เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คุยไปเรื่อยธางฝัน
ชวนคุยเรื่องซีรีส์ญี่ปุ่น What Did You Eat Yesterday?

  • สำหรับใครหลาย ๆ คน "อาหาร" อาจเป็นเพียงสิ่งที่มีไว้ทานให้อิ่มท้องและมีแรงใช้ชีวิตต่อไปให้หมดวัน 


    แต่สำหรับบางคน อาหาร กลับเป็นคำที่แบกไว้ซึ่งความหมายของ “บ้านและครอบครัว



    วันนี้เราอยากมาชวนคุยเรื่องซีรีส์ญี่ปุ่นกันค่ะ ที่จริงก็เคยดูมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมานึกถึงในช่วงนี้ เป็นเรื่องราวที่น่ารักอบอุ่นใจ แถมยังแฝงแนวคิดที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความรักในหลายรูปแบบ รวมถึงสะท้อนให้เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย





    ซีรีส์ที่ว่านี้ก็คือ เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? หรือ What Did You Eat Yesterday? นั่นเอง เรื่องนี้สร้างมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน - 28 มิถุนายน ค.ศ. 2019 และในปัจจุบันก็มีฉายใน Netflix ด้วยค่ะ เนื้อเรื่องยาวทั้งหมด 12 ตอน ซึ่งส่วนตัวเราแอบรู้สึกว่าน้อยไปหน่อย (เพราะรู้สึกว่าสนุกดีเลยอยากดูเยอะ ๆ ?)  แต่ถ้ามองในแง่ของการเดินเรื่องอย่างเดียวเลย เราคิดว่าก็เป็นความยาวที่กำลังดีและไม่ดูยืดเยื้อจนเกินไปด้วยค่ะ



    บางคนอาจจะเคยดูเรื่องนี้มาแล้ว คงทราบดีว่าจุดเด่นของซีรีส์อยู่ที่ความเป็น LGBTQ+ ของตัวละครหลักที่เป็นผู้ชายสองคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันในอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งค่ะ


    คนหนึ่ง คือ ชิโระ คาเคอิ ทนายที่รักการทำอาหาร ดูขัดกับลักษณะภายนอกที่เป็นคนจริงจัง เข้มงวดกับชีวิต และไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน สุขภาพ หรือการวางแผนอนาคต เขาก็ทำได้ดีไม่มีที่ติเลย ซึ่งลักษณะแบบนี้ คนญี่ปุ่นถือว่าเป็น Perfect Man หรือคนที่มี Husband Material ครบครันมาก ๆ ค่ะ ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ เคนจิ ยาบุกิ เป็นสไตล์ลิสทำผมที่มีบุคลิกร่าเริงสดใส เป็นทั้งผู้ฟังและคนรักที่ดี รักอิสระ แถมยังดูเหมือนจะรักการมีความสุขอยู่กับปัจจุบันมากกว่าจะวางแผนอนาคตอย่างจริงจังด้วย ก็เลยจะโดนคุณแฟนดุเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ ค่ะ (น่ารักจัง ❤︎) นอกจากนี้ก็จะมีตัวละครอื่นโผล่ขึ้นมาบ้างประปราย อย่างเพื่อนที่ทำงานของทั้งคู่ พ่อแม่ของชิโระซัง ครอบครัวคุณป้าเพื่อนบ้านและลูกสาว (ป้าแกตลกค่ะ เราชอบมาก) แล้วก็คู่รักเกย์อีกคู่หนึ่งที่เป็นแนวแฟนเอาแต่ใจกับแฟนที่ยอมลงให้ตลอดซึ่งนับว่าต่างจากคู่หลักพอสมควร โดยส่วนตัว เรามองว่าทั้งหมดนี้สร้างคอนทราสต์ที่ทำให้คนดูอย่างเราได้เห็นความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ในคู่หลักได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย ถือว่าดีเลย และในส่วนของเนื้อเรื่อง ก็จะเป็นการบอกเล่าชีวิตของคนทั้งคู่โดยมีการทำอาหารและการนั่งทานข้าวเย็นด้วยกันเป็นฉากสำคัญในทุก ๆ ตอน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะมีเรื่องของการก้าวผ่านช่วงเวลาที่จิตใจอ่อนไหวและการรับมือกับความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ด้วย นับเป็นซีรีส์ที่มีครบทั้งความเพลิดเพลินและความซีเรียสให้ได้ลุ้นกันเบา ๆ เลยค่ะ



