เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sakura DramaChaMaNoW
02: ละครญี่ปุ่นยุค Trendy Drama ทำไมละครญี่ปุ่นมีแต่แนวเครียดๆ?

  • สงสัยไหมคะว่า ทำไมละครญี่ปุ่นมักมีเนื้อหาหนักๆ เครียดๆ พูดถึงแต่เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องราวชีวิตแบบดราม่าๆ ละครรักกุ๊กกิ๊กน้อย บางเรื่องก็ไม่มีพระเอก นางเอกมาฟินให้จิกหมอน เอ๊ะ! แล้วทำไมละครญี่ปุ่นถึงต้องเครียดกันถึงขนาดนั้นนะ?

    อย่างที่เล่าไปในตอนที่แล้วว่า ในยุคแรกๆ ละครญี่ปุ่นเขาก็มีหลากหลายแนวมาก ก็ยังไม่มีเอกลักษณ์พิเศษว่าจะสร้างละครแนวไหน แต่ต่อมาในช่วงยุค 80-90 เป็นต้นมา ละครญี่ปุ่นเริ่มมีแนวทางชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังคงมีละครหลากหลายประเภท เช่น แนวความรัก แนวดราม่า แนววัยรุ่น แนวครอบครัว แนวสืบสวนสอบสวน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมาคือ ทิศทางสำคัญของละครญี่ปุ่นในแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะทำละครออกมาประเภทไหน ละครเรื่องนั้นต้องมีเรื่องราวที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เป็นเรื่องราวที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ให้แง่คิด แรงบันดาลใจ และพบเจอหนทางแก้ไขปัญหาของชีวิต ซึ่งละครที่ว่านี้ ก็คือแนว Trendy Drama 

    ลักษณะเด่นของละครแนวนี้จะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างหนัก จะไม่ค่อยมีเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ เยอะสักเท่าไรนัก (เรื่องราวความรักมักเป็นแค่ตัวประกอบในเรื่องมากกว่า) แต่มักจะเป็นละครแนวอาชีพ แนวดราม่า แนววัยรุ่น แนวครอบครัว แนวสืบสวนสอบสวน เล่าถึงแต่ปัญหาสังคม เรื่องราวอาชีพ เรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆ ทำไมละครญี่ปุ่นต้องเครียดขนาดนั้น และทำไมถึงนิยมทำละครแนวนี้ขึ้นมา เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะว่า…
  • 1. เริ่มต้นจากความเครียดของสังคม

    ละครญี่ปุ่นได้เข้าสู่ละครแนว Trendy Drama อย่างเต็มตัวก็ในช่วงยุค 90 ผู้แต่งละครแต่ละคนตัดสินใจว่า เราจะสร้างละครที่มีธีมหลักกล่าวถึงเรื่องราวใกล้เคียงชีวิตจริงของคนญี่ปุ่น สาเหตุที่ทำให้ละครญี่ปุ่นมาถึงจุดนี้ก็คือ เหตุการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่แตกในระหว่างปี 1986-1991 หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็จะเริ่มเห็นละครญี่ปุ่นมุ่งเน้นเล่าถึงเรื่องราวใกล้เคียงกับความจริงในสังคม เรื่องราวของคนชั้นกลางทั่วไปในสังคม เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงาน เรื่องราวชีวิตจริงก็มี นอกจากนี้ยังนำปัญหาในสังคมมาสร้างเป็นละคร สิ่งที่ตามมาก็คือ หนทางการแก้ไขปัญหาชีวิต หรือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ซึ่งละครแนว Trendy Drama นี้จะเจอได้บ่อยในละครช่วงค่ำๆ ของญี่ปุ่น ถ้าเทียบกับไทยก็ละครช่วงหลังข่าวภาคค่ำนั่นเอง การสร้างละครแนวนี้ก็เหมือนกับเป็นการสร้างทางออกให้สังคม สร้างละครที่จำลองสถานการณ์จริงให้คนดูได้เห็น 

    2. ได้รับความนิยมจากคนดู

    เห็นเครียดๆ อย่างนี้ แต่เชื่อไหมคะว่า ละครแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น แม้แรกๆ ละครญี่ปุ่นจะไม่ได้เข้มข้นถึงขนาดนี้ แต่พอผู้สร้างละครลองหันมาสู่แนว Trendy drama ผลปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดีเสมอมา ถ้าเราไปดูชาร์ตเรตติ้งละครญี่ปุ่น จะเห็นเลยว่า ละครที่เรตติ้งสูงๆ แต่ละเรื่องเนี่ยเป็นละครแนวเครียดๆ เนื้อหาหนักๆ แน่นๆ ทั้งนั้น และมักเป็นเรื่องที่จบแล้วคนจดจำ บางเรื่องก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาคต่อหลายต่อหลายภาคก็มี

    3. ดูแล้วคลายเครียด!

