แม้จะเคยพูดถึงนิวยอร์กอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยใน New York 1st Time ไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ ‘เบ๊น—ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ คันปากอยากเล่า หนึ่งในนั้นคือ ‘สแตนด์อัพคอเมดี้’ ศาสตร์การเล่นตลกที่เบ๊นคิดว่ายังไม่โดดเด่นเท่าไหร่ในประเทศไทย
—ทำไมถึงสนใจสแตนด์อัพคอเมดี้
“ตอนไปสหรัฐฯ แรกๆ เราไม่เก่งภาษาอังกฤษ เรียกว่าห่วยเลยแหละ เราเลยฝึกภาษาด้วยการไปดูสแตนด์อัพฯ ตามร้าน เพราะรู้สึกว่าฟังง่าย เขาสื่อสารกับผู้ฟังโดยตรง ไม่เหมือนกับในซีรีส์ที่ตัวละครจะพูดกันเองโดยไม่สนใจคนดู บางฉากเลยฟังยากไปหน่อย”
—ชอบตรงไหน
“ความตลกของสแตนด์อัพฯ เป็นแบบ Observational Humour หมายถึงตลกที่เล่นกับการสังเกตชีวิตผู้คน เพราะงั้นเหล่าสแตนด์อัพฯ เลยชอบหยิบเรื่องของสังคมตัวเองมาพูด พอดูบ่อยๆ เลยทำให้เรารู้จักเมืองเขาได้ไวขึ้น
“บ้านเราตัวเลือกด้านสแตนด์อัพฯ มีน้อย หลักๆ เห็นแค่ น้าเน็ก หรือ โน้ส—อุดม ซึ่งเราเฉยๆ เพราะรู้สึกว่าเขาเล่นมุกที่เดาได้ อาจเพราะสังคมไทยมีกรอบบางอย่างอยู่ด้วยแหละ เรามีเรื่องห้ามเล่นเยอะเกินไป แต่ที่สหรัฐฯ จะต่างกัน สแตนด์อัพฯ ของที่โน่นช่วยขยายขอบเขตการรับรู้ของเราว่ามีเรื่องไหนที่ขำได้อีกบ้าง เวลาดู เราเหมือนได้ละตรรกะเบื้องต้นลงชั่วคราว ไม่ต้องสนใจ Political Correctness มากนักก็ได้ แค่ขำไปกับมัน
“สแตนด์อัพฯ ของที่โน่นแทบไม่มีกรอบเลย เล่นได้หมดทั้งมุก Incest, คนพิการ, เหยียดเพศ, เรื่องทาส เป็น Black Comedy ที่เล่นกับทุกอย่าง แต่เล่นอย่างมีกึ๋น ซึ่งทุกคนก็พร้อมตลกไปด้วย เลยแสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่มีข้อจำกัด ทุกเรื่องสามารถเล่นได้อยู่ที่ว่าคุณเล่นยังไง ถูกกาลเทศะแค่ไหน บิดแค่ไหน ใช้กึ๋นไปแค่ไหน”
—ตัวอย่างมุกตลกแบบสแตนด์อัพฯ
“ล่าสุดเพิ่งดูอันนึง เป็นมุกประมาณว่า “บางทีฉันก็อยากเกิดเป็นคนอัฟกานิสถานนะ เพราะเวลากรอกข้อมูลมันจะขึ้นมาประเทศแรก” แค่นี้เอง แต่กูตลกฉิบหาย หรือตอนเกิดเหตุระเบิดที่บอสตันมาราธอนก็มีตลกพูดว่า “Some line should not be crossed especially the finishing line” มุกนี้เลวมาก แต่ตลก ซึ่งอันนี้ก็โดนด่านะ แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงการหย่อนตรรกะลง คือตลกเขารู้ตัวว่าพูดอะไรอยู่ เราเชื่อว่าคนพวกนี้ไม่ใช่คนเลว เขารู้แหละว่าพูดอย่างนี้มันเลว แต่หน้าที่เขาคือการเอาโลกมาบิด
“เราเชื่อว่าสังคมที่ตลกได้กับทุกเรื่องคือสังคมที่รู้ผิดชอบชั่วดีอยู่แล้วระดับหนึ่ง เขารู้ว่ามุกตลกพูดออกมาเพื่อให้ตลก ไม่ใช่เอาแต่ด่าว่าพูดแบบนี้ไม่ได้นะ มันเลว อันนี้คือสังคมที่ประชากรยังไม่รู้ตัวว่าอะไรคืออะไร บางทีก็ take it serious เกินไป”
—เพราะอะไรสแตนด์อัพฯ ในไทยถึงไม่แพร่หลายเท่าที่สหรัฐฯ
“อาจเพราะเราโตมากับตลกคนละแบบมั้ง และเราอาจไม่ได้ชอบอะไรที่ซับซ้อนหรือต้องโฟกัสที่ตัวคนพูดขนาดนั้น เราโตมากับตลกที่เป็นกรุ๊ป ตลกที่มีการเร่งไดนามิก มีการทำร้าย มีการล้อเลียน ล้อปมด้อยอะไรพวกนี้ หรืออีกอย่างอาจเพราะพื้นฐานของสแตนด์อัพฯ คือการเล่นเรื่องที่ไม่ควรเล่น แต่บ้านเรามีเรื่องที่ไม่ควรเล่นเยอะ แล้วคนที่ซีเรียสเพราะไม่รู้ว่านี่คือเรื่องเล่นๆ ก็เยอะ การเล่นตลกเลยค่อนข้างจำกัด สุดท้ายก็วนอยู่แค่การจิกกัดเรื่องเดิม เช่น เทศกาลประจำปี คนเอาแต่ก้มหน้าเล่นเฟซบุ๊ค หรือแท็กซี่ไม่จอดรับ เป็น Observational Behavior ทั่วไป แต่ยังไม่ใช่ Black Comedy ที่ยกระดับมุกตลกไปอีกขั้น สังคมเรายังไม่ให้อภัยเรื่องตลกมากพอด้วยแหละ”
—ธนชาติแนะนำ
“แนะนำ Jerry Seinfeld คนนี้ฟังง่าย Louis C.K. ก็จะสายดาร์กหน่อย Russell Peters คนนี้จะชอบเล่นมุกเรื่องเชื้อชาติ หรือ George Carlin จะชอบเล่นประเด็นศาสนาและการเมือง จริงๆ ที่ไทยก็มีผับสแตนด์อัพฯ ของฝรั่งอยู่นะ ได้ยินว่าอยู่แถว Rain Hill ว่าจะไปอยู่เหมือนกัน
“หลายคนอาจคิดว่าการดูสแตนด์อัพฯ ต้องเก่งภาษา แต่เราว่าไม่ใช่ มันช่วยฝึกภาษาได้ด้วยซ้ำ แล้วสแตนด์อัพฯ มันสะท้อนหลายๆ อย่างในสังคมหรือพูดเรื่องจริงที่อัดอั้นอยู่ในใจ มันคือ Freedom of Speech ที่มาพร้อมประชาธิปไตยนั่นแหละ ถ้าเป็นสังคมที่แยกแยะได้ รู้จักผิดชอบชั่วดี เคารพสิทธิ และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สแตนด์อัพคอเมดี้ก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in