    สิ่งที่ทำให้เราคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้มีความพิเศษต่างจากซีรีส์วายเรื่องอื่น ๆ ที่เคยดูมา คือ มุมมองที่สื่อว่า ‘ความรักของเพศทางเลือกก็สามารถก่อเกิดเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ได้เหมือนกัน‘ ค่ะ เพราะเนื้อหาดูจะไม่ได้เน้นที่ความโรแมนติกหรือโมเมนต์จีบฟิน ๆ เหมือนซีรีส์วายทั่วไป แต่จะมีการแสดงถึงการสร้างความสัมพันธ์แบบ Healthy ในอุดมคติของใครหลาย ๆ คนด้วย ตั้งแต่การที่คนหนึ่งรีบกลับมาทำอาหารรออีกฝ่ายหลังเลิกงาน นั่งทานข้าวพร้อมกันแล้วอัพเดทชีวิตด้วยกันทุกเย็น การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบภายในบ้านอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม การให้ความเคารพและให้เกียรติกันตามสถานะทางสังคมของอีกฝ่าย ความเข้าใจในข้อจำกัดของกันและกัน รวมถึงการสนทนากันอย่างมีประสิทธิภาพ (คุยกันด้วยเหตุผล แต่ก็ไม่ละเลยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายเช่นกัน) แถมในเรื่องก็ยังมีการสร้าง "บทบาท" ตัวละครที่น่าสนใจ เพราะขัดกับภาพลักษณ์ที่สังคมส่วนใหญ่ใช้มองคนอยู่พอสมควรเลย อย่างตัวละคร ชิโระ คาเคอิ ที่เป็นทนายในวัย 40 ปี แถมยังมีครบทุกคุณสมบัติของ Perfect Man ในสายตาคนญี่ปุ่น กลับมารับหน้าที่ช้อปปิ้งวัตถุดิบทำอาหาร คอยติดตามโปรโมชั่นส่วนลดในซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นคนทำอาหาร แถมยังเป็นฝ่ายพูด "โอะคาเอริ" (ยินดีต้อนรับกลับบ้าน) เหมือนเป็นภรรยาชาวญี่ปุ่นอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าสามารถตีความในแง่ของความเท่าเทียมทางเพศได้หลายทางเลย จะมองเป็นการสื่อว่า ‘ผู้ชายทำงานก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านได้เหมือนกัน’ ก็ได้ หรือ ‘การทำอาหารหรือทำงานบ้านไม่ได้ทำให้ดูแมนน้อยลงเลย’ ก็ได้เหมือนกัน (ฯลฯ) ดังนั้น ถ้ามีใครบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นแบบอย่างการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ความเท่าเทียมในบทบาททางเพศที่ดี เราก็คิดว่าไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงไปเลยค่ะ



    แล้วอาหารมีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องในซีรีส์นี้อย่างไร? โดยส่วนตัวเรามองว่ามันถูกใช้ในการแสดงความรัก ความเอาใจใส่ และ ‘การก้าวข้ามข้อจำกัด’ ของตัวละคร ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่นขึ้นมาค่ะ



