เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#วันเสาร์เราฟังเพลงsunnywish13
(#วันเสาร์เราฟังเพลง) 何日君再來 “วันใดคุณจะกลับมา?”
  • ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    บทเพลงอมตะจาก ‘โจวเสวียน’ สู่ ‘เติ้งลี่จวิน’




    เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของนักร้องเสียงทองอมตะไม่มีใครเกินอย่าง ‘เติ้งลี่จวิน’ เราเชื่อว่าบ้านใครมีอาม่าอากงอยู่น่าจะเคยได้ยินเสียงของเธอมาบ้างไม่มากก็น้อย เนื่องในโอกาสตอนแรกของ ‘วันเสาร์เราฟังเพลง’ และด้วยความที่ตัวเราเองก็มีความรักชอบอย่างอธิบายไม่ถูกต่อดนตรีจีนในทศวรรษที่ 1930 ถึง 1940 เราจึงขอถือโอกาสนี้ แนะนำบทเพลงอมตะเพลงหนึ่ง ที่เคยได้รับการขับร้องใหม่โดยคุณเติ้งลี่จวิน จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วบ้านทั่วเมืองกันเสียหน่อย 


    บทเพลงดังกล่าว คือเพลง ‘何日君再來’ ("เหอรื่อจวิ้นไจ้ไหล") ( “วันใดคุณจะกลับมา?”) ประพันธ์ทำนองโดยหลิวเสวี่ยอาน และเนื้อร้องโดยหวงเจียหมัว


    บทเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงอมตะของเติ้งลี่จวิน แต่ความจริงแล้ว บทเพลง ‘何日君再來’ ได้ถูกประพันธ์ขึ้นในปี 1937 และขับร้องเป็นครั้งแรกโดย ‘โจวเสวียน’ นักร้องสาวเสียงทอง อีกหนึ่งตำนานอมตะของวงการเพลงจีน โดยเธอได้ขับร้องเพลงนี้ในภาพยนตร์ ‘三星伴月’ กำกับโดยฟางเพ่ยหลิน ตัวเราเองตอนได้รับฟังเพลงนี้ครั้งแรก ก็เป็นในฉบับของคุณโจวเสวียนนี้เอง


    เนื้อเพลงของบทเพลง ‘何日君再來’ กล่าวถึงความคะนึงหาของหญิงสาวคนหนึ่งต่อบุรุษที่เธอรัก ว่าหลังจากลากันค่ำนี้แล้ว พวกเราจะได้เจอกันอีกเมื่อไหร่? ช่วงเวลาแห่งความสุขไม่คงอยู่ตลอดไป ฉะนั้นมาร่ำสุรากันอีกสักจอกดีกว่า!


    เรามีโอกาสได้ฟังเพลงนี้เป็นครั้งแรก ก็ตอนหาเพลงประกอบให้เรื่องสั้นที่กำลังเขียนอยู่ โดยเรื่องสั้นเรื่องนั้นมีเซ็ตติ้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ช่วงทศวรรษที่ 1930 ถึง 1940 และกล่าวถึงตัวละครที่กำลังหวนคิดถึงมิตรสหายที่จากไปอย่างไร้ร่องรอยด้วยพอดี ตัวเราตอนนั้นก็เที่ยวเฟ้นหาบทเพลงเกี่ยวกับความรักความคะนึงหาจากศิลปินชื่อดังในช่วงนั้นมากมาย ตั้งแต่บทเพลง ‘如果没有你’ ( “หากไม่มีคุณ” ) หรือ ‘等著你回来’ (“รอคุณกลับมา") ของคุณไป๋กวง (อีกหนึ่ง ‘ดาวจรัสแสงแห่งเซี่ยงไฮ้’ เช่นเดียวกับคุณโจวเสวียน) บทเพลง ‘Auf Wiederseh’n, Sweetheart’ จากขวัญใจกองทัพอังกฤษ - เวร่า ลินน์ (Vera Lynn) 


