถึงความเป็นมาอันยืดยาวของการเกิดการ์ตูนญี่ปุ่น แต่กลับเปิดตัวด้วยส่วนของเหล่าฮีโร่ชายหญิงที่มาจากอนิเมะ มังงะและเกมส์ อย่างโคนัน หรือ เซเลอร์มูน แม้แต่ มาโตอิ ริวโกะ (จาก Kill la Kill ) หรือ อาลีบาบา (จาก Magi ) ก็ยังได้มาแสดงงานในครั้งนี้ด้วย! สร้างความประหลาดให้ผู้เขียนเล็กน้อยเพราะคิดว่าเขาจะเอาโดเรมอนหรือเจ้าหนูอะตอมมาร่วมแสดงแต่ในงานกลับไม่มีเลย สิ่งนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนอย่างไม่ต้องสงสัย ว่าอย่างน้อยๆ งานแสดงนี้คงไม่น่าเบื่อหรือจำเจ

    อีกส่วนคือ ส่วนของ Characters and Music ,Daily Life of Characters และ Girl’s Manga in Japan จะรวบรวมการ์ตูนที่เป็นแนวแสดงออกถึงชีวิตประจำวันหรือตัวละครและเพลง ที่มี เจ้าชายแห่งเสียงเพลง(Uta no Prince-sama)ได้มาแสดงในครั้งนี้ด้วย !! หาได้ยากยิ่งที่จะออกโลดแล่นอยู่บนพื้นที่สาธารณะขนาดนี้ อีกส่วนคือส่วนที่เห็นเรื่องราวของเทคนิคและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในเกมส์และอนิเมะ ได้มีการหยิบอนิเมะขึ้นหิ้งอย่าง Ghost in Shell หรือ Paprika มาแสดงในงานซึ่งเราจะได้ดูสตอรี่บอร์ดของแต่ละเรื่องในขนาดใหญ่ที่หาโอกาสดูได้ยาก

    จุดเด่นอีกอย่างคือการที่ในงานนั้นมีวิดีโอจากอนิเมะเรื่องนั้นๆ ให้ฉายวนแบบนอน-สต๊อปกันไปเลย ถ้ามีเวลามากกว่านี้ก็จะยืนดูทุกเรื่องอยู่ แต่ถ้าจะดูทั้งหมดนี่อาจจะต้องใช้เวลา 2 – 3 ชม.สำหรับผู้เขียนเอง(ถ้าไม่เบื่อไปซะก่อน) ดังนั้นสำหรับใครที่อยากจะดื่มด่ำกับงานนี้แนะนำให้เผื่อเวลาไว้สักหน่อยก็ดีนะ

    หลังจากเดินดูงานมาถึงทุกส่วนต้องขอชื่นชมว่า งานแสดงครั้งนี้ได้หยิบยกการ์ตูนหรืออนิเมะที่ไม่ใช่เพียงแค่ตามกระแสแต่กลับมาเทคนิคในการเลือกเรื่องราวหรือจัดสรรหมวดหมู่ที่จะทำให้ผู้ชมที่ไม่ใช่คอการ์ตูนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับอุตสาหกรรมสองมิติอันแข็งแกร่งของแดนอาทิตอุทัยเบื้องต้น พร้อมทั้งได้รับรู้ถึงมุมมองที่หลากหลายของการ์ตูนที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเด็ก แต่การ์ตูนของญี่ปุ่นนั้นมันไปไกลมากกว่านั้น(มาตั้งนานแล้ว) ตรงจุดนี้เองก็ถือเป็นข้อด้อยของงานนิทรรศการชุดนี้เพราะคนที่เป็นคอการ์ตูนระดับฮาร์ดคอร์หรือคนที่ตามติดเรื่องราวของมังงะ อนิเมะและเกมส์อย่างต่อเนื่องอาจจะรู้สึกว่าเป็นแค่เพียงการนำการ์ตูนแนวต่างๆ มารวมกันและเล่าเพียงเรื่องย่ออย่างผิวเผินพร้อมกับคำประกอบที่จงใจอัดเข้าไปให้กับเรื่องนั้นๆ อีกอย่างที่น่าเสียดายคือการที่คำบรรยายที่ทั้งแผ่นใหญ่และตัวใหญ่มากในแต่กลับไม่มีชื่อของศิลปินหรือคนเขียนกำกับไว้อย่างชัดเจน ทั้งที่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ควรให้ไว้ควบคู่กับงานของศิลปินแท้ๆ

    แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ชมที่เป็นทั้งคนที่ชอบในการ์ตูนญี่ปุ่นและอยากให้ทางการหรือรัฐเปิดกว้างพื้นที่สำหรับเผยแพร่ข้อมูลและเรื่องราวของการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นมากกว่าการ์ตูนให้คนทั่วไปได้รับรู้ ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้บางคนเปลี่ยนทัศนคติว่า โตแล้วยังอ่านการ์ตูนหรือ ดูการ์ตูนอยู่อีกเหรอ ? หรือ การ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก เพราะการ์ตูนคือช่องทางที่ทำให้คนหลายคนได้เริ่มที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างจริงจัง หรือ สร้างแรงบันดาลใจในการริเริ่มสิ่งต่างๆ ไมใช่หรือ ? น่าสงสัยเสียจริงๆ ว่าใครในสังคมที่เริ่มตั้งบรรทัดฐานเรื่องนี้ขึ้น ดังนั้นแล้วจึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะชักชวนให้พวกเขาได้เข้ามาสัมผัสกับความจริงที่แท้ของการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวแทนศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่ทรงพลังมากว่าหลายสิบปี

    ข้อมูลเกี่ยวกับนิทรรศการ

    สถานที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) ถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ

    เข้าชมฟรี ตั้งแต่เวลา 9.00-19.00 (ทุกวันพุธ ถึง วันอาทิตย์) ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 สิงหาคม 2016 (มีบริการรถรับส่ง)

    Page FB : The National Gallery Bangkok และ Manga Game Anime

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in