    เริ่มด้วยการที่ชิโระซังพยายามทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพและประหยัดงบประมาณของทั้งตัวเองและเคนจิอยู่เสมอ เพราะรู้ว่าเคนจิมีจุดอ่อนในการวางแผนเรื่องพวกนี้ (เป็นข้อจำกัดด้วยลักษณะนิสัย) ในขณะที่เคนจิเองก็รู้ทันว่าชิโระซังก็มีจุดอ่อนอยู่ที่การคิดมากเกินไปและไม่ยอมทำตามใจตัวเอง เช่น ชอบทานไอศกรีม Hagendaz แต่จะไม่ยอมซื้อจนกว่าจะลดราคา บางครั้งเคนจิก็เลยซื้อมาซะ แล้วก็นั่งยิ้มเผล่ให้ชิโระซังดุด่าไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพอใจ แต่สุดท้าย มันก็จบลงตรงที่ทั้งสองคนนั่งทานไอศกรีมด้วยกันหน้าทีวี (แล้วชิโระซังก็พูดอ้อมแอ้มว่าอร่อย) โดยส่วนตัว เราชอบมุมนี้ของเคนจิมาก ๆ เลยค่ะ เป็นการพลิกคาแรคเตอร์ที่น่ารักมาก เพราะปกติเขาจะดูเป็นผู้ตามที่ดีตลอด แต่พอถึงช่วงเวลาที่ชิโระซังเจอเรื่องราวหนัก ๆ ถาโถมเข้ามาจนเริ่่มไม่ไหว เขาก็พร้อมจะลุกขึ้นมาทำบางอย่างที่ปกติไม่ค่อยทำ แต่เป็นข้อจำกัดของอีกฝ่ายในช่วงเวลานั้น เพื่อให้คนที่ตัวเองรักสามารถเดินหน้าไปกับชีวิตได้ อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ช่วงที่ชิโระซังป่วย เคนจิที่เหมือนจะรอเวลานี้มาทั้งชีวิต ก็สนุกสนานกับการไล่ให้แฟนไปนอน ทำความสะอาดห้อง ยึดครัว ทำข้าวต้มแบบใช้เนื้อไก่เกินขอบเขต กับ “ทามาโกะยากิ” (คนไทยเรียกไข่หวาน แต่ก็ไม่ได้หวานเสมอไป) ที่เคยแอบจำสูตรจากรายการโทรทัศน์เมื่อนานมาแล้วด้วย ถึงจะเป็นตอนที่ตลกมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเคนจิที่ดูไม่จริงจังกับชีวิตเลย ที่จริงแล้วก็แอบเตรียมพร้อมที่จะอุดรูรั่วซึ่งเป็นข้อจำกัดในตัวของคนรักอยู่เสมอเหมือนกัน รู้สึกเซอร์ไพรส์ตามชิโระซังไปเลยค่ะ ❤︎



    แต่การใช้อาหารในการแสดงความรักและการก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ก็ไม่ได้มีแค่ในความสัมพันธ์คู่หลักเท่านั้นค่ะ เพราะในเรื่องยังมีการสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ ด้วย เช่น คุณป้าข้างบ้านกับชิโระซัง แท็กทีมกันซื้อผลไม้เพราะจะทำให้ได้ส่วนลดที่คุ้มค่า แต่ปริมาณก็ไม่มากเกินไปจนกินไม่ทัน เป็นอีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้ทั้งคู่ได้ทลายข้อจำกัดของตัวเอง และบริหารจัดการชีวิตให้ลงตัวมากขึ้น (อันที่จริง ป้าแกก็เป็น ‘คนนอก’ คนแรกที่ทำให้เกิดสถานการณ์น่ากระอักกระอ่วนจนชิโระซังต้องเปิดเผยเพศสถานะของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยค่ะ เหมือนอยู่ดี ๆ ก็ต้องกระโดดออกจาก Safe Zone* แบบงง ๆ แล้วค่อยไปปรับตัวเอาทีหลัง) แถมระหว่างที่แบ่งปันผักผลไม้ ทั้งคู่ก็ยังมีการแชร์สูตรอาหาร เรื่องราวในครอบครัว และมุมมองชีวิตที่ลึกซึ้งและน่ารักด้วยเหมือนกัน อย่างชิโระซังก็ได้มาเข้าใจหัวอกความเป็นพ่อแม่และความคาดหวังที่จะได้อุ้มหลาน (ที่พ่อแม่เขาไม่เคยยกขึ้นมาพูดอีกเลยหลังจากที่รู้ว่าลูกชายเป็นเกย์) จากการพูดคุยกับคุณป้าข้างบ้าน และเมื่อประกอบกับการที่เขากลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่แล้วได้รู้ว่าพวกเขาชอบอาสาดูแลเด็กน้อยข้างบ้านด้วยแล้ว เขาก็รู้ว่าพ่อแม่รักและเสียสละเพื่อเขามากแค่ไหน ที่ไม่คิดจะบังคับฝืนใจเขาให้แต่งงานเพื่อมีหลาน แต่เลือกที่จะหาสิ่งอื่นมาทดแทนความต้องการของพวกเขาเอง เป็นมุมมองที่เราไม่เคยเห็นในซีรีส์วายที่เคยดูมาเลยค่ะ



