เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sakura DramaChaMaNoW
01: จุดเริ่มต้นของซีรีส์ญี่ปุ่นกับการค้นหาละครในแบบตัวเอง
  • ถ้าพูดถึงละครญี่ปุ่นหรือซีรีส์ญี่ปุ่น เราก็คงจะนึกถึงละครสืบสวนสอบสวน ละครแนวเครียดๆ ละครที่ให้แง่คิด และแรงบันดาลใจไปพร้อมกับความบันเทิง ก่อนที่ละครญี่ปุ่นจะจับแนวทางของตัวเองได้นั้น ก็มีจุดเริ่มต้นจากการค้นหาตัวเอง ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ทำออกมาหลายแนวมาก แต่ก็ยังไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เนื่องจากสมัยก่อนบุคลากร อุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังไม่พร้อมเท่าไหร่นัก ละครที่ได้เรตติ้งสูงๆ ก็มักจะเป็นละครต่างประเทศ พอเห็นเช่นนั้นญี่ปุ่นก็เลยหันมาคิดวิเคราะห์กันว่า เอ... แล้วถ้าญี่ปุ่นจะทำละครบ้างเนี่ย จะทำออกมาเป็นรูปแบบไหนดี จะเริ่มคิด จับจุดจากตรงไหน สิ่งที่ญี่ปุ่นคิดในสมัยนั้นก็คือ…

    1. พัฒนาความคิดจากละครคาบูกิ

    ละครญี่ปุ่นในยุคแรกๆ ได้รับอิทธิพลมาจากละครคาบูกิ และก็ค่อยๆ พัฒนาให้มีความเป็นละครโทรทัศน์มากยิ่งขึ้นซึ่งละครญี่ปุ่นเรื่องที่เข้าข่ายความเป็นละครโทรทัศน์ในแบบปัจจุบันมากที่สุดคือเรื่อง Hanshichi ผลงานการกำกับโดย Hiroshi Nagayama เป็นการเอาเนื้อเรื่องของละครคาบูกิที่เกี่ยวกับนักสืบมาดัดแปลง ทำให้เกิดละครโทรทัศน์แนวพีเรียดขึ้นเป็นเรื่องแรกในญี่ปุ่น

    2. สร้างละครจากนวนิยาย

    ผู้สร้างละครญี่ปุ่นก็เริ่มมองหาวัตถุดิบที่จะนำมาสร้างเป็นละคร และก็เกิดความคิดว่า ลองไปหยิบนวนิยายมาทำเป็นละครดูบ้างท่าจะดีนะ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ที่ทำเป็นที่แรกก็คือ สถานีโทรทัศน์ TBS เรื่องที่สร้างความสำเร็จให้กับสถานีนี้เป็นเรื่องแรกๆ ก็คือ HimanashiTobidasu เป็นแนวสืบสวนสอบสวน ในปัจจุบัน TBS ก็ยังคงประสบความสำเร็จในการนำนวนิยายมาสร้างเป็นละครอยู่ เห็นได้จากเรื่อง Hanzawa Naoki ที่กวาดเรตติ้งมาได้อย่างถล่มทลาย และนับว่าเป็นละครญี่ปุ่นที่ตอนอวสานคว้าเรตติ้งมาได้มากที่สุดในวงการและล่าสุดหยิบเรื่อง Watashiwohanasanaide หรือ Never let me go ที่ฝรั่งเคยนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ถึงคราวนี้ญี่ปุ่นเจ้าของผลงานการประพันธ์เรื่องนี้ก็ขอนำมาทำเป็นละครบ้าง ทำออกมาได้ดีเยี่ยมสไตล์ญี่ปุ่นเลย!
  • 3. เจาะกลุ่มตลาดแม่บ้าน

    ช่วงก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการถือกำเนิดของละครญี่ปุ่นก็ขึ้นพร้อมๆ กับการเข้ามาของโทรทัศน์สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ของญี่ปุ่นก็ทยอยกันก่อตั้งขึ้นค่ะ ประเดิมด้วยช่อง NHK ตามมาด้วย NTV, TBS, Fuji TV และTV Asahi ในช่วงแรกๆ บุคลากรยังไม่เพียงพอ อุปกรณ์และเทคโนโลยียังไม่อำนวยต่อการถ่ายทำ ทางผู้จัดเลยแก้สถานการณ์ด้วยการนำซีรีส์ฝรั่งมาฉายก่อน แต่ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นเองก็พยายามคิดหาแนวทางที่จะสร้างละครในแบบฉบับของตนเองให้ได้รับความนิยม กลยุทธ์หนึ่งที่พวกเขาคิดได้ก็คือ การสร้างละครที่เจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่ “แม่บ้าน” เนื่องจากแม่บ้านเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับโทรทัศน์มากที่สุด และเพศหญิงก็น่าจะชื่นชอบชมละคร ผู้จัดเลยสร้างละครสำหรับคุณแม่บ้าน โดยฉายในช่วงเช้า และหลังข่าวตอนเย็น

