เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WAKE ME UP WHEN NOW ENDS ลืมตาในอนาคตSALMONBOOKS
01: TALK WITH ME

  • TALK WITH ME
    หุ่นยนต์สนทนา:
    อนาคตของ Conversational Interface


    ผม: “ช่วงนี้มีคนถามคำถามเดิมบ่อยมาก”

    เขา: “ถามว่า?”

    ผม: “เขาจะชอบถามเหมือนๆ กันว่า อนาคตของสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร หนังสือจะอยู่ได้ไหม วงการข่าวจะปรับตัวอย่างไร”

    เขา : “แล้วตอบไปยังไง”

    ผม: “ก็ตอบไปคล้ายๆ กันนั่นแหละ ว่าทุกสื่ออาจจะต้องมองว่าเนื้อหาของตัวเองเป็นเหมือนกับสิ่งที่สามารถแปรเปลี่ยนรูปได้ไปตามภาชนะที่ใส่ อย่าไปมองว่ามันตายตัว ทื่อๆ แบบพิมพ์ในหนังสือแบบไหน ก็อัพขึ้นเว็บไซต์แบบนั้น เพราะธรรมชาติของสื่อแต่ละประเภทก็แตกต่างกัน”

    เขา: “อืม…”

    ผม: “แต่มีเรื่องหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นการพัฒนาที่น่าสนใจ อยากจะเล่า”

    เขา: “เรื่อง?”
  • ผม: “ไม่นานมานี้ เห็นเว็บไซต์ข่าวเจ้าหนึ่งในต่างประเทศออกแอพพลิเคชั่นใหม่ เป็นแอพฯ อ่านข่าวที่น่าสนใจมาก เป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นอนาคตของการรายงานข่าวออนไลน์เลย”

    เขา: “แอพฯ อ่านข่าวจะไปน่าตื่นเต้นได้ยังไง”

    ผม: “น่าตื่นเต้นได้สิ คือ Quartz (qz.com) เป็นเว็บไซต์รายงานข่าว ซึ่งก็มีข่าวออกมาทุกวันเหมือนกับเว็บไซต์ปกติธรรมดานี่แหละ แต่พอเขาออกแอพฯ อ่านข่าว เขาไม่ได้ทำเป็นแอพฯ อ่านข่าวธรรมดาๆ อย่างที่เราเห็นกัน อะ... ปกติถ้านึกถึงแอพฯ อ่านข่าว คิดว่ามันจะมีหน้าตาเป็นยังไง”

    เขา: “เปิดมาก็คงมีหัวข้อข่าวเด่น พอจิ้มแต่ละเรื่องก็จะมีรายละเอียด”

    ผม: “เออ นั่นแหละ ปกติก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่แอพฯ นี้เขาทำออกมาในลักษณะการของแชต”

    เขา: “แชต? แบบที่เรากำลังแชตกันอยู่เนี่ยเหรอ”

    ผม: “แบบนี้แหละ”

    เขา: “แล้วมันจะรายงานข่าวได้ยังไง”
  • ผม: “ลองคิดภาพตามนะ พอเราเข้าแอพฯ ไป ก็จะเห็นหน้าตาเหมือนแชตปกติในไลน์ เฟซบุ๊คเมสเซนเจอร์ หรือใน WhatsApp เลย หลังจากนั้น เจ้าบอตก็จะทักทายสวัสดีเราก่อน แล้วมันก็จะบอกว่าวันนี้มีข่าวอะไรน่าสนใจที่สุด เช่น วันนี้มันอาจจะทักมาว่า “หุ่นยนต์เล่นโกะของกูเกิลชนะแชมเปี้ยนโกะชาวญี่ปุ่น” เราก็สามารถกดตอบได้ว่า “ไหนเล่าให้ฟังซิ” หรือ “ไม่สนใจอะ ข่าวต่อไปคืออะไร” สมมติถ้ากดให้มันเล่าให้ฟังมันก็จะสรุปข่าวนั้นมาให้ฟังแบบสั้นๆ เหมือนเพื่อนเล่าให้กันฟัง หรือถ้ากดไม่สนใจ มันก็จะบอกหัวข้อข่าวถัดไปมา แล้วก็เหมือนเดิม คือถ้าเราสนใจ เราก็กดให้มันเล่าให้ฟัง ถ้าไม่สนใจก็กดข้ามๆ ไป”