    และในขณะเดียวกัน “อาหาร” ก็ช่วยให้สมาชิกครอบครัวคาเคอิของชิโระซังได้ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองด้วยนะคะ อย่างฉากหนึ่งในเรื่องก็จะเป็นตอนที่ชิโระซังกลับบ้านไปทานข้าวกับพ่อแม่ และนึกขึ้นมาว่า ทำไมแม่ชอบทำแต่อาหารทอดตอนฉันกลับมา? เพราะมันอ้วนและไม่ดีต่อสุขภาพเลย แต่ระหว่างที่นั่งทานข้าวกันไป คุณพ่อของชิโระซังก็พูดขึ้นมาว่า ‘พอชิโระกลับมาถึงจะได้กินอาหารทอดกันนะ ปกติคนแก่สองคนอยู่ด้วยกัน ทำเยอะ ๆ กินเยอะ ๆ แบบนี้ไม่ไหวหรอก’ เขาถึงได้เข้าใจว่าเพราะอะไร ส่วนคนดูอย่างเรา เมื่อได้ดูจึงเข้าใจว่าความสัมพันธ์ในชีวิตคน มันสำคัญอย่างนี้นี่เอง เพราะเราทุกคนต่างก็มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศ สุขภาพร่างกาย หรือจิตใจ (หรือบางครั้งเมื่อเราแก่ตัวลง ก็จะเริ่มมีข้อจำกัดที่ไม่เคยมีมาก่อนได้เหมือนกัน) แต่สุดท้าย หากเรารักกันมากพอ ก็จะสามารถช่วยประคองกันต่อไปได้เรื่อย ๆ ค่ะ 



    เป็นมุมมองที่น่ากดไลก์ให้สักพันครั้งจริง ๆ เลย!!!



    พอมองอย่างนี้แล้ว เราก็รู้สึกว่ามันช่างเป็นแนวคิดที่สะท้อนความเป็นครอบครัวในอุดมคติของชาวญี่ปุ่นได้ดีจริง ๆ ค่ะ อย่างถ้าใครเคยดูอนิเมชั่นของ Studio Ghibli แล้วลองหาข้อมูลเกี่ยวกับ “ฉากอาหาร” หรือที่แฟน ๆ นิยมเรียกว่า Food-centric Scene ของจิบลิด้วยแล้วล่ะก็ จะพบว่าเป็นฉากหนึ่งที่คุณฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นฉากเตรียมอาหารหรือการนั่งทานข้าวร่วมกัน ต่างก็จงใจใส่มาเพื่อสร้างความรู้สึกของความเป็นหนึ่งเดียวกัน (unity) และความรู้สึกสบายใจ (comfort) ให้กับตัวเรื่องด้วย เห็นได้ชัดว่าในหลาย ๆ ครั้ง  “อาหาร” ที่โผล่มาในสื่อญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีไว้ให้ตัวละครทานเพื่อความสมจริงหรืออิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง แถมยังถ่ายทอดอารมณ์และข้อคิดดี ๆ ให้กับผู้ชมได้ด้วย ซึ่งสำหรับเรื่อง What Did You Eat Yesterday? นี้ก็เป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์และครอบครัวนั่นเอง 



    ก่อนจะหมดเดือนมิถุนายน ถ้าใครกำลังมองหาซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ แนวละมุน ๆ อบอุ่นหัวใจก็ลองเก็บเรื่องนี้ไว้ในการพิจารณาดูนะคะ นอกจากมุมมองของเราแล้ว เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจเลย และถ้าใครมีความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันยังไงก็แบ่งปันกันได้ค่ะ เราเองก็อยากฟังความคิดของทุกคนเหมือนกัน ❤︎



    สำหรับวันนี้ เราขอจบไว้ตรงนี้ก่อนนะคะ

    แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ :)



    *Edit : มีการแก้ไขจากคำว่า Comfort Zone เป็น Safe Zone ค่ะ คิดว่าตรงกับสิ่งที่เห็นในตัวละครมากกว่า

    ขอบคุณภาพปกจาก https://cornercafe.wordpress.com/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in