เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หวนอดีตกับเพลงของ The Carpentersdead dog's eye
Please MR.postman กับ วัฒนธรรมการสื่อสาร
  • สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก the carpenter พวกเขาคือวงโฟล์ค ป๊อป จากแคลิฟอร์เนีย ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงต้นยุค70 ซึ่งนำทีมโดยสองพี่น้อง ริชาร์ดและคาเรน คาเพนเตอร์ เพลงคุ้นหูคนไทยก็มีอยู่มากมาย ทั้ง close to you , yesterday once more , top of the world และอีกนับสิบเพลง ยอมรับว่าถึงบัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังฟังเพลงของวงนี้ไม่หมดเสียที
    จนกระทั่งได้ฟังเพลงหนึ่งที่มีชื่อว่า please MR.postman นึกขึ้นได้ว่าเคยฟังมานานมากแล้ว แต่ตอนนั้นฟังในเวอร์ชั่นของวงโคตรตำนานอย่าง the beatles พอไปสืบประวัติดูก็จะพบว่า เพลงนี้ถูกเล่นcover มาแล้วมากกว่าสิบเวอร์ชั่น โดยเพลง originalแท้ดั้งเดิม เป็นของ The Marvelettes วงgirl group ยุคบุกเบิก ที่ปล่อยเพลงนี้มาในปี 1961 โอโห้ ตอนนี้ปี 2016 คงต้องนับกันเอาเองแล้วกัน นิ้วไม่พอ แล้วเวอร์ชั่นของ the beatles ล่ะ คณะสี่เต่าทองนำเพลงนี้มาเรียบเรียงใหม่แล้วปล่อยออกมาในอีก 2 ปีให้หลัง เรียกได้ว่า ตามกันมาติดๆ ส่วนในเวอร์ชั่นของ the carpenter ต้องรอถึงปี 1974 เลยทีเดียว ข้าพเจ้าขอหยุดประวัติศาสตร์ของเพลงคร่าวๆไว้ประมาณนี้ สำหรับผู้ที่สนใจก็ไปหาอ่านต่อได้ใน wikipedea
    เนื้อหาของเพลง please MR.postman แม้ว่าจะถูกเล่นมากี่ครั้งก็ยังคงความหมายไว้เหมือนเดิม ( ถ้าจำไม่ผิด เวอร์ชั่นของ the beatle แค่เปลี่ยนจากคำว่า boyfriend เป็น girlfriend ) แน่นอนว่าเรื่องราวเกี่ยวกับการส่งจดหมาย โชคดีที่ข้าพเจ้ายังเกิดในยุคที่คาบเกี่ยวกับการส่งจดหมายจึงพอมีข้อมูลอยู่บ้าง สมัยนั้นก่อนที่โทรศัพท์จะเข้ามาการส่งจดหมายเป็นการสื่อสารทางหลัก ซึ่งปัจจุบันจดหมายก็ยังมีอยู่ แต่ถูกแปรรูปไปเป็น E-mail เรียบร้อยแล้ว เพื่อความสะดวกสบายของประชากรโลก
    สิ่งที่เคียงคู่มากับจดหมายคือแสตมป์ การสะสมแสตมป์อาจไม่ใช่งานอดิเรกที่คุ้นหูนักของคนยุค gen z ทุกครั้งที่หยิบนิตยสารการ์ตูนยุค 90 ขึ้นมาอ่าน ข้าพเจ้าจะเปิดหาคอลัมม์ที่มีชื่อว่าตอบจดหมาย ซึ่งมีทุกเล่ม หากเป็นนิตยสาร ไม่ว่าจะไทยเทศ มีหมด คอลัมม์ชื่อตอบจดหมาย หรือชื่ออื่นแล้วแต่สำนักพิมพ์จะตั้ง ความสนุกของการอ่านคอลัมม์นี้คือ รู้ feedback ของผู้อ่าน พร้อมกับซึมซับวัฒนธรรมเมื่อ20ปีที่แล้ว และหลังจากสนทนากับบรรณาธิการเสร็จสรรพ ก็จะปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า หนู/ผม ขอแสตมป์...กับรูป...ด้วยได้ไหมคะ/ครับ
    นอกจากการขอแสตมป์ ประโยคปิดท้ายยอดฮิตอีกอย่างก็คือ การทิ้งที่พำนักพักพิงของตนเอาไว้ เพื่อหาเพื่อนทางจดหมาย สำหรับเด็กรุ่นหลัง คงจะจินตนาการถึงเพื่อนทางจดหมายได้ยาก การสื่อสารสมัยนี้ค่อนข้างเร็ว พิมพ์-ตอบ พิมพ์-ตอบ พิมพ์-ไม่ตอบ เลิกคุย แต่จดหมาย คือ เขียน รอ รอ แล้วก็รอ ซึ่งข้าพเจ้าก็จำไม่ได้แล้วว่าการส่งแต่ละครั้งต้องรอนานเท่าไร
    หลังจากข้าพเจ้าเกิด จดหมายอยู่ได้ไม่นานนักก็ต้องต้อนรับการมาของ เพจเจอร์ ซึ่งตอนนั้นมันบียอน มากๆ นึกถึงภาพ เพจเจอร์ที่เดินอ้าแขนเข้ามาหาประชนเหมือนนักการเมือง วัยรุ่นจึงหันไปสื่อสารทางเพจเจอร์กันพักใหญ่ แล้วโทรศัพท์มือถือก็มาทวงคืนอำนาจ คราวนี้มาไล่เลี่ยกับอินเตอร์เน็ต นำมาซึ่งการกำเนิดของ E-mail (ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็กมาก จึงลำดับ timeline ได้ไม่เป๊ะนัก) พอช่วงปี 2000 เป็นต้นมา hi5, msn, facebook, line ก็ต่อแถวเรียงหน้าสลอนกันเข้ามา และบียอนถึงขั้นที่ว่าปัจจุบันสามารถส่งไฟล์ใหญ่ๆกันผ่านมือถือได้แล้ว วัฒนธรรมการสื่อสารจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่จำเป็นต้องรอ ส่งปุ๊ปถึงปั๊บ ส่วนความละเอียดในการเขียนการพิมพ์นี่แทบจะหายไปเลย พิมพ์ผิดพิมพ์ถูกก็แก้ได้ทันที
    แต่ไม่ต้องห่วง เพราะ ปัจจุบัน Mr. postman ก็ยังไม่ตกงาน เพราะยังมีจดหมายบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้บริการ เช่น การส่งพัสดุ พวกใบแจ้งหนี้ ฯลฯ ถ้า please mr. postman ถูกเขียนในยุคนี้อาจจะต้องเปลี่ยนเป็น please Mr. Mark (Zuckerberg) แทน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in