    เขา: “เออ น่าสนใจดี เหมือนมีคนมาเล่าข่าวให้ฟังทุกเช้า แล้วเราก็เลือกเรื่องที่สนใจได้งี้”

    ผม: “ใช่ น่าสนใจ แล้วพอผมลองเปลี่ยนจากการอ่านข่าวปกติ ที่เดิมจะอ่านจากพาดหัวในหนังสือพิมพ์หรือบนเว็บไซต์มาเป็นแบบนี้ ก็ทำให้อ่านข่าวเยอะขึ้นมากเลย เพราะมันสนุกเหมือนได้คุยกับคน ลองจินตนาการถึงบริการของสำนักข่าวในอนาคตนะ อาจจะเป็นแบบนี้ได้”

    [ บอต: “สวัสดีทีปกร วันนี้มีข่าวน่าสนใจตามนี้: ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก, รัฐบาลบอกว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในปีหน้า ส่วน ไทยรัฐ มีสกู๊ปเรื่องร้านคาเฟ่แมวเปิดใหม่ที่คนอ่านเยอะมาก กำลังฮิตเลย สนใจจะอ่านข่าวไหนล่ะ?”

    ทีปกร: “เอาข่าวรัฐบาลกับข่าวแมว แล้วนิตยสาร GM ฉบับล่าสุดมีคอลัมน์อะไรน่าสนใจมั่ง”

    บอต : “โอเค เราเซฟข่าวรัฐบาลกับข่าวแมวไว้ให้แล้วนะ อ่านได้ในแท็บ My News ส่วนนิตยสาร GM ฉบับนี้ มีสกู๊ปของคุณโตมร ศุขปรีชา ค่าอ่านบทความ 49 บาท ซื้อมั้ย?”

    ทีปกร: “ซื้อ ตัดบัตรไป”

    บอต: “โอเค ซื้อแล้ว ต้องการอ่านอย่างอื่นอีกไหม หนังสือเล่มใหม่ของคุณนิ้วกลม กำลังดังนะ ราคา 250 บาท”

    ทีปกร: “เข้าคิว Wish list ไว้ละกัน” ]
  • แทนที่เราจะต้องไปทำอะไรต่อมิอะไรเอง ก็เหมือนมีผู้ช่วยส่วนตัวในการเลือกเรื่องต่างๆ มาให้อ่าน ซึ่งในอนาคต บอตก็จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยว่าเราอยากอ่านเรื่องอะไร โดยดูจากประวัติว่าเราเคยอ่านเรื่องอะไร หรือเลือกเรื่องอะไรไว้ในอดีตบ้าง น่าตื่นเต้นไหม”

    เขา : “อีกนานไหมกว่าจะทำอย่างที่ยกตัวอย่างมาได้” 

    ผม: “ไม่น่าจะนานมาก ตอนนี้เทคโนโลยี NLP (Natural Language Processing หรือประมวลผลภาษาธรรมชาติ) ก็ได้รับการพัฒนาไปมาก และบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตก็เปิดให้มีการเชื่อมต่อกันได้โดยอิสระผ่านทาง API ทำให้คนไม่ต้องสนใจว่าจะใช้ ‘บริการ’ จาก ‘ตรงไหน’ แค่สนใจว่าอยากใช้บริการอะไรก็พอ ซึ่งพอมันเป็นแบบนี้แล้ว การใช้บทสนทนาพูดคุยเพื่อสิ่งที่ต้องการก็ดูจะเป็นธรรมชาติมากที่สุด”

    เขา: “จริงๆ ก็เห็นเหมือนกันว่าช่วงหลังๆ นี้พวกหุ่นยนต์ที่สามารถคุยโต้ตอบได้เริ่มมาแรง”