    ไม่ได้อ่านผิดกันไปหรอกค่ะ จริงๆ แล้วละครแนวนี้ ยิ่งดูยิ่งคลายเครียด เพราะว่าการที่หยิบประเด็นปัญหาในสังคม หรือเรื่องชีวิตของผู้คนในแง่มุมต่างๆ มาเล่าเนี่ย ผลสุดท้ายแล้ว มันจะได้กำลังใจและทางออกของปัญหาไปในตัว บางทีดูๆ ละครไป ก็เจอปัญหาที่เหมือนกับในชีวิตจริงของเราก็มี เราเองก็คงมีปัญหาบางอย่างที่เล่าให้ใครฟังไม่ได้ บางทีเราอยากได้คำปรึกษา แต่ไม่อยากจะเล่า ซึ่งละครเป็นทางออกหนึ่งของปัญหานี้ เราสามารถได้คำปรึกษาที่ดีจากละคร เหมือนเป็นความจริงในโลกจำลอง ฉายให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกจริง แทนที่ละครจะพาเราหนีจากสิ่งที่ชวนให้นึกถึงความจริง แต่ละครญี่ปุ่นกลับพาให้เราหันมามองความจริงกันชัดๆ อีกครั้ง และมองหนทางแก้จากปัญหาเหล่านั้น หรืออาจพูดได้ว่า ละครญี่ปุ่นเลือกที่จะพาคนดูพุ่งเข้าชนความจริงๆ และนำเสนอทางออก พร้อมคำตอบของชีวิตจากเรื่องราวเครียดๆ 
  • 4. จุดประกายความฝันพร้อมให้แง่คิดแก่สังคม

    ละครญี่ปุ่นมักจะเป็นละครที่ทำให้คนดูได้แรงบันดาลใจที่จะทำตามความฝัน และได้ข้อคิดดีๆ กลับไป อย่างเช่น พวกละครแนวอาชีพ เนื้อเรื่องก็จะมีแต่เรื่องหน้าที่การงาน บางคนอาจคิดว่า กลับมาถึงบ้านทั้งที ยังจะเห็นออฟฟิศในหน้าจอทีวีอีก เครียดแน่ๆ แต่ละครพวกนี้เนี่ย พอดูไปมันทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน ถ้าเด็กวัยรุ่นดูก็จะทำให้เขามีแนวทางว่า โตขึ้นเขาอยากจะเป็นอะไร (แน่นอนว่าอาชีพในละครญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่หมอ พยาบาล ครู ตำรวจเท่านั้น) อย่างกรณีละครเรื่อง Good Luck ก็จะเล่าถึงอาชีพต่างๆ ในธุรกิจการบิน เชื่อไหมคะว่า หลังจากที่ละครเรื่องนี้ออนแอร์ มีคนญี่ปุ่นแห่มาสมัครงานเกี่ยวกับสายอาชีพนี้มากขึ้น

    นอกจากนี้ ละครที่มีเนื้อหาหนักๆ มักจะตามมาด้วย “ข้อคิด” บางครั้งละครเองก็มีส่วนช่วยในการให้กำลังใจผู้คนด้วย เช่นละครเรื่อง Kaseifu no Mita ละครแนวครอบครัว ซึ่งเป็นละครที่กวาดเรตติ้งมาได้อย่างถล่มทลายในญี่ปุ่น และยังถูกนำไปสร้างไปละครรีเมคที่เกาหลีด้วย ถ้าดูเผินๆ จะรู้สึกว่า คงเป็นละครครอบครัวแนวดราม่าหนักๆ ธรรมดาทั่วไป มีความสนุก น่าค้นหาตรงที่ความลึกลับของแม่บ้านมิตะ แต่จริงๆ แล้ว ละครเรื่องนี้ผู้แต่งบทละครมีแรงบันดาลใจในการแต่งเพื่อให้กำลังใจคนญี่ปุ่นที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวมาค่ะ ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เกิดตัวละครที่ชื่อว่า “มิตะ” ที่เคยผ่านพ้นเรื่องราวอันเศร้าโศกเสียใจ และโหดร้ายในชีวิตแบบสุดขีด คำถามก็คือ ต่อจากนี้เธอจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร คำตอบก็คือ เราควรทำใจกับความจริงและก้าวเดินต่อไปให้ได้ 

    และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไมละครญี่ปุ่นมีแต่แนวเครียดๆ ละครไม่ใช่แค่สื่อบันเทิงที่คลายความเครียด แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนผู้คนอีกด้วยค่ะ ถ้าการ์ตูนคือสื่อที่สั่งสอนเด็ก ละครก็คือสื่อที่ทำหน้าที่สอนผู้ใหญ่ ให้เดินทางไปในทางที่ถูกที่ควร เสริมความกล้าให้พร้อมเดินไปตามความฝันที่ใจต้องการ บางทีละครก็เป็นเหมือนกระบอกเสียงสำคัญ บอกเล่าปัญหาในสังคม ให้ผู้คนหันมาตระหนักถึง หาแนวทางแก้ไขไปพร้อมๆ กัน

    ภาพวาดประกอบโดย T I T O

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in