เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกบรรณารักษ์tan_fx
โรคซึมเศร้า: สิ่งที่ลูกไม่ได้บอก
  • "แม่เหนื่อย ถ้าตอนสาวๆ แม่เลือกที่จะไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ป่านนี้แม่ก็คงไม่ต้องมานั่งเหนื่อยแบบนี้"

    นี่คือประโยคที่ทำให้เราเริ่มเป็นโรคซึมเศร้า

    อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของประโยคบางประโยค หรือคำพูดบางคำที่เวลาพ่อแม่เผลอพูดเวลาเหนื่อยหรือไม่ได้ดั่งใจอะไรสักอย่าง ที่มันดันติดอยู่ในหัวของลูกและตามหลอกหลอนลูกไปตลอดชีวิต

    ยังมีอีกหลายประโยคที่พ่อแม่พูด แล้วทำให้ลูกเก็บไปคิด คิดจนเป็นปมในใจ หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้
    - อย่าทำตัวให้มันเป็นภาระนัก
    - ทำตัวให้มันเป็นประโยชน์ซะบ้าง
    - ดูอย่างลูกบ้านนั้น (เพื่อนแม่ เพื่อนพ่อ เพื่อป้า บลาๆ) ซิ ทำไมไม่ได้เรื่องได้ราวแบบเขาบ้าง

    แน่นอนล่ะว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนคิดแบบนั้นจริงๆ หรอก มันก็เป็นแค่ความพลั้งเผลอแต่ความพลั้งเผลอบางทีมันก็สร้างบาดแผล แล้วมันก็ดันเป็นบาดแผลที่อยู่กับตัวลูกไปอีกยาวนานด้วย เพียงแต่ลูกไม่กล้าบอกออกมา หรือบางครั้ง ไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับมันด้วยซ้ำ ก็เลยต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต

    การเปรียบเทียบก็เป็นเรื่องใหญ่ เทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น หรือเทียบลูกตัวเองกับตัวพ่อแม่เองสมัยยังเป็นเด็ก โลกยุคก่อน iPhone กับหลัง iPhone มันเป็นโลกคนละใบกันแล้ว การเปรียบเทียบมันยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เด็กเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ถูกทำให้เชื่อได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ความอดทนของคนแต่ละยุคย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

    อีกเรื่องใหญ่ๆ ก็คือบางทีพ่อแม่เองก็ต้องลองทบทวนดูด้วย เวลาพูดว่าสมัยพ่อหรือสมัยแม่เด็กๆ หรือตอนเรียนนะ...บลาๆ ทบทวนดูว่าเรากำลังเลี้ยงลูกให้เป็นลูก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอนาคตเป็นของตัวเอง สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง หรือเลี้ยงให้เป็นตัวพ่อแม่เองในแบบที่พ่อแม่อยากให้เป็น

    แน่นอนแหละว่าพ่อแม่ทุกคนหวังดีกับลูกเสมอ มันอยู่ที่คำพูดและวิธีการพูดการสอนด้วย ว่ามันจะส่งผลบวกหรือส่งผลลบต่อลูก

    ในกรณีของเราเอง เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของแม่มาตั้งแต่เราจำประโยคนั้นที่แม่พูดได้ เราไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัวเองมีค่า และเราจะไม่มีค่า ตราบใดที่เรายังทำให้แม่มองเห็นไม่ได้ว่าเราไม่ใช่ภาระของท่าน ยังโชคดีที่เราไม่ถูกเอาไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ก็มีกรณีที่แม่เคยบอกให้เราตัดสินใจเลือก แล้วเราก็เลือกแล้ว แต่แม่ดันไม่ยอมรับ และไปเรียกคนอื่นมาโน้มน้าวเราให้เลือกในสิ่งที่แม่อยากให้เราเลือก ตั้งแต่เหตุการณ์นั้นมา เราไม่กล้าตัดสินใจอะไรเองจริงๆ จังๆ เลย จนกระทั่งได้เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้านั่นแหละ

