“ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
ประโยคเดียวนี้คือสรุปย่อทั้งหมด
ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมไว้
ถ้าปฏิบัติตามประโยคเดียวนี้ได้
ก็จะข้ามพ้นสังสารวัฏ
ได้ด้วยการกระก้าวกระโดดเพียงแค่ก้าวเดียว
ย้อนมาดูตัวเอง แล้วก็ถอนหายใจ ...
เฮ้อ... ยังไม่เข้าใจเลยว่า
ไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ จะทำได้อย่างไร
อะไรที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ก็ยังดูไม่ออก
ดูก็ยังไม่ออกเลยว่า มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่
อย่างนี้ก็ก้าวกระโดดเพียงก้าวเดียวไม่ได้หรอก
เมื่อก้าวกระโดดเพียงก้าวเดียวไม่ได้
ก็ต้องหาว่า พระพุทธเจ้าสอนท่านใด
ให้ข้ามสังสารวัฏได้ด้วยสอง
หรือสามก้าวบ้างหรือไม่
ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นพระพาหิยะ
ที่พระพุทธเจ้าสอนเพียงย่อๆ ว่า
“ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล
เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น
เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
ในกาลใด ท่านไม่มี
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้
ย่อมไม่มีในโลกหน้า
ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ”
พระพาหิยะเมื่อได้ฟังธรรมและปฏิบัติตาม
ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
จึงได้ชื่อว่าเป็นเลิศด้านบรรลุธรรมเร็ว
.
.
ย้อนมาดูตัวเองอีกที
ก็ยังต้องถอนหายใจอีกทีเหมือนกัน ...
เฮ้อ... สักว่าก็ไม่เป็นอีก
เจออะไรนี่ มันไม่สักว่าหรอก
มันมีแต่จะเห็นว่า น่าเอา น่าเป็น
หรือไม่น่าเอาไม่น่าเป็น ทั้งนั้นเลย
อย่างนั้นเราก็ลองถอยไป
ตรงที่พระพุทธเจ้าสอน
พระปัญจวัคคีย์ก็แล้วกัน
เพราะน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่
คนทั่วไปอย่างเราจะเริ่มได้
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่อง
ทางสุดโต่งสองข้างที่ไม่ควรทำ
คือการทำตัวให้ลำบาก
กับ การปล่อยตัวให้เพลิดเพลิน
สอนเรื่อง ทางสายกลางคือ
มรรคมีองค์ ๘
แล้วต่อมาก็สอนเรื่อง
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ว่าเป็นอนัตตา
เมื่อพระปัญจวัคคีย์เข้าใจเรื่องอนัตตาแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ถามว่า
“รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
พระปัญจวัคคีย์ตอบว่า ไม่เที่ยง
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์”
พระปัญจวัคคีย์ตอบว่า เป็นทุกข์
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นเป็นตัวเรา นั่นเป็นของเรา
นั่นเป็นตัวตนของเรา”
พระปัญจวัคคีย์ตอบว่า ไม่ควร
แล้วพระพุทธเจ้าถามถึง
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ในทำนองเดียวกับที่ถามถึงรูป
พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบในทำนองเดียวกัน
จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสให้พิจารณา
โดยยถาภูตญาณทัสสนะว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูป
(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
อย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้
ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้น
ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ตัวเรา นั่นไม่ใช่ของเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา”
นี่เองคือเส้นทางที่ทำให้เกิด
พระอรหันต์ขึ้นในโลก
.
.
เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้า
จะนำพาพระปัญจวัคคีย์
จากจุดเริ่มต้นคือ
(๑) ปฏิบัติตัวอยู่ในทางสายกลาง
คือมรรคมีองค์ ๘
(๒) เรียนรู้ความเป็นอนัตตา
ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
(๓) เรียนรู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
และไม่ควรตามเห็นว่า
เป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา
(๔) เรียนรู้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ว่าจะเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้
ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
สักว่าเวทนา
สักว่าสัญญา
สักว่าสังขาร
สักว่าวิญญาณ
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
แต่ว่า ดูๆ แล้ว เส้นทางของพระปัญจวัคคีย์
ก็ยังย่นย่อเกินไปสำหรับเราอยู่ดีแหละ
เพราะทั้ง ๔ ข้อที่สรุปย่อเอาไว้
ดูๆ แล้วเป็นเรื่องการเจริญปัญญาทั้งสิ้นเลย
อย่างเราแม้จะได้ศึกษาตามนั้นแล้ว
เราก็ยังเจริญปัญญาอย่างนั้นไม่ได้
.
.
เราก็ต้องถอยมาดูอีกว่า
จะเจริญปัญญาได้ ต้องทำอย่างไร
ซึ่งถ้าเคยอ่านเคยฟังธรรมมาบ้าง
สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ซึ่งสมาธิที่ใช้ในการเจริญปัญญาได้
ก็คือ สมาธิชนิดที่เป็นความตั้งมั่น นั่นเอง
และสมาธิจะมีได้ก็ต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน
ดูๆ แล้ว บทเรียนที่เหมาะสำหรับเราก็คือ
(๑) รักษาศีลไว้เป็นพื้นฐานของชีวิต
(๒) ฝึกจิตให้ตั้งมั่น
จะด้วยการทำความสงบ(ทำสมถะ)
หรือฝึกสติรู้กายรู้ใจก็ได้
(๓) ขณะใดที่จิตตั้งมั่นได้ ก็ให้เจริญปัญญา
ตามที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์
ซึ่งถ้าเจริญปัญญาได้ก็ให้เจริญปัญญาไปเลย
ถ้าเจริญปัญญาไม่ได้
เพราะจิตไม่มีกำลังตั้งมั่นพอ
ก็ให้ทำความสงบหรือฝึกสติ
เพื่อให้จิตที่กำลังตั้งมั่นขึ้นมาใหม่
ถ้ายังทำความสงบหรือฝึกสติไม่ได้
ก็ให้มีสติรักษาศีลไว้
ฝึกวนเวียนซ้ำๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ไม่นานเราก็จะเห็น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นสักว่ารูป
สักว่าเวทนา
สักว่าสัญญา
สักว่าสังขาร
สักว่าวิญญาณ
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ไม่ใช่ตัวตนของเรา
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
เช่นเดียวกับพระอรหันตสาวกทั้งหลายนั่นแล
Cr : FB Surawat Sereewiwattana ?
หมายเหตุ
ขันธ์ แปลว่า ตัว, หมู่, กอง, พวก
หมวด ในทางพุทธศาสนาหมายถึง
ส่วนหนึ่งๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น
5 กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ 5 หรือขันธ์ทั้ง 5
รูป สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา เช่น
รูปตัวคน รูปตัวสัตว์ เค้าโครง
ได้แก่ ส่วนที่ผสมกันของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
เวทนา คือความรู้สึก ได้แก่
ทุกข์ สุข เช่น ความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน
สัญญา คือความจำได้หมายรู้ ได้แก่
จำสิ่งที่ได้รับ และ รู้สึกนั้นๆ
สังขาร คือการคิดปรุงแต่ง เช่น
การแยกแยะสิ่งที่รับรู้ การคิดวิเคราะห์
วิญญาณ ความรับรู้ ได้แก่
ระบบรับรู้สิ่งนั้นๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ขันธ์นี้ : รูปจัดเป็นรูปธรรม
เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ
จัดเป็นนามธรรม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in