Movie Review
“Bad Genius
ฉลาดเกมส์โกง”
ก็ได้ยินชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ฮือฮาตั้งแต่วันที่ปล่อยเรื่องย่อแล้ว น่าตื่นเต้นตรงพล็อตแหวก แปลกใหม่ หนังไทยไม่ค่อยทำอะไรนอกจากเรื่องรักๆใคร่ๆ หนังผี และหนังตลกเท่าไหร่ ดังนั้นกระแสของฉลาดเกมโกงส์เรียกได้ว่าแรงดีทีเดียว เราเองตั้งใจจะไปดูเพราะคนชมเยอะแยะ ขนาดรุ่นพี่ในคณะยังชม ส่วนใหญ่หนังที่กระแสดีเราจะคาดหวังสูง และค่อนไปทางผิดหวัง แต่เรื่องนี้กลับมาเหนือมาก เพราะทั้งที่หวังสูงแล้ว หนังยังทำได้ดีกว่าที่หวังอีก!
เรื่องย่อ
เป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กมัธยมปลายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ลิน นักเรียนทุนผลการเรียนยอดเยี่ยม ตั้งใจจะช่วยเพื่อนสนิท เกรซ สาวน่ารักที่ผลการเรียนแย่ ด้วยการให้อีกฝ่ายลอกคำตอบข้อสอบเธอ ก่อนที่การโกงจะกลายเป็นสู่ธุรกิจย่อมๆ หลัง พัฒน์ หนุ่มบ้านรวยหัวใส เสนอให้ลินช่วยเขาและเพื่อนคนอื่นๆโกงข้อสอบแลกกับเงิน แม้จะถูกจับได้ แต่ทั้งลิน เกรซ และพัฒน์ ก็กลับมาสู่กระบวนการโกงข้อสอบอีกครั้ง โดยคราวนี้วางแผนโกงข้อสอบระดับโลกอย่าง STIC แต่แผนทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้ถ้าขาดกลไกสำคัญอย่าง แบงค์ เด็กหนุ่มความจำเป็นเลิศแต่บ้านยากจน
มีสปอยล์
ตัวละคร
การสร้างคาแรกเตอร์ การผูกปมหลังตัวละคร พัฒนาการของตัวละคร นับว่าทำได้ดีมากสมเหตุสมผลในเกือบๆทุกประเด็น
1) ลิน - เราชอบตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครนี้ ดูเผินๆเหมือนเด็กเรียนเก่งทั่วๆไปจริงๆ การดำเนินเรื่องทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมลินถึงโกง ทำไมถึงอยากได้เงิน ทั้งปมครอบครัว ความฉลาดจนน่ากลัวที่ทำให้อยากรู้อยากลอง ความโกรธและไม่เข้าใจแบบเด็กๆที่เห็นผู้ใหญ่โกง ฯลฯ ผู้กำกับปูทางมากพอให้เราตามความคิดตัวละครทัน เรื่องมิติตัวละครก็ทำได้ดีเยี่ยม ชอบที่สุดท้ายลินเลิกโกง ซึ่งถ้าให้เราวิเคราะห์ ไม่ใช่เพราะลินมีมนุษยธรรมดีงาม อยากเป็นครู โอเค นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลหลักๆเลยคือลินกลัว และรู้สึก ‘พอแล้ว’ มากกว่า เราค่อนข้าง relatable เพราะลักษณะนิสัยของลินกับเราเหมือนกันตรงที่ ‘กลัว’ ความผิดพลาด กลัวความล้มเหลว ตอนที่ลินวิ่งหนีในซิดนีย์ เราว่ามันถึงที่สุดแล้วจริงๆ กลัวไปหมด ไหนจะเพื่อนที่โดนจับได้อีก ความกลัวผลักดันให้ลินไม่ยอมกลับไปอยู่กับมันซ้ำสอง จนถึงขั้นยอม ‘สารภาพ’ ยังจะดีกว่า