    ผม: “ใช่ พวก Chatbot นี่กำลังมามากๆ อย่างเฟซบุ๊คเองก็กำลังพัฒนาบริการบนเมสเซนเจอร์ที่ชื่อว่า M ที่ให้เราสามารถทำนู่นนี่ เช่น การสั่งข้าวของเครื่องใช้ หรือว่าจ้างคนทำความสะอาดได้ คือเราก็แค่พิมพ์บอกมันว่าต้องการอะไร M ก็จะไปเชื่อมต่อกับบริการพวกนี้ แล้วก็ทำตามที่เราสั่งเลย หรืออย่าง Amazon ก็ออกแก็ดเจ็ตชื่อว่า Amazon Echo ซึ่งเมื่อวางไว้ในบ้านแล้วมันจะฟังเราตลอดเวลา ถ้าเราอยากให้มันทำอะไร เช่น สั่งซื้อของจาก Amazon หรือเปิดเพลง เราก็แค่พูดออกมา โดยเรียกมันว่า Alexa ตามด้วยคำสั่ง เช่น Alexa เปิดเพลงของ Jason Mraz หน่อย หรือ Alexa สั่งหนังสือเล่มใหม่ของ J. K. Rowling ให้ที ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องเว่อร์แบบอนาคตนะ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้แล้วในปัจจุบัน”
  • เขา: “นึกถึงสมัยก่อนที่ลองไปคุยกับ Chatbot อย่าง ELIZA แล้วก็ผิดหวัง”

    ผม: “เมื่อก่อนเป้าหมายของ Chatbot มันจะประมาณว่าทำยังไงก็ได้ให้หลอกมนุษย์ให้เนียนที่สุด ทำเหมือนเข้าใจภาษามนุษย์น่ะ ซึ่งก็ทำให้เกิดบอตนู้นบอตนี้ที่พยายามเลียนแบบหรือหลอกมนุษย์มากมาย แต่ตอนนี้เป้าหมายของการพัฒนา Chatbot ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ถึงส่วนที่ ‘เข้าใจภาษามนุษย์’ จะยังคงอยู่ แต่ส่วนที่เปลี่ยนไปก็คือ เราไม่จำเป็นต้องหลอกมนุษย์แล้วว่ากำลังคุยกับหุ่นยนต์อยู่ ขอแค่หุ่นยนต์นั้นทำหน้าที่ตามคำสั่งได้ก็พอ”

    เขา: “อย่างในไทยเอง ก็เริ่มเห็นบริการแบบนี้บ้างแล้ว เช่นใน LINE Official Account”

    ผม: “Chatbot เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าในประเทศตะวันออกอย่างไทยหรือจีน มีการพัฒนาไปไกลกว่าฝั่งตะวันตกมากๆ เหมือนกับเราเป็นฝั่งที่นำเทรนด์นี้ แล้วตะวันตกค่อยๆ ตามมาเลย วันก่อนอ่านบทความเรื่องประเทศจีน แล้วก็รู้สึกว่าเขาพัฒนา Chatbot ไปไกลมากๆ เพราะสิ่งที่ครองตลาดอินเทอร์เน็ตจนแทบจะผูกขาดเลยคือ WeChat ซึ่งก็คล้ายๆ กับในไทยที่แทบทุกคนใช้ไลน์นั่นแหละ แต่บทความเขาเขียนว่าในจีน WeChat ครองตลาดจนการพัฒนาเว็บไซต์ต่างๆ ให้ดูได้ในคอมพิวเตอร์กลายเป็นเรื่องรองไปเลย นักพัฒนาจะบอกว่าเวลาทดสอบเว็บ แค่ขอให้ดูได้ใน WeChat ก็เพียงพอแล้ว ด้วยความที่แพลตฟอร์มที่ครองตลาดการสื่อสารเป็นแพลตฟอร์มแชต บริการ Chatbot ในจีนจึงล้ำหน้ามาก”

    เขา: “อาจเพราะว่าเราเป็นสังคมมุขปาฐะหรือเปล่า อย่างรายการข่าวในไทยก็มีลักษณะแบบเล่าข่าว คือต้องเล่าให้ฟังถึงจะฮิต”
  • ผม: “ก็เป็นไปได้นะ นั่นทำให้คิดต่อว่าถ้ามีบริการแบบนี้ในไทยเพิ่มขึ้น ก็น่าจะฮิตได้ง่ายเหมือนกัน อีกเรื่องที่ Chatbot ดีคือมันทำให้นักพัฒนาบริการต่างๆ มีภาระน้อยลง ซึ่งก็ทำให้ผู้ใช้มีภาระบางอย่างน้อยลงไปด้วย”

