เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ Sci-FiNuchanan
ความจริงในใจ (2)
  • ห้องทำงานของผมแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้านในเป็นส่วนของห้องแล็บที่ใช้ทำการทดลอง ถัดออกมาเป็นห้องทำงานซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เครื่องถ่ายภาพการเรียงตัวของสารพันธุกรรมตั้งอยู่ติดผนังทางขวามือ เครื่องนี้สามารถหาลำดับเบส และการเรียงตัวของเบส มุมของพันธะต่างๆ ในปัจจุบันสามารถวัดได้ละเอียดถึงหนึ่งในแสนล้านล้านล้านล้านองศา


    ดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมควบคุมลักษณะของสิ่งมีชีวิต โครงสร้างของดีเอ็นเอเป็นรูปเกลียวคู่คล้ายบันไดเวียน ตัวบันไดเกิดจากการจับกันของหมู่ฟอสเฟตและน้ำตาล เบสอะดีนีน ไซโทซีน กัวนีน ไทมีน เบสทั้งสี่ชนิดนี้จะจับคู่กันคล้ายเป็นขั้นบันได บันไดเกลียวบิดวนสวยงามเหมือนสายสร้อยไข่มุกอันล้ำค่า
    ผมทำการทดลองเพื่อดูผลของรังสีบนดาว C1-J53 ต่อการเรียงตัวของดีเอ็นเอ การทดลองแบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม บางคนอาจคิดว่านักวิทยาศาสตร์เป็นพวกบ้าคลั่ง ทรมานสัตว์เป็นว่าเล่น ผมไม่เคยทำอย่างนั้นนะ ผมใช้หนูทดลองแค่กลุ่มละ 8 ตัวเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จะใช้สัตว์ทดลองจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะให้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้


    หนูกลุ่มทดลองจะได้รับรังสีสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับรังสีบนดาว C1-J53 เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสารพันธุกรรม แต่ถ้าเราศึกษากลุ่มทดลองเพียงกลุ่มเดียว เราจะไม่สามารถสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมเป็นผลจากการได้รับรังสี เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสารพันธุกรรม เราจึงต้องมีกลุ่มควบคุมเพื่อเปรียบเทียบผลการทดลอง กลุ่มควบคุมจะมีสภาพแวดล้อมเหมือนกลุ่มทดลองทุกอย่าง แต่กลุ่มทดลองจะได้รับรังสี ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ได้รับ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับหนูกลุ่มทดลอง เราจึงแน่ใจได้ว่าเป็นผลจากการได้รับรังสี


    ผมรับผิดชอบกลุ่มควบคุม ส่วนนักวิทยาศาสตร์อีกคนรับผิดชอบกลุ่มทดลอง หนูกลุ่มควบคุมทั้ง 8 ตัวอยู่ในกล่องแยกจากกัน หนูอยู่ในกล่องทึบปราศจากการรบกวน มีเพียงช่องเปิดด้านบน ผมตรวจวัดการเรียงตัวของสารพันธุกรรมทุกๆ 5 นาที


    ผมสงสัยมาหลายวันแล้วว่าทำไมค่ามุมของเบสของหนูในกล่อง A-05 จะเปลี่ยนไปมากทุกครั้งในช่วงเวลาบ่าย ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่ามุมของเบสของหนูตัวอื่นแทบไม่เปลี่ยนแปลง ผมนำข้อมูลสามวันที่ผ่านมาเปรียบเทียบดู ค่ามุมของเบสจะเปลี่ยนไปมากในช่วงเวลาที่เพื่อนผมมาที่ห้องทำงาน เพราะเพื่อนผมนี่เอง มันมาหาผมทุกบ่าย ผมเพิ่งเห็นวันนี้ว่ามันไปหยุดที่กล่อง A-05 มันไปที่กล่องนั้นเพราะใกล้ทางเดินมากที่สุด


    พอผมถามมันว่าไปทำอะไรกับหนูทดลอง มันยักไหล่ คล้ายไม่ใส่ใจกับคำถามของผม แล้วบอกว่า "ไม่ได้ทำอะไร แค่ทักทายหนูทดลอง" แล้วมันก็ชี้ให้ผมดูหนูที่กระดิกหาง หางหนูกระดิกไปมาคล้ายจะทักทายเพื่อนผม

    "ไม่แน่นะ หนูตัวนี้อาจจะจำผมได้ก็ได้" เพื่อนของผมบอกพลางหัวเราะ

    จำ?


    ***


    “…ทุกการกระทำ ทุกความทรงจำ ไม่ว่าเราจะจำได้หรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างตกตะกอนในตัวเรา...” ผมอ่านบทความที่มีผู้เขียนถึงโครงการของผม ผมเอื้อมมือจะไปลูบคลำจี้สีแดงดุจชาดด้วยความเคยชิน จากนี้ไปผมไม่ต้องลูบคลำจี้เพื่อระลึกถึงเธออีกแล้ว ผมและคนรักของผมได้มาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติ ผมมองออกไปดูทัศนียภาพของดาวเคราะห์ มนุษย์ไม่อาจถูกเรียกว่ามนุษย์โลกได้อีกต่อไปแล้ว เพราะว่ามนุษย์กำลังละทิ้งดาวเคราะห์แสนสวยสีน้ำเงินดวงนั้นมาสู่ดาวดวงนี้ ดาวเคราะห์ที่ชื่อเหมือนกับชื่อของผม


    เมื่อสิบเก้าปีก่อน วันที่เพื่อนของผมบอกว่าหนูทดลองอาจจะจำมันได้ ผมตั้งสมมติฐานว่าการที่ค่ามุมของเบสเปลี่ยนไป เกิดจากการที่หนูมีความทรงจำ ความทรงจำทำให้เบสเปลี่ยนมุมไป ผมทดสอบอีกหลายครั้งจนค้นพบว่า เมื่อสิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ความทรงจำจะทำให้เบสเปลี่ยนมุมไปตั้งแต่ 4.763 x (10 ยกกำลัง -20) องศา จนถึง 5.009 x (10 ยกกำลัง -30) องศา


    สารพันธุกรรมนอกจากจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังเป็นที่เก็บความทรงจำอีกด้วย แปลกไหม? ความทรงจำเก็บอยู่ในสารพันธุกรรม ไม่แปลกหรอก ก่อนที่ฟรานซิส คริก กับ เจมส์ วัตสัน จะคว้ารางวัลโนเบลจากการค้นพบโครงสร้างรูปเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ โลกก็ยังไม่รู้ว่าดีเอ็นเอมีรูปร่างอย่างไร การค้นพบของผมก็แค่ความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง แต่การค้นพบของผมทำให้การเดินทางแสวงหาบ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล


    เมื่อพูดถึงการเดินทางข้ามดวงดาว เรามักจะนึกถึงการเตรียมยานอวกาศขนาดใหญ่ ความเร็วสูง สามารถพาคนและสัมภาระต่างๆ นานาข้ามห้วงอวกาศไปได้ แต่เปล่าเลย ความสำคัญของการเดินทางไม่ได้อยู่ที่ยานอวกาศ ไม่ได้อยู่ที่สัมภาระ หากอยู่ที่ ”คน” เดินทางต่างหาก ผมเสนอแนวคิดให้แปลง “คน” เป็น “สัญญาณรหัสพันธุกรรม” แล้วส่งสัญญาณนั้นไปที่ดาวดวงอื่น เมื่อสัญญาณไปถึงจุดหมายแล้วก็แปลง “สัญญาณรหัสพันธุกรรม” ให้กลับเป็น “คน” อีกครั้ง


    การแปลงคนเป็นสัญญาณไม่มีอะไรยุ่งยาก เริ่มจากนำเซลล์ของคนมาแยกโครโมโซมออกมา จากนั้นนำดีเอ็นเอทั้งหมดที่อยู่ในโครโมโซมมาคลายเกลียวออก นำสายดีเอ็นเอไปหาข้อมูลสองส่วนคือ ลำดับเบสและมุมของเบส ส่งข้อมูลทั้งหมดผ่านเครื่องส่งสัญญาณรหัสพันธุกรรม เมื่อข้อมูล “ชีวิต” ถูกส่งไปยังปลายทางที่ดาวอีกดวง นำค่าทั้งหมดมาคำนวณ เพื่อสร้างร่างต้นแบบดีเอ็นเอ นำฟอสเฟต น้ำตาล เบสทั้งสี่ชนิดมาต่อตามร่างต้นแบบนั้น จะได้ดีเอ็นเอของคนๆ นั้น แล้วใส่สายดีเอ็นเอลงในนิวเคลียสเทียม กระตุ้นให้สร้างโปรตีนและส่วนประกอบอื่นๆ จะได้ร่างมนุษย์ของผู้เดินทางที่มีร่างกายและความทรงจำเหมือนเดิมทุกประการ


    ที่กล่าวมานี้ หมายความว่าเราสามารถส่งมวลมนุษยชาติทั้งหมดไปยังดาวดวงใดก็ได้ในจักรวาล การส่งคนโดยแปลงเป็นสัญญาณรหัสพันธุกรรมเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งคนขึ้นยานอวกาศผ่านรูหนอนหลายหมื่นเท่า ผมไม่เคยขึ้นยานอวกาศออกไปนอกโลก ผมไม่เคยเดินทางไปแสวงหาดาวดวงใหม่ แต่เป็นเพราะผม ผมทำให้การออกเดินทางครั้งนี้เป็นการแสวงหาบ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง ไม่มีมนุษย์คนใดถูกทอดทิ้งไว้ที่บ้านหลังเก่า


    ในขณะที่ผมค้นพบความลับของสารพันธุกรรม ช่วงเวลาเดียวกันนั้น กลุ่มนักสำรวจอวกาศก็เพิ่มขอบเขตการค้นหาดาวเคราะห์ให้กว้างไกลขึ้นอีก จนในที่สุดได้ค้นพบดาวเคราะห์ N8-Q25 ซึ่งเป็นดาวที่อยู่ห่างจากโลก 7 ปีแสง ดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายโลกมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบกันมา เราจึงเปลี่ยนจุดหมายจากดาว C1-J53 เป็นดาว N8-Q25 แทน


    ผมได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ ให้ตั้งชื่อดาวเคราะห์ที่เป็นบ้านหลังใหม่ตามชื่อของผม เราไม่เรียกกันว่า ”N8-Q25” เราไม่เรียกว่า ”โลกใหม่” เราเรียกดาวดวงนี้ตามชื่อของผม ชื่อเสียงทั้งหลายไม่มีค่าเทียบเท่าสิ่งที่ผมจะได้รับในวันพรุ่งนี้ ผมจะได้พบเธอ ได้เห็นหน้าคนรักของผมอีกครั้ง


    ...ติดตามตอนต่อไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in