คนอาจจะขัดใจตอนจบเยอะ เรามองว่า ด้วยความที่หนังอยากคูลแต่ก็ไม่อยากให้ดูยากเกินไป ก็เลยใช้ตอนจบสอนประเด็นสุดท้าย นั่นคือ ‘การถูกจับได้’ กับ ‘การสารภาพ’ ให้ความรู้สึกต่างกันมาก หนังพยายามจะแสดงให้เห็น contrast ก็เลยใช้บีท ซาวด์ โทนสี ฉากต่างๆมาช่วย (ของแบงค์จะรู้สึกได้เลยว่าระทึกมาก กดดันมาก แต่ของลิน ฉากกลับฟุ้งๆลอยๆขาวๆ ทำให้รู้สึกปลอดภัยและโล่ง) ถ้าขาดฉากนี้ไป ประเด็นที่ว่าการสารภาพคือการกระทำที่ดี ก็จะกลืนหายไปเลย แต่จริงๆถ้าถามว่าอยากให้จบแบบไหน เราก็อยากให้จบปลายเปิด อยากให้จบด้วยการที่แบงค์ถามว่าลินจะทำไหม ใช้บีทกดดัน แล้วตัดจบฟึบบบบบบบ! มันได้ฟีลหนังอินเตอร์บวกอิสระทางความคิดมากๆ
พูดถึงการแสดงของออกแบบบ้าง เป็นการแสดงแบบ Less is more จริงๆอย่างที่ผู้กำกับเคลม คือออกแบบไม่ได้แสดงสีหน้ามากมายเว่อวัง แต่ทำให้เราเห็นความรู้สึกได้จากดวงตา เลยรู้สึกกดดันตามไปด้วย ฉากร้องไห้เราก็เชื่อว่าร้อง ฉากวิ่งไล่ล่าบนซิดนีย์ก็ดูสมจริง แต่ฉากที่ทำให้เรารู้สึก ว้าว ที่สุด คือฉากล้วงคอในห้องสอบ ตอนนั้นเราเหวอจริง คิดแต่ว่า…โอเค หนังไทยก้าวไปอีกระดับแล้วนะ เป็นการแสดงที่โคตร High อธิบายไม่ถูก แต่ High ถ้าจะมีไม่ชอบอย่างเดียวคือเสียงออกแบบ…เราว่าเสียงเครือๆไม่ค่อยชัด orz เสียงขาดอารมณ์แต่หน้านี่มาเต็มร้อย
2) แบงค์ – ตัวละครนี้เซอร์ไพรส์เราหลายต่อหลายครั้ง… อย่างแรกเลยคือเป็นตัวละครที่แค่เปิดตัวก็มีเสน่ห์แล้วอะ ผู้ชายที่จำค่าพายได้ ซื่อสัตย์ แถมมีออฟชั่นเสริมเป็นดูโดดเดี่ยว ไม่ค่อยมีเพื่อน เราโคตรชอบตัวละครแบบนี้เลย พอมีปมครอบครัวเข้ามาเอี่ยวด้วย มันลงล็อคเป๊ะๆ ผู้กำกับใช้ตัวละครนี้ได้ฉลาดมาก ให้แบงค์แบกหน้าที่ Present สังคมเกือบทั้งหมดเอาไว้ จะเห็นชัดว่าตัวละครนี้ถูกสังคมทำร้าย ถูก ‘ชีวิตโกง’ มากที่สุด จนสุดท้ายสังคมก็สามารถเปลี่ยนทัศนคติคนๆหนึ่งได้จริง
ฉากที่เรายังขบคิดอยู่จนถึงตอนนี้คือฉากที่แบงค์เรียกเงินเพิ่มอีกล้าน มันเป็นจังหวะที่นิ่งไป และแบงค์ก็ดูป่วย หรืออะไรสักอย่าง เราไม่เข้าใจว่าผู้กำกับอยากจะสื่อว่า แบงค์อยากได้ fair game จริงๆ หรือแบงค์กลัวจนอยาก Unlock อะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองกล้าโกงข้อสอบต่อ อย่างไรก็ตาม ฉากนั้นถูกคั่นด้วยการที่แบงค์ถูกจับ แล้วยิ้มให้ลิน นั่นก็เป็นฉากที่เราไม่เข้าใจ หลังจากฉากส่งยิ้ม เรื่องมันควรจะจบด้วยแบงค์โอเคกับการรับผิดคนเดียว แต่แบงค์กลับกลายเป็นอีกคน การพลิกบทบาทไม่ได้สัมพันธ์กับพัฒนาการตัวละคร ไม่ได้ชัดเจนขนาดที่คนดูจะเชื่อว่าแบงค์ได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ / Point ของเราก็คือถ้าไม่มีฉากยิ้มให้ลิน กลายเป็นว่าแบงค์ถูกจับคนเดียว เพื่อนทอดทิ้งแบงค์ แบงค์เลยกลายเป็นคนแบบนี้ จะเมคเซนส์กว่า
