เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ONCE UBON A TIME อุบลเป็นเมืองชิคๆSALMONBOOKS
คำนำ

  • ก่อนจะอธิบายถึงหนังสือเล่มนี้ เราคงต้องอธิบายถึง ธนชาติ ศิริภัทราชัย เสียก่อน

    นอกจากเป็นนักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์ เจ้าของหนังสือ NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ... ที่มียอดขายเป็นที่น่าชื่นใจ (รวมถึง THE REAL ALASKA อลาสก้าล้านเปอร์เซ็นต์ ที่ก็น่ารักไม่แพ้กัน) ธนชาติยังมีความเป็น ‘ศิลปิน’ อยู่เต็มเปี่ยม ศิลปินในความหมายที่ชอบทดลองและทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นหรือที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เขาเป็นพวกไม่อยู่นิ่ง ไม่ว่าจะวิธีการผลิตงานเขียน งานถ่ายภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว (อย่าง BKK 1st Time ตอน ถูกคนไทยด่าครั้งแรก นั่นยังไงล่ะ) กระทั่งขยันหามุกใหม่ๆ มาอำ ให้เพื่อนแปลกใจและฮาแตกไม่เว้นแต่ละวัน

    หากถามว่างานของธนชาติเป็นแบบไหน? คนทั่วไปอาจคิดถึงภาพถ่ายของเขา หรือทิวทัศน์สวยงามอย่างในหนังสือนิวยอร์กหรืออลาสก้ามากกว่า แต่เราคิดว่า เขาเป็น ‘นักเสียดสี’ เขามีสายตาช่างสังเกต แถมความจำยังดี รายละเอียดของบางอย่างที่เขาสนใจไม่เคยรอดพ้นสายตา

    ความช่างเสียดสีของเขาทำงานร่วมกับทักษะด้านความตลก (Sense of Humour) เป็นกลไกในการผลิตงานที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นอย่างดี ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาไปแล้วก็คือ การเอาของสองสิ่งซึ่งไม่เหมาะกันมาจับคู่กัน เช่น อาม่ากับปืนไรเฟิล ศาสตราจารย์ด้านปรัชญากับคำว่าเหี้ยของคนไทย หรือกระทั่งคุณลุงชาวอุบลกับ tokyobike พร้อมกับคุณป้าในเสื้อแมรี่ฯ!

    ใช่ ธนชาติอยากให้คนหัวเราะ แต่ใช่ว่าเขาต้องการให้ใครเริ่ม ‘หัวเราะเยาะ’ ใครอีกคน แต่คือรอยยิ้มอารมณ์ดีที่เรียกร้องให้ผู้คนลองได้สำรวจตัวเอง ว่าต่อให้คุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกเสียดสี แต่คุณมีความคิดเห็นต่อมันอย่างไรต่างหาก

    กล่าวอย่างตรงไปตรงมา หนังสือเล่มนี้เป็นการล้อกับกระแส ‘ฮิปสเตอร์’ ที่กำลังโดนกระหน่ำ ธนชาติเองก็อยู่ในกลุ่มที่ถูกตีตราว่าเป็นฮิปสเตอร์ จริงอยู่ที่การแซะแซวกันไม่ใช่เรื่องแปลก มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะนี้มานานแล้ว แต่เรารู้สึกว่า สิ่งแปลกๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ ‘ความมักง่ายในการแสดงออก’ ถ้าคุณอยากเสียดสีหรือต่อต้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แค่การตั้งแอคเคาต์เฟซบุ๊คล่อเป้า หรือเอาแต่แสดงความเห็นลงบนกล่องคอมเมนต์ก็ดูไม่ค่อยมีศิลปะเอาเสียเลย

    ทำให้พวกเราเอง ในฐานะที่ถูกแซวว่า ‘สำนักพิมพ์ฮิปสเตอร์’ ที่ไม่ค่อยให้ค่ากับการถูกแปะป้าย แต่เราสนุกไปกับการดูเทคนิคและความแพรวพราวในการจิกกัดกันไปกันมามากกว่า ซึ่งธนชาติก็อยู่ในกลุ่มนั้น เขาหยิบความฮิปสเตอร์ที่ถูกดูแคลนว่า เป็นตัวแทนแห่งความดัดจริตของคนกรุงฯ เอามันมาแซวไม่ต่างจากคนอื่น แต่หนังสือเล่มนี้กำลังจะแสดงให้คุณเห็นว่า เขาไปไกลกว่าคนอื่นหลายขุม

    ความเป็นศิลปินของเขาให้ค่ากับความสร้างสรรค์ มากกว่าเรื่องไร้สาระอย่างการแปะป้ายให้กันเหมือนเด็กวิ่งไล่จับ ทั้งที่ทุกคนก็ต่างรู้ว่ามันคือกระแส และอีกไม่นานมันก็ผ่านพ้นไป ที่สำคัญกว่านั้น มันไม่เห็นจะผิดอะไรหากใครพอใจจะเป็นนักโต้คลื่น หรือยินดีจะปล่อยตัวให้ลอยไปตามสายน้ำ

    และนั่นคือคำอธิบายหนังสือเล่มนี้





  • บ่ายอ่อนๆ ของวันอาทิตย์วันหนึ่ง

    อยู่ดีๆ ผมก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองขึ้นมากะทันหัน

    นึกอยากถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย เพื่อเรียกความชอบพอจากเพื่อนๆ ในนั้น

    ว่าแล้วจึงคว้ากางเกง Nudie มาสวมใส่ หยิบหมวกบีนนี่มาครอบหัว จับกระเป๋า Kanken ขึ้นสะพายหลัง จากนั้นก็ปั่น tokyobike ไปนั่งแฮงก์เอาต์ที่ Co-Working Space แถวบ้าน

    แต่ก่อนจะทำงาน ผมก็เดินไปสั่งกาแฟดริปที่ใช้เมล็ดพันธ์ซิงเกิลออริจินจากคาเฟ่ออร์แกนิกข้างๆ

    หลังนั่งตากแอร์ฯ จนเหงื่อแห้ง (ปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ หลังก็มักจะชุ่มแบบนี้แหละ) ผมก็ถ่ายภาพถ้วยกาแฟจากมุมท็อป โดยที่วางหนังสือภาษาอังกฤษของ พอล อาร์เดน (Paul Arden) เอาไว้ข้างๆ และมีผ้าปูโต๊ะกริดน้ำเงินขาวกับดอกหญ้าเป็นแบ็คกราวด์

    ผมปรับภาพให้สว่างจ้าก่อนจะโพสต์ลงอินสตาแกรม โดยใช้ถ้อยคำภาษาอังกฤษเรียบง่าย เช่น “A Simply Beautiful Sunday” หรือ “My Favorite Cup” เป็นแคปชั่น

    ที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะถ้าเกิดแต่งยาวๆ แล้วมันผิดแกรมมาร์ก็กลัวจะดูโง่เสียเปล่า

    หลังจากโพสต์ไปได้สิบนาที ผมก็ได้ไลก์มากมาย

    หลายคนคอมเมนต์ว่า ชิลจังเลยครับพี่ บางคนชมผมว่า ชีวิตดีจังเลยค่ะพี่เบ๊น

    แค่นั้นก็พอจะทำให้ผมรู้สึกมั่นใจในตัวเองขึ้นมา และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้บ้าง

    แต่แล้วสักพัก ก็มีคนที่ใช้ชื่อ UncleChai มาคอมเมนต์ว่า

    “Bitch, stop being pretentious. Come to Ubon and experience how to be actually chic.”

    ผมรู้สึกเหวอกับถ้อยคำของชายแปลกหน้าคนนั้น

    แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกคล้อยตามอย่างประหลาด

    รู้ตัวอีกที ก็แพ็คเสื้อผ้าใส่กระเป๋าและบินมาที่อุบลแล้ว

    จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมาเกือบหนึ่งปีแล้ว

    ผมยังอยู่ที่อุบลแห่งนี้

    สิ่งที่ตรึงให้ผมปักหลักอยู่ที่นี่ได้นานขนาดนี้คงเป็นเรื่องคาแรคเตอร์ของเมือง

    ความชิคของอุบลสนองกับตัวตนผมได้ดี

    อุบลเป็นเหมือนส่วนผสมของหลายเมืองทั่วโลก มีความใส่ใจในดีเทลแบบโตเกียว ผู้คนเฟรนด์ลี่แบบพอร์ตแลนด์ สวัสดิการดีเหมือนโคเปเฮเกน และเป็นเมืองศิลปะแบบนิวยอร์ก แต่ก็ยังรักษารากความเป็นท้องถิ่นของอีสานได้ดี เรื่องเซอร์เรียลของสังคมไทยยังมีให้ผมสัมผัสได้อย่างครบถ้วน แต่มาในเวอร์ชั่นที่โมเดิร์นกว่าเท่านั้น

    ด้วยส่วนผสมสุดเท่ดังกล่าว จึงไม่แปลกที่อุบลจะติดอันดับ 25 เมืองน่าอยู่จากนิตยสาร Monocle

    เมื่ออยู่ไปสักพัก ผมก็เริ่มรู้สึกอยากให้คนชิคๆ ในกรุงเทพฯ มาที่อุบลมากกว่านี้ แต่พอชวนใครไปก็มีแต่คนส่ายหน้า พวกเขาคิดแค่ว่า อุบลมีแต่ผาแต้มและงานแห่เทียนพรรษา

    ผมจึงต้องรวบรวมทีมงานคนใกล้ตัวทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อบอกเล่าให้ทุกคนฟังว่า อุบลมีอะไรมากกว่านั้น


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in