    คำพูดมันมีพลังนะ โดยเฉพาะคำพูดจากพ่อแม่ มันเป็นเหมือนวาจาศักดิ์สิทธิ์ที่ลูกเก็บมาคิดมาทำตามนั่นแหละ

    อีกเรื่องที่เราอยากจะเล่าก็คือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนสงสัยว่าลูกกำลังเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า ก็ให้ชวนกันไปพบจิตแพทย์เพื่อให้ลูกได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุด หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนเคยพูดคำพูดเหล่านี้กับลูกในเวลาที่ลูกเศร้าหรือเจอเรื่องผิดหวังมา เช่น

    - ทำไมเรื่องแค่นี้สำออยนักล่ะ
    - ทำไมถึงไม่เข้มแข็งเลย
    - ดูซิ คนอื่นเขาลำบากกว่านี้ เขายังไม่เห็นมานั่งเศร้านั่งซึมเลย
    - เลิกทำตัวเพ้อเจ้อได้แล้ว
    - ไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิไป จะได้หายฟุ้งซ่าน

    ก็อยากให้พวกท่านลองทบทวนและลองสังเกตลูกดูว่ามันมีผลกระทบกับจิตใจและการใช้ชีวิตของเขาไหม

    ส่วนคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่พาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการโรคซึมเศร้าแล้วก็อยากขอแนะนำให้ค่อยๆ คุยกับลูก มีอะไรก็สื่อสารกันให้ชัดเจนและค่อยๆ พูดจากันอย่างประณีประนอม คำพูดอย่างเช่น

    - เมื่อไหร่จะหายซะที
    - ทำไมไม่เป็นปกติเหมือนคนอื่น

    คำพูดพวกนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมยังเป็นการทำร้ายความรู้สึกและสร้างคำสั่งใหม่ในความคิดลูก ทำให้ลูกต้องมาคิดย้ำๆ อยู่นั่นว่าเมื่อไหร่จะหาย เมื่อไหร่จะปกติ ทำไมไม่เป็นปกติเหมือนคนอื่นเขา ทำไมเรามันห่วย ทำไมเราต้องมานั่งเป็นภาระพ่อแม่

    ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้านั้นมันไม่ได้มาจากการพบจิตแพทย์อย่างเดียว แน่นอนว่าการพบจิตแพทย์เป็นการเริ่มต้นรักษาโรคซึมเศร้าที่ดีที่สุด แต่การที่จะหายจากโรคซึมเศร้าได้นั้นมันต้องได้รับความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ป่วย พ่อแม่ คนรอบข้างผู้ป่วย หมอ และยา (ในกรณีที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องทานยา)

    ความเข้าใจและความเมตตาและการรับฟังคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คนๆ นึงหายจากโรคซึมเศร้าได้

    ความเข้าใจ:

    ความเข้าใจจากตัวผู้ป่วยเอง เข้าใจในโรคที่ตัวเองเป็น เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า และเข้าใจว่าชีวิตคนเราจริงๆ แล้วมันเป็นยังไง มันมีทั้งขึ้นทั้งลง ทั้งผิดหวังทั้งสมหวัง และเข้าใจที่จะอยู่กับความเป็นจริงในแบบที่ชีวิตมันเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้มันเป็น 

    ความเข้าใจจากพ่อแม่และคนรอบข้าง ว่าลูกนั้นกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ว่าโรคนี้มีอาการอะไรบ้างและรักษาได้อย่างไรบ้าง เข้าใจในสิ่งที่เขาแสดงออกและไม่แสดงออกนั้น เขากำลังพยายามสื่ออะไรให้พ่อแม่เข้าใจ และเข้าใจว่าไม่ว่าลูกจะแสดงท่าทียังไง เขาก็อยากจะหายจากโรคนี้ใจแทบขาดแล้ว

    ความเมตตา:

    ความเมตตาที่ผู้ป่วยต้องมีให้ตัวเอง เมตตาตัวเองในวันที่ตัวเองไม่โอเค เมตตาตัวเองไม่ตบตีตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจในวันที่ชีวิตไม่โอเค เมตตาหัวใจของตัวเอง ที่ฟันฝ่ามาได้จนถึงทุกวันนี้ 