แต่ถ้าพูดถึงการแสดง นนกุลทำเราอึ้งมาก! ฝีมือระดับแนวหน้าที่แท้จริง คือทุกอย่าง เ-รี-ย-ล มาก โดยเฉพาะสีหน้าตอนโกรธสุดๆ แล้วชกพัฒน์ เราแบบ แม่เจ้าโว้ยยยยยยยยยยยย เรากลัวจริง ขนลุกจริง ปังจริง เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์มาก แอบร้องไห้ไปเหมือนกัน เพราะเรา related กับตัวละครแบงค์ เราเองก็อยากทำงานเพื่อให้แม่สบาย การเห็นแม่ต้องเหนื่อย ต้องทำงานหนัก ในขณะที่แม่เพื่อนคนอื่นมีความสุข มันเจ็บปวดมากจริงๆ ดังนั้น แบงค์ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ เราก็เข้าถึงแบงค์และหนังได้
3) ตัวละครอีกสองตัว เราคิดว่ามันชัดเจนอยู่แล้ว represents การที่เงินตราซื้อได้ทุกอย่าง, ความคิดของเด็กที่ถูกสังคมกดดันให้เรียนเก่งๆคะแนนสอบดีๆ ทั้งๆที่มันอาจจะไม่ได้วัดความรู้เลยก็ตาม, อีกประเด็นนึงคือคาแรกเตอร์เกรซก็ไปไม่ค่อยสุด โอเค คนเรามีสีเทา เป็นทั้งเพื่อนที่ดีและหาประโยชน์จากเพื่อนแต่เราคิดว่าคาร์เกรซยังขยี้ได้กว่านี้อีก เธอถูกกลืนหายไปช่วงหลังๆ เสียดายมาก
สรุปได้ว่าการปูบทตัวละครตั้งแต่ background ยัน action คือดีงาม ครบรส และไม่เว่อวังผิดคนธรรมดามากไป (เอ๊า เรามีเพื่อนที่ความจำดีระดับแบงค์จริงๆนะ) มีบ้างที่พัฒนาการตัวละครไม่ชัดเจนแต่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร ถือว่าตัวละครมีมิติมีทั้งมุมดีมุมเลว นักแสดงทำการบ้าน เล่นเก่ง อินกับเรื่องที่เล่น ประทับใจ /ทาบอก
พล็อต
ยังไม่ต้องพูดถึงความแปลกใหม่ หนังเรื่องนี้ก็เป็นหนังไทยที่พล็อตดีที่สุดที่เราเคยดู (ชีวิตนี้ดูหนังไทยน้อย อย่าเอาอะไรกับเรามาก orz) เพราะบทกลมกล่อมมาก บทสนุก บันเทิง หนังยาวแต่ไม่มีช่วงเบื่อ ช่างคิดเนาะโกงด้วยโน้ตเปียโน (แต่ถามจริง…ถ้าต้องจำวิธีการขยับนิ้วซึ่งก็ยากขนาดนั้น อ่านหนังสือเร็วกว่ามั้ยอะ) หรือการโกงข้ามประเทศ หนังมีข้อคิด มีแก่นเรื่องที่ชัดเจน แตะหลายประเด็นในสังคม หนังไม่ได้ขยี้ปัญหาการศึกษาแบบพีคเว่อๆ แต่ออกแนว thought-provoking สะกิดพอให้คิด ซึ่งเราชอบแบบนี้มากกว่าสอนตรงๆ เฮ้ การศึกษาไทยมันห่วยนะเห่นโหลววว เค้ารู้กันทั้งประเทศแหละ แต่ที่น่าสนใจคือหนังสะท้อนออกมาได้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ดูยัดเยียด ไม่ได้ดูพยายาม หยิบจับดีเทลเล็กๆน้อยๆมาทำให้มีประโยชน์ เปิดประเด็นต้นทุนคนไม่เท่ากันแล้ว ก็เอามาใส่ในพัฒนาการตัวละครเสียเลย เป็นต้น