    ละครที่เจาะกลุ่มแม่บ้านนี้ก็ยังมีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่าเป็นละครแนว hirudora ฉายในช่วงตอนกลางวัน เป็นช่วงที่แม่บ้านทำงานบ้านเสร็จพอดีส่วนสามีก็ไปทำงาน ลูกก็อยู่โรงเรียน เป็นช่วงเวลาว่างที่เหมาะกับการดูละครมากที่สุด ละครแนวนี้ก็จะออกแนว Soap Opera หน่อยๆ เนื้อเรื่องไม่เครียดมากไป ดูได้เพลินๆ

    4. ฉายละครในเวลาที่เหมาะสม

    จากการเจาะกลุ่มตลาดแม่บ้าน ทำให้ผู้สร้างละครเริ่มจับทางได้อีกอย่างหนึ่งคือ การจะฉายละครสักเรื่องเนี่ย สิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากแนวเรื่อง กลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใครแล้ว ยังรวมถึงเวลาสำหรับการฉายด้วย ไม่ใช่คิดว่าอยากจะฉายก็ฉายไปทุกเวลา จริงๆ มันมีเวลาทองของมันอยู่ ปัจจุบันนี้ละครญี่ปุ่นก็มีหลายช่วงเวลา และแต่ละช่วงนั้นแนวละครก็แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ตอนเช้า หรือละคร Asadora แนวละครก็จะออกแนวสดใส ให้กำลังใจการใช้ชีวิต เหมาะกับการตื่นมาเจอในช่วงเช้าๆ ค่ะ ตอนกลางวันก็จะเป็น Hirudora หรือละครแม่บ้าน อย่างที่เล่าไปในข้อเมื่อกี้นี้ ส่วนละครที่มีคนดูเยอะ ก็คือละครช่วง Prime Time จะอยู่ในช่วง 2 ทุ่ม – 4 ทุ่ม ถ้าเปรียบกับละครไทย ก็พวกละครช่วงหลังข่าวนั่นเอง ส่วนช่วงเวลาที่มีจำนวนคนดูสูงสุดก็คือเวลา 3 ทุ่ม
  • 5. สร้างละครที่ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง แต่ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ด้วย

    ด้วยอิทธิพลของซีรีส์ฝรั่ง ทำให้ผู้กำกับ Taiji Nagasawa ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า เราน่าจะทำละครญี่ปุ่นที่เป็นแบบฉบับของตัวเองบ้างนะ และต้องเป็นละครที่ทั้งให้ความบันเทิงและความรู้ด้านประวัติศาสตร์ด้วย ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เกิดละครแนวไทกะ (Taiga Drama) หรือละครแนวประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ฉายทุกวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลา 1 ปี เนื้อหาของละครก็จะเป็นเรื่องราวของวีรบุรุษและวีรสตรีในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ซึ่งละครแนวนี้ก็สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญมีพิธีส่งมอบตำแหน่งดารานำกันทุกปีด้วยค่ะ เขาว่ากันว่านักแสดงคนไหนที่ได้รับบทนำในละครไทกะ ถือว่ามีฝีมือไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

    6. สร้างละครให้วัยรุ่นดู

    ในปี 1964 ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เรื่องกีฬากลายมาเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในญี่ปุ่น และได้รับความนิยมตลาดละครญี่ปุ่นเลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาอีกว่า เรามาทำละครที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “กีฬา” เข้าไปดีกว่า แต่ถ้าเป็นแค่กีฬาอย่างเดียวมันจะดูไม่น่าสนใจ เขาเลยเอาละครแนวนี้ไปผสมกับแนววัยรุ่นค่ะ แนวใสๆ ที่กำลังมีไฟพร้อมกับการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เกิดละครแนว Seishun Drama ขึ้น ละครแนววัยรุ่นที่เล่าถึงชีวิตของเด็กๆ ชีวิตในโรงเรียน อย่างเช่นเรื่อง My Boss My Hero, Gokusen, GTO เป็นต้น บางเรื่องก็จะผสมแนวกีฬาเข้าไปด้วย อย่างเช่นเรื่อง Water Boys, H2, Rookies เป็นต้น

    ละครญี่ปุ่นในยุคแรกเริ่มนั้น ก็ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหา สร้างละครแนวต่างๆ เกิดขึ้น จากการจับพลัดจับผลูสร้างละครมาหลายๆ แนว ก็เริ่มทำให้ผู้สร้างละคร ผู้เขียนละคร พยายามคิดริเริ่มที่จะหาแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวเอง ที่ไม่ได้อิงกับละครต่างชาติมากนัก จนกระทั่งในยุค 80 พวกเขาก็คิดค้นเทรนด์ละครแนวใหม่ขึ้นมา เทรนด์ที่บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่น และเป็นละครที่ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง แต่ยังมอบคุณประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ซึ่งแนวที่ว่านี้ก็สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ว่าแต่จะเป็นละครแนวอะไรนั้น จะมาเล่าต่อในครั้งหน้าค่ะ

    - แหล่งอ้างอิง:หนังสือเรื่อง The Dorama Encyclopedia
    - ภาพวาดประกอบโดย T I T O 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in