เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อยากจะเขียน อยากจะจดให้มันหมดNatchaya Yu
การศึกษาไทย...การศึกษาใคร?


  • ในปัจจุบัน มีประชากรไทยจำนวนมากที่กำลังตกงาน รวมไปถึงนักศึกษาจบใหม่ ที่จบออกมาแล้วไม่มีงานทำ ทำให้สังคมไทยเกิดคำถามว่า "เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทย?" เหตุใดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับต้นๆ ถึงได้สร้างบุคลากรออกมาไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานได้ถึงเพียงนี้ และจะทำอย่างไรให้แรงงานไทยสามารถเติบโตได้ในประเทศไทยและในตลาดแรงงานต่างประเทศ

    ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด ที่กินระยะเวลามานานกว่า 2 ปี ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย รวมทั้งองค์กรธุรกิจต่างๆ ประสบกับสภาวะขาดทุน ไวรัสโคโรน่าได้สร้างความเสียหายทั้งในด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ ในบทความนี้ เราจะขอเน้นย้ำด้านธุรกิจการศึกษาโดยเฉพาะ

    โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศต้องปิดตัวลงไปถึงประมาณ 50,000 แห่ง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการได้ ด้วยการเรียนแบบ work from home จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าเรียนออนไลน์ ทำให้ระบบงานในสถานศึกษาหลายแผนกต้องถูกยุบไป เช่น แผนกโรงอาหาร แผนกทำความสะอาด ฝ่ายอาคารสถานที่

    โรงเรียนบางแห่งกลายเป็นโรงเรียนร้าง ประกอบกับนโยบายการลดค่าเทอมนักเรียน ส่งผลให้ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ และไม่ใช่แค่เฉพาะโรงเรียนเท่านั้น แม่แต่สถาบันอุดมศึกษาก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน หลายกิจกรรมที่เป็น on site ถูกยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก ประเพณีเก่าแก่อย่างเช่น การรับน้อง การปฐมนิเทศ งานเลี้ยงรุ่น งานบอล งานกีฬามหาวิทยาลัย และอื่นๆ

    แม้แต่ตัวนักศึกษาเอง ก็ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปใช้อาคารสถานที่จริง การเรียนออนไลน์ทำให้ชีวิตวัยรุ่นที่ควรจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมถูกจำกัดลงไว้แค่ในห้องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าบ้าน หลายคนพอเรียนจบมาก็กลายเป็นคนตกงานเพราะเดิมทีนั้น ปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจมานานแล้ว เนื่องจากระบบการศึกษาไทยที่ล้มเหลว และการวางแผนการศึกษาที่ผิดพลาด

    ระบบการศึกษาไทยเน้นการเรียนรู้แบบท่องจำ และให้ค่ากับความสามารถทางตรรกะและคณิตศาสตร์ คนที่เก่งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มักจะได้รับการยอมรับมากกว่าคนที่มีความฉลาดทางด้านภาษา

    นอกเหนือจากนั้น การเรียนแบบท่องจำ ทำให้ภาพลักษณ์ของนักเรียนที่ขี้ลืม กลายเป็นคนโง่ในสายตาครูผู้สอน ทั้งๆ ที่ความฉลาดทางปัญญา หรือ IQ มีถึง 8 ด้านด้วยกัน

    อันได้แก่
    1) ความฉลาดทางด้านภาษา
    2) ความฉลาดทางตรรกะและคณิตศาสตร์
    3) ความฉลาดทางด้านมิติ เช่น จิตรกร สถาปนิก
    4) ความฉลาดทางด้านการใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหว เช่น นักกีฬา
    5) ความฉลาดทางด้านดนตรี
    6) ความฉลาดทางด้านมนุษย์สัมพันธ์
    7) ความฉลาดทางด้านเข้าใจตนเอง
    8) ความฉลาดในการเข้าใจธรรมชาติ

    จะเห็นได้ว่า ระบบการเรียนการศึกษาของไทย เป็นไปในลักษณะของการฝืนธรรมชาติ แต่โชคดีที่เด็กไทยในเมืองฐานะชนชั้นกลางขึ้นไป ได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้จากผู้ปกครอง ทำให้กลายเป็นคนเก่งและมีความสามารถที่หลากหลาย แต่ปัญหาคือ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจในตัวเอง นักเรียนหลายคนที่เรียนเก่ง มักจะไม่รู้ว่าตัวเองควรเลือกเรียนคณะอะไร และถ้าไม่ใช่คณะแพทย์ วิศวะ ก็รู้สึกว่าไม่สอดคล้องกับศักยภาพของตน ทั้งที่ความจริงแล้ว คนเก่งๆ อย่างไรก็สามารถไปได้ทุกที่อยู่แล้ว

    สิ่งสำคัญคือ ภาคการศึกษาควรออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานมากกว่านี้ มีกิจกรรม workshop เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน ทำให้เขามีทักษะ สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริง ด้านทัศนคติของบุคลากรครูเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ครูที่ดีควรได้รับการอบรมเรื่องจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น มีจรรยาบรรณในการเป็นครู รู้ว่าอะไรควรพูดไม่ควรพูด ควรทำหรือไม่ควรทำ ท่านไม่จำเป็นต้องมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูก็ได้ เพียงท่านมีจริยธรรมความเป็นคน ก็สมบูรณ์พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติได้แล้ว

    สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการปลูกฝังความเป็นคน สอนให้นักเรียนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต มองโลกด้วยสายตาที่เข้าใจ ว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่มองว่าโลกใบนี้มีแต่ความโหดร้าย พานกลายเป็นพวกโลกมืดไปเสียอย่างนั้น เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชีวิต มีความยืดหยุด รู้จักปรับตัว เปิดใจเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เขาเรียกกันว่ามี Growth Mindset ผู้เขียนเชื่อว่า การนำหลักการจิตวิทยามาช่วยเสริมในการเรียนการสอน ย่อมจะทำให้อนาคตของชาติ มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจได้อย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวินาที โดยไม่พ่ายแพ้ไประหว่างทางเดินแห่งชีวิตไปเสียก่อน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in