    เขา: “เหรอ ยังไง”

    ผม: “ยกตัวอย่าง สมมติว่าเราจะสั่งพิซซ่าตอนนี้ต้องทำยังไง”

    เขา : “ก็โหลดแอพฯ สั่งอาหาร หรือไม่ก็โหลดแอพฯ ของร้านพิซซ่า”

    ผม: “เห็นไหมว่าแค่จะสั่งพิซซ่าก็ยากแล้ว ต้องมารอโหลดแอพฯ ต่างๆ แต่ถ้าใช้บริการ Chatbot เราก็อาจจะเพิ่มร้านพิซซ่าเป็นเพื่อนในแอพฯ ที่ใช้อยู่แล้วอย่าง เฟซบุ๊คเมสเซนเจอร์หรือไลน์ได้เลย จากนั้นก็แค่พิมพ์สั่งว่าจะกินอะไร ตอนไหน ซึ่งนี่ก็ทำให้นักพัฒนาของร้านพิซซ่าไม่ต้องมากังวลว่า จะออกแบบหน้าตาของแอพพลิเคชั่นแบบไหน ยังไง ตัวเองก็ทำแค่ส่วนที่สำคัญจริงๆ คือรับส่งออร์เดอร์ให้ถูกต้องก็พอ การเป็น Chatbot มันน่าจะลดความซับซ้อนของการพัฒนาบริการต่างๆ ลงไปได้”

    เขา: “จริงๆ ก็เห็นว่าบางร้านเริ่มมีบริการแบบนี้แล้ว”

    ผม: “ใช่ แต่ลองคิดว่าในอนาคตแทบทุกบริการใช้วิธีแบบนี้กันหมด แล้วเรามีผู้ช่วยส่วนตัวเข้ามารวบรวมบริการต่างๆ ไว้ให้เป็นหนึ่งเดียวสิ อาจจะเป็น Siri ก็ได้ พอเราต้องการอะไร เราก็แค่พูด แค่สั่ง ไม่ต้องมานั่งพิมพ์ทุกอย่าง พูดแบบนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงพวก Virtual Assistant หรือผู้ช่วยเสมือน คล้ายๆ หุ่นยนต์รับใช้ แค่ไม่ได้มีตัวตนของหุ่นยนต์จริงๆ แต่เป็นหุ่นยนต์ที่อาศัยอยู่ในมือถือของเราเท่านั้นเอง”
  • เขา: “แต่ทีนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าถ้า Chatbot มันเกิดฮิตขึ้นมาจริงๆ มนุษย์เราจะกลายเป็นอย่างในหนังเรื่อง Her หรือเปล่า”

    ผม: “ยังไง?”

    เขา: “เราอาจจะอยากคุยกับหุ่นยนต์ที่ตอบสนองความต้องการของเรามากกว่าคุยกับมนุษย์จริงๆ ที่อาจขัดใจเราในบางครั้งก็ได้ ปวดหัวน้อยกว่า แต่นั่นก็เป็นอนาคตอีกไกลเลยนะกว่าที่ปัญญาประดิษฐ์จะทำได้ขนาดนั้น”

    ผม: “แต่ก็นะ กับเทคโนโลยีเราก็ไม่รู้แน่ชัดหรอกว่า อะไรจะไกลแค่ไหน”

    เขา: “ก็จริง”

    ผม: “ไม่แน่ว่าต่อไปคุณอาจจะไม่คุยกับผมแบบนี้แล้วแต่ไปคุยกับบอตแทนก็ได้”

    เขา: “ต่อไป?”

    ผม: “ต่อไป”

    เขา: “แล้วตอนนี้?”

    ผม: “ตอนนี้ทำไม”

    เขา: “ไม่มีอะไร”

    ผม: “เดี๋ยวไปแล้ว ไว้คุยกัน”

    เขา: “โอเค บาย”

    ผม: “บาย”

    [Conversation Ended.]

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in