    เราเที่ยวเสาะเที่ยวหาไปเรื่อย ๆ จนมาพบกับบทเพลง ‘何日君再來’ ของคุณโจวเสวียนในที่สุด


    สิ่งที่ทำให้เราสนใจบทเพลง ‘何日君再來’ ที่สุดในตอนนั้น คงไม่พ้นท่วงทำนองอันเรียบง่ายของหีบเพลง และเสียงแหลมสูงของคุณโจวเสวียนนั่นเอง


    เรื่องเสียงแหลมสูงของคุณโจวเสวียน คงไม่ต้องพูดถึงมากนัก เสียงแหลมสูงอันฟังดูแสนง่ายดายนั้นเป็นเอกลักษณ์ขึ้นป้ายของคุณโจวเสวียนมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่เราต้องยอมรับว่า ‘เสียงสูง’ ในแบบของเธอ (และของนักร้องอีกมากมายในยุคนั้น) ช่างต่างจาก ‘เสียงสูง’ ของนักร้องที่พวกเราฟังกันในยุคปัจจุบันเหลือเกิน บางคนฟังแล้ว อาจรู้สึกว่า ‘เสียงแหลม’ มากกว่า ฉะนั้นตอนเริ่มฟังเพลงของคุณโจวเสวียนใหม่ ๆ เราเองก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะทำหูให้ชินกับ ‘เสียงแหลมสูง’ ในแบบดังกล่าวได้


    แต่ว่า สำหรับบทเพลง ‘何日君再來’ นี้ กลับไม่ใช่แบบนั้นเลย


    แม้ว่าในเพลงนี้ คุณโจวเสวียนจะยังขับร้องด้วยเสียง ‘แหลมสูง’ อันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ แต่เมื่อขับร้องคลอคู่ไปกับทำนองอันเรียบง่ายจากหีบเพลง เสียงแหลมสูงของเธอกลับช่างฟังดูหวานหยดและไร้เดียงสาจนอดใจอ่อนระทวยไม่ได้ ทำให้เราเชื่อว่า ถึงเป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกับเสียงแหลมสูงของเธอมาก่อน ก็ต้องตกหลุมรักเพลงนี้ได้ง่าย ๆ เลย!


    บทเพลงนี้ หากไม่เรียกว่า ‘อมตะนิรันดร์กาล’ คงถือเป็นความผิดใหญ่หลวง เพราะมันได้พิสูจน์ตัวเองอย่างแน่แท้แล้วว่า ถึงกาลเวลาจะผันผ่านไปเพียงใด แต่ 'ฉันจะอยู่'


    ภายหลังคุณโจวเสวียนขับร้องเพลงนี้ออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1937 มันก็ถูกนำมาดัดแปลงและขับร้องโดยนักร้องนามกระเดื่องอีกมากมาย ทั้งคุณ ‘วาตานาเบะ ฮามาโกะ’ นักร้องชื่อดังแห่งยุคโชวะที่นำบทเพลงดังกล่าวมาขับร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น คุณ ‘หลี่เซียงหลาน’ หรือ ‘ยามากุจิ โยชิโกะ’ หนึ่งในดาวจรัสแสงแห่งเซี่ยงไฮ้ร่วมกับคุณโจวเสวียน ที่นำบทเพลงดังกล่าวมาขับร้องใหม่ทั้งในภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน และแน่นอน คนที่เราลืมไปไม่ได้เลยคือคุณ ‘เติ้งลี่จวิน’ นักร้องชื่อดังอมตะนิรันดร์กาลชาวไต้หวัน ที่ทำให้เพลงนี้ติดหูติดใจญาติผู้ใหญ่ของเรา ๆ ท่าน ๆ หลาย ๆ คน


    แต่บททดสอบแห่ง ‘ยุคสมัย’ อันโหดหินที่สุดของบทเพลงนี้ คงไม่พ้นการอยู่รอดในแผ่นดินเกิดของมันเอง


    ภายหลังการก่อตั้ง ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ในปี 1949 เนื้อเพลงที่กล่าวถึง ‘ความรักหนุ่มสาว’ ของ '何日君再來' ก็ถูกมองว่า ‘ประโลมโลก’ ‘อนาจาร’ และ ‘กระฎุมพี’ อย่างถึงที่สุด ไม่เหมาะกับยุคสมัยแห่งการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้มันถูกแบนไปจากแผ่นดินใหญ่ แม้กระทั่งตอนที่คุณเติ้งลี่จวินนำเพลงนี้มาขับร้องจนเป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองในปี 1979 บทเพลงนี้ก็ยังถูกแบนอย่างเข้มงวดภายในประเทศจีน ทำให้ใครที่อยากฟัง ต้องแอบฟังกันอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ (อย่างที่เราเห็นเด็ก ๆ แอบฟังกันในภาพยนตร์เรื่อง ‘Youth’  ปี 2017 โดยเฝิงเสี่ยวกังนั่นเอง!) จนกระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมาปฏิรูปประเทศจีนในที่สุด


    นอกจากนี้ บทเพลงนี้ยังเคยตกเป็นข้อครหาจากการพ้องเสียงของคำว่า ‘君’ (‘คุณ’) กับ ‘軍’ (‘กองทัพ’) ที่พอเอามารวมกับตัว ‘日’ (รื่อ- ‘วัน’) ด้านหน้าแล้ว กลับคล้ายจะสื่อถึง ‘กองทัพญี่ปุ่น’ (日軍) เสียนี่ นับว่าไม่ได้ให้ความรู้สึกที่ดีเท่าไหร่ เมื่อลองนึกถึงความโหดร้ายที่กระทำโดยกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


    จากที่กล่าวมา เห็นได้ชัดว่าบทเพลงนี้ ไม่เพียงโด่งดังข้ามฟ้าข้ามแผ่นดินในยุคสมัยของมันเอง แต่ยังอยู่ยงคงกระพันผ่านยุคสมัยต่าง ๆ มาอีกด้วย แม้กระทั่งทุกวันนี้ บทเพลง ‘何日君再來’ ก็ยังถูกนำมาขับร้องใหม่ให้พวกเราได้ยินกันเป็นครั้งคราว อย่างเช่นในภาพยนตร์ ‘Crazy Rich Asians’ ที่เปิดตัวไปในปี 2018 ก็ได้นำเพลงนี้มาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบของดนตรีแจ๊ซที่สนุกสนานคึกคัก ขับร้องโดยคุณ
    แจสมิน เฉิน หรือในปี 2017 บทเพลงนี้ในเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น ก็ถูกนำมาขับร้องใหม่โดยคุณทาคาฮาตะ มิทสึกิเพื่อประกอบภาพยนตร์ ‘いつまた、君と~何日君再来~’ ที่ใช้ชื่อเดียวอีกด้วย นอกจากนี้ หากตั้งใจฟังดี ๆ เราจะสามารถได้ยินเพลง ‘何日君再來’ เล่นคลออยู่ในฉากที่อาจารย์ยิปมัน หวนนึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งญี่ปุ่นยึดครองกว่างโจวในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Grandmaster’ โดยหว่องกาไวได้เช่นกัน! (จากการนั่งฟังของดิฉัน คาดว่าเป็นเวอร์ชั่นของคุณหลี่เซียงหลาน และมันช่างตลกร้ายเหลือเกินที่กล้องแช่ภาพเหล่าทหารกองทัพญี่ปุ่นไว้ในท่อน ‘何日君再來’ พอดี...)


    สำหรับวันเสาร์นี้ เราคิดว่าคงขอพอแค่นี้ก่อน สำหรับบทเพลงจีนอมตะอย่าง ‘何日君再來’ หวังว่าทุกท่านได้อ่านแล้ว จะลองรับบทเพลงนี้ไว้ในใจ แล้วหลังจากลากันวันนี้ คุณจะกลับมาพบเราใหม่ในวันเสาร์หน้านะคะ!


    ( ‘何日君再來’ ในเวอร์ชั่นเรียบเรียงใหม่ สำหรับภาพยนตร์ 'Crazy Rich Asians' )



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in