    ความเมตตาที่พ่อแม่และคนรอบข้างมีให้ต่อลูก เมตตาเขาในวันที่เขาเมตตาตัวเองไม่ลง เมตตาเขาในวันที่เขามองไม่เห็นแม้กระทั่งคุณค่าของตัวเอง และยิ่งเมตตาเขาในวันที่เขามองความรักของทั้งที่ตัวเองมีต่อชีวิตและที่พ่อแม่มีต่อลูกไม่เห็น

    การรับฟัง:

    สำหรับผู้ป่วยแล้ว รับฟังในสิ่งที่หัวใจกำลังบอกคุณบ้างนะ และเปิดใจโอบรับความรักจากพ่อแม่และคนรอบตัวด้วย

    สำหรับพ่อแม่ ลองเปิดใจรับฟังลูกอย่างเต็มหัวใจดูสิครับ มีอีกหลายอย่างที่ลูกไม่กล้าเล่าและไม่กล้าบอก แต่ถ้าพวกท่านทำให้เขารู้สึกปลอดภัยได้มากพอ เขามีเรื่องอยากจะเล่าให้พ่อแม่ฟัง รับรู้ และเข้าใจเขาอีกเยอะเลยล่ะ

    สิ่งเหล่านี้แหละที่จะทำให้คนๆ นึีงหายจากโรคซึมเศร้าได้

    ซึ่งตอนนี้เราคิดว่าเราก็เข้าใกล้เส้นชัยนั้นมากแล้วแหละ

    ปล. ขอบคุณแม่ ที่ยอมเหนื่อยฝ่าฟันชีวิตในอเมริกาเพื่อให้เราและน้องสาวได้มีโอกาสในชีวิตที่ดี และขอบคุณที่แม่คอยสอนทุกๆ อย่าง และรักเรากับน้องสาวเสมอมา ถึงแม้เราจะใช้เวลาตั้ง 10 ปีกว่าที่จะเข้าใจว่าทุกอย่างที่แม่ทำ แม่ทำไปก็เพราะความรัก ตอนนี้เราเข้าใจแม่แล้วแหละ ว่าสิ่งที่แม่เคยพูด แม่ก็แค่พูดไปอย่างนั้นเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องของเรากับแม่ก็คือ การแสดงออกทางความรักมันมีหลายรูปแบบ ถ้าเราตีกรอบว่าความรักที่เราอยากได้จากพ่อแม่ต้องเป็นแบบนี้ๆ มาในรูปแบบการแสดงออกแบบนี้เท่านั้น เราก็อาจจะพลาดโอกาสซึมรับความรักที่พ่อแม่แสดงออกในวิถีทางอื่นซึ่งมันอาจจะเป็นแค่วิถีทางเดียวที่ท่านรู้จักในการแสดงความรักก็ได้ เปรียบเทียบเหมือนถ้าการแสดงออกทางความรักของแม่คือลำแสงสีฟ้า แต่เราตีความว่าความรักจากพ่อแม่ต้องเป็นแสงสีเหลือง เราก็อาจจะใช้เวลาทั้งชีวิตเฝ้ารอและไขว่คว้าหาแสงสีเหลือง โดยลืมไปว่าความรักมันมีหลากหลายรูปแบบและวิธีการแสดงออก

    ปล. 2 ขอบคุณป๊า ที่คอยสอน คอยแนะนำ คอยให้ความอบอุ่น ความรัก ความเมตตาลูกคนนี้มาตลอดตั้งแต่เกิด และโดยเฉพาะช่วง 1 ปีครึ่งที่เริ่มรับการรักษาโรคซึมเศร้า แล้วก็ต้องขอโทษป๊าด้วยลูกคนนี้ใช้เวลา 10 ปี กว่าจะเข้าใจความรักของพ่อแม่ และวางใจในความรักของพ่อแม่อย่างแท้จริง

    ปล. 3 ขอบคุณ พี่ดุ๋ยดุ๋ย ที่รักและเห็นค่าในตัวเรา แม้ในวันที่เราไม่รักและไม่เห็นค่าในตัวเองแม้แต่น้อย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in