เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
In Memoriam of The Inspirerminimore
‘Photograph’ ภาพอันบันทึกไว้ด้วยรักและประโยชน์แก่มวลชน

  • “...เมื่อพระองค์มีพระชนม์พรรษาได้ ๘ พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ซื้อกล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Coronet Midget พระราชทานให้พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช...”


    ใครจะรู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของงานอดิเรกที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงดำเนินด้วยความรัก และต่อมาจะกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ



    With Love


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงสืบทอดความรักในการถ่ายภาพมาจากพระบรมราชชนนี...เพราะ “สมเด็จย่า” ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์มือสมัครเล่น และมีกล้องส่วนพระองค์ ความโปรดปรานต่อโลกที่มองผ่านเลนส์นี้เอง ที่ได้ทรงส่งมอบให้พระราชโอรส กลายเป็นงานอดิเรกที่ทรงอยู่เป็นประจำ จนผู้เป็นช่างภาพอาชีพยังยอมรับและยกย่องว่าภาพฝีพระหัตถ์นั้นมีความงดงามและคุณค่าในเชิงศิลปะ 






    คุณ สงคราม โพธิ์วิไล ช่างภาพฝีมือชั้นครูผู้คร่ำหวอดในแวดวงนี้มา ๔๐ ปี เคยได้มีโอกาสถวายงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพได้เล่าเอาไว้ว่า


    “...ถือเป็นโชคดีสูงสุดในชีวิต 
    คือการถวายการใช้กล้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
    ถวายให้สมเด็จพระเทพฯ ถวายให้ท่านหญิงสิริวัณณวรีนารีรัตน์ 
    และพระองค์โสมฯ วังสวนกุหลาบ...”




    ยิ่งช่างภาพใดได้ทำงานใกล้ชิด ย่อมซึ้งในน้ำพระทัย พระราชจริยาวัตร และพระราชอารมณ์ขันสไตล์ ‘ตากล้อง’ ที่คนทำงานเช่นเดียวกันเท่านั้นถึงจะเข้าใจ อย่างที่คุณสงครามเล่าต่อเอาไว้ในบทสัมภาษณ์เดียวกัน



     “ในหลวงท่านเคยรับสั่งว่า เคยรู้ไหมว่าเสียงชัตเตอร์ของตัวเองดังยังไง 
    ทุกคนก็ตอบดังโชะ ดังแชะ แต่ในหลวงบอกว่าของฉันดัง ๗ บาท 
    ท่านเลียนเสียงว่าเชดเบิด ก็คือ ๗ บาทนั่นเอง 
    ท่านบอกว่า รู้ไหมเวลากดชัตเตอร์แต่ละครั้งกล้องมันสึกหรอ 
    รู้ไหมเวลาออกไปถ่ายภาพมันก็มีค่ากิน ค่ารถ และเอาฟิล์มไปล้างก็เสียค่าล้าง 
    กว่าจะได้ภาพหนึ่งภาพนี่เราเสียเงินไป ๗ บาท”


    มินิมอร์เสริมให้ว่า กล้องแต่ละยี่ห้อนั้นจะมีเสียงต่างกัน เอาจริงๆ ยี่ห้อเดียวกันแต่คนละรุ่นก็เสียงต่างแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ได้ลองใช้มา ยี่ห้อ Canon (ที่ทรงใช้บ่อย) จะมีเสียง ‘เชี้ยต’ แหลม ส่วนยี่ห้อ Nikon นั้นจะดัง ‘แชะ’ หรือ ‘ฉับ’ ที่เสียงต่ำกว่า


    For People


    แม้จะทรงมีการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก แต่ก็มิได้ทรงฉายแต่ภาพ 'ครอบครัว' ทว่าทรงใช้กล้องเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณะ ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินยังสถานที่ต่างๆ และหาแนวทางพัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การถ่ายภาพคือการการบันทึกข้อมูลประกอบพระราชวินิจฉัยในอีกมุมหนึ่ง

    ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานคำนำไว้ในหนังสือ "ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระเจ้าอยู่หัว" มีความตอนหนึ่งว่า


    “....ในด้านพัฒนา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง 
    ยกตัวอย่างเช่น ภูมิประเทศ บริเวณที่น่าสนใจ 
    พื้นที่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ 
    บริเวณหมู่บ้าน เส้นทางคมนาคม ทั้งที่ถ่ายจากพื้นราบ 
    และถ่ายขณะประทับอยู่ในเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ 
    ภาพเหล่านี้สามารถใช้ประกอบพระราชดำริในการพัฒนาได้ 
    เมื่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว 
    บางทีก็ทรงถ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกับผลงานของเขาเอาไว้ด้วย”






    ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ไม่เพียงแต่เป็นบันทึกเรื่องราวส่วนพระองค์ แต่เป็นหลักฐานอย่างดีว่าได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจหนักหนาตลอด ๗๐ ปี แห่งรัชสมัย เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข...ทั้งหมดนั้นก็ด้วย 'รัก' ที่หาได้มีเงื่อนไขใดไม่


    ขอบคุณข้อมูลจาก

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in