เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกจากหนังสือบันทึกหมึกจิ๋ว
[รีวิวหนังสือ] 02 BECOMING A BUTTERFLY การเดินทางของผีเสื้อหลากสี
  • ข้อมูลเบื้องต้นของหนังสือ


    ชื่อหนังสือ : BECOMING A BUTTERFLY การเดินทางของผีเสื้อหลากสี

    ผู้แต่ง : เมริษา ยอดมณฑป
    ออกแบบปก : ชนิดา อารีวัฒนสมบัติ
    หมวด : วรรณกรรมเยาวชน

    จำนวน 215 หน้า ราคา 285 บาท 

    สถานที่ซื้อ : B2S สาขาโรบินสันราชบุรี

    ทำไมถึงซื้อหนังสือเล่มนี้ ?

    ไม่รู้ว่ามีใครเป็นเหมือนเราไหม คือ ทุกครั้งที่เราไปห้างสรรพสินค้าหรือไปไหนก็ตาม ถ้าเจอร้านหนังสือเราจะเดินเข้าไปด้วยระบบอัตโนมัติ และแน่นอนว่าเราได้หนังสือติดมือกลับมาอีกหนึ่งเล่ม ฮ่า ๆ 

    วันนั้นเป็นวันที่เราไปช่วยพี่สาวเลือกซื้อของขวัญเพื่อนำไปจับฉลากในวันปีใหม่ ระหว่างที่พี่สาวกำลังเลือกซื้อของอยู่นั้น เราก็รู้สึกเบื่อ จึงแอบเดินเข้ามาหาอะไรทำในร้านหนังสือสักหน่อย โดยคิดว่า แม้ไม่ได้ซื้อแต่ได้จับก็ยังดี

    ความตั้งใจแรกของเรา คือ หนังสือในหมวดประวัติศาสตร์หรือจิตวิทยา เราหยิบหนังสือทุกเล่มที่เราสนใจขึ้นมา แล้วอ่านข้อมูลทั่วไปที่เขียนไว้ที่ปกหลัง หากเล่มไหนไม่ได้ถูกห่อด้วยพลาสติก เราก็แวะดูสารบัญและเนื้อหาข้างในนิดหน่อย จำได้ว่าตอนนั้นเราเปิดหนังสือหลายเล่มมาก แต่ก็ไม่มีเล่มไหนมีสิ่งที่ฉันต้องการในตอนนั้นเลย

    รู้ตัวอีกทีเราก็เดินมาถึงหมวดวรรณกรรมเยาวชน ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราห่างหายจากวงการหนังสือไปนาน จึงคิดว่าวรรณกรรมเยาวชนนั้น เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็ก ขณะที่กวาดสายตาไปบนชั้นหนังสือ ก็พบกับเพื่อนเก่าอย่าง เอมิล ยอดนักสืบ, แมงมุมเพื่อนรัก และโต๊ะโตะจัง 

    เมื่อเห็นหนังสือเหล่านั้น เราก็นึกถึงความรู้สึกตอนมัธยมทันที เราจำได้ว่าหนังสือพวกนี้เป็นหนังสือที่สนุกมาก แต่ปัญหาคือ เราต้องอ่านแล้วจำให้ได้มากที่สุดเพื่อนำไปสอบ แน่นอนว่าเราเป็นสายไม่สอบก็ไม่อ่าน การอ่านหนังสือเหล่านี้ จึงเป็นเหมือนทางผ่านสำหรับเรา คือ อ่านเพื่อสอบ และทำให้เราไม่ได้เก็บความรู้สึกหรือข้อคิดใด ๆ จากหนังสือเหล่านี้เลย (แม้จะรู้ว่าเป็นหนังสือที่ดีและอยากอ่านอีกรอบ แต่ก็ทำใจให้ซื้อมาอ่านไม่ได้สักที)

    ขณะที่เรากำลังจะบอกลาเพื่อนเก่า แล้วไปทักทายหนังสือในหมวดอื่น ๆ ก็รู้สึกเหมือนมีหนังสือเล่มหนึ่งตะโกนขึ้นมาด้วยสีสันที่ฉูดฉาด พร้อมภาพประกอบที่มีลายเส้นน่ารัก ๆ ด้วยความที่เราชอบภาพประมาณนี้อยู่แล้ว เราจึงหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ก่อนจะพิจารณาหน้าปกและอ่านรายละเอียดที่อยู่บนปกหลัง เมื่อทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้เสร็จแล้ว เราก็พบว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

    สรุปเนื้อหาคร่าว ๆ

    การเดินทางของผีเสื้อหลากสี หรือ BECOMING A BUTTERFLY ถูกเขียนขึ้นโดยคุณเมริษา ยอดมณฑป ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา ผู้เป็นเจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา โดยเรื่องนี้ถูกดำเนินผ่านตัวละครชื่อ "ลิซ่า" นักจิตวิทยาฝึกหัด ที่ได้รับหน้าที่ให้มาฝึกงานที่โรงพยาบาลบาร์เน็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดหินสำหรับนักจิตวิทยาฝึกหัดทุกคน

    หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดผ่านเรื่องสั้นที่แตกต่างกัน โดยแต่ละเรื่องจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ช่วงแรกของแต่ละตอนมักกล่าวถึงปัญหาที่ตัวละครที่เป็นเด็กหรือผู้ปกครองต้องเจอ มีทั้งปัญหาที่เกิดจากตัวเด็ก ปัญหาจากเพื่อนที่โรงเรียน และปัญหาจากคนในครอบครัว โดยคุณเมริษาได้แบ่งเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเป็น 12 ตอน ดังนี้

                   1. เด็กชายมังกร                        2. เด็กหญิงไร้เสียง               3. เด็กชายโทรโข่ง
                   4. เด็กหญิงบนหอคอย               5. เด็กชายต่างดาว              6. เด็กหญิงล่องหน
                   7. เด็กชายหัวรถจักร                 8. เด็กชายอัศวิน                  9. เด็กหญิงสองบ้าน
                   10. เด็กชายสมองทึบ               11. เด็กชายผีเสื้อ                 12. เด็กหญิงไม่เป็นไร

    ซึ่งแต่ละตอนจะมีตัวละครที่แตกต่างกันไป (ยกเว้นตัวละครหลักอย่างคุณหมอและลิซ่า) ตัวละครเหล่านี้จะมาขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ณ โรงพยาบาลบาร์เน็ต คุณหมอ (สตีฟ) มีหน้าที่พูดคุยกับผู้ปกครอง ส่วนลิซ่ามีหน้าที่ดูแลเด็กแต่ละคน แน่นอนว่ามันไม่ง่ายแบบที่หลายคนคิด เพราะลิซ่าต้องทำหน้าที่มากกว่าพี่เลี้ยงเด็ก เธอหาสารพัดวิธีที่จะสร้างความไว้วางใจให้เด็กแต่ละคน ผ่านการเล่นและการพูดคุยเพื่อบำบัด เป้าหมายของเธอ คือ การเข้าไปอยู่ในใจของเด็ก แล้วนำสิ่งที่อยู่ในใจนั้นมาหาทางออกร่วมกับคุณหมอสตีฟ

    อย่างที่เราทราบกันดีว่า การเอาชนะใจเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจอย่างในหนังสือเรื่องนี้ ทำให้ลิซ่าต้องหาสารพัดวิธีมาเอาชนะใจเด็กแต่ละคน ผ่านวิธีการที่แตกต่างกันตามบุคลิกของเด็กแต่ละคน แต่เธอไม่ได้เผชิญกับความท้าทายนี้คนเดียว เพราะเมื่อไหร่ที่ลิซ่าไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำความรู้จักเด็กคนนั้นอย่างไร ลิซ่าก็สามารถไปปรึกษาหรือเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่านการพูดคุยกับคุณหมอสตีฟ นักกิจกรรมบำบัด หรือนักเล่นบำบัดคนอื่น ๆ ได้ 

    เมื่อได้วิธีการเข้าหาเด็กที่เหมาะสมแล้ว ลิซ่าก็สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจเด็กทุกคน และช่วยหาทางแก้ปัญหาที่เด็กแต่ละคนต้องเผชิญได้ดีขึ้น และเด็กบางคนยังช่วยเป็นกำลังใจให้ลิซ่าในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอีกด้วย

    ข้อสังเกตเพิ่มเติม: จากที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ เราพบว่าส่วนใหญ่ลิซ่าและคุณหมอสตีฟ จะใช้วิธีการถามคำถามเพื่อสะท้อนสิ่งที่ผู้ปกครองหรือเด็กคิด พร้อมให้คำแนะนำหรือทางเลือกเพิ่มเติม มากกว่าการสั่งหรือบอกให้ทำตรง ๆ ซึ่งเราคิดว่าจุดนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

    สิ่งที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือ บันทึกรายงานคนไข้

    เมื่อจบเรื่องสั้นแต่ละตอน จะมีบันทึกรายงานคนไข้ไว้ท้ายบท ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่เราชอบมาก ๆ ของหนังสือเรื่องนี้ เพราะเราคิดว่ามันเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณเมจะไม่ใส่เข้ามาก็ได้ แต่คุณเมก็เลือกที่จะใส่มันเข้ามา โดยบันทึกรายงานคนไข้จะมีข้อมูล ดังนี้

    - อาการ: ปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้ผู้ปกครองหรือเด็กต้องมาโรงพยาบาล
    - ประวัติครอบครัว: ทำให้เรารู้จักภูมิหลังของคนไข้มากขึ้น เช่น อาศัยอยู่กับใคร มีพี่น้องกี่คน
    - วันที่เข้า/ยุติการรักษา
    - ผลการวินิจฉัย: ส่วนนี้จะเป็นชื่อโรค ซึ่งทำให้เราได้รู้จักโรคเกี่ยวกับจิตเวชเยอะขึ้นมาก ๆ
    - ชื่อจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาผู้ดูแล
    - แนวทางในการรักษา: เป็นอีกส่วนที่เราชอบเหมือนกัน เพราะทำให้เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ว่า หากเจอสถานการณ์แบบนี้ เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร (เพื่อไม่ให้การกระทำของเราไปเป็นแผลในใจของเด็ก) ซึ่งแนวทางในการรักษานี้มีวิธีที่น่าสนใจมากมาย เช่น การปรับพฤติกรรมประยุกต์ กิจกรรมบำบัด การพูดคุยบำบัด เป็นต้น
    - ข้อแนะนำเพิ่มเติม: เป็นการแนะนำคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวว่า ควรปฏิบัติตัวกับเด็กอย่างไร

    แน่นอนว่าทั้ง 12 ตอนนี้ มีบันทึกรายงานคนไข้ที่แตกต่างกัน ทั้งยังให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละตอนอีกด้วย บางเรื่องเราอ่านแล้วหงุดหงิด บางเรื่องอ่านแล้วรู้สึกสงสาร แต่เราชอบมาก ๆ ที่ได้เห็นวิธีการรับมือของลิซ่าที่แตกต่างกันในแต่ละตอน

    ได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ?

    หนังสือเรื่องการเดินทางของผีเสื้อหลากสีเล่มนี้ เป็นหนังสือที่สนุกและอ่านแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจเรามาก ๆ เป็นเรื่องที่เราอยากให้ทุกคนได้อ่านสักครั้งในชีวิตจริง ๆ เพราะนอกจากความสนุกและความรู้ที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังมีข้อคิดอื่น ๆ ที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้ คือ

    หนังสือเล่มนี้ทำให้นึกถึงเรื่องราวในวัยเด็กของเรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย เราได้เจอเพื่อนที่มีบุคลิกและนิสัยที่หลากหลาย เราเชื่อว่าทุกชั้นเรียนย่อมมีคนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เขาโดดเด่นออกมาเพราะบุคลิกและการกระทำบางอย่างของเขา บางคนถูกกลั่นแกล้งหรือรังเกียจเพราะเขาไม่เหมือนคนส่วนใหญ่

    การเดินทางของผีเสื้อหลากสี ทำให้เราเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ความสนุกของเราอาจกลายเป็นบาดแผลในใจของคนคนหนึ่ง เราไม่มีทางรู้เลยว่า เพื่อนที่นั่งเงียบท่ามกลางเสียงหัวเราะของเพื่อนนับสิบคนนั้น เขาเจออะไรมาบ้างในตอนเช้า แล้วกลับไปร้องไห้คนเดียวในตอนเย็น

    นอกจากนั้น การเดินทางของผีเสื้อหลากสียังทำให้เราได้เรียนรู้ถึงกระบวนการวินิจฉัยและการรักษาของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในบางส่วน เราชอบตอนที่คุณหมอสตีฟคอยเตือนและให้คำแนะนำลิซ่าว่า ไม่ให้ใส่อารมณ์และความรู้สึกของตัวเองเข้าไปในคนไข้มากเกินไป 

    หนังสือเล่มนี้ทำให้เราอยากศึกษาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช และวิธีการรักษาหรือการบำบัดต่าง ๆ เราอยากเป็นใครสักคนที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วย และช่วยแบ่งเบาความทุกข์จากคนรอบตัวได้บ้าง 

    หากคุณเมริษาผ่านมาเห็นบทความนี้ เราขอขอบคุณคุณเมริษา ที่เขียนหนังสือดี ๆ แบบนี้ออกมา เราชอบการเดินเรื่อง ภาษาที่ใช้ การเปรียบเทียบเรื่องราวของเด็กกับบทบาทต่าง ๆ คุณเมริษาถ่ายทอดมันออกมาได้ดีมาก ๆ 

    การเดินทางของผีเสื้อหลากสี 
    เป็นหนังสือที่ทำให้เราเข้าใจอารมณ์และการกระทำบางส่วน
    ของตัวเองและคนอื่นได้ดีขึ้นจริง ๆ

    คุณจะไม่ผิดหวังที่เสียเงินและเวลา
    ในการเดินทางไปพร้อมกับนักจิตวิทยาฝึกหัดคนนี้แน่นอน

    บันทึกหมึกจิ๋ว

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in