ซีนอารมณ์ก็ทำถึงหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว (ร้องไห้เพราะพ่อลินไปรอบนึง) หรือฉากนั่งสอบที่ทำให้ตื่นเต้น ลุ้นระทึกได้จริง น้องกระซิบบอกเราว่า พี่ นี่มันยิ่งกว่าหนังแอคชั่น (ฮา) ตอนที่ลินพยายามหนีครูคุมสอบ เราก็อดเอาใจช่วยไม่ได้ ทั้งๆที่นางผิดและแบงค์ของชุ้นก็ถูกจับไปแล้วอะ /ดิ้น คงเป็นบีทต่างๆที่กดดันและนักแสดงเล่นเก่งด้วย เราเลยรู้สึกว่า โถ รอดเถอะ สงสารแล้ว คนเราต้องกลัวถึงขนาดไหนอะ นี่เราคิดตามหนังไปว่าตัวเองกำลังโกงข้อสอบแล้วหนีเลยนะ อินหนัก
พล็อตนี่ต้องชื่นชมทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับ(อ้าว คนเดียวกัน คุณบาส นัฐวุฒิ) ที่เขียนออกมาได้ดีและเอามาทำจริงไม่เละ หลายๆฉากถ้าขาดซาวด์ที่เหมาะสม ช่วยดึงอารมณ์ไปถึงไคลแมกซ์ จะกลายเป็นฉากเพลนๆ ใส่มาทำไม ไปในทันที แต่หนังเรื่องนี้เอาอยู่ นับถือนะ
ขออวยเรื่องฉากเลิฟซีนเหมือนกัน คือ!เรา! ชอบ! มาก! เขินกว่าฉากที่ต้องสกินชิปเยอะๆอีกอะ เพราะทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติ และทั้งคู่ก็ไม่ได้ชอบกัน เป็นแค่โมเม้นท์ชวนจิ้นเบาๆ ถึงบอกว่าผู้กำกับไม่ได้ยัดเยียดให้คนดูรู้สึก ไม่ได้พยายามผสมทุกอย่างเข้าไป ถ้าทั้งสองคนนี้กลายเป็นแฟนกันมันจะย้อนแย้งในหลายๆจุด ขอบคุณที่ไม่ทำแบบนั้น
ต่อไปนี้จะลิสต์ประเด็นสังคมที่คิดว่าหนังอาจจะพยายามตีแผ่และกระตุ้นให้คิด
1) ต้นทุนที่ไม่เท่ากัน นำมาสู่แรงจูงใจที่ต่างกันออกไป จุดนี้ช่วยซัพพอร์ตน้ำหนักการกระทำตัวละคร
2) การศึกษาหรือธุรกิจ? ทั้งเรื่องสินบนเข้าเรียน ใช้เงินซื้อคะแนน (แม้จะทางอ้อมซื้อผ่านการโกงก็เถอะ) จ่ายเงินเรียนพิเศษเพื่อให้ได้เปรียบ (ข้อสอบเหมือนแบบฝึกหัดที่เกรซได้ทำก่อนเป๊ะ)
3) ระบบการศึกษาไทย VS ระบบการศึกษาต่างชาติ เห็นความต่างของครูคุมสอบมากๆ พอเป็นการโกงต้องเรื่องไปถึงคนระดับสูงๆถึงจะกลายเป็นประเด็น ในขณะที่ต่างชาติเข้มงวดมากและมีมาตรการลงโทษเด็ดขาด ไม่มีผ่อนปรน ในขณะที่ไทยยังมีผิดครั้งที่หนึ่งที่สองให้อภัย เป็นเด็กเรียนเก่งทำชื่อเสียงให้โรงเรียนได้ ให้อภัย นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนมองชื่อเสียงสำคัญกว่านักเรียนด้วย
4) เกรดและมหาวิทยาลัย กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าความดี หรือความสามารถแท้จริง ซึ่งเราโทษเด็กไม่ได้เต็มร้อย ต้องโทษสังคมที่ให้คุณค่ากับสิ่งพวกนี้ก่อนสิ่งอื่น (แต่ถ้าถามเรา เกรดและมหาวิทยาลัยก็วัดความสามารถได้ระดับนึง ไม่ทุกกรณีอยู่แล้ว of course)
5) เพื่อนและการใช้ประโยชน์มีแค่เส้นบางๆคั่น จะเห็นได้ว่าสุดท้ายลินไม่รู้เลยว่าเกรซเห็นเธอเป็นเพื่อนจริงๆ (ในห้องดำ ก็เป็นเกรซซ้อมสารภาพ ไม่ใช่คำพูดจริงๆ) หรือเกรซแค่อยากตักตวงผลประโยชน์จากเธอ
6) ไม่มีที่ยืนให้คนซื่อสัตย์ จะเห็นได้ว่าเพื่อนๆให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเพื่อนมากกว่าการเป็นคนซื่อสัตย์ ตีความให้ลึกหน่อยก็คือทุกคนล้วนเห็นแก่ตัว แม้กระทั่งแบงค์ที่คงไม่ได้ซื่อสัตย์เพราะมีปณิธานสูงส่งอะไร (ไม่อย่างนั้น สุดท้ายคงไม่ตกลงร่วมโกงกับลิน) แต่ว่าเห็นว่ามันไม่แฟร์ เค้าอ่านมา เพื่อนไม่ได้อ่าน มันเทียบกันไม่ได้
7) ที่น่ากลัวที่สุดคือปัญหาทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่มันส่งผลกระทบและวนลูป จะเห็นว่าสุดท้ายลินก็ถูกดึงเข้าการโกงอีกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า (เหมือนระบบการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย) มันจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะมีใครสักคนพยายามเปลี่ยน (เหมือนที่ลินปฏิเสธแบงค์) แต่ถามจริงว่าปัญหาจบไหม ก็คงยังไม่จบ เพราะยังมีคนแบบแบงค์ คนที่ไม่ได้เปลี่ยนตามลินไปด้วย (ก็เหมือนการศึกษาอีกเหมือนกัน)
ส่วนข้อบกพร่อง เราคิดว่าพล็อตยังมีจุดไม่สมเหตุสมผล หนังไม่ได้ทำให้เราเชื่อมากพอ ว่าสิ่งต่างๆจะดำเนินไปในทางนี้ หนังเหมือนพยายามเอื้อให้เดินเรื่องง่าย เช่น เราไม่ค่อยเชื่อว่าครูคุมสอบจะตรวจไม่พบจริงๆ ว่าแบงค์โกงระดับข้ามชาติ และสาวไม่ถึงตัวการอย่างลินและเพื่อนๆ ฉากที่ตามหาตัวลินอย่างใหญ่หลวง สรุปจบแค่แบงค์ไม่แฉเพื่อน ส่งกลับไทยง่ายๆ ทั้งๆที่ถ้าเป็นเราจะตั้งสมมุติฐานเลยว่าลินมีเอี่ยวแน่ๆ หรือฉากครูคุมสอบไล่ตาม ทำไมมีครูคุมสอบคนเดียวล่ะ เรื่องใหญ่ระดับใช้มุมกล้องกับซาวด์หนังแอคชั่นขนาดนี้ น่าจะใช้คนไล่ตามเยอะหน่อยไหม ทางศูนย์สอบตรวจไม่เจอจริงๆเหรอ และสุดท้าย พัฒนาการแบงค์ค่อนข้างข้ามช็อต ก้าวกระโดดไปหน่อย จนไม่ดูเหมือนหักมุม พลิกล็อค แต่ดูรีบๆลวกๆ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียพวกนี้เรามองข้ามไปเลยระหว่างที่ดูหนัง หนังไหลลื่นมาก ไม่ว่าจะยังไง หนังเรื่องนี้กล้าทำและมีของ น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีให้หนังไทยเรื่องอื่นๆกล้าผลิตงานที่แตกต่างออกมาให้ได้รับชม เรามีหวังกับหนังไทยแล้วนะ
ฉาก
อีกองค์ประกอบที่ทำให้เราเห็นว่าฉลาดเกมส์โกงไม่ได้มาเล่นๆ…นักวิจารณ์หลายคนชมเรื่องมุมกล้อง แสง เงา สัญลักษณ์และความกล้าที่จะใช้เทคนิคต่างๆในการออกแบบฉาก เพื่อให้ได้ impact บางอย่างกับคนดู เพราะไม่มีความรู้พอจะพูดเรื่องมุมกล้อง ขอสรุปแค่ว่า สวย เจ๋ง แต่แค่สวยอย่างเดียวไม่พอ เรื่องนี้พยายามสอดแทรกสัญลักษณ์มากมายจนเป็นหนังไทยอีกเรื่องที่ใช้ฉากได้คุ้มทีเดียว(คุ้มของเราคือสะท้อนแง่มุมบางอย่างในเรื่องได้)
ยกตัวอย่างเช่น ฉากลินกับแบงค์บนสะพาน จะเห็นเครื่องหมายถูกกับเครื่องหมายผิด และอีกฉากที่คุ้นๆว่าเป็น Up กับ Down สะท้อนจังหวะของการตัดสินใจและการเลือกทางใดทางหนึ่งซึ่งมัน completely changes where the story will go อะ การใส่สัญลักษณ์ถึงเน้นย้ำว่านี่คือโมเม้นท์สำคัญของเรื่อง
หรือฉากลินและกระจกสะท้อนเงาตัวเองเป็นทอดๆ เป็นโมเม้นท์ของการรู้จักตัวตน รู้จักแง่มุมที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง แต่สุดท้ายไม่ว่ากระจกบานไหนจะสะท้อน มันก็คือตัวเราคนเดิม ไม่ว่าจะด้านอะไร
หรือรายละเอียดยิบย่อยอย่างเสื้อที่นางเอกใส่ ‘making it happen’ อันนี้ชัดมากว่าสะท้อนลินคิดอะไร เธอกำลังเห็นว่าความฉลาดตัวเองสร้างความเป็นไปได้ให้การโกงระดับโลกครั้งนี้ นอกจากจะทำให้รู้ว่าลินจะทำแน่ๆแล้ว ยังทำให้เห็นว่าลินมีความอยากรู้อยากลองปนอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่จะทำเพื่อเงินทำเพื่อพ่อ อย่างเดียว
แม้แต่เรื่องแสงเรื่องโทนสี ฉาก หนังเรื่องนี้ก็ประณีต เช่น หนังพยายาม separate ลินกับแบงค์ด้วยแสง เมื่อพวกเขาเห็นต่างกัน
สรุปได้ว่าฉากและโทนของเรื่องนี้กลมกลืนไปกับมู้ดตัวละคร อาร์ตๆ แต่ดูไม่ยากจน บางทีคิดว่าสัญลักษณ์ชัดไปด้วยซ้ำ แต่เราก็ชอบนะ งานแพงทีเดียวววววว
ภาพรวม
ขึ้นแท่นหนังไทยที่เราชอบที่สุดไปแล้วด้วยความละเอียดประณีตประมาณนึงของพล็อตและฉาก ความเหมาะสมของตัวละคร และเรื่องราวที่สนุกสนานเข้มข้น ลุ้นระทึก บทจะดราม่าก็ดราม่าจริง น้ำตาไหลเลย แถมยังเสียดสีสังคมได้แสบๆคันๆอีก ถือว่าครบรส แนะนำให้ได้ลองดูกันจริงๆ ใช่แหละที่ยังมีข้อผิดพลาด แต่ไม่ได้ทำให้เราเลิกสนับสนุนฉลาดเกมส์โกงแน่นอน
ให้ 9/10 (คะแนนสูงมากกก เพราะเทียบแล้วคิดว่าเอนจอยมากๆระหว่างที่ดู สนุกเกินคาด)